ตำแยแมว
ตำแยแมว ชื่อสามัญ Indian acalypha, Indian nettle, Indian copperleaf, Tree-seeded mercury[3]
ตำแยแมว ชื่อวิทยาศาสตร์ Acalypha indica L. จัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]
สมุนไพรตำแยแมว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หานแมว (ภาคเหนือ), ตำแยตัวผู้ ตำแยป่า หญ้าแมว หญ้ายาแมว (ไทย) เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของตำแยแมว
- ต้นตำแยแมว จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 2 ฟุต แตกกิ่งก้านจากโคนต้น เนื้อภายในอ่อนและไม่แข็งแรง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและการแยกต้น ชอบขึ้นตามที่ดินเย็น ๆ พบขึ้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างทั่วไป และตามที่มีอิฐปูนเก่า ๆ ผุ ๆ[1],[2],[3]
- ใบตำแยแมว ใบเป็นใบเดี่ยวขนาดเล็ก (ใหญ่กว่าใบพุทราเล็กน้อย) ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี รูปไข่ หรือรูปกลมโต ปลายใบมนหรือแหลมเล็กน้อย โคนใบสอบ ส่วนขอบใบหยักเล็กน้อย แผ่นใบเป็นสีเขียว ด้านบนมีขนขึ้นปกคลุม[1],[2],[3]
- ดอกตำแยแมว ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ รอบ ๆ ลำต้น ส่วนยอดของช่อดอกเป็นดอกเพศเมีย ลักษณะของดอกจะคล้ายกับใบอ่อนที่มีขนาดเล็ก แต่เมื่อบานเต็มที่แล้วใบอ่อนนี้ก็ยังคงติดอยู่และไม่ร่วง มีใบประดับหยักเป็นซี่ฟัน มีขนปกคลุม แต่ละใบประดับจะหุ้มห่อดอก 2-6 ดอก[1],[2],[3]
สรรพคุณของตำแยแมว
- ต้นมีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ต้น)[1]
- ใช้เป็นยาช่วยขับเสมหะ ขับเสมหะในโรคหลอดลมอักเสบ เสมหะในโรคหอบหืด ด้วยการใช้ใบสด ๆ นำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ 4 ถ้วยแก้ว ให้เหลือเพียง 2 ถ้วยแก้ว ใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วย เช้าและเย็น (ต้น, ราก, ใบ, ทั้งต้น)[1],[2],[3]
- ช่วยแก้อาการไอ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[3]
- ใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืด ภูมิแพ้ ด้วยการถอนทั้งต้นและราก นำมาต้มกับน้ำดื่มสัก 1 แก้ว ใช้ดื่มเมื่อมีอาการ แก้วเดียวก็หาย หรือจะนำมาโขลกผสมกับน้ำซาวข้าว กรองใส่ผ้าขาวบางให้ได้น้ำข้น ๆ 1 แก้ว แล้วดื่ม ก็มีสรรพคุณดีเช่นกัน (ทั้งต้น)[5]
- ต้น ราก ใบ หรือทั้งต้นหากนำมารับประทานในปริมาณมากจะทำให้คลื่นเหียนอาเจียน และทำให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร (ต้น, ราก, ใบ, ทั้งต้น)[3]
- ลำต้นที่อ่อน ๆ ใช้เป็นยาล้างเมือกในท้องหรือทำความสะอาดทางเดินอาหาร ด้วยการนำต้นสดทั้งต้นมาคั้นเอาแต่น้ำ ซึ่งน้ำที่ได้นี้จะใช้เป็น purgative (ต้น)[1]
- ต้น ราก และใบมีสรรพคุณเป็นยาถ่าย ยาระบาย (ต้น, ราก,ใบ)[1],[3]
- ใบใช้เป็นยาขับพยาธิ ขับพยาธิเส้นด้าย ด้วยการนำใบสดมาทำเป็นอาหาร โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ๆ หรือนำมาต้มกิน หรือจะใช้ใบสดนำมาคั้นเอาน้ำผสมกับกระเทียมก็ได้ (ต้น,ใบ)[1],[2],[3]
- ต้นหรือใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาถอนพิษเมาเบื่อในทางเดินอาหาร (ต้น, ใบ)[1],[2]
- ใบใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำผสมกับเกลือแกง ใช้ทาบริเวณที่เป็น (ใบ)[1]
- ใบแห้งนำมาป่นให้ละเอียดใช้โรยรักษาแผลเนื่องจากนอนมาก (ใบ)[3]
- ใบใช้เป็นยาทาแก้โรค rheumatism ได้ (ใบ)[1]
- ใบสดนำไปตีหรือฟาดเบา ๆ ตามตัวหรือบริเวณที่ถูกพิษคันจากต้นตำแยตัวเมีย จะช่วยทำให้หายจากอาการคันได้ (ใบ)[4]
- แพทย์แผนไทยบางพื้นที่จะใช้รากตำยาแมวกะเพียงเล็กน้อย นำมาต้มกับน้ำ 3-4 แก้วจนเดือด ใช้ดื่มก่อนอาหารมื้อไหนก็ได้วันละ 1 แก้ว เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกายให้แข็งแรง ช่วยกระจายเลือดลม แก้อาการปวดเมื่อย และช่วยทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้นอีกด้วย (ราก)[4]
ข้อควรระวัง : ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้มากจนเกินขนาด เพราะจะทำให้อาเจียน[1],[2] ส่วนต้นและรากมีฤทธิ์ทำให้ช่องทางเดินอาหารเกิดอาการระคายเคืองได้ คนพื้นบ้านจึงนำมาต้มกินเพื่อเป็นยาขับเสมหะ[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตำแยแมว
- ทั้งต้นสดและต้นแห้งจะมีสารจำพวก alkaloid, acalyphine, tannin, vestin, volatile oil แต่ถ้าเป็นวัตถุดิบที่ส่งมาจากทางแอฟริกาใต้ ซึ่งพบรายงานอยู่ใน Petelot reports จาก Remington & Roets พบว่าสามารถที่จะแยกได้สาร Cyanoginitie glucoside, Quibrachitol และ Triacetonamine[1]
ประโยชน์ของตำแยแมว
- ใบสดใช้ปรุงเป็นอาหารได้ เช่น แกงเลียง[3]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาถอนพิษของโรคแมวได้ดี มีผู้ค้นพบว่าในขณะที่แมวไม่สบายหรือมีไข้ หากมันได้เคี้ยวลำต้นของตำแยแมวเข้าไป ไม่นานก็จะหายจากอาการไข้ได้ และในขณะเดียวกันถ้าแมวนั้นกินสารที่มีพิษเข้าไป ก็แก้โดยการให้กินต้นตำแยแมวเข้าไป แล้วมันก็จะอาเจียนหรือสำรอกพิษออกมา จึงเป็นการช่วยถอนพิษในแมวได้ ทำให้มันกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง ฉะนั้นคนส่วนใหญ่จึงนิยมเรียกตำแยตัวผู้ว่า “ตำแยแมว“[1],[3]
- ต้นตำแยแมวนี้หากถอนขึ้นมาทั้งราก เมื่อแมวเห็นเข้าก็จะรีบตรงเข้ามากลิ้งเกลือกบนต้นตำแยแมวอย่างเคลิบเคลิ้มและมีความสุขอยู่นานพอควร จากนั้นก็จะกินรากจนหมด ซึ่งสันนิษฐานว่ารากของตำแยแมวน่าจะมีกลิ่นที่ดึงดูดแมวได้เช่นเดียวกับ Pheromone ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศที่ใช้ดึงดูดเพศตรงข้าม จึงทำให้แมวรู้สึกหลงใหลและเคลิบเคลิ้ม แต่ก็ใช่ว่าแมวทุกตัวจะหลงไปกับกลิ่นของรากตำแยแมว คงมีแมวเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นแล้วอาจจะไม่รู้สึกอะไร โดยเห็นรากตำยาแมวเป็นเพียงต้นไม้ต้นหนึ่งเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่ทำให้แมวเคลิบเคลิ้มและมีความสุขได้เช่นกัน เช่น “กัญชาแมว” หรือใบ “แคตนิป” (Catnip) แต่ต่างกันตรงที่ถ้าเป็นต้นตำแยแมว แมวจะชอบกินราก แต่ถ้าเป็นกัญชาแมว แมวจะชอบกินใบ)[3],[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ตำแยตัวผู้”. หน้า 313-314.
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ตำแยตัวผู้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.saiyathai.com. [16 ธ.ค. 2014].
- YAHOO!. “ตำแยแมว มันคืออะไร ?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.answers.yahoo.com. [16 ธ.ค. 2014].
- ไทยรัฐออนไลน์. (นายเกษตร). “ตำแยแมว คนกินได้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [16 ธ.ค. 2014].
- จำรัส เซ็นนิล. “โรคหอบหืด-ภูมิแพ้ บำบัดด้วยตำแยแมว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.jamrat.net. [16 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Nelindah, cpmkutty, judymonkey17, Nuraishah Bazilah Affandi)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)