ตะขบไทย
ตะขบไทย ชื่อสามัญ Coffee plum, Indian cherry, Indian plum, East Indian plum, Rukam, Runeala plum[2]
ตะขบไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Flacourtia jangomas (Lour.) Raeusch. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Flacourtia cataphracta Roxb. ex Willd.)[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์สนุ่น (SALICACEAE)
สมุนไพรตะขบไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ครบ (ปัตตานี), มะเกว๋นควาย (ภาคเหนือ), ตะขบควาย (ภาคกลาง), กือคุ (มลายู ปัตตานี) เป็นต้น[1]
ลักษณะของตะขบไทย
- ต้นตะขบไทย จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขาที่เรือนยอดของต้น เรือนยอดเป็นรูปไข่ทึบ โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนอ่อน แตกเป็นแผ่นบาง ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบขึ้นได้ตามป่าราบ ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง และตามป่าผลัดใบ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-800 เมตร[1],[2],[3]
- ใบตะขบไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบกลมคล้ายกับใบพุทรา โดยมีลักษณะเป็นรูปรี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน หรือรูปหอกกลับ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบ ส่วนขอบใบจักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียว ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเป็นมัน[1],[2],[3]
- ดอกตะขบไทย ดอกเป็นสีขาวอมเหลืองและมีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะสั้นตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศ อยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศผู้มีกลีบดอก 5 กลีบ และมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียว มีขนทั้งสองด้าน มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนดอกเพศเมียจะคล้ายกับดอกเพศผู้ มีรังไข่เป็นรูปคนโท เกสรเพศเมียมี 2 พู ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์[2],[3]
- ผลตะขบไทย ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นลูกกลม ๆ ขนาดเท่าลูกพุทรา ขนาดประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลเมื่อสุกเป็นสีแดงหรือสีม่วง เมื่อแก่เป็นสีดำ ผลมีรสหวานฝาดเล็กน้อย ภายในมีเมล็ดหลายเมล็ด ติดผลในช่วงประมาณเดือนเมษายน[1],[2],[3]
สรรพคุณของตะขบไทย
- รากมีรสฝาดเล็กน้อย ใช้ปรุงเป็นยาขับเหงื่อ (ราก)[1]
- รากมีสรรพคุณเป็นยากล่อมเสมหะและอาจม (ราก)[1]
- เนื้อไม้มีรสฝาด ใช้ทำเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด มูกเลือด (เนื้อไม้)[1]
- เปลือก แก่น และใบ ใช้เป็นยารักษาอาการปวดเมื่อยตามตัว แก้โรคเหน็บชา รักษาอาการปวดข้อ แก้เส้นเอ็นพิการ (เปลือก, แก่น, ใบ)[4]
ประโยชน์ของตะขบไทย
- ผลสุกมีรสฝาดหวาน ใช้รับประทานได้[3],[4]
- ตะขบไทยเป็นไม้ชนิดหนึ่งที่สามารถนำใบมาใช้ในการย้อมสีได้ โดยใช้อัตราส่วนของใบสดต่อน้ำ 1:2 เมื่อนำไปสกัดใช้ใบสด 15 กรัม ย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม สีเส้นไหมที่ได้จะขึ้นอยู่กับวิธีการสกัดสีและการใช้สารช่วยติดสีชนิดต่าง ๆ ซึ่งการสกัดสีโดยใช้ใบสดนำมาต้มกับน้ำนาน 1 ชั่วโมง กรองเอาแต่น้ำ นำมาย้อมเส้นไหมด้วยวิธีการย้อมร้อน 1 ชั่วโมง และแช่ในสารละลายช่วยติดสีจุนสีหลังย้อมจะได้เส้นไหมสีน้ำตาลเขียว ส่วนการใช้จุนสีขณะย้อมจะได้เส้นไหมสีน้ำตาลเขียวเช่นกัน แต่ถ้านำมาสกัดน้ำสีด้วยวิธีการคั้นเอาน้ำ กรองเอาแต่น้ำ แล้วย้อมเส้นไหมด้วยวิธีการย้อมร้อน และแช่สารละลายช่วยติดสีจุนสีหลังย้อมจะได้เส้นไหมสีเขียวขี้ม้า[2]
- ใช้ปลูกทั่วไป ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาในสวนผลไม้หรือตามสวนป่าเพื่อเป็นอาหารของนก[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ตะขบไทย”. หน้า 302.
- พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ, กรมหม่อนไหม. “ตะขบควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : qsds.go.th/webtreecolor/. [22 ธ.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะขบควาย”. อ้างอิงใน : หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [22 ธ.ค. 2014].
- ผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพร. “ตะขบควาย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.sisaket.go.th. [22 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Saipuddin Zainuddin, rohana kamarul ariffin, Ahmad Fuad Morad)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)