โรคตาปลา
ตาปลา (Corns) เป็นโรคที่เนื้อเยื่อชั้นบนของผิวหนังมีการหนาตัวและนูนขึ้นมาเป็นตุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเกิดจากแรงกดหรือแรงเสียดสีเป็นเวลานาน ๆ มักเกิดขึ้นตรงบริเวณที่มีปุ่มกระดูกนูน โดยเฉพาะที่บริเวณฝ่าเท้าและนิ้วเท้า ตาปลาเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป พบได้ในคนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบได้ในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่น และส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้แต่อย่างใด (ยกเว้นในผู้ป่วยเบาหวาน ถ้าเป็นแล้วไม่รักษาให้ดี อาจเกิดการอักเสบรุนแรงได้)
สาเหตุของตาปลา
ตาปลาเกิดจากการที่ผิวหนังถูกเสียดสีหรือถูกกดทับบ่อย ๆ และเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเกิดได้จากการกระทำของตัวผู้ป่วยเองหรือเกิดจากความผิดปกติของร่างกายผู้ป่วยก็ได้ ดังนี้
- สาเหตุภายนอก หรือ สาเหตุจากการกระทำของผู้ป่วย (Extrinsic factor) ได้แก่ การสวมใส่รองเท้าที่คับแน่นหรือหลวมไม่เหมาะกับเท้า, การสวมใส่รองเท้าส้นสูง, การเดินลงน้ำหนักที่ไม่เหมาะสม, การไม่ใส่รองเท้าเวลาเดิน, การใช้มือหรือเท้าทำงานบางอย่างบ่อย ๆ เป็นเวลานาน (เช่น ร้อยพวงมาลัย การเขียนหนังสือมาก ๆ ใช้นิ้วมือหิ้วของหนัก ๆ เป็นนักกีฬายิมนาสติก เป็นช่างตีเหล็ก ช่างขุด ช่างเจาะ ฯลฯ ส่วนเด็กทารกที่มีการดูดนิ้วมือตัวเองบ่อย ๆ ก็อาจพบได้เช่นกัน), ปัญหาเรื่องท่ายืนหรือท่าเดินของผู้ป่วยที่ทำให้บริเวณใดบริเวณหนึ่งถูกกดทับมากเกินไป เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุทำให้มีแรงกดตรงใต้ฝ่าเท้าหรือนิ้วเท้าเป็นเวลานาน จึงเกิดการสร้างเนื้อเยื่อพังผืดแข็ง ๆ ขึ้นมารองรับจุดนั้นแทนเนื้อธรรมดา
- สาเหตุจากภายใน หรือ สาเหตุจากความผิดปกติของร่างกายผู้ป่วย (Intrinsic factor) ได้แก่ ผู้ที่มีเท้าผิดรูปหรือผิดปกติ (เช่น นิ้วเท้างุ้ม (Hammer toe) ซึ่งเกิดจากการใส่รองเท้าไม่เหมาะสมกับเท้านานเป็นแรมปี) ทำให้บางตำแหน่งต้องรับน้ำหนักและถูกกดทับมากกว่าปกติ, เกิดจากความผิดปกติมีปุ่มกระดูกนูนหรือยื่นออกมา (ทำให้เกิดการเสียดสีเป็นเวลานานได้ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ ซึ่งผู้ป่วยจะมีข้อนิ้วมือผิดรูป ทำให้การใช้งานไม่เป็นปกติและเกิดการเสียดสีในบางตำแหน่งมากเกินไป), การมีน้ำหนักตัวมาก (ทำให้เท้ารับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้เกิดแรงกดทับบางตำแหน่งมากกว่าปกติ) เป็นต้น
อาการของตาปลา
เนื่องจากมือและเท้าเป็นอวัยวะที่ใช้งานบ่อย รวมทั้งจากการเสียดสีและถูกกดทับอยู่บ่อยครั้ง จึงมักทำให้พบตาปลาในตำแหน่งนี้กันมาก ส่วนบริเวณอื่น ๆ ที่อาจพบได้ก็เช่น บริเวณขา และหน้าผาก ซึ่งจะพบได้ในชาวมุสลิมที่สวดมนต์โดยการคุกเข่าและใช้หน้าผากกดทับพื้นเป็นประจำ ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วตาปลาจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ดังนี้
- ตาปลา ที่เรียกว่า “คอร์น” (Corn, Clavus, Heloma) ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนของผิวที่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง (เรียกว่า Central core, Nucleus, Radix) ซึ่งเกิดจากผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้าที่เรียกว่า Stratum corneum มีการบุ๋มตัวลงไป และทำให้ชั้นของขี้ไคล (Keratin) ซึ่งเกิดจากการลอกตัวของผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้านี้มีการสะสมอัดแน่นจนไปกดเบียดชั้นผิวหนังแท้ซึ่งมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บนั่นเอง และในบางครั้งอาจพบว่ามีการอักเสบแดงของผิวหนังโดยรอบ ตาปลาชนิดนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย คือ
- ตาปลาชนิดขอบแข็ง (Hard corn, Heloma durum) เป็นตาปลาที่พบได้บ่อยที่สุดในบริเวณด้านบนและด้านข้างของนิ้วเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วก้อย ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะแข็ง มีผิวแห้ง เป็นขุย แต่มีความวาวเหมือนขี้ผึ้ง เมื่อใช้ใบมีดเฉือนตุ่มนูนนี้ออกบาง ๆ ก็จะเห็นจุดกดแข็งสีออกใส ๆ อยู่ตรงกลางตุ่ม ซึ่งมีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร
- ตาปลาชนิดอ่อน (Soft corn, Heloma molle) เป็นตาปลาที่พบได้บ่อยที่สุดในบริเวณง่ามนิ้วระหว่างนิ้วก้อยและนิ้วนางของเท้า ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตาปลาที่นุ่มกว่าชนิดแรก มีผิวชุ่มชื้นและมักจะมีการลอกตัวออกของผิวเสมอ หากใช้ใบมีดเฉือนตุ่มนูนนี้ออกบาง ๆ ก็จะเห็นจุดกดแข็งอยู่ตรงกลางเช่นเดียวกัน
- ตาปลาชนิดขอบแข็ง (Hard corn, Heloma durum) เป็นตาปลาที่พบได้บ่อยที่สุดในบริเวณด้านบนและด้านข้างของนิ้วเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นิ้วหัวแม่เท้าและนิ้วก้อย ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะแข็ง มีผิวแห้ง เป็นขุย แต่มีความวาวเหมือนขี้ผึ้ง เมื่อใช้ใบมีดเฉือนตุ่มนูนนี้ออกบาง ๆ ก็จะเห็นจุดกดแข็งสีออกใส ๆ อยู่ตรงกลางตุ่ม ซึ่งมีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร
- ตาปลา ที่เรียกว่า “คัลลัส” หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “หนังหนาด้าน” (Callus, Tyloma) เป็นตาปลาที่พบได้ที่บริเวณส้นเท้าและฝ่าเท้าส่วนที่เชื่อมต่อกับนิ้วเท้า ตาปลาชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนของผิวหนังแบบที่ไม่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง ผิวหนังจะมีความหนาและด้านกว่าปกติ โดยจะมีขนาดใหญ่กว่าตาปลา อาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 นิ้ว ส่วนขอบเขตของตาปลาชนิดนี้จะไม่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากตาปลาชนิดแรกที่จะมีขอบเขตอย่างชัดเจน และในบางครั้งยังอาจเกิดตาปลาชนิดที่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลางร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดหรือคันแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นตาปลามีขนาดใหญ่ก็อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนสวมใส่รองเท้า ผู้ที่มีโครงสร้างของเท้าผิดปกติ เช่น ฝ่าเท้าแบน จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นตาปลาชนิดนี้สูงมาก นอกจากนี้ยังอาจพบได้ที่ฝ่ามือหรือหัวเข่าบริเวณที่มีแรงเสียดสี เช่น จากการใช้มือจับอุปกรณ์ในการทำงานจนเกิดแรงเสียดสีอยู่เป็นประจำ เช่น จอบ เสียม กรรไกร มีด เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของตาปลา
ตาปลาเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและไม่ทำให้เสียชีวิต เพียงแต่จะก่อให้เกิดอาการเจ็บและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันบ้างเท่านั้น โดยผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้มีดังนี้
- ตาปลาที่มีอาการเจ็บ อาจทำให้ผู้ป่วยเดินได้ไม่คล่องตัว ทำงานได้ไม่สะดวก
- ผู้ป่วยที่มักเฉือนตาปลาออกด้วยตัวเอง อาจพลาดไปเฉือนเอาผิวหนังปกติออกจนมีเลือดออกและกลายเป็นแผล ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมาได้
- สำหรับตาปลาชนิดอ่อน (Soft corn) ที่ผิวหนังมีการลอกตัว อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็นโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย (ส่วนของแขนและขา)
- ถ้าปล่อยไว้นาน ตาปลาอาจเกิดการอักเสบเป็นแผลและติดเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน อาจจะเกิดการติดเชื้อรุนแรงจนเป็นอันตรายได้
การวินิจฉัยโรคตาปลา
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยดูจากอาการและการตรวจรอยโรคเป็นหลัก แต่ที่สำคัญคือต้องแยกตาปลาออกจากหูด เพราะทั้งสองโรคนี้จะเป็นตุ่มนูนแข็งที่ผิวหนังคล้าย ๆ กัน แต่จะมีสาเหตุและการรักษาที่แตกต่างกัน โดยแพทย์จะทดสอบโดยการใช้มีดเฉือนตุ่มนูนออกบาง ๆ ถ้าเป็นหูดจะมีเลือดออกเล็ก ๆ ของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงหูด เมื่อกดจากด้านข้างเข้าหากันจะรู้สึกเจ็บ แต่ถ้าเป็นตาปลาเมื่อบีบด้านข้างจะไม่เจ็บ จะเจ็บก็ต่อเมื่อกดลงไปตรง ๆ ที่ตุ่มนูน และในตุ่มนั้นจะไม่มีเลือดออก
สำหรับการวินิจฉัยเพื่อแยกชนิดตาปลานั้น จะทำได้โดยการใช้ใบมีดเฉือนตุ่มนูนออกบาง ๆ เช่นกัน ถ้าเป็นตาปลาชนิดคอร์นจะพบจุดแข็งอยู่ตรงกลาง แต่ถ้าเป็นตาปลาชนิดคัลลัสจะไม่มีจุดแข็งอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ที่ผิวหนังของตาปลาชนิดคัลลัสยังพบลายเส้นของผิวหนังเป็นปกติ ในขณะที่ตาปลาชนิดชนิดคอร์นจะไม่พบลายเส้นของผิวหนัง
ในกรณีที่มีปัญหาในการวินิจฉัยแยกกับโรคผิวหนังอื่น ๆ ที่มีตุ่มนูน เช่น ตุ่มนูนที่เกิดในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ไม่น่าจะเป็นตาปลาได้ หรือตุ่มนูนหลายตุ่ม แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อผิวหนังเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ถ้าพบว่าเป็นตาปลาชนิดคอร์นจะพบผิวหนังชั้นหนังกำพร้ามีการหนาตัวขึ้น โดยที่บริเวณตรงกลางของตุ่มนูน ผิวหนังชั้นบนสุดจะมีการบุ๋มตัวลงไป และถ้าเป็นตาปลาชนิดคัลลัสจะไม่พบการหนาตัวของผิวหนังชั้นหนังกำพร้า แต่จะพบชั้นขี้ไคลมีการหนาตัวมากขึ้น
เมื่อวินิจฉัยได้แล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือการหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นตาปลา ได้แก่ การซักประวัติอาชีพการทำงาน กิจกรรมที่ผู้ป่วยมักทำเป็นประจำ การตรวจดูรูปร่างของมือหรือเท้าว่ามีรูปร่างผิดปกติหรือมีกระดูกยื่นออกมาผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอาจต้องอาศัยวิธีการตรวจเอกซเรย์เพื่อดูรูปร่างของกระดูกต่อไป นอกจากนี้แพทย์ยังอาจใช้วิธีการตรวจดูการรับน้ำหนักของเท้าในขณะเดินด้วย (Pedobarography)
วิธีรักษาตาปลา
- เริ่มจากการแก้ที่ต้นเหตุ คือ การลดแรงกดทับและแรงเสียดสี โดยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้ (ในรายที่เป็นไม่มากมักจะค่อย ๆ หายไปเอง แต่อาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ และหากไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเรื่อย ๆ)
- เปลี่ยนไปใช้รองเท้าที่มีขนาดพอดีกับเท้า ไม่หลวม ไม่คับหรือบีบแน่นจนเกินไป ด้านหน้าของรองเท้าเมื่อสวมใส่แล้วจะต้องไม่บีบนิ้วเท้า มีช่วงนิ้วเท้ากว้าง พื้นรองเท้าต้องมีความนิ่มและยืดหยุ่น และส้นรองเท้าต้องไม่สูงจนเกินไป (ถ้าจะซื้อรองเท้าคู่ใหม่ ควรไปซื้อในช่วงบ่ายหรือเย็น เพราะเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่เท้าจะบวมขึ้นในระหว่างที่เราทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน นั่นหมายความว่าถ้าหากเราไปซื้อรองเท้าในตอนเช้า รองเท้าอาจจะไม่พอดีกับเท้าในตอนบ่ายของวันก็ได้)
- สวมใส่ถุงเท้าหนา ๆ เพื่อช่วยลดแรงกดของเท้า แต่ถุงเท้าที่สวมใส่ควรพอดีกับขนาดของเท้าและรองเท้า เมื่อใส่แล้วจะต้องไม่รัดแน่นหรือหลวมเกินไป และต้องดูให้แน่ใจด้วยว่าถุงเท้าที่สวมใส่นั้นไม่มีตะเข็บที่จะไปขูดกับตาปลาหรือบริเวณที่อาจเกิดตาปลา
- หากตาปลาอยู่ตรงฝ่าเท้าควรใช้ฟองน้ำหรือแผ่นรองเท้ารองส่วนที่เป็นตาปลาหรือหนังหนาด้านเอาไว้ในขณะสวมใส่รองเท้าด้วย เพื่อช่วยลดแรงกดและแรงเสียดสีที่เท้า หรืออาจใช้วิธีเสริมพื้นรองเท้าเป็นพิเศษเหนือส่วนที่เกิดตาปลาเพื่อช่วยลดแรงกดก็ได้
- ผู้ที่เป็นตาปลาที่มือ ควรสวมใส่ถุงมือในขณะทำงานด้วย เพื่อช่วยลดการเสียดสีของผิวหนัง
- ผู้ที่เป็นตาปลาบนนิ้วเท้าควรหาซื้อซิลิโคนป้องกันตาปลามาใช้ เพราะแผ่นซิลิโคนที่ถูกผลิตมาเป็นพิเศษจะช่วยลดการเสียดสีและแรงกระแทกระหว่างนิ้วเท้าได้
- ผู้ที่เป็นตาปลาอยู่ระหว่างง่ามนิ้วเท้า อาจใช้สำลีหรือฟองน้ำบุระหว่างง่ามนิ้วเท้าด้วย
- หากตาปลาเกิดจากสาเหตุที่เท้าผิดรูป หรือจากการลงน้ำหนักของเท้าที่ผิดปกติ อาจต้องเลือกใช้รองเท้าที่ออกแบบเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับความผิดปกติที่เกิดขึ้น
- ผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากและมีตาปลาที่เท้า ควรลดน้ำหนักตัวเพื่อลดแรงกดของเท้ากับพื้น
- ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาฉีดซิลิโคนเข้าชั้นผิวหนังบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกยื่นออกมา เพื่อช่วยลดแรงเสียดสีและแรงกดผิวหนังตรงปุ่ม
- การกำจัดตาปลาด้วยตัวเองที่บ้าน เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่ช่วยลดขนาดของตาปลาลงได้ โดยให้แช่เท้าในน้ำร้อนอุณหภูมิพอเหมาะประมาณ 10 นาที เพื่อให้ตุ่มตาปลานิ่มลง จากนั้นให้ใช้หินขัดเท้าหรืออุปกรณ์ขัดผิวอย่างอื่น เช่น ตะไบขัดเท้า แปรงขัดเท้า ค่อย ๆ ขัดลงไปที่รอยโรค เมื่อขัดเสร็จแล้วให้เช็ดเท้าให้แห้งแล้วบำรุงด้วยครีมทาเท้าเพื่อให้เท้าเกิดความชุ่มชื่น โดยให้ทำเป็นประจำทุกวันจนกว่าตาปลาจะหายไป (ไม่แนะนำให้ใช้ธูปจี้หรือตัดตาปลาออกด้วยใบมีด มีดโกน กรรไกร หรือของมีคมอื่น ๆ ด้วยตัวเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดบาดแผลจนเท้าติดเชื้ออย่างรุนแรงขึ้นมาได้)
- การใช้สมุนไพรกำจัดตาปลา เป็นวิธีธรรมชาติที่ผู้ป่วยสามารถลองทำเองได้ “แต่อาจจะได้ผลไม่ดีนัก” เช่น
- กระเทียม ให้ฝานกระเทียมสดเป็นชิ้นหนา ๆ แล้วนำมาถูบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วใช้กระเทียมส่วนที่เหลือนำมาสับใช้พอกตรงตาปลา พันทับด้วยผ้าพันแผลหรือปลาสเตอร์ ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วจึงค่อยแกะออก โดยให้ทำซ้ำกันทุกคืนติดต่อกันเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
- มะนาวหรือเลมอน ให้ใช้สำลีชุบน้ำมะนาวหรือน้ำเลมอน (หรือหั่นเป็นแว่น ๆ) แล้วนำมาเช็ดถูบริเวณที่เป็นตาปลา จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ให้ทำซ้ำทุกวัน หรือจะใช้บริเวอร์ยีสต์ (Brewer’s Yeast) ซึ่งเป็นอาหารเสริมนำมาผสมกับน้ำมะนาวเล็กน้อยให้เป็นเนื้อครีม ใช้พอกบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ก็จะช่วยให้ตาปลานิ่มลงได้เช่นกัน
- มะละกอดิบ ให้นำมะละกอดิบมาคั้นเอาแต่น้ำ แล้วใช้สำลีชุบน้ำมะละกอดิบใช้แปะลงบนตาปลาแล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะปลาสเตอร์ออกแล้วล้างด้วยน้ำอุ่น ให้ทำซ้ำทุกวันจนกว่าจะเห็นผล
- เปลือกสับปะรด ให้นำเปลือกที่ไม่ใช้แล้วมาหั่นเป็นชิ้นขนาดพอดีกับตาปลา แล้วแปะลงตรงตาปลาและปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นแกะออกล้างให้สะอาด และทาบริเวณตาปลาด้วยน้ำมันมะพร้าว โดยให้ทำแบบนี้ติดต่อกันเป็นประจำจนกว่าจะหาย
- ผงขมิ้น ให้นำผงขมิ้นไปผสมกับน้ำผึ้งให้เป็นเนื้อครีม ใช้ทาบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ให้ทำซ้ำ 2-3 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 1 สัปดาห์ ตาปลาก็จะค่อย ๆ หลุดลอกออกไป หรือจะใช้ผงขมิ้นผสมกับเจลว่านหางจระเข้ทาลงในปลาสเตอร์แล้วปิดทิ้งไว้ข้ามคืนก็ได้ จากนั้นก็แกะออกแล้วทาด้วยครีมบำรุงตามปกติ โดยให้ทำซ้ำติดต่อกันเป็นประจำทุกวันจนกว่าตาปลาจะหาย
- ชะเอมเทศ ให้นำผงชะเอมเทศมาผสมกับน้ำมันเมล็ดมัสตาร์ดให้เป็นเนื้อครีม ใช้พอกลงบริเวณที่เป็นตาปลาแล้วปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะปลาสเตอร์ออกแล้วล้างด้วยน้ำอุ่น ให้ทำแบบนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ ทุกวันจนกว่าตาปลาจะเริ่มนิ่มและหายไป
- น้ำมันสน ก่อนใช้ให้นำน้ำแข็งมาประคบลงบริเวณที่เป็นตาปลาประมาณ 2 นาทีแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นให้ใช้น้ำมันสนทาลงบริเวณที่เป็นตาปลา แล้วปิดปลาสเตอร์ทับไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะออก หากทำเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้ตาปลาหายเร็วขึ้น
- น้ำมันละหุ่ง น้ำมันชนิดนี้เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์แรง ในการใช้จึงต้องระมัดระวังให้มาก โดยให้หาเทปพันแผลหรือปลาสเตอร์แบบที่เป็นรูตรงกลางมาปิดไว้รอบ ๆ ให้เหลือแต่บริเวณที่เป็นตาปลา แล้วใช้น้ำมันละหุ่งหยอดและกดทับด้วยสำลี แล้วปิดทับด้วยเทปพันแผลเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันซึมออกมา จากนั้นให้ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนแล้วล้างออกในตอนเช้า
- น้ำส้มสายชูกลั่น ให้นำน้ำส้มสายชูมาผสมกับน้ำ 3 ส่วน แล้วนำสำลีชุบน้ำส้มสายชูทาลงบนตาปลา ปิดทับด้วยผ้าพันแผลทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะออกแล้วขัดด้วยหินขัดเท้าเบา ๆ จากนั้นให้บำรุงด้วยน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันมะพร้าว วิธีนี้ให้ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าตาปลาจะหลุดออก แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำส้มสายชูเข้มข้นจนเกินไป
- เบกกิ้งโซดา ให้ใช้ผงเบกกิ้งโซดา 3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำแล้วแช่ส่วนที่เป็นรอยโรคหรือตาปลาลงไปประมาณ 10-15 นาที จากนั้นขัดบริเวณที่เป็นตาปลาด้วยหินขัดหรือแปรงนุ่ม ๆ หรืออีกวิธีหนึ่งให้ใช้น้ำมะนาวผสมกับผงเบกกิ้งโซดาและน้ำเปล่า ทำให้เป็นเนื้อครีม ใช้ทาบริเวณที่เป็นตาปลาและปิดทับด้วยปลาสเตอร์ทิ้งไว้ 1 คืน ในตอนเช้าให้แกะออกและล้างออกด้วยน้ำอุ่น จากนั้นให้ขัดด้วยหินขัดเท้าเบา ๆ ก็จะช่วยให้ตาปลาหลุดออกง่ายขึ้น
- ยาแอสไพริน ในยาแอสไพรินจะมีกรดซาลิไซลิกที่ช่วยกัดตาปลาได้ วิธีการใช้ก็คือ ให้นำยาแอสไพริน 5 เม็ดมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำมะนาว 12 ช้อนชา และน้ำเปล่าอีก 12 ช้อนชา จากนั้นให้นำมาป้ายตรงตาปลาแล้วใช้ปลาสเตอร์ปิดทับไว้และพันทับด้วยผ้าขนหนูอุ่น ๆ อีกชั้นหนึ่ง ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วแกะออก ล้างเท้าด้วยน้ำอุ่นแล้วใช้หินขัดออกเบา ๆ จะช่วยทำให้ตาปลาหลุดลอกออกมาได้
- ใช้ปลาสเตอร์หรือแผ่นแปะที่มีกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) ชนิด 40% ปิดตรงส่วนที่เป็นรอยโรค ซึ่งจะค่อย ๆ ลอกตาปลาออกไป โดยให้ปิดทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วจึงค่อยแกะปลาสเตอร์ออก จากนั้นให้แช่เท้าด้วยน้ำอุ่นประมาณ 20 นาทีหรือจนกว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะนิ่ม แล้วตาปลาจะค่อย ๆ หลุดลอกออกไป แต่ถ้ายังหลุดออกไม่หมด ก็ให้ทำซ้ำอีกจนกว่าตาปลาจะหลุดลอกหมด (ก่อนแปะแผ่นยาควรตะไบผิวหนังที่ตายแล้วออกก่อน และควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพราะผลิตภัณฑ์ในการกำจัดตาปลาส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยกรดซาลิไซลิก ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองหรือกัดผิวหนังปกติของคุณได้)
- ใช้ยากัดตาปลาหรือหูดที่มีกรดซาลิไซลิกผสม ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า คอนคอน (Con Con), คอลโลแม็ค (Collomak), ดูโอฟิล์ม (Duofilm), ฟรีโซน (Freezone), เวอร์รูมาล (Verrumal) เป็นต้น แต่ก่อนใช้ยาทานี้ จำเป็นต้องแช่รอยโรคด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ หรือใช้ขวดยาน้ำของเด็กใส่น้ำอุ่นจัด ๆ แล้วคว่ำลงไปที่รอยโรคประมาณ 15-20 นาที จากนั้นให้ใช้ตะไบเล็บ หินสำหรับขัดผิว หรือผ้าขนหนูขัดถูตรงบริเวณที่เป็นตาปลา ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผิวหนังที่เป็นขุย ๆ หลุดออกไป จากนั้นให้ทาวาสลีนรอบ ๆ ผิวหนังบริเวณตาปลา เพื่อป้องกันยากัดบริเวณผิวหนังปกติ แล้วจึงค่อยทายาตรงจุดที่เป็นตาปลา โดยให้ทาวันละ 2 ครั้ง และทำจนกว่าตาปลาจะค่อย ๆ หลุดลอกออกจนหมด (ในระหว่างการทายา ควรระวังอย่าให้น้ำยาถูกผิวหนังปกติ) ข้อดีของการทายาก็คือ มีราคาไม่แพง เมื่อหายแล้วจะไม่มีแผลเป็น แต่มีข้อเสียคือ ถ้าไม่หมั่นทายาเป็นประจำทุกวัน ตาปลาก็จะไม่หาย หรือถ้าทายามากเกินไปก็อาจทำให้ผิวถลอกและเกิดการติดเชื้ออักเสบได้
- ในกรณีที่ควรไปพบแพทย์ ถ้ารอยโรคมีขนาดใหญ่ หรือเมื่อมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น มีอาการบวมแดงรอบ ๆ ตาปลา เกิดการติดเชื้อ (มีน้ำเหลืองหรือน้ำหนองไหลออกมาจากตาปลา) หรือพบในผู้ที่เป็นนิ้วเท้างุ้ม หรือเป็นผู้ที่มีนิ้วเท้างุ้ม มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (เช่น โรคเบาหวาน โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย โรคที่มีการสูญเสียประสาทรับความรู้สึกส่วนปลายหรือมีอาการชาตามมือตามเท้า การสัมผัสรับความรู้สึกน้อยลง) หากเป็นตาปลา ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาตั้งแต่ต้น เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาภาวะที่พบร่วมไปด้วย เช่น ควบคุมโรคเบาหวาน หรือแก้อาการนิ้วเท้างุ้มด้วยการผ่าตัด เป็นต้น
- รอยโรคที่มีขนาดใหญ่และหนา แพทย์อาจใช้ใบมีดผ่าตัดเฉือนผ่านผิวเนื้อเฉพาะตรงส่วนของรอยโรคที่ตายแล้วออกทีละน้อย (หากไม่ชำนาญ ผู้ป่วยไม่ควรใช้ใบมีดหรือของมีคมฝานตาปลาออกเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดแผล กลายเป็นแผลอักเสบบวม และเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีประสาทรับความรู้สึกไม่ดี เช่น ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งอาจจะเฉือนลึกเกินไปจนเกิดบาดแผลได้)
- ถ้ามีการติดเชื้อแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin), อิริโทรมัยซิน (Erythromycin)
- ในบางกรณีแพทย์อาจใช้อุปกรณ์หรือรองเท้าที่ทำขึ้นโดยเฉพาะในการช่วยรักษา
- ในกรณีที่จำเป็นแพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัดแก้ไขโครงสร้างของเท้า นิ้วเท้า หรือกระดูกเท้าที่ผิดปกติ หรือใช้วิธีการจี้ด้วยไฟฟ้า หรือใช้เลเซอร์ (ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้วิธีเหล่านี้ในการรักษา เพราะถึงแม้ว่าจะใช้เวลารวดเร็วกว่าการทายา แต่จะทำให้เป็นแผลเป็น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บทุกครั้งที่ลงน้ำหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ป่วยเป็นตาปลาบริเวณส้นเท้า และยังต้องมาคอยทำแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจจะใช้ต้องใช้เวลานานเป็นเดือน ๆ แถมค่ารักษาก็แพงกว่าการทายาอีกด้วย)
วิธีป้องกันตาปลา
- ควรลดแรงกดและแรงเสียดสีของเท้าและนิ้วเท้า โดยการสวมใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้า หลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ และใช้ฟองน้ำบุหรือรองส่วนที่เกิดแรงกดหรือเสียดสี
- สำหรับการป้องกันการเกิดตาปลาซ้ำใหม่ ผู้ป่วยจะต้องหาสาเหตุของการเกิดตาปลา เช่น การสำรวจรองเท้า ถุงเท้า การทำงาน และหาทางปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป หรือผู้ที่มีการผิดรูปของมือหรือเท้า มีปุ่มกระดูกยื่นออกมาผิดปกติก็ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาถึงวิธีการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ตาปลา (Corn), หนังหนาด้าน (Callus)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1031-1033.
- หาหมอดอทคอม. “ตาปลา (Corns)”. (พญ.สลิล ศิริอุดมภาส). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [23 มี.ค. 2016].
ภาพประกอบ : institutebeaute.com, www.elitepodiatry.co.uk, www.pcds.org.uk, ww.wikihow.com, preventdisease.com, the-priefy.exteen.com, www.bunionsurgerycalifornia.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)