ตาเสือ
ตาเสือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Aphanamixis polystachya (Wall.) R.Parker จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)[1]
สมุนไพรตาเสือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เลาหาง (เชียงใหม่), ขมิ้นดง (ลำปาง), เซ่ (แม่ฮ่องสอน), เย็นดง (กำแพงเพชร), ตาปู่ (ปราจีนบุรี), มะยมหางก่าน (บุรีรัมย์), ตุ้มดง (กระบี่), มะหังก่าน มะฮังก่าน มะอ้า (ภาคเหนือ), โกล ตาเสือ (ภาคกลาง), แดงน้ำ (ภาคใต้), เชือย โทกาส้า พุแกทิ้ เส่ทู่เก๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮองสอน), ยมหังก่าน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1]
ลักษณะของตาเสือ
- ต้นตาเสือ จัดเป็นไม้ยืนต้น มีความสูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกต้นหนาแตกเป็นสะเก็ดหลุดล่อนออก ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีเหลือง[1]
- ใบตาเสือ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 3-7 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบกลมเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-18 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม[1]
- ดอกตาเสือ ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงยาว โดยจะออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีทั้งช่อดอกเพศผู้ ช่อดอกเพศเมีย และช่อดอกที่มีทั้งสองเพศ ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อน ลักษณะเป็นรูปทรงกลม กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันปลายแยกออกเป็น 3 แฉก สีเขียวและมีขน ส่วนกลีบดอกมี 3 กลีบ สีเหลือง เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ[1]
- ผลตาเสือ ผลมีลักษณะกลม ขนาดประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2-3 ซีก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลดำและมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง[1]
สรรพคุณของตาเสือ
- เนื้อไม้มีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาแก้ธาตุพิการ (เนื้อไม้)[2]
- เปลือกต้นมีรสฝาดเมา มีสรรพคุณเป็นยาปิดธาตุ กล่อมเสมหะ แก้เสมหะ (เปลือกต้น)[1],[2]
- แก่นใช้ทำเป็นยาสมานท้องไส้ได้ดี (แก่น)[2]
- เนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (เนื้อไม้)[2]
- ใช้เป็นยาแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)[1]
- เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาขับโลหิต ขับระดู รัดมดลูก (เปลือกต้น)[1]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)[1]
- ใบมีรสฝาดเมา ใช้เป็นยาแก้บวม (ใบ)[1]
- ผลมีรสฝาดเมา ใช้เป็นยาแก้บวมตามข้อต่าง ๆ ในร่างกาย หรือใช้เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดตามข้อ (เปลือกต้น, ผล)[1],[2]
ข้อควรระวัง : ทุกส่วนของต้นตาเสือเป็นพิษ กินมากอาจทำให้ตายได้ และเห็ดที่เกิดจากขอนไม้ตาเสือเมื่อกินเข้าไปจะทำให้เกิดอาการเมาอาเจียนถึงตายได้เช่นกัน[1]
ประโยชน์ของตาเสือ
- ไม้ตาเสือสามารถเอามาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ดี เพราะเนื้อไม้มีความแข็ง เหนียว มีความแข็งแรงทนทานดี[2]
- ผลใช้เป็นอาหารของนกเงือก
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ตาเสือ”. หน้า 115.
- ศูนย์ปฏิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตาเสือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.goldenjubilee-king50.com. [16 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Indianature ss2, Dinesh Valke, Foggy Forest, Shubhada Nikharge, Cerlin Ng)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)