ตำลึง
ตำลึง ชื่อสามัญ Ivy gourd
ตำลึง ชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis (L.) Voigt (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cephalandra indica (Wight & Arn.) Naudin) จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
ตำลึง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตำลึง, สี่บาท (ภาคกลาง), ผักแคบ (ภาคเหนือ), ผักตำนิน (ภาคอีสาน), แคเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น
ต้นตำลึงจัดเป็นไม้เลื้อย โคนใบมีลักษณะเหมือนรูปหัวใจ มีมือเกาะที่ยื่นออกมาจากที่ข้อ ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและดอกคู่ กลีบดอกมีสีขาว และดอกมีลักษณะคล้ายรูประฆัง
ตำลึง ประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยใบและยอดอ่อนของตำลึง 100 กรัม จะให้พลังงานกับร่างกาย 35 กิโลแคลอรี, โปรตีน, ใยอาหาร 1 กรัม, เบตาแคโรทีน วิตามินเอ 18,608 IU, วิตามินบี 1 0.17 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.13 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 1.2 มิลลิกรัม, วิตามินซี 34 มิลลิกรัม, ธาตุแคลเซียม 126 มิลลิกรัม, ธาตุฟอสฟอรัส 30 กรัม, ธาตุเหล็ก 4.6 มิลลิกรัม เป็นต้น
มีงานวิจัยหลายงานที่ชี้ว่า ตำลึงช่วยรักษาโรคเบาหวานได้จริง โดยมีผลในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด !
สรรพคุณของตำลึง
- ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันความเสื่อมความเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย
- ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อในร่างกาย
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร
- ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เถาแก่ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำหรือจะใช้น้ำคั้นจากผลดิบ นำมาดื่มวันละ 2 รอบ เช้า,เย็น จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลิน
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง (ใบ, น้ำคั้นตำลึง)
- ช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด จึงช่วยป้องกันการเกิดอัมพาตด้วย
- ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง (แคลเซียม)
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา (วิตามินเอ)
- ช่วยบำรุงเลือด (ใบ)
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต (ใบ)
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดแข็ง ตีบตัน และแตกได้
- ช่วยบำรุงน้ำนมแม่ (ใบ)
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน (วิตามินซี)
- ใช้ดับพิษร้อน แก้ไข้ตัวร้อน (ใบ)
- ช่วยลดไข้ (ราก)
- ช่วยแก้อาเจียน (ราก)
- แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ด้วยการใช้เถาตำลึงชงกับน้ำดื่ม (เถา)
- ใช้แก้อาการตาแดง เจ็บตา (ใบ)
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม และยังช่วยป้องกันการเสื่อมของศูนย์จอตาได้อีกด้วย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องนั่งอยู่หน้าคอมพ์นาน ๆ และมีอาการสายตาอ่อนล้า
- แก้อาการตาแดง ตาฟาง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา ด้วยการใช้เถาตำลึง นำน้ำต้มจากเถามาหยอดตา (เถา)
- ช่วยแก้อาการตาช้ำแดง ด้วยการตัดเถาเป็นท่อนยาว 2 นิ้วนำมาคลึงพอช้ำแล้วเป่า จะเกิดฟองใช้หยอดตา (เถา)
- แก้อาการตาฝ้า (ราก)
- แก้อาการผิดสำแดงเพราะกินของแสลง โดยใช้เถาตำลึงตัดเป็นท่อนยาว 1 คืบ (จำนวน 3-4 ท่อน) นำไปใส่ในหม้อดินสุมไฟด้วยฟางจนไหม้เป็นขี้เถ้า นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำซาวข้าวดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (เถา)
- ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการรับประทานใบตำลึงสด ๆ (ใบ)
- ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยระบายท้อง (เปลือกราก, หัว)
- ช่วยขับสารพิษในลำไส้ (ใบ)
- ช่วยป้องกันอาการท้องผูก (ใบ)
- ช่วยแก้ผดผื่นคัน ด้วยการใช้ใบตำลึงนำมาตำแล้วทาบริเวณที่คัน (ใบ, ดอก)
- ช่วยลดอาการคันและการอักเสบเนื่องจากพืชมีพิษหรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น หมามุ่ย ถูกตัวบุ้ง ยุงกัด ใบตำแย แพ้ละอองข้าว พิษคูน พิษกาฬ เป็นต้น ด้วยการใช้ใบสด 1 กำ นำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ แล้วคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณดังกล่าวจนกว่าจะหายดี (ใบ)
- ช่วยแก้ฝีแดง (ใบ)
- ช่วยดับพิษฝี (ใบ)
- แก้อักเสบ ด้วยการใช้น้ำจากเถาทาบริเวณที่เป็น (เถา)
- ช่วยดับพิษต่าง ๆ (เถา, ราก)
- ใช้รักษาแผลอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดหรือรากสด นำมาตำแล้วพอกบริเวณแผล (ใบ, ราก)
- ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน (ใบ)
- ช่วยแก้หิด ด้วยการใช้เมล็ดตำผสมน้ำมันมะพร้าวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น (เมล็ด)
- แก้งูสวัด เริม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ (ล้างให้สะอาด) นำมาผสมกับพิมเสนหรือดินสอพอง 1 ใน 4 ส่วน แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)
- ช่วยป้องกันการเป็นตะคริว (ใบ)
ประโยชน์ของตำลึง
- ช่วยกำจัดกลิ่นตัว กลิ่นเต่า ด้วยการใช้ต้นตำลึง (ทั้งเถาและใบ) นำมาตำผสมกับปูนแดงแล้วทาบริเวณรักแร้
- ใช้ทำทรีตเม้นต์ทำให้ผิวหน้าเต่งตึง ด้วยการใช้ยอดตำลึงครึ่งถ้วยและน้ำผึ้งแท้ครึ่งถ้วย นำมาผสมกันแล้วปั่นในโถให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วล้างออก (ยอดตำลึง)
- ใช้เป็นยารักษาตาไก่ (ไก่ที่ถูกยุงกัดจนตาบวม เป็นพยาธิ มีหนองขาวและแข็งภายในของเปลือกตา) อย่างแรกให้พลิกเอาหนองขาวแข็งออกจากตาไก่ก่อน แล้วใช้เถาตำลึงแก่ ๆ (ขนาดเท่านิ้วก้อย) มาตัดเป็นท่อน ๆ (ตัดข้อทิ้ง) แล้วใช้ปากเป่าด้านหนึ่งจนเกิดฟอง หลังจากนั้นให้เอามือเปิดเปลือกตาไก่ออกแล้วเอาฟองที่ได้หยอดตาไก่วันละครั้งจนหายดี (เถา)
- ประโยชน์ของผักตำลึง นิยมใช้ยอดและใบกินเป็นผักสด อาจจะลวกหรือต้มจิ้มกินกับน้ำพริก และใช้ในการประกอบอาหารได้หลายอย่าง เมนูตำลึง เช่น แกงจืด ต้มเลือดหมู แกงเลียง ก๋วยเตี๋ยว ผัดไฟแดง ไข่เจียว เป็นต้น (ยอด, ใบ)
- ผลอ่อนของตำลึงนำมากินกับน้ำพริก หรือจะนำมาดองกิน ส่วนผลสุกมีรสอมหวาน กินได้เช่นกัน (ผล)
คำแนะนำ : ตำลึงมีฤทธิ์เป็นยาเย็น เมื่อทาน้ำตำลึงที่ผิวหนังแล้วไม่รู้สึกเย็นแปลว่าไม่ถูกโรค ให้หยุดใช้ทันที การทาน้ำตำลึงไม่ควรถูแรงจนเกินไปในบริเวณที่เป็นผิวบอบบาง เพราะจะทำให้เกิดอาการอักเสบเพิ่มมากขึ้น
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), www.gotoknow.org, เว็บไซต์วิชาการดอตคอม, www.prc.ac.th, สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), นิตยาสารหมอชาวบ้าน (รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ), จากสารศิลปยาไทย (ฉบับที่ 68)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)