ตะโก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นตะโกนา 37 ข้อ !

ตะโก สรรพคุณและประโยชน์ของต้นตะโกนา 37 ข้อ !

ตะโกนา

ตะโกนา ชื่อสามัญ Ebony[1]

ตะโกนา ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros rhodocalyx Kurz จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE)[1]

สมุนไพรตะโกนา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มะถ่านไฟผี (เชียงใหม่), นมงัว (นครราชสีมา), ตะโก มะโก พญาช้างดำ พระยาช้างดำ (ภาคเหนือ), โก (ภาคอีสาน), ตองโก (เขมร) เป็นต้น[1],[4],[6]

ลักษณะของตะโกนา

  • ต้นตะโกนา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก รูปทรงพุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีดำ แตกเป็นร่องลึกเป็นสะเก็ดหนา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักเนื่องจากเติบโตได้ช้า) การตอนกิ่ง หรือการขุดล้อมเอามาจากธรรมชาติ เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ต้องการแสงแดดแบบเต็มวัน มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี โดยพบว่ามีเขตการกระจายพันธุ์จากพม่าจนถึงภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบขึ้นได้ทุกภาคตามป่าเบญจพรรณแล้ง ป่าละเมาะ และตามทุ่งนา ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 40-300 เมตร[1],[2],[3],[4],[5],[8]

ต้นตะโกนา

  • ใบตะโกนา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างกลม รูปไข่กลับ หรือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนกลาย ๆ และรูปป้อม ปลายใบมนมีติ่งสั้นหรือมีรอยหยักเว้าเข้าเล็กน้อย โคนใบเป็นรูปลิ่มหรือป้าน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-12 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน มีเส้นแขนงของใบประมาณ 5-8 คู่ เส้นอ่อนคดไปมามองเห็นได้ทางด้านหลังใบและขึ้นเด่นชัดทางด้านท้องใบ เส้นร่างแหพอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้าน ส่วนเส้นกลางใบออกเป็นสีแดงเรื่อ ๆ และก้านใบสั้นยาวประมาณ 2-7 มิลลิเมตร[1],[2],[12]

ใบตะโกนา

  • ดอกตะโกนา ออกดอกเป็นช่อ ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามกิ่งหรือตามง่ามใบ ในช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 3 ดอก ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีขนนุ่ม โดยกลีบดอกจะยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำหรือรูปป้อง ๆ ปลายแยกออกเป็นแฉกเล็ก ๆ เกลี้ยงเกลาทั้งสองด้าน ส่วนกลีบรองดอกยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ด้านนอกมีขนนุ่ม ส่วนด้านในมีขนยาว ๆ แน่น ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 14-16 ก้าน มีขนแข็ง ๆ แซม รังไข่เทียมมีขนแน่น ส่วนดอกเพศเมียจะออกตามซอกใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจะเหมือนกับดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร รังไข่มีลักษณะป้อม มีขนเป็นเส้นไหมคลุม ภายในแบ่งเป็นช่อง 4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีไข่อ่อนหนึ่งหน่วย ส่วนหลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียวและมีขนแน่น ปลายหลอดแยกเป็นแฉก 2 แฉก มีเกสรเพศผู้เทียมประมาณ 8-10 ก้าน มีขนแข็ง ๆ แซมอยู่ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3],[12]

ดอกตะโกนา

  • ผลตะโกนา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.2-2.4 เซนติเมตร (บ้างว่าประมาณ 3 เซนติเมตร) ผิวผลเรียบ ผลอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคลุมอยู่หนาแน่น ซึ่งขนเหล่านี้มักหลุดร่วงได้ง่าย ส่วนปลายผลและโคนผลมักบุ๋ม กลีบจุกผลชี้ออกหรือแนบลู่ไปตามผิวของผล ข้างในมีขนสีน้ำตาลแดงและมีขนนุ่มทางด้านนอกพื้นกลีบและขอบกลีบมักเป็นคลื่น เส้นสายกลีบพอเห็นได้ชัด ผลเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือแดงปนส้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 3-5 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่รีหรือแบน เมล็ดเป็นสีน้ำตาล มีเนื้อหุ้มสีขาวและฉ่ำน้ำ มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านผลสั้นมาก มีความยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[3],[4],[12]

ผลตะโกนา

ลูกตะโกนา

รูปผลตะโก

สรรพคุณของตะโกนา

  1. เปลือกต้นหรือแก่นใช้เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้มีอายุยืนยาว (แก่น, เปลือกต้น)[1],[2],[4],[6],[13] ตำรายาไทยจะใช้เปลือกต้นตะโกนา เถาบอระเพ็ด ผสมกับเปลือกทิ้งถ่อน เมล็ดข่อ ผลพริกไทยแห้ง และหัวแห้วหมู อย่างละเท่ากันนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือดองกับเหล้าดื่มเป็นยาอายุวัฒนะ (เปลือกต้น)[2]
  2. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น, เปลือกต้น)[1],[2],[4],[6],[9],[13]
  3. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นชาช่วยบำรุงกำลัง (แก่น, เปลือกต้น)[1],[2],[9],[13] บำรุงร่างกาย (เปลือก)[13]
  4. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือก)[13]
  5. แก่นและเปลือกใช้เข้ายารักษามะเร็ง (แก่น, เปลือก)[13]
  6. ผลนำมาตากแดด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กษัย (ผล)[4],[6],[13] บ้างว่าใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)[10]
  7. ช่วยแก้โรคผอมแห้งหลังการคลอดบุตรเนื่องมาจากอยู่ไฟไม่ได้ (ราก)[13]
  8. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้ (ผล)[1],[2] แก้อาเจียนเป็นโลหิต (ผล)[13]
  9. ต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ (ต้น)[13]
  10. ราก ต้น และแก่นเป็นยาแก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ จากการกินของแสลงที่เป็นพิษ (ราก, ต้น, แก่น)[13]
  1. ช่วยแก้พิษผิดสำแดง (ต้น)[13]
  2. เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นชาช่วยแก้อาการร้อนในได้ (เปลือกต้น)[9] บ้างว่าใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)[10]
  3. เปลือกต้นหรือแก่นนำมาต้มกับเกลือใช้อมรักษาโรครำมะนาดหรือโรคปริทันต์ (โรคที่มีอาการอักเสบของอวัยวะรอบ ๆ ฟัน) (แก่น, เปลือกต้น)[1],[2],[4],[6],[13]
  4. เปลือกต้นหรือแก่นนำมาต้มกับเกลือใช้อมแก้อาการปวดฟัน (แก่น, เปลือกต้น)[1],[2],[4],[6],[13]
  5. ผลมีรสฝาดหวาน ช่วยแก้อาการมวนท้อง (ผล)[4],[6],[13]
  6. ผลเอามาตากแดด ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการท้องร่วง ท้องเสีย (ผล)[1],[2],[4],[13] ส่วนเปลือกผลใช้แก้อาการท้องร่วง (เปลือกผล)[13] แก้บิดบวมเป่ง (ผล)[13]
  7. ช่วยขับน้ำย่อย ช่วยในการย่อยอาหาร (แก่น, เปลือกต้น)[4],[6],[13]
  8. ใช้เป็นยาแก้พยาธิ ขับพยาธิ (ใช้ผลต้มกับน้ำดื่ม)[1],[4],[6],[13]
  9. เปลือกผลนำมาเผาจนเป็นถ่าน ใช้แช่กับน้ำกินเป็นยาขับปัสสาวะ (เปลือกผล[1],[2],[4],[13], เปลือกต้น[13], แก่น[13])
  10. แก่นหรือเปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคกามตายด้าน บำรุงความกำหนัด เพิ่มพลังทางเพศ กระตุ้นร่างกายให้สดชื่นแข็งแรง (แก่น, เปลือกต้น)[1],[2],[5],[6],[9],[10],[13]
  11. เปลือกผลนำมาเผาจนเป็นถ่าน ใช้แช่กับน้ำกินเป็นยาขับระดูขาวของสตรี ส่วนเปลือกต้นหรือแก่นก็ขับมุตกิดระดูขาวได้ด้วยเช่นกัน (แก่น, เปลือกต้น, เปลือกผล)[1],[2],[4],[13] บ้างว่าผลก็เป็นยาขับระดูขาวเช่นกัน (ผล)[13]
  12. ผลช่วยแก้อาการปวดมดลูก (ผล)[13]
  13. แก้ตกเลือด (ผล)[4],[6],[13]
  14. รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไตพิการ น้ำเหลืองเสีย (ราก)[10]
  15. ผลใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง (ผล)[13]
  16. ต้นช่วยแก้ผื่นคัน (ต้น)[13] ผลช่วยแก้ตุ่มคันเป็นเม็ดผื่นคันตามตัว (ผล)[13]
  17. ผลใช้เป็นยาเย็นถอนพิษ (ผล)[13]
  18. ผลใช้เป็นยาแก้แผล สมานแผล ช่วยแก้แผลเน่าเปื่อย ฝีเน่าเปื่อย ช่วยปิดธาตุ (ผล)[1],[2],[4],[6],[13]
  19. ช่วยแก้บวม ฝีบวม (ผล)[1],[2],[13]
  20. รากตะโกนาใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้โรคเหน็บชา อาการปวดเมื่อย อ่อนเพลีย (ราก)[10] ส่วนตำรับยาพื้นบ้านของอีสานนั้นจะใช้รากตะโกผสมกับรากมะเฟืองเปรี้ยว รากเครือปลาสงแดง และรากตีนนก นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย[11]
  21. รากและต้นช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี (ราก, ต้น)[13]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตะโกนา

  • สารสำคัญของตะโกนา ได้แก่ Betulin, Betulinic acid, B-sitosterol, Lupenone, Lupeol, Stigmast-4-en-3-one, Stigmast4-en-3-one 1 –O-ethyl-B-D-glucopyrahoside, Stigmast-4-en-3-one 1-O-ethyl-B-D-glucoside, Stigmasterol, Taraxerol, Taraxerol acetate, และ Taraxerone.[13]
  • ตะโกนามีฤทธิ์กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบ โดยออกฤทธิ์เหมือนฮิสตามีน ยับยั้งเอนไซม์ Reverse Transcriptase[13]

เปลือกตะโกนา

ประโยชน์ของตะโกนา

  1. ผลสุกของตะโกนาสามารถใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานฝาด[3] บ้างว่านำผลมารับประทานโดยนำมาทำเหมือนกับส้มตำ โดยคุณค่าทางโภชนาการของผลตะโกนาต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 99 แคลอรี, คาร์โบไฮเดรต 24.5 กรัม, น้ำ 73.6 กรัม, เส้นใย 1.5 กรัม, โปรตีน 0.3 กรัม, วิตามินบี 2 1.37 มิลลิกรัม, วิตามินซี 79 มิลลิกรัม, ธาตุแคลเซียม 19 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.4 มิลลิกรัม และธาตุฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม[12]
  2. ต้นตะโกจะออกผลดกทุกปี จึงเป็นอาหารให้แก่สัตว์ได้จำนวนมาก[5]
  3. ผลอ่อนหรือผลดิบใช้สำหรับย้อมสีผ้า แห อวน มาตั้งแต่โบราณ โดยสีที่ได้คือสีน้ำตาล แต่คุณภาพจะไม่ดีมากนัก เพราะสีของเส้นไหมจะตกและไม่ทนทานต่อแสง และคุณภาพที่ได้จะไม่ดีเท่ากับมะพลับ[3],[5],[7] โดยยางของลูกตะโกที่นำมาละลายน้ำใช้สำหรับการย้อมแหและอวนนั้น จะมีราคาถูกกว่ายางมะพลับ จึงมีพ่อค้าหัวใสนำยางของผลตะโกมาปลอมขายเป็นยางมะพลับ จึงเกิดคำพังเพยที่ว่า “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก”[10]
  4. เนื้อไม้เป็นสีขาวหรือออกสีน้ำตาลอ่อน มีความแข็งแรง มีความเหนียว เนื้อค่อนข้างละเอียด สามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องเรือน เครื่องใช้ เครื่องมือทางการเกษตร เช่น ทำเสา รอด ตง คาน ฯลฯ[3],[5]
  5. ต้นตะโกเป็นพันธุ์ไม้ที่นิยมปลูกเพื่อใช้นำมาทำไม้ดัดมากที่สุด ใช้ปลูกเพื่อตกแต่งสวนหรือสนามหญ้า เพราะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ง่ายต่อการเพาะเลี้ยงและบำรุงรักษา[5],[8]
  6. เนื่องจากต้นตะโกเป็นไม้ที่มีอายุยืน และทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี เชื่อว่าเป็นไม้มงคล หากนำมาปลูกไว้ในบริเวณบ้านทางทิศใต้ จะทำให้ผู้อยู่อาศัยในบ้านมีความอดทนเหมือนต้นตะโก[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ตะโกนา (Tako Na)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 118.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “ตะโกนา”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 96.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ตะโกนา”.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 4.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [8 มี.ค. 2014].
  4. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “ตะโก”.  (ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [8 มี.ค. 2014].
  5. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ตะโกนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [8 มี.ค. 2014]
  6. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “ตะโกนา”.  (ไพร มัทธวรัตน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [8 มี.ค. 2014].
  7. พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ, กรมหม่อนไหม.  “ตะโกนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th/webtreecolor/.  [8 มี.ค. 2014].
  8. ๑๐๘ พรรณไม้ไทย.  “ตะโกนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com.  [8 มี.ค. 2014].
  9. หนังสือรักษาโรคด้วยสมุนไพร.  “ตะโกนา”.  (ยุวดี จอมพิทักษ์).
  10. ไทยโพสต์.  “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก ไม้ร่วมวงศ์เด่นแก้กามตายด้าน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaipost.net.  [8 มี.ค. 2014].
  11. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “เครือปลาสงแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [8 มี.ค. 2014].
  12. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ตะโกนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [8 มี.ค. 2014].
  13. สมุนไพรในร้านยาโบราณ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “โกนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th.  [8 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.bedo.or.th, pharmacy.mahidol.ac.th/siri/, pantip.com (by p_warat), baanmaha.com (by คนตระการ…), khontone.com (HS4MM), phuketthaitraditionalmedicinecenter.blogspot.com, baanlaesuan.com (by นายต้นไม้)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด