ตะลิงปลิง
ตะลิงปลิง ชื่อสามัญ Bilimbi, Bilimbing, Cucumber tree, Tree sorrel
ตะลิงปลิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Averrhoa bilimbi L. จัดอยู่ในวงศ์กระทืบยอด (OXALIDACEAE)
สมุนไพรตะลิงปลิง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า มูงมัง (เกาะสมุย), กะลิงปริง ลิงปลิง ลิงปลิง ปลีมิง (ระนอง), บลีมิง (นราธิวาส), มะเฟืองตรน, หลิงปลิง (ภาคใต้) เป็นต้น
ลักษณะของตะลิงปลิง
- ต้นตะลิงปลิง มีถิ่นกำเนิดในแถบชายฝั่งทะเลของบราซิล เป็นไม้ผลที่นิยมปลูกทั่วไปเพราะลำต้นมีพวงแน่นที่สวยงาม และยังเป็นพืชร่วมวงศ์กับมะเฟือง แต่จะแตกต่างกันอย่างชัดเจนตรงขนาดของผล โดยผลมะเฟืองจะมีขนาดใหญ่กว่าผลตะลิงปลิง ต้นตะลิงปลิงนั้นจัดเป็นพืชในเขตร้อนและเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 5-15 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นสีชมพู ผิวเรียบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่ตามกิ่ง ลักษณะของใบตะลิงปลิงเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบสีเขียวอ่อนมีขุยนุ่มปกคลุม ใบคล้ายรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบมน ในหนึ่งก้านจะมีใบย่อยประมาณ 11-37 ใบ ขนาดใบกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร ส่วนลักษณะของดอกตะลิงปลิง จะออกดอกเป็นช่อหลายช่อ ตามกิ่งและลำต้น โดยในแต่ละช่อจะมีความยาวไม่เกิน 6 นิ้ว ลักษณะดอกมีกลีบ 5 กลีบ ดอกสีแดงเข้ม มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบสีเขียวอมชมพู มีเกสรกลางดอกสีขาว
- ผลตะลิงปลิง ลักษณะกลมยาวปลายมน ผลยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร เป็นพูตามยาว ออกผลเป็นช่อห้อย ผิวของผลมีลักษณะเรียบสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะกลายเป็นสีเหลือง เนื้อข้างในเป็นเนื้อเหลว มีรสเปรี้ยว และมีเมล็ด ลักษณะของเมล็ดตะลิงปลิงจะแบนยาว มีสีขาว
สรรพคุณของตะลิงปลิง
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผล)
- ช่วยแก้พิษร้อนใน แก้กระหายน้ำ (ราก)
- ผลใช้ผสมกับพริกไทย นำมารับประทานจะช่วยขับเหงื่อได้ (ผล)
- ตะลิงปลิงมีสรรพคุณช่วยฟอกโลหิต (ผล)
- ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ผล)
- ในประเทศฟิลิปปินส์ใช้ใบพอกรักษาคางทูม (ใบ, ราก)
- สมุนไพรตะลิงปลิงมีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ (ผล)
- ช่วยดับพิษร้อนของไข้ (ราก)
- ดอกตะลิงปลิงนำมาชงเป็นชาดื่มช่วยแก้อาการไอ (ดอก, ผล)
- ช่วยละลายเสมหะ แก้เสมหะเหนียวข้น (ผล)
- ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร (ผล, ราก)
- ช่วยแก้อาการเลือดออกตามกระเพาะอาหารและลำไส้ (ราก)
- ช่วยรักษาอาการอักเสบของลำไส้ (ใช้ใบต้มดื่ม, ราก)
- ช่วยรักษาซิฟิลิส (Syphilis) (ใช้ใบต้มดื่ม, ราก)
- ช่วยบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร (ผล, ราก)
- ใช้เป็นยาบำรุงแก้อาการปวดมดลูก (ผล)
- ช่วยบรรเทาอาการของโรคเกาต์ (ราก)
- ใบใช้รักษาโรครูมาตอยด์ (ใบ)
- ช่วยแก้ไขข้ออักเสบ (ใบ, ราก)
- ช่วยฝาดสมาน (ผล, ราก)
- ใบช่วยรักษาอาการอักเสบ (ใบ)
- ใบตะลิงปลิงใช้พอกแก้อาการคัน ลดอาการบวมแดงให้หายเร็วขึ้น หรือใช้ต้มอาบก็ได้ (ใบ, ราก)
- มีผลงานวิจัยที่ประเทศสิงคโปร์พบว่าสารสกัดน้ำของสารสกัดเอทานอลของใบตะลิงปลิง สามารถช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดของสัตว์ทดลองได้เป็นอย่างดี
- งานวิจัยในประเทศฟิลิปปินส์ชี้ว่าน้ำคั้นจากผลตะลิงปลิงมีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด โดยได้ทดลองกับสุกรและหนู พบว่าร้อยละ 60 ของหนูทดลองหลังผสมพันธุ์แล้วไม่ติดลูก โดยเชื่อว่าสเตอรอยด์ไกลโคไซด์และกรดออกซาลิกในน้ำคั้นมีส่วนในการออกฤทธิ์คุมกำเนิดดังกล่าว
ประโยชน์ของตะลิงปลิง
- ประโยชน์ตะลิงปลิง ผลสามารถนำมารับประทานร่วมกับพริกเกลือหรือนำไปใส่แกงก็ได้ ทำเป็นตะลิงปลิงตากแห้ง หรือทำเป็นเครื่องดื่มนํ้าตะลิงปลิง
- ใบสามารถนำพอกใช้รักษาสิวได้ (ใบ, ราก)
คุณค่าทางโภชนาการของตะลิงปลิง (เฉพาะส่วนที่กินได้) ต่อ 100 กรัม
- โปรตีน 0.61 กรัม
- แคโรทีน 0.035 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 1 0.010 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.026 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.302 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 15.5 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 3.4 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.01 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 11.1 มิลลิกรัม
ข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (EN)
วิธีทำน้ำตะลิงปลิง
- ให้เตรียมวัตถุดิบดังนี้ ตะลิงปลิง 1/2 กิโลกรัม / เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ / น้ำตาล 2 ถ้วย / น้ำ 3 1/2 ถ้วย / น้ำเชื่อม
- สำหรับสูตรการทำน้ำตะลิงปลิง ให้เอาน้ำกับน้ำตาลตั้งไฟพอเดือดจนละลายดีแล้วให้ยกลง ทิ้งไว้ให้เย็น
- นำตะลิงปลิงมาล้างให้สะอาด เอาขั้วและเมล็ดออก แล้วนำมาเป็นชิ้น ๆ แบ่งเป็น 2 ส่วน
- นำตะลิงปลิงใส่เครื่องปั่น 1 ส่วน และเติมน้ำเชื่อมลงไปครึ่งหนึ่งจนถึงจุดที่ปั่นแล้วไม่ล้นเครื่องปั่น แล้วเติมเกลือ 1/2 ช้อนโต๊ะลงไป แล้วปั่นให้ละเอียด
- เมื่อปั่นเสร็จให้เทลงในตะแกรง กรองเอากากออก แล้วทำแบบเดิมกับตะลิงปลิงส่วนที่เหลือก็จะได้น้ำตะลิงปลิงที่เข้มข้นมากข้นประมาณเหยือก 1 ลิตร
- เสร็จแล้ว “น้ำตะลิงปลิง” ลองชิมรสชาติดูได้เลย ถ้าชอบเค็มก็เติมเกลือเพิ่ม แต่ถ้าอยากให้หวานน้อยลงก็ให้เติมน้ำสุกเย็นตามความเหมาะสม กะให้รสหวานเปรี้ยวกำลังดีเมื่อผสมกับน้ำแข็งเกล็ด
แหล่งอ้างอิง : เว็บไซต์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เว็บไซต์หมอชาวบ้าน, เว็บไซต์โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย, เว็บไซต์ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)