ตาเหล่ (ตาเข) อาการ สาเหตุ และการรักษาตาเหล่ 10 วิธี !!

ตาเหล่ (ตาเข) อาการ สาเหตุ และการรักษาตาเหล่ 10 วิธี !!

ตาเหล่

ตาเหล่ หรือ ตาเข (Strabismus, Squint) เป็นภาวะหรือโรคที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก แต่ก็อาจพบในเด็กโตและผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการที่ตาทั้ง 2 ข้างไม่อยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ อันสืบเนื่องมาจากการมีภาวะผิดปกติที่ทำให้การเคลื่อนไหวของลูกตาทั้ง 2 ข้างขาดการประสานงานกันเช่นคนที่มีตาปกติ โดยตาดำข้างใดข้างหนึ่งจะมีการเขเข้าด้านในทางหัวตาเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจพบได้บ้างที่ตาเขออกด้านนอกทางหางตา ตาเขขึ้นด้านบน หรือตาเขลงด้านล่าง

ในคนที่ตาปกติ ลูกตาจะเคลื่อนไหวในลักษณะที่ประสานงานสอดคล้องกันเสมอ เพื่อให้มองเห็นภาพเป็น 3 มิติ โดยมีสมองเป็นตัวสั่งการมาที่กล้ามเนื้อกลอกลูกตาทั้ง 2 ข้าง เรียกได้ว่าไปไหนไปด้วยกันเป็นแนว ๆ ขนานกันไป ถ้าตาขวาจะมองไปทางขวา ตาซ้ายก็ต้องมองไปทางขวาด้วย หรือถ้าตาซ้ายมองลงล่าง ตาขวาก็จะมองขึ้นบนหรือไปทางอื่นไม่ได้นอกจากมองลงล่างด้วย ยกเว้นในเวลาที่มองใกล้ ๆ ซึ่งตาทั้ง 2 ข้างจะหมุนเข้าหากันเพื่อจับภาพที่อยู่ใกล้ และเวลามองตรงไปข้างหน้า ตาทั้ง 2 ข้างก็จะต้องอยู่ตรงกลาง แต่ถ้าตาทั้ง 2 ข้างเวลามองตรงแล้วตาหนึ่งอยู่ตรงกลาง แต่อีกตาเขออกไปทางอื่น เราจะเรียกภาวะหรือโรคนี้ว่า “ตาเข” (Strabismus) บ้างก็เรียกว่า “ตาเหล่” หรือ “ตาเอก

จากการศึกษาพบว่า ประมาณ 5% ของเด็กทั้งหมดที่เกิดมาจะตรวจพบภาวะนี้ ซึ่งอาจจะเป็นน้อยหรือมากและเป็นตาเขชนิดต่าง ๆ กันไป และมากกว่าครึ่งหนึ่งจะตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 6 เดือน

ตาเขกับตาเอียงไม่ใช่ความผิดปกติชนิดเดียวกัน แม้จะฟังดูคล้าย ๆ กันก็ตาม กล่าวคือ ตาเข (Strabismus) เป็นภาวะที่ตาทั้งสองข้างไม่อยู่ในแนวตรงดังที่กล่าวมา ส่วนตาเอียง (Astigmatism) นั้น เป็นภาวะสายตาผิดปกติที่มีสาเหตุมาจากความโค้งของกระจกตาไม่สม่ำเสมอ ไม่เท่ากัน ไม่เป็นทรงกลม แต่ค่อนไปทางวงรี จึงทำให้มีการมองเห็นภาพไม่ชัด สายตามัว ซึ่งอาจเป็นลักษณะของสายตาสั้นหรือสายตายาวก็ได้ โดยที่ตาทั้งสองไม่เขหรือเอียงผิดแนวไปจากเดิมเลย

ผลเสียของตาเหล่

  1. ที่เห็นได้ชัด ๆ ก็คือ ทำให้เสียบุคลิก ดูไม่สวยงาม รู้สึกเหมือนเป็นปมด้อย คนที่ตาเขจึงมักไม่ค่อยสู้หน้าคน ทำให้บั่นทอนสุขภาพจิตไปโดยไม่รู้ตัว
  2. ในรายที่ตาเขขึ้นด้านบนหรือเขลงด้านล่าง ผู้ป่วยบางคนอาจหันหน้าหรือเอียงคอเพื่อชดเชยความผิดปกติ ซึ่งจะยิ่งทำให้บุคลิกผิดไปจากคนทั่วไป
  3. มีการมองเห็นด้อยกว่าคนที่มีสายตาปกติ เนื่องจากตาทั้ง 2 ข้างไม่ทำงานร่วมกันหรือเรียกว่าต่างคนต่างทำ ต้องใช้ตาข้างเดียวเป็นหลัก จึงมองวัตถุเล็ก ๆ ไม่เป็นภาพ 3 มิติ ทำให้ทำงานที่ละเอียดได้ไม่ดีนัก เช่น งานเย็บปักถักร้อยหรืองานฝีมือต่าง ๆ เพราะอย่าลืมว่าการมองเห็นที่ดีที่สุดคือต้องมองเห็นภาพเป็น 3 มิติในวัตถุขนาดเล็ก ๆ ได้ ซึ่งจะต้องอาศัยตาที่เห็นชัดทั้ง 2 ข้าง และทำงานประสานสอดคล้องกันเสมอ
  4. ถ้าปล่อยทิ้งไว้และไม่รีบแก้ไข ตาข้างที่เขอาจจะเกิดภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia) จนถึงขั้นตาบอดได้
  5. ตาเขอาจเป็นอาการของโรคต่าง ๆ ได้ดังที่จะกล่าวในหัวข้อด้านล่าง

ตาเขมีกี่ชนิด

  1. ตาเขชนิดเห็นได้ชัด (Manifest strabismus) เป็นตาเขที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าตาเข โดยจะมีอยู่ด้วยกันหลายลักษณะ คือ
    • ตาเขเข้าด้านใน (Esotropia) ตาดำข้างที่เขจะเบนเข้าด้านในหรือมุดเข้าหาหัวตา ตาเขชนิดนี้จะพบได้มากกว่าชนิดอื่น ๆ และมักพบได้ในเด็กแรกเกิดอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป จึงอาจเรียกว่าเป็นตาเขเข้าด้านในชนิดแรกเกิด (Infantile esotropia) หรือ “ตาไขว้” (Crossed eye) ส่วนสาเหตุที่เกิดยังไม่ทราบได้แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เมื่อมองภาพระยะใกล้จำเป็นต้องเพ่งมากเกินไปทำให้ตาดำมุดเข้าหากัน หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกลูกตา หรือประสาทบังคับการทำงานกล้ามเนื้อตาไม่สมดุลกัน และสาเหตุอื่น ๆ นั่นก็คือ ตาเขเหมือนพ่อเหมือนแม่ คือ ตาเขตามกรรมพันธุ์นั่นเอง
    • ตาเขออกด้านนอก (Exotropia) ตาดำข้างที่เขจะเบนหรือเฉียงออกด้านนอกหางตา เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่าชนิดตาเขเข้าด้านใน ไม่ค่อยพบในเด็ก ๆ ซึ่งตาเขชนิดนี้มักจะเกิดร่วมกับภาวะสายตาสั้น หรือตาข้างที่เขมองไม่ชัด ซึ่งอาจเป็นเพราะโรคกระจกตาดำเลนส์ตาขุ่น วุ้นลูกตาขุ่น รูม่านตาตีบ และประสาทจอรับภาพผิดปกติ เป็นผลให้ตาข้างนั้นไม่สามารถจับจ้องภาพได้ จึงเบนออกด้านนอก ผู้ที่มีตาเขชนิดนี้ ถ้าซักประวัติอย่างละเอียดจะพบว่าเคยประสบอุบัติเหตุถูกไม้ทิ่มตา หรือมีวัตถุแปลกปลอมเข้าตาจนทำให้เกิดแผลเป็นที่ตาดำ เลนส์ตา หรือประสาทจอรับภาพตาพิการมาก่อน
    • ตาเขขึ้นด้านบน (Hypertropia) ตาดำข้างที่เขจะลอยขึ้นด้านบน อาจเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกลอกตา เป็นชนิดที่พบได้น้อย
    • ตาเขลงด้านล่าง (Hypotropia) ตาดำข้างที่เขจะมุดลงด้านล่าง เป็นตาเขชนิดที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อสำหรับกลอกตาหรือมีแผลเป็นที่กล้ามเนื้อตาหลังอุบัติเหตุดึงรั้งให้ลูกตามุดลงด้านล่าง ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้น้อยเช่นกัน
  2. ตาเขชนิดหลอก ๆ หรือ ตาเขเทียม (Pseudostrabismus) เป็นตาเขที่พบได้ในเด็กที่สันจมูกยังแบนราบกับผิวหนังและบริเวณหัวตากว้าง จึงแลดูคล้ายตาเหมือนอยู่ชิดหัวตา เหมือนลักษณะตาเขเข้าด้านใน แต่เมื่อเด็กโตขึ้นสันจมูกมีดั้งสูงขึ้น ภาวะคล้ายตาเขนี้จะหายไปเอง อีกประเภทคือ มีรูปหน้าแคบ ทำให้ตาทั้งสองอยู่ใกล้กันมาก แม้จมูกจะโด่ง แต่ก็ทำให้ดูเหมือนคนตาเขเข้าในได้เช่นกัน หรืออีกประเภทคือ มีใบหน้ากว้าง ทำให้ลูกตาอยู่ห่างกันมากกว่าปกติ จนดูคล้ายกับคนตาเขออกด้านนอก
  3. ตาเขชนิดซ่อนเร้น (Phoria) หรือที่บางคนเรียกว่า “ตาส่อน” เป็นภาวะที่ถ้าลืมตาแล้ว ตาทั้ง 2 ข้างจะอยู่ตรงกลางเป็นปกติดี แต่เวลาที่ร่างกายอ่อนเพลีย หรือเมื่อเอาอะไรมาบังตาข้างใดข้างหนึ่ง ตาข้างนั้นจะเบนออกจากตรงกลาง ถ้าเอาที่บังตาออก ตาข้างนั้นก็จะกลับมาตรงใหม่ ภาวะนี้มักจะไม่มีปัญหาอะไร แต่อาจเป็นสาเหตุให้มีอาการเมื่อยล้าตาได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเมื่อต้องใช้สายตามาก ๆ ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการฝึกกล้ามเนื้อตา
  4. ตาเขชนิดอัมพาตของประสาทกล้ามเนื้อตาหรือจากโรคทางร่างกายอย่างอื่น เป็นตาเขชนิดที่มักพบได้ในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กพบได้น้อย และเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อกลอกลูกตาอ่อนตัวหรือเป็นอัมพาต ซึ่งมักเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน (สาเหตุอาจมาจากการอักเสบที่ประสาทเส้นนั้นมีก้อนมะเร็งกดประสาท หรือมีพยาธิ เช่น ตืดหมู ตัวจี๊ด เข้าไปฝังตัวอยู่ในกล้ามเนื้อ หรือเกิดจากอุบัติเหตุที่มีแรงกระแทกอย่างรุนแรงจนทำให้ประสาทบังคับการกลอกลูกตามัดใดมัดหนึ่งเป็นอัมพาตไปทันที), เกิดตามหลังภาวะโรคระบบอื่นของร่างกาย (เช่น เป็นโรคเบาหวานนาน ๆ ตาอาจเขออกนอกได้ เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง), เกิดจากโรคของระบบอื่นในร่างกาย (พบได้ไม่บ่อย)
รูปคนตาเหล่

นอกจากนี้ ยังอาจแบ่งชนิดของตาเขได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามความสามารถในการมองสองตาพร้อมกัน ได้แก่ ตาเขซ่อนเร้น (Phoria), ตาเขเป็นครั้งคราว (Intermittent tropia), ตาเขถาวร (Tropia), ตาเขแบบผลัดข้างกันเข (บางครั้งเป็นตาซ้าย บ้างก็ตาขวา), แบ่งตามอายุการเกิด ได้แก่ Infantile ที่พบตาเขก่อนอายุ 6 เดือน และ Acquired ที่พบตาเขหลัง 6 เดือน, แบ่งตามรูปแบบของการเข ได้แก่ Horizontal type (ตาเขเข้าหรือตาเขออก), Vertical type (ตาเขขึ้นหรือตาเขลง), Torsional type (ตาหมุนเข้าในหรือตาหมุนเข้านอก) และ Combined type ที่พบตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไปร่วมกัน เป็นต้น

สาเหตุของตาเหล่

  • ในทารกแรกเกิด สายตาจะยังเจริญไม่เต็มที่ และอาจมีอาการตาเขได้บ้าง แต่ถ้าอายุเลย 6 เดือนไปแล้วยังมีอาการตาเขอยู่อีกก็ถือว่าผิดปกติ ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย คือ
    • สาเหตุมาจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ซึ่งอาจจะเป็นมาตั้งแต่กำเนิด ที่พบได้บ่อยคือ ในเด็กที่มีสายตายาวปานกลางจะมีตาเขเข้าด้านใน เพราะเด็กต้องเพ่งเพื่อปรับสายตาให้เห็นชัดขึ้น ซึ่งการเพ่งบ่อย ๆ นี้อาจเป็นสาเหตุทำให้ตาเขเข้าในได้ หากพบแต่เนิ่น ๆ การแก้ไขสายตายาวด้วยแว่นก็อาจทำให้ภาวะตาเขหายไปได้ ส่วนในเด็กที่มีสายตาสั้นหรือสายตาเอียงบางราย อาจทำให้กล้ามเนื้อขาดความสมดุลจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดตาเขได้เช่นกัน
    • เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรม ซึ่งการซักประวัติของบุคคลในครอบครัวร่วมด้วยจะสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้
    • เกิดจากความพิการของกล้ามเนื้อกลอกลูกตา
    • เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เด็กปัญญาอ่อนหรือเด็กที่มีพัฒนาการทางร่างกายช้า
    • เกิดจากการมีโรคในตาข้างใดข้างหนึ่งจนทำให้สายตาข้างนั้นมัวลงมากกว่าอีกข้าง เป็นผลทำให้กล้ามเนื้อตาไม่สมดุลและเกิดภาวะตาเข
    • เกิดจากมะเร็งจอตาในเด็ก (Retinoblastoma) เป็นผลทำให้ตาข้างที่เป็นโรคอาจมีระดับสายตาลดลงมากเนื่องมีจากมีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่มาบดบังจุดภาพชัด (Macula) ทำให้เกิดภาวะตาเขตามมา และหากไม่รีบรับการรักษาก็อาจทำให้เด็กเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้
  • อาการตาเขอาจเกิดขึ้นภายหลังจากพ้นวัยเด็กเล็กมาแล้วก็ได้ (ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด) ซึ่งอาจเกิดจากโรคทางกายอื่น ๆ เช่น
    • กล้ามเนื้อกลอกลูกตาเป็นอัมพาต
    • เนื้องอกในสมอง ทำให้เส้นประสาทเส้นที่ 6 เป็นอัมพาต
    • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
    • โรคเบาหวาน เมื่อเป็นโรคนี้นาน ๆ จะทำให้มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลูกตาได้น้อยลง เป็นผลทำให้กล้ามเนื้อลูกตาเป็นอัมพาตและตาเขตามมา
    • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis – MG) เป็นโรคกล้ามเนื้อทั่วตัวอ่อนแรง ซึ่งรวมถึงกล้ามเนื้อตา เป็นโรคที่พบได้บ้างประปราย ส่วนสาเหตุการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด
    • โรคทริคิโนซิส (Trichinosis)
    • โรคโบทูลิซึม (Botulism)
    • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นอีกโรคหนึ่งที่อาจทำให้เกิดภาวะตาเขได้
    • มะเร็งในส่วนศีรษะและลำคอที่ลุกลามเข้ากดกล้ามเนื้อตาหรือลุกลามเข้าไปที่เส้นประสาท เช่น มะเร็งไซนัส มะเร็งโพรงหลังจมูก
  • มีผู้ป่วยหลายรายที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

อาการตาเหล่

  • ในเด็กที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด มักจะไม่มีอาการอะไรนอกจากตาเข (ตาไม่เคลื่อนไหวไปในแนวทางเดียวกัน ทำให้มองเห็นตาเขได้ชัดเจน) แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้และไม่รีบแก้ไขภายในช่วงอายุที่เหมาะสม ตาข้างที่เขจะมีสายตาพิการได้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเด็กจะไม่ใช้ตาข้างนั้นในการมอง เพื่อหลีกเลี่ยงการเห็นภาพซ้อน โดยใช้แต่ตาข้างที่ดีเพียงข้างเดียว) แต่เมื่อไม่ใช้ตาข้างนั้นนาน ๆ เข้า สายตาก็จะมัวลงไปเรื่อย ๆ ทีละน้อยจนบอดในที่สุด ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า “ตาขี้เกียจ” (Amblyopia) ซึ่งภาวะนี้จะไม่พบในผู้ซึ่งภาวะตาเขเริ่มภายหลังอายุ 9 ปี เพราะสมองได้พัฒนาการมองเห็นจนสมบูรณ์แล้ว
  • ในระยะแรกเด็กอาจมองเห็นภาพซ้อน เนื่องจากตาทั้ง 2 ข้างมองไปยังจุดที่ต่างกัน แต่ในระยะต่อมาสมองจะเริ่มปรับตัวโดยไม่สนใจภาพที่เห็นจากตาอีกข้างหนึ่ง (Suppression) เพื่อช่วยให้ภาวะเห็นภาพซ้อนหายไป เมื่อเริ่มเป็นโรคนี้ เด็กจึงอาจแสดงอาการหยีตาอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่มีแสงจ้า เพราะการหยีตาข้างหนึ่งจะช่วยให้การมองเห็นภาพซ้อนหายไป
  • ในรายที่เป็นตาเขตอนโต มักจะมีอาการมองเห็นภาพ 2 ภาพ หรือเห็นภาพซ้อนร่วมด้วย และอาจมีอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น
  • ผู้ป่วยตาเขบางชนิดอาจมีอาการปวดศีรษะเมื่อต้องใช้สายตามองในระยะใกล้ ๆ เป็นเวลานาน เนื่องจากมีการเกร็งกล้ามเนื้อลูกตา
วิธีแก้ตาเหล่

วิธีรักษาตาเหล่

  1. ถ้าพบอาการตาเขเป็นครั้งคราวในทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน แพทย์จะเฝ้าติดตามดูอาการไปเรื่อย ๆ เพราะถ้าไม่มีสาเหตุที่ผิดปกติ อาการก็มักจะหายไปได้เมื่ออายุได้ 6 เดือน แต่ถ้าอายุเลย 6 เดือนไปแล้วยังไม่หาย ผู้ปกครองควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูภายในลูกตาอย่างละเอียด ดูว่ามีโรคอื่น ๆ ที่เป็นต้นเหตุของตาเขหรือไม่ มีภาวะตาขี้เกียจหรือไม่ และวัดดูว่าความเขมีมากน้อยเพียงใด เพื่อใช้ประเมินในการรักษาต่อไป รวมถึงตรวจวัดตาทั้ง 2 ข้างว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ตาเขและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขหรือรักษาให้หายเสียก่อน
    • ทารกทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองอาการตาเขเป็นระยะ ตั้งแต่อายุได้ประมาณ 2-3 เดือน
    • อาการตาเขที่พบในทารกและเด็กเล็ก ควรนึกไว้เสมอว่าอาจมีสาเหตุผิดปกติซ้อนเร้นอยู่ และควรได้รับการรักษาก่อนอายุ 3-5 ปี ผู้ปกครองอย่าเข้าใจผิดคิดว่าเมื่อเด็กโตขึ้นแล้วอาการนี้จะหายไปได้เอง มิเช่นนั้นอาจทำให้เด็กตาเขและสายตาพิการอย่างถาวรได้ อีกทั้งการรักษาตาเขที่ไม่ทราบสาเหตุในปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะรักษาในเด็กเล็กมากยิ่งขึ้นด้วยวิธีการผ่าตัด เพราะการดมยาสลบในเด็กเล็กมีความปลอดภัยสูงขึ้น ส่วนผลการผ่าตัดนอกจากจะช่วยให้เด็กตาตรงเป็นปกติดีแล้ว ยังทำให้เด็กมีพัฒนาการมองเห็นได้อย่างสมบูรณ์เหมือนคนปกติอีกด้วย
  1. ถ้าทารกมีอาการตาเขอยู่ตลอดเวลา หรือพบอาการนี้ในเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือน ผู้ปกครองควรพาไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ตาข้างที่เขอาจจะเกิดภาวะตาขี้เกียจจนถึงขั้นตาบอดได้
    • ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องพยายามประคองเรื่องสายตา (visual acuity) ของตาทั้งสองให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กที่ตาเขหากปล่อยทิ้งไว้ ตาข้างที่เขจะมีสายตาเสื่อมลงเรื่อยๆ จนถึงระยะใช้การไม่ได้ ทำให้ตาข้างนั้นพิการ ซึ่งระยะที่เหมาะสมต่อการรักษาคืออายุ 6 เดือนแรกถึง 2 ปี เพราะเด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นตาเขเข้าด้านในและมีความผิดปกติของสายตาร่วมด้วยเสมอ โดยมักจะเป็นชนิดสายตายาว ต้องใส่แว่นสายตาชนิดเลนส์นูนที่ตรงกับค่าสายตา และต้องพยายามให้เด็กสวมแว่นตาเมื่ออายุได้ 2-3 ปี (ผู้ปกครองไม่ต้องแปลกใจหรือสงสัยว่าเด็กตัวเล็กนิดเดียวต้องใส่แว่นแล้วหรือ เพราะเด็กต้องใส่แว่นเพื่อให้ตาทั้ง 2 ข้างเห็นชัดดีขึ้น เด็กจะได้สบายตา และตาอาจตรงกลับคืนมาได้เหมือนคนปกติ) แต่ในระยะเริ่มแรกที่ตรวจวัดสายตาไม่ได้แน่ชัด ควรพยายามบังคับให้เด็กใช้ตาทั้งสองข้างสลับกัน (ฝึกกล้ามเนื้อตา) โดยใช้วิธีการปิดตาข้างที่ดีเอาไว้วันละหลายชั่วโมง เพื่อให้ตาข้างที่เขได้ทำหน้าที่บ้าง
    • ถ้ามีภาวะสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ควรได้รับการแก้ไขหรือรักษาให้หายเสียก่อน (เช่น การตัดแว่นใส่) เพราะในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการตาเขอาจมีสาเหตุมาจากสายตาที่ผิดปกติ หากได้รับการแก้ไขสายตาที่ผิดปกติแล้ว อาจช่วยให้เด็กบางคนหายจากอาการตาเขได้ภายในไม่กี่เดือน โดยไม่ต้องใช้วิธีอื่น (แต่ถ้ายังมีภาวะตาเขหลงเหลืออยู่ อาจต้องทำการผ่าตัดเพิ่มเติมในภายหลัง)
    • การรักษาภาวะตาขี้เกียจ มักทำการแก้ไขด้วยการปิดตาข้างดีไว้ เพื่อกระตุ้นให้เด็กใช้ตาข้างที่มีสายตาขี้เกียจบ่อยขึ้น ส่วนระยะเวลาในการปิดตาก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอายุของเด็ก หากเป็นเด็กเล็กการปิดตาข้างที่ดีในแต่ละวันไม่ควรปิดติดต่อกันนานหลายชั่วโมง เพราะอาจจะทำให้ระดับสายตาข้างที่เป็นปกติลดลง ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า “Occlusion amblyopia” เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มักจะไม่ให้ความร่วมมือในการปิดตาข้างที่ดี การรักษาจึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้ปกครองและครู โดยต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการรักษาภาวะสายตาขี้เกียจในระยะที่เหมาะสม แต่ในกรณีที่ไม่สามารถปิดตาได้ แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาหยอดขยายรูม่านตาในตาข้างที่เป็นปกติเพื่อทำให้ตานั้นมัวลง ซึ่งอาจช่วยให้เด็กหันมาใช้ตาข้างที่ขี้เกียจบ่อยขึ้น
    • ในรายที่มีอาการตาเขมากหรือรักษาด้วยวิธีอื่นมาแล้วแต่ยังไม่ได้ผล หรือยังมีภาวะตาเขหลงเหลืออยู่ อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดดึงกล้ามเนื้อตาให้ลูกตาอยู่ในแนวที่ต้องการใกล้เคียงธรรมชาติ แต่ในรายที่ยังมีลักษณะตาเขเหลืออยู่ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติม (การผ่าตัดตาเข คือ การผ่าตัดเลื่อนหรือตัดกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กลอกตาใหม่ เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งลดขนาดความยาวกล้ามเนื้อ โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยอาศัยการวัดมุมเขที่เหลือด้วยการใช้เครื่องมือพิเศษ หลังการผ่าตัดแพทย์จะปิดตาข้างที่ผ่าไว้ 1 วัน จากนั้นจึงเปิดใช้สายตาได้ตามปกติ สำหรับเด็กเล็กในเวลานอนแพทย์จะให้ใช้ที่ครอบตาปิดไว้เพื่อกันเด็กขยี้ตา ซึ่งในช่วงสัปดาห์ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเข้าตา เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ และต้องมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อดูอาการว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ส่วนแผลจากการผ่าตัดนั้นเมื่อเวลาผ่านพ้นไป 2-3 เดือน ก็แทบจะไม่เห็นแผลเป็นหรือร่องรอยจากการผ่าตัดเลย)
    • การรักษาอาการตาเขและตาขี้เกียจ เมื่อรักษาก่อนเด็กอายุได้ 3-5 ปี จะทำให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติได้สูง (มีคุณภาพในการมองเห็นที่ดีเช่นคนปกติ) แต่ถ้าอายุได้ประมาณ 5-7 ปี อาการตาขี้เกียจอาจต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้น และถ้าอายุมากกว่า 7 ขึ้นไป การรักษาตาขี้เกียจมักไม่ค่อยได้ผล เพราะหลังจากเลยวัยนี้ไปแล้ว ตาข้างที่เขอาจมีสายตาพิการอย่างถาวรจนยากที่จะแก้ไขได้แล้ว
  2. ถ้าพบอาการตาเขในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่ที่สงสัยว่าอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาไปตามสาเหตุที่พบตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ เดินเซ เพราะสาเหตุอาจจะมาจากโรคอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นโรคร้ายแรงได้ ส่วนใหญ่หลังจากรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุให้หายดีแล้ว อาการตาเขก็มักจะหายไปได้เอง แต่ถ้าไม่หายก็อาจต้องแก้ไขด้วยการใส่แว่น การฉีดโบท็อกซ์ (Botox) หรือถ้าทำทุกอย่างแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
    • ในรายที่ตาเขไม่มากอาจรักษาด้วยการฝึกกล้ามเนื้อตา ใช้แว่นสายตาหรือแว่นแก้วปริซึม (Prism Glasses) แก้ไข ซึ่งจะช่วยหักเหแสงให้ตกพอดีที่จุดรับภาพที่จอตา หรืออาจรักษาด้วยการฉีดโบท็อกซ์ (Botox) ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว โดยฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อตาที่เป็นสาเหตุทำให้ตาเข หรืออาจใช้วิธีการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา ซึ่งอาจทำให้ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับว่าตาเขมากน้อยเพียงใด
    • สำหรับตาเขที่พบในผู้ใหญ่และเป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว และผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข ถ้าไม่อยากแก้ไขก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเป็นแล้วทางที่ดีควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตากับจักษุแพทย์เสมอ เพื่อจะได้หาทางแก้ไขให้สายตากลับมาเป็นเป็นปกติ หรืออย่างน้อยก็เพื่อตรวจดูว่าตาเขที่เป็นอยู่นั้นก่อโรคอะไรต่อดวงตาบ้างเพื่อจะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
    • ตาเขชนิดที่เกิดจากโรคในระบบอื่น ๆ ของร่างกาย และมีสาเหตุที่ชัดเจนไปกดประสาทบังคับการทำงานของกล้ามเนื้อตา ก็ต้องพยายามขจัดสาเหตุนั้นออกไป เช่น ถ้าตาเขชนิดออกนอกเกิดจากก้อนมะเร็งกดก็ต้องผ่าตัดก้อนมะเร็งออก ถ้าเกิดจากการอักเสบก็ให้รักษาเรื่องการอักเสบ หรือถ้าเกิดจากเบาหวานก็ให้ควบคุมเบาหวานให้ดี เป็นต้น
    • ตาเขชนิดที่เกิดจากอุบัติเหตุ แพทย์มักจะให้ยาช่วยบำรุงประสาทตาและรอจนกว่าประสาทตาจะฟื้นประมาณ 6-8 เดือน แต่ถ้ายังไม่หายสนิทก็ต้องผ่าตัดมุมที่เหลือ
    • การรักษาตาเขด้วยการผ่าตัดสามารถทำให้ตาตรงใกล้เคียงกับธรรมชาติได้และไม่มีอันตราย เมื่อทำการผ่าตัดตาเขให้ตรงได้แล้ว ที่สำคัญอย่างมากก็คือ ผู้ป่วยต้องพยายามให้ตาทั้งสองข้างทำงานร่วมกันได้ด้วย (Binocular vision) แต่ถ้าทำไม่ได้ ตาตรงก็ถือว่าใช้ได้ในแง่ของความสวยงาม
    • ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปจนกระทั่งถึง 50-60 ปี ลักษณะตาเขจะค่อนข้างถาวร คือ เป็นข้างใดข้างหนึ่งอย่างแน่นอน (Constant) ส่วนบางรายอาจพบว่าตาเขสลับข้างกันไปมา (Alternating) ซึ่งกลุ่มนี้มักจะเป็นตาเขชนิดออกด้านนอกเป็นส่วนใหญ่ แพทย์จะตรวจก่อนว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาหรือไม่ ถ้ามีก็แก้ไขด้วยการใส่แว่นตาก่อน ส่วนมุมเขที่เหลือค่อยผ่าตัด ถ้าสายตาปกติดี แต่ตาเข อาจผ่าตัดให้ใกล้เคียงธรรมชาติได้เลยเพื่อความสวยงาม

สรุป การรักษาตาเขไม่ใช่ทำกันได้ในทันทีทันใด ต้องรักษาไปตามขั้นตอน ในบางรายก็สามารถรักษาให้หายได้เกือบสนิท บางรายก็ใกล้เคียง แต่บางรายก็เป็นการรักษาเพื่อลบปมด้อยในแง่ของความสวยความงามเท่านั้น ดั่งคำพังเพยของจักษุแพทย์ชื่อดังที่กล่าวไว้ว่า “ตาใดที่เคยผิดปกติมาแล้ว ความผิดปกติย่อมเหลืออยู่ แต่แพทย์จะให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้เท่านั้น…” ส่วนการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่นั้น ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย คนในครอบครัว หรือแพทย์เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ตาเข (Strabismus)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 947-948.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 124 คอลัมน์ : ตา…หน้าต่างโลก.  (นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์).  “ตาเข หรือ ตาเหล่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [16 เม.ย. 2016].
  3. ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ตาเหล่! ใครว่ารักษาไม่ได้”.  (รศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [17 เม.ย. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “ตาเหล่ ตาเข (Strabismus)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [17 เม.ย. 2016].

ภาพประกอบ : opto.ca, www.medifee.com, keniaeyehospital.com, gogetfunding.com, sabateseye.com, consultqd.clevelandclinic.org, bodlaeyecare.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด