ตำแย
ตำแย ชื่อวิทยาศาสตร์ Laportea interrupta (L.) Chew จัดอยู่ในวงศ์กะลังตังช้าง (URTICACEAEหรือ CECROPIACEAE)[1]
สมุนไพรตำแย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ว่านช้างร้อง (เชียงใหม่), หานไก่ (ภาคเหนือ), ตำแยตัวเมีย (ภาคกลาง), กะลังตังไก่ (ภาคใต้), เส่เลเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), งาง ชิง้าง (ลั้วะ) เป็นต้น[2],[4]
ลักษณะของตำแย
- ต้นตำแย จัดเป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นได้ถึง 50 เซนติเมตร ทุกส่วนของต้นมีขนพิษ[2]
- ใบตำแย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบป้านหรือหยักเว้า ส่วนขอบใบหยักหรือจักเป็นซี่ฟัน ผิวใบด้านล่างเป็นมีสีเขียวอ่อน[2]
- ดอกตำแย ออกดอกเป็นช่อโค้งยาวตามปลายกิ่งและซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศ ไม่มีกลีบดอก ดอกย่อยมีจำนวนมาก และดอกเป็นสีเขียว[2]
หมายเหตุ : ข้อมูลจากหนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา ได้ระบุว่าตำแยหรือต้นตำแยตัวเมีย เป็นไม้พุ่ม ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงของต้นได้ถึง 3 เมตร ใบและดอกมีขนพิษขึ้นหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเว้าเป็น 3 หรือ 5 พู ใบมีขนาดกว้างประมาณ 7-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ส่วนดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งห้อยลง มีดอกย่อยจำนวนมาก สีเขียว ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน มีผลเป็นผลแห้งขนาดเล็ก ไม่แตก[1]
สรรพคุณของตำแยตัวเมีย
- ชาวเขาเผ่าอีก้อ มูเซอ และเย้าจะใช้รากตำแยตัวเมีย นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ หน้ามืด เป็นลม (ราก)[1]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคหัวใจ (ราก)[1]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องเสีย (ราก)[1]
- ใบใช้ตำพอกหรือคั้นเอาน้ำทาแก้คัน รักษาโรคผิวหนัง และหูด (ใบ)[1]
พิษของตำแย
- ส่วนที่เป็นพิษ : ขนจากทุกส่วนของต้นมีพิษ มีฤทธิ์ระคายเคืองผิวหนัง โดยมีสารที่เป็นพิษ คือ สาร histamine, acetylcholine, acetic acid, formic acid, 5-hydroxy tryptamine ฯลฯ[2],[3]
- อาการเกิดพิษ : หากสัมผัสขนพิษจากทุกส่วนของต้นจะทำให้เกิดอาการคันมาก ผิวหนังมีอาการปวดแสบปวดร้อน ระคายเคือง เป็นผื่นแดง บวมแดง ถ้าถูกบริเวณผิวหนังที่อ่อนนุ่มจะมีอาการที่รุนแรงยิ่งขึ้น[2],[3]
- วิธีแก้พิษตำแย : ให้เอาขนที่ติดอยู่บนผิวหนังออกก่อน (ใช้วิธีเดียวกับการเอาขนหมามุ่ยออก โดยใช้เทียนไขลนไฟให้อ่อนตัวลง แล้วนำมาคลึงบริเวณที่ถูกขนพิษ หรือใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุกปั้นคลึงจนเป็นเนื้อเดียวกันจนขนติดออกมา) หลังจากนั้นให้ทาด้วยคาลาไมน์หรือครีมสเตียรอยด์ (เช่น เพรดนิโซโลน) วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อแก้อาการคัน และถ้ายังมีอาการปวดอยู่ ก็ให้รับประทานยา chorpheniramine 4 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ทุก ๆ 6 ชั่วโมง[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ตำแยตัวเมีย”. หน้า 139.
- พืชมีพิษ ที่ให้ความระคายเคืองต่อผิวหนัง เนื้อเยื่ออ่อน และนัยน์ตา, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ตำแย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/use/toxic_002.htm. [15 ธ.ค. 2014].
- ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ตำแยตัวเมีย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/. [15 ธ.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ตำแยตัวเมีย, ว่านช้างร้อง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [15 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Warren McCleland, Lauren Gutierrez)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)