ตะโกสวน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นตะโกสวน 17 ข้อ !

ตะโกสวน

ตะโกสวน ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros malabarica (Desr.) Kostel. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Diospyros embryopteris Pers., Diospyros peregrina (Gaertn.) Gürke, Embryopteris peregrina Gaertn.) จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE)[1]

สมุนไพรตะโกสวน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พลับ, ตะโก (ไทย), ตะโกไทย, ปลาบ, มะเขือเถื่อน, มะสุลัวะ เป็นต้น[1]

ลักษณะของตะโกสวน

  • ต้นตะโกสวน จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 8-15 เมตร ทรงพุ่มกลมทึบ เปลือกต้นเป็นสีดำมีแต้มสีขาว เนื้อในเปลือกเป็นสีแดงเข้ม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นตามป่าไม้ ป่าเบญจพรรณและมีปลูกตามเรือกสวนไร่นาทั่วไป[1],[2]

ต้นตะโกสวน

เปลือกตะโกสวน

  • ใบตะโกสวน ใบเป็นใบเดี่ยว ใบอ่อนเป็นสีแดง ลักษณะของใบแคบรูปขอบขนาน ปลายใบค่อนข้างแหลม ปลายใบแหลมมน โคนใบโค้งมน เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบมีขนาดประมาณ 4×8 เซนติเมตร[1]

รูปตะโกสวน

ใบตะโกสวน

  • ดอกตะโกสวน ดอกเป็นสีขาวจนถึงสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกดอกตามซอกใบ ดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 2-7 ดอก กลีบเลี้ยงมีขนอ่อน ๆ ขึ้นปกคลุม มี 4 แฉก ลักษณะเป็นรูปไข่กว้างและกลีบดอกเป็นหลอดกว้าง ส่วนดอกเพศเมียมักจะออกเป็นดอกเดี่ยวและมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ กลีบเลี้ยงมีขนขึ้นปกคลุม ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่กว้าง และกลีบดอกเป็นรูประฆัง[1]

ดอกตะโกสวน

  • ผลตะโกสวน ผลมีลักษณะกลม มีเกล็ดที่หลุดร่วงได้ง่ายขึ้นปกคลุม ผลมีขนาดโตคล้ายผลตะโกนา แต่จะโตและยาวกว่า โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.5 เซนติเมตร ผลดิบมียางมากและมีรสฝาด ผลสุกเป็นสีส้มเหลือง ภายในผลมีเมล็ดฝังอยู่ในเนื้อ 8 เมล็ด เมล็ดเป็นสีน้ำตาลดำทรงรีแป้น มีขนาดประมาณ 1×2 เซนติเมตร[1],[2]

ผลตะโกสวน

เมล็ดตะโกสวน

สรรพคุณของตะโกสวน

  1. ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[1]
  2. เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยทำให้เกิดกำลัง (เปลือกต้น)[1]
  3. เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (เปลือกต้น)[1]
  4. ใช้เป็นยาแก้อาเจียน (เปลือกราก, เปลือกต้น)[1]
  1. ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน (เปลือกราก)[1]
  2. ยางจากต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเดิน (ยางจากต้น)[1]
  3. เปลือกรากมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง (เปลือกราก, ยางจากผล)[1]
  4. ใช้เป็นยาแก้บิด (เปลือกราก, ยางจากต้น)[1]
  5. เนื้อไม้มีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร (เนื้อไม้)[1]
  6. ใช้เป็นยาแก้พยาธิ (ราก, ดอก, ผล)[1]
  7. เปลือกผลมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกผล)[1]
  8. ใช้เป็นยาแก้ฝีเปื่อยผุพัง (ราก)[1]
  9. ใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกราก, ยางจากต้น)[1]
  10. ใช้เป็นยาแก้แผลน้ำกัดเท้า (ยางจากต้น, ยางจากผล)[1]
  11. ใช้เป็นยาแก้บวม (ราก, เปลือกราก, ดอก, ผล)[1]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [1] ให้นำส่วนของเนื้อไม้ (แก่น) หรือเปลือกต้นประมาณ 4-6 ชิ้น นำมาต้มกับน้ำ 1 ลิตร ใช้ดื่มกินต่างน้ำ[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตะโกสวน

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ amyrin, betulin, cystine, daucosterol, diospyros, flavanone, glucopyranosyl, gallic acid, hexacosane, leucopelargonidin, linoleic acid, linolenic acid, lupeol, marsformosanone, myristic acid, nonadecan-7-ol-2-one, oleanolic acid, peregrinol, raffinose, sitosterol, L-sorbose[1]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดอาการเครียด ต้านเชื้อบิด เชื้อไวรัส[1]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่า สารสกัดจากเปลือกต้นตะโกสวนที่สกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาดที่สัตว์ทดลองทนได้สูงสุด คือ 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
  • เมื่อปี ค.ศ.1973 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้พืชสมุนไพรหลายชนิด ซึ่งมีตะโกสวนเป็นสมุนไพรตัวหนึ่ง จากการทดลองพบว่า สารสกัดจากเปลือกต้นตะโกสวน สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้[1]

ประโยชน์ของตะโกสวน

  1. ผลสุกใช้รับประทานได้[2]
  2. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ดัด โดยการนำมาปลูกในกระถางหรือปลูกลงดิน แล้วตัดกิ่งก้านและตัดแต่งใบให้เป็นพุ่ม หรือดัดให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามต้องการ
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ตะโก”.  หน้า 81-82.
  2. กรมวิชาการเกษตร.  “ไม้ดัด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doa.go.th/th/dmdocuments/08Ebony.pdf.  [22 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Indianature sw6, Dinesh Valk, Indianature sk, snonymous1), www.biotik.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด