ตะบูนดํา สรรพคุณและประโยชน์ของตะบูนดำ 16 ข้อ !

ตะบูนดํา

ตะบูนดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylocarpus moluccensis (Lam.) M. Roem. จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)

สมุนไพรตะบูนดำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตะบูน ตะบัน (ภาคกลาง, ภาคใต้) เป็นต้น[1]

ลักษณะของตะบูนดำ

  • ต้นตะบูนดำ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 20-35 เมตร ลักษณะของต้นเป็นรูปทรงยอดเป็นพุ่มกลม เป็นไม้ผลัดใบ ลำต้นเป็นเปลาตรง ส่วนโคนต้นเป็นพูพอนเล็กน้อย เปลือกต้นขรุขระ มีสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องตามยาว ต้นเมื่อแก่เปลือกจะลอกเป็นแถบแคบ ๆ โดยเปลือกจะมีความหนาประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ส่วนเนื้อไม้มีสีน้ำตาล ส่วนระบบราก มีรากหลายลักษณะ เป็นรูปกรวยคว่ำหรือแบนแล้วแต่สภาพของดิน ปลายมนยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร สภาพของลำต้นอาจแตกต่างกันออกไปบ้าง คือ มีเปลือกเรียบ สีออกแดง มีร่องเป็นสีขาวเป็นทางยาวตามลำต้น ต้นตะบูนดำเป็นหนึ่งในไม้ป่าชายเลน เมื่อแก่ลำต้นมักเป็นโพรง เจริญเติบโตและขึ้นกระจายได้ดีในบริเวณที่เป็นดินเลนค่อนข้างแข็ง[1]

รูปตะบูนดำ

ต้นตะบูนดำต้นตะบูนดํา
  • ใบตะบูนดำ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ชั้นเดียว ไม่มียอด ใบย่อยมักมีประมาณ 1-3 คู่เรียงอยู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีถึงรูปขอบแกมรี ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ปลายใบมน ส่วนโคนใบแหลม ก้านใบย่อยสั้นมาก ลักษณะของผิวใบเป็นมันสีเขียวเข้ม และจะเปลี่ยนเป็นสีส้มอมเหลืองทั้งต้นในภายหลัง ก่อนที่จะร่วงหล่น[1]

ใบตะบูนดำ

ใบตะบูนดํา

  • ดอกตะบูนดำ ออกดอกตามง่ามใบ เป็นช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาวประมาณ 7-17 เซนติเมตร ช่อดอกประกอบไปด้วยดอกจำนวนมาก มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบไม่ติดกัน ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวน 8 อัน ดอกจะออกพร้อมกับการแตกใบใหม่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1]

ดอกตะบูนดำ

  • ผลตะบูนดำ ลักษณะของผลค่อนข้างกลม มีร่องผลเล็กน้อย ผลเมื่ออ่อนมีสีเขียว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-12 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 7-11 เมล็ด ลักษณะโค้งนูน ในหนึ่งด้านจะกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม[1]

ตะบูนดํา

ผลตะบูนดำ

ลูกตะบูนดำ

สรรพคุณของตะบูนดำ

  1. ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล, เมล็ด)[2]
  2. เปลือกไม้ใช้เป็นยาลดไข้ (เปลือกไม้)[2]
  3. ช่วยแก้อาการไอ (ผล, เมล็ด)[2]
  4. เปลือกและผลช่วยแก้อหิวาตกโรค (ผล, เปลือก)[2]
  5. เปลือกและผลใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยรักษาแผลภายในได้ (เปลือก, ผล)[2]
  6. ผลใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการท้องเสีย (ผล, เปลือกไม้)[2]
  7. ตะบูนดำช่วยแก้บิดด้วยการใช้ผลนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ผล)[2]
  8. เมล็ดใช้รับประทานแก้อาการท้องร่วง (ผล, เมล็ด)[2]
  9. ช่วยแก้อาการอักเสบในลำไส้และอาการผิดปกติในช่องท้อง (เปลือกไม้)[2]
  10. ผลแห้งตากแห้งเผาไฟร่วมกับเห็ดพังกาและน้ำมันมะพร้าว ใช้สำหรับทาแก้มะเร็งผิวหนัง (ผลแห้ง)[2]
  11. เปลือกและผลนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างบาดแผล ช่วยทำความสะอาดแผลได้เป็นอย่างดี (เปลือก, ผล)[2]
  12. เปลือกและผลใช้ต้มแล้วนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกรักษาแผลสด แผลบวม แผลฟกช้ำ เป็นหนอง (เปลือก, ผล)[2]

ประโยชน์ของตะบูนดำ

  • เนื้อไม้ตะบูนดำเป็นเนื้อไม้ที่แข็ง มีลวดลายและสีที่สวยงาม สามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่ง หรือทำเป็นสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ได้ ลำต้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นพื้นกระดานได้เป็นอย่างดี [1],[2],[3]
  • เปลือกไม้สามารถนำมาใช้ในการฟอกหนังสำหรับใช้เป็นพื้นรองเท้าได้ (Heavy leather)[2]
  • ประโยชน์ตะบูนดำ ใช้สำหรับทำดินสอ[2]
  • น้ำฝาดจากเปลือก ใช้สำหรับการย้อมสีผ้า ย้อมแห ย้อมอวน โดยจะให้สีน้ำตาล[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ.  “ตะบูนดํา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th.  [15 พ.ย. 2013].
  2. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ต้นตะบูนดำ“, “ตะบูนดํา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [15 พ.ย. 2013].
  3. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “ตะบูนดํา“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.  [15 พ.ย. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SEAFDEC/AQD, Russell Cumming, wan_hong, wildsingapore)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด