ตาลเดี่ยว สรรพคุณและประโยชน์ของตาลเดี่ยว (เหลืองพิศมร, หัวข้าวเหนียว)

ตาลเดี่ยว

ตาลเดี่ยว ชื่อวิทยาศาสตร์ Spathoglottis affinis de Vriese (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ว่า Spathoglottis lobbii Rchb.f., Spathoglottis regneri Rchb.f.) จัดอยู่ในวงศ์กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรตาลเดี่ยว เป็นกล้วยไม้เอื้องดินใบหมากที่มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เหลืองพิศมร หัวข้าวเหนียว เอื้องหัวข้าวเหนียว เป็นต้น[2],[3]

หมายเหตุ : คำว่า Spathe แปลว่า ช้อน ส่วน Glotta แปลว่า ลิ้น จึงหมายถึงรูปทรงของกลีบปากที่มีลักษณะคล้ายลิ้น และต้นตาลเดี่ยวที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นคนละชนิดกับ ว่านตาลเดี่ยว หรือ ว่านดอกคำ ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypoxis aurea Lour.

ลักษณะของตาลเดี่ยว

  • ต้นตาลเดี่ยว มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะแปซิฟิกบางเกาะ และออสเตรเลีย มีการแพร่กระจายตั้งแต่ทางตอนเหนือของอินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะแปซิฟิก และทางตอนใต้ของจีน ในประเทศไทยพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันตก ตามป่าโปร่ง ชายป่าตามลานหินที่มีน้ำซับ ทุ่งโล่งที่ชื้นแฉะ โดยจัดเป็นกล้วยไม้ดิน มีความสูงประมาณ 25-50 เซนติเมตร หัวมีขนาดเล็ก ค่อนข้างแบนและเป็นรูปทรงแป้นหรือกลมรี มีรูปร่างไม่แน่นอน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ผิวเรียบมีเยื่อบางใสคลุมอยู่ และเป็นกล้วยไม้ชนิดที่ทิ้งใบหมด ในฤดูแล้งจะพักตัวเหลือแต่หัว และในฤดูฝนจะสร้างใบและดอก โดยรวมมีลักษณะคล้ายกับเอื้องดินลาวมาก (Spathoglottis pubescens Lindl.)[1],[2],[3]

ต้นตาลเดี่ยว

  • ใบตาลเดี่ยว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนเป็นวงรัศมี แผ่นใบมีลักษณะพับย่นคล้ายพัดจีนตามความยาวของใบ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกแคบ ปลายใบเรียวแหลม มีขนาดกว้างได้ถึง 3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 25-50 เซนติเมตร มีจำนวนใบประมาณ 2-4 ใบต่อต้น[1],[2],[3]
  • ดอกตาลเดี่ยว ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ในหนึ่งช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 5-10 ดอก ก้านช่อยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ก้านช่อกลมผอมแต่แข็งแรง มีใบประดับเล็ก ๆ ติดอยู่เป็นระยะ ดอกในช่อโปร่งเกิดจากกลางช่อขึ้นไป ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงจะมีขีดตามยาวสีน้ำตาล กลีบปากเป็นสีเหลืองเข้ม ที่โคนกลีบมีประสีน้ำตาลหรือม่วง ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[2]

ดอกตาลเดี่ยว

เหลืองพิศมร

เอื้องหัวข้าวเหนียว

  • ผลตาลเดี่ยว ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนาน แตกได้ตามยาว[1]

สรรพคุณของตาลเดี่ยว

  • ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้หัวนำมาตำผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาทาแก้ฝี (หัว)[1]

ประโยชน์ของต้นตาลเดี่ยว

  • ต้นตาลเดี่ยวเป็นกล้วยไม้ดิน เลี้ยงดูง่าย เป็นหัวอยู่ใต้ดิน ชอบแสงแดด ไม่ชอบที่แฉะ จะพักตัวในช่วงฤดูแล้งและจะแตกใบออกดอกในช่วงฤดูฝน ดอกเป็นสีเหลืองสดมีความสวยงาม จึงนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ตาลเดี่ยว”.  หน้า 202.
  2. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 6.  “เอื้องหัวข้าวเหนียว”.
  3. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Phimee, Len Worthington, peppaper, 阿橋)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด