ตับเต่านา
ตับเต่านา ชื่อสามัญ Frogbit, Frog bit[2],[5]
ตับเต่านา ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydrocharis dubia (Blume) Baker (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hydrocharis morsus-ranae L.)[4] จัดอยู่ในวงศ์ HYDROCHARITACEAE
สมุนไพรตับเต่านา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักตับเต่า ผักตับเต่านา ตับเต่าน้ำ ผักเต่า ผักปอดม้า บัวฮาวาย เป็นต้น[1],[3],[4]
ตับเต่า มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ชนิดแรกก็คือ ตับเต่านา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hydrocharis dubia (Blume) Backer. (วงศ์ Hydrocharitaceae) ซึ่งเป็นชนิดที่เรากำลังพูดถึงในบทความนี้ครับ ชนิดนี้สังเกตง่าย ๆ ก็คือดอกจะเป็นสีขาว ส่วนอีกชนิดคือ ตับเต่า หรือ ผักอีแปะ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mimulus orbicularis Benth. (Scrophulariaceae) ชนิดนี้ดอกจะเป็นสีม่วงอ่อนครับ ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้เช่นเดียวกับตับเต่านา (ข้อมูลจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)
ลักษณะของตับเต่านา
- ต้นตับเต่านา จัดเป็นพืชลอยน้ำ มีอายุหลายฤดู ลำต้นมีลักษณะเป็นไหลทอดเลื้อย หากน้ำตื้นจะหยั่งรากลงยึดดินใต้น้ำ มักขึ้นในน้ำนิ่งทั่วไป เช่น ตามนาข้าวหรือบริเวณหนองน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแตกไหลและอาศัยเมล็ด โดยต้นตับเต่านาเป็นพืชที่มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ในทวีปยุโรปและเอเชีย สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำตื้น ๆ ที่ระดับใกล้น้ำทะเลจนถึงระดับ 1,200 เมตร[1],[2],[3]
- ใบตับเต่านา ใบจะโผล่อยู่เหนือน้ำหรือลอยบนผิวน้ำ ก้านใบยาว แต่ถ้าในฤดูแล้งที่มีน้ำน้อยก้านใบจะสั้นลง ส่วนลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจหรือเป็นรูปไข่กว้าง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ แตกที่ข้อของลำต้นเป็นกลุ่มชูขึ้นเหนือน้ำ และมีรากเกิดเป็นกระจุกอยู่ทางด้านล่างของกลุ่มใบ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านล่างจะสีอ่อนกว่า และมักจะมีเนื้อเยื่อลักษณะคล้ายกับฟองน้ำอยู่บริเวณกลางใบ ซึ่งมีหน้าที่ในการช่วยพยุงลำต้น[1],[2]
- ดอกตับเต่านา ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีขาว ออกดอกตามซอกใบ มีก้านชูดอกเรียวยาว โคนกลีบดอกมีแต้มสีเหลือง ดอกเป็นแบบแยกเพศโดยมีกาบหุ้มช่อดอก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ ส่วนกลีบดอกเป็น 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปกลม มีขนาดประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้มีอยู่ 9-12 อัน ส่วนรังไข่เป็นรูปยาวรี มีความยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร[1],[2]
- ผลตับเต่านา ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก มีสันอยู่ 6 สัน[1]
สรรพคุณของตับเต่านา
- ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกาย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ช่วยแก้เสมหะ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
- ช่วยแก้ลม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[5]
หมายเหตุ : สรรพคุณดังกล่าวข้างต้นนี้มีที่มาจากวิกิพีเดีย แต่ไม่ได้ระบุไว้ว่ามีแหล่งอ้างอิงมาจากไหนและใช้ส่วนไหนเป็นยา
ประโยชน์ของตับเต่านา
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือใช้ปลูกในบ่อเลี้ยงปลาเพื่อช่วยคลุมผิวน้ำ[1]
- ต้นอ่อนหรือยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก[2],[3]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตับเต่านา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [23 ม.ค. 2014].
- สารสนเทศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “Frog bit”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/AgrInfo. [23 ม.ค. 2014].
- หนังสือผักพื้นบ้านภาคเหนือ. “ผักตับเต่านา”. (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข).
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ผักตับเต่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [23 ม.ค. 2014].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ตับเต่านา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/ตับเต่านา. [23 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by naturgucker.de, hans zwitzer, Petroglyph, swampr0se)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)