การตรวจค่าน้ำตาลสะสมในเลือด (Hemoglobin A1c : HbA1c)

การตรวจ HbA1c

HbA1c หรือ Hemoglobin A1c (ฮีโมโกลบินเอวันซี) คือ การตรวจวัดค่าเฉลี่ยของน้ำตาล (กลูโคส) ในเลือดที่จับกับฮีโมโกลบินของเม็ดเลือดแดงในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา (แพทย์บางท่านใช้คำว่า “น้ำตาลสะสม” เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่โดยความหมายแล้วจะสะท้อนค่าเฉลี่ยของน้ำตาลในเลือดช่วงเวลาที่ผ่านมา) เพราะเม็ดเลือดแดงทั่วไปจะมีอายุขัยอยู่ประมาณ 100-120 วัน ดังนั้น ค่าน้ำตาลที่ตรวจได้จึงเป็นค่าน้ำตาลที่สะสมอยู่ในฮีโมโกลบินนานประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งเป็นค่าที่ช่วยพิจารณาและประเมินผลการรักษาโดยรวมในช่วงที่ผ่านมาว่าผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีหรือไม่ และยังช่วยคัดกรองและวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ได้ด้วย

โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะคุ้นเคยกับการงดอาหาร 8 ชั่วโมงเพื่อไปตรวจเลือด ซึ่งค่าน้ำตาลที่ได้ก็จะบอกได้เพียงคร่าว ๆ ว่า 1-2 วันที่ผ่านมาท่านได้รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมากน้อยเพียงไหน จึงอาจไม่เพียงพอต่อการประเมินประสิทธิภาพการรักษาในระยะยาวของแพทย์ได้ อีกทั้งหลายคนก็มักจะงดของโปรดไม่ว่าจะเป็นน้ำหวานหรือขนมก่อนไปเจาะเลือด 2-3 วัน เพื่อหวังผลให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่พอใจ ดังนั้นการตรวจค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา (HbA1c) จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยประเมินผลการรักษาและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้เป็นอย่างดี (ไม่ใช่เพียงแค่วันสองวันก่อนการตรวจ)

หมายเหตุ : การตรวจ HbA1c มีชื่อเรียกกันทั่วไปเป็นภาษาไทยว่า การตรวจค่าน้ำตาลสะสมในเลือด”, “การตรวจค่าน้ำตาลเฉลี่ยในเลือด”, “การตรวจระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด

HbA1c คืออะไร

ฮีโมลโกลบิน (Hemoglobin) คือ สารโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเม็ดเลือดแดง (มีหน้าที่ในการนำออกซิเจนแจกจ่ายแก่เนื้อเยื่อต่าง ๆ) และฮีโมโกลบินนั้นก็มีหลายชนิด แต่ฮีโมโกลบินที่มีจำนวนมากที่สุดในเม็ดเลือดแดงก็คือ ฮีโมโกลบินชนิดเอ (HbA) ซึ่งตามปกติจะมีอยู่ประมาณ 97-98% และมีจำนวนแยกย่อยออกเป็น HbA1, HbA2 ฯลฯ ทั้งนี้ เฉพาะแต่ HbA1 ก็ยังสามารถแยกออกเป็น HbA1a, HbA1b และ HbA1c ได้อีกตามคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละตัว (ส่วนที่มากที่สุดคือ HbA1c ซึ่งมีประมาณ 80% ของ HbA1 หรือประมาณ 5% ของ HbA ทั้งหมด) โดยตัวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องโรคเบาหวานนั้นจะเป็นตัว “HbA1c” เพราะ HbA1c จะชอบจับตัวกับน้ำตาลกลูโคสในเลือดและยินยอมให้น้ำตาลมาเคลือบ (Glycosylated) ที่ผิวภายนอกของเม็ดเลือดแดง และเมื่อยิ่งมีน้ำตาลมาจับและเคลือบเม็ดเลือดแดงชนิด HbA1c มากเท่าใด ก็จะยิ่งแสดงว่ามีสภาวะความเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียตามมาหลายประการ

HbA1c คือ
IMAGE SOURCE : www.ekfdiagnostics.com

ส่วนเม็ดเลือดแดงแต่ละเม็ดตามวงจรแล้วนั้นจะทยอยกันกำเนิดขึ้นมาจากไขกระดูกและวนเวียนทำงานในหลอดเลือดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ กล่าวคือ ในแต่ละเม็ดเลือดแดงเมื่อแก่ตัวลงจะถูกม้ามจับและทำลาย ทำให้อัตราส่วนโดยเฉลี่ยของเม็ดเลือดแดงแต่ละเม็ดจะมีอายุขัยเพียงประมาณ 100-120 วันเท่านั้น ดังนั้น การจับของน้ำตาลต่อเม็ดเลือดแดงจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับระดับของกลูโคสในกระแสเลือด ถ้าน้ำตาลในเลือดไม่สูงมากก็จับระดับหนึ่ง ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงมากก็จับได้มากขึ้น เม็ดเลือดแดงแต่ละตัวจึงมีกลูโคสจับมากน้อยแค่ไหนจึงขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทานเข้าไปว่ามากน้อยหรือบ่อยแค่ไหนในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยนับวันขณะที่เจาะเลือดตรวจแล้วย้อนหลังไป 100-120 วัน ว่าจะมีผลทำให้ HbA1c ถูกน้ำตาลเคลือบจับนับจำนวนได้กี่ % ซึ่งจำนวน % ของ HbA1c ที่มากหรือน้อยก็จะเป็นตัวบ่งชี้สภาวะค่าน้ำตาลในเลือดในช่วงที่ผ่านมาว่ามากหรือน้อย

สรุปว่า การตรวจ HbA1c นี้ช่วยบ่งชี้การเป็นโรคเบาหวานได้ค่อนข้างแม่นยำกว่าการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารโดยตรง เพียงแต่ต้องเข้าใจเป็นสถานการณ์น้ำตาลในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทั้งที่ความจริงในปัจจุบันอาจจะมีค่าน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าหรือมากกว่าแต่ก่อนก็ได้ (เพราะฉะนั้นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจึงยังมีความจำเป็นอยู่)

ชื่ออื่นของการตรวจ HbA1c

  • HbA1C
  • A1C
  • Hemoglobin A1c
  • Hemoglobin A1C
  • GHb
  • GHB
  • Glycohemoglobin
  • Glycosylated Hemoglobin
  • Glycated Hemoglobin
  • Glycated Hb
  • Glycated Protein
  • Diabetic Control Index
  • Hemoglobin-glycosylated

ประโยชน์ของการตรวจ HbA1c

  1. เพื่อคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบาหวาน
  2. เพื่อตรวจติดตามผลการรักษาโรคเบาหวานซึ่งมักจะเจาะเลือดตรวจทุก 3-4 เดือน หรืออย่างน้อยปีละ 2 ครั้งถ้าผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ดีได้อย่างต่อเนื่อง
  3. เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน เนื่องจากผู้ที่มีค่า HbA1c สูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนได้สูง เช่น ตาเสื่อม ไตเสื่อม ระบบหลอดเลือด ระบบประสาท ฯลฯ

ข้อควรรู้และคำแนะนำก่อนตรวจ HbA1c

  • การตรวจ HbA1c ไม่สามารถทดแทนการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (FBS) หรือการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง (SMBG) ที่ต้องตรวจทุกวันเพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนระดับยาอินซูลินหรือเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงขณะนั้น ๆ ได้แต่อย่างใด
  • การตรวจวินิจฉัยโรคเบาหวานอาจจะตรวจเฉพาะระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FBS) เท่านั้นก็ได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • ผู้ป่วยบางประเภทจะมีค่าน้ำตาลเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง โรคไตเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์
  • หากท่านมีภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคตับ โรคโลหิตจางประเภทต่าง ๆ หรือผู้ที่เสียเลือดมาก ควรแจ้งให้แพทย์ก่อนเสมอ เพราะภาวะเหล่านี้อาจทำให้ผลการตรวจ HbA1c ผิดพลาดไปจากความเป็นจริงได้
  • ค่า HbA1c เป็น % ของเม็ดเลือดที่ถูกน้ำตาลจับเคลือบผิวในช่วงเวลาย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา แปลว่า ท่านผู้ตรวจที่คิดจะหลอกหมอด้วยการงดอาหารที่กินอยู่ตามปกติมาหลายวันก่อนจะไปรับการเจาะเลือดตรวจน้ำตาล แม้ผลของ FBS จะออกมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ค่า HbA1c เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด การตรวจนี้จึงนับเป็นการที่น่าเชื่อถือได้ดีมากตัวหนึ่ง ดังนั้น ถ้าท่านต้องการให้ค่า HbA1c อยู่ในเกณฑ์ที่ดีก็ขอให้ท่านดูแลตนเองและควบคุมเบาหวานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยชะลอและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่จะตามมาจากการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้

ขั้นตอนการตรวจ HbA1c

  • เฉพาะการตรวจนี้ไม่ต้องมีการเตรียมใด ๆ เป็นพิเศษ สามารถตรวจได้เลยในเวลาใดก็ได้ และไม่ต้องงดอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาที่ใช้อยู่แต่อย่างใด
  • การตรวจ HbA1c สามารถทำได้จากการตรวจเลือดตามรูป แต่ในบางห้องปฏิบัติการอาจตรวจได้จากเลือดจากปลายนิ้ว

ขั้นตอนการตรวจHbA1c
IMAGE SOURCE : www.youtube.com (by i-Diabetes)

ต้องตรวจ HbA1c บ่อยแค่ไหน

  • การตรวจ HbA1c ในผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน แนะนำให้ตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งหรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • การตรวจ HbA1c ในผู้ป่วยเบาหวาน แนะนำให้ตรวจอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง (ถ้าสามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ดีได้อย่างต่อเนื่อง คือ ค่า HbA1c < 7%) หรือมากกว่านั้นเป็นทุก ๆ 3-4 เดือนตามอายุของเม็ดเลือดแดงในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ หรือมีการปรับเปลี่ยนการรักษาใหม่ หรือในกรณีที่ช่วงแรกที่แพทย์ต้องการดูว่าในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาที่ผู้ป่วยไม่ได้มาพบแพทย์นั้นผู้ป่วยสามารถควบคุมเบาหวานได้ดีแค่ไหน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา

การแปลผลตรวจ HbA1c

ค่าปกติของ HbA1c ให้ยึดถือตามค่าที่ระบุไว้ในใบรายงานผลการตรวจเลือด (ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีให้ยึดตามค่าทั่วไป คือ

  • ค่า HbA1c < 5.7% แปลว่า ไม่เป็นเบาหวาน (คนปกติทั่วไปจะมีค่า HbA1c อยู่ที่ประมาณ 5%)
  • ค่า HbA1c = 5.7 – 6.4% แปลว่า มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน (Pre-diabetes)
  • ค่า HbA1c ≥ 6.5% แปลว่า เป็นโรคเบาหวาน (Diabetes)

ตัวอย่างผลตรวจ HbA1c
IMAGE SOURCE : www.lifespanindia.com

ตารางเปรียบเทียบค่า HbA1c กับค่าน้ำตาลในเลือด

มีการศึกษาและคำนวณเป็นสูตรออกมาเพื่อใช้ในการแปลงค่า HbA1c เป็นค่าของน้ำตาลในเลือด ซึ่งเรียกว่าค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด” (Estimated average glucose : eAG) ดังนี้ คือ

eAG = (28.7 x HbA1c) – 46.7 (mg/dL) หรือ

eAG = (1.59 x HbA1c) – 2.59 (mmol/L)

ค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด
IMAGE SOURCE : healthy-ojas.com

ตัวอย่าง : นาย . ไปตรวจเลือดพบค่า HbA1c 5.6% เมื่อนำมาคำนวณจะได้ค่าน้ำตาลเฉลี่ย (eAG) เท่ากับ 114 mg/dL นั่นแสดงว่า น้ำตาลในเลือดของนาย . ที่ขึ้น ลง ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมานั้นมีค่าเฉลี่ย 114 mg/dL ซึ่งยังอยู่ในช่วงปกติ (เพราะการวินิจฉัยโรคเบาหวานจะตัดเกณฑ์ที่ค่า HbA1c 6.5% หรือค่า eAG = 140 mg/dL ส่วนค่า HbA1c ที่อยู่ระหว่าง 5.7-6.4% หรือ eAG 117-137 mg/dL จะถือว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน)

ค่าผิดปกติของ HbA1c

  • ค่า HbA1c ที่ต่ำกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า
    1. อาจเกิดโรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงแตกง่าย (Hemolytic anemia) ทำให้แม้จะมีน้ำตาลในกระแสเลือดเกินค่าปกติก็ไม่สามารถตรวจนับเม็ดเลือดแดงที่จับกับน้ำตาลในจำนวนที่ควรจะนับได้
    2. อาจเกิดจากสภาวะไตวายเรื้อรัง (Chronic renal failure) ทำให้ไตลดประสิทธิภาพในการผลิตฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) ซึ่งที่มีหน้าที่ไปกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงออกมาไม่ได้ตามปกติ จึงมีผลต่อเนื่องทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงถูกผลิตออกมาน้อยกว่าปกติ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ค่า HbA1c มี % ต่ำไปด้วย
    3. อาจเกิดจากการเสียเลือดทั้งชนิดที่ตรวจพบได้และตรวจไม่พบ ซึ่งมีผลทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุไม่ถึง 120 วัน เนื่องจากต้องสูญเสียออกจากร่างกายไปเสียก่อน จึงทำให้ HbA1c ที่ถูกน้ำตาลจับ (แม้ในกรณีที่มีน้ำตาลสูงกว่าปกติ) อาจมีจำนวนค่า % ต่ำกว่าความเป็นจริงได้
  • ค่า HbA1c ที่สูงกว่าปกติ อาจแสดงผลว่า
    1. อาจประมาณการได้อย่างหยาบ ว่า ได้เกิดสภาวะของโรคเบาหวานมาแล้วอย่างน้อยในช่วง 120 วันที่ผ่านมา
    2. อาจแสดงผลได้ว่ามีสภาวะของโรคเบาหวานและควบคุมโรคได้ไม่ดี (จากสาเหตุการไม่ได้ควบคุมหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและออกกำลังกาย หรือจากการไม่รับประทานยาหรือใช้ยาให้ถูกต้องตามที่แพทย์สั่ง หรือจากการที่ไม่ไปพบแพทย์ตามนัด เช่น ทุก 3 เดือนหรือ 6 เดือน เพื่อเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม)
    3. อาจเกิดสภาวะน้ำตาลในเลือดสูงโดยปราศจากโรคเบาหวาน เช่น ในผู้ที่ตกอยู่ในความเครียดอย่างรุนแรงเฉียบพลัน
    4. อาจเกิดขึ้นในกรณีของผู้ที่ถูกตัดม้ามทิ้งไป จึงทำให้เม็ดเลือดแดงไม่มีแหล่งกำจัด แม้เม็ดเลือดแดงจำนวนหนึ่งจะแก่ตัวลงจนมีอายุขัยเกิน 120 วันแล้วก็อาจยังคงไหลเวียนอยู่ในระบบหลอดเลือด จึงมีผลต่อเนื่องทำให้การนับจำนวน HbA1c ที่ถูกน้ำตาลจับเคลือบนั้นมีค่า % ที่สูงขึ้นผิดปกติไปด้วย
  • การแก้ไขในเบื้องต้น เมื่อค่า HbA1c สูงกว่าปกติ
    • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต (ค่า HbA1c = 5.7 – 6.4% จากการตรวจคัดกรองในครั้งแรก) ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยการลดอาหารประเภทให้พลังงาน โดยเฉพาะคาร์โบโบไฮเดรต (เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ขนมหวาน น้ำตาล แอลกอฮอล์) และอาหารประเภทไขมัน (เช่น ไขมันสัตว์ ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู นม เนย กะทิ) และควรหาวิธีลดน้ำหนักอย่างเหมาะสม โดยอาจเป็นการทำกิจกรรมต่าง การออกกำลังกาย การเดินเร็ว ฯลฯ ที่เหมาะสมในแต่ละบุคล ให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้ง นอกจากนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาแนวทางการรักษาและเพื่อตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งต่อไป
    • ผู้ที่มีเป็นโรคเบาหวาน (ค่า HbA1c ≥ 6.5% จากการตรวจคัดกรองในครั้งแรก จำเป็นต้องมีการตรวจยืนยันผลด้วยการวัดมากกว่า 1 ครั้ง หรือใช้การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง (FBS) ร่วมด้วย เพื่อยืนยันผลการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เสมอจึงจะถือว่าเป็นโรคเบาหวานแล้วจริง ) ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณารับการรักษาที่เหมาะสมแต่ละบุคคล รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและหาวิธีลดน้ำหนักอย่างเหมาะสมด้วยดังที่กล่าวในข้อที่แล้ว
    • ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานจากแพทย์แล้ว จะต้องทำให้ HbA1c มีค่าน้อยกว่า 7% ให้ได้ (หากเป็นไปได้ควรน้อยกว่า 6.5% เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าสามารถลดการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ในระยะยาวได้) แต่หากการตรวจติดตามครั้งหน้าพบค่า HbA1c > 7% ก็อาจนำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ได้มากมาย โดยในเบื้องต้นแนะนำว่า ควรค้นหาสาเหตุและรีบแก้ไข ปรึกษาแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนการรักษาที่เหมาะสม ตรวจร่างกายเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่าง และรับการตรวจติดตามค่า HbA1c อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือตามดุลยพินิจของแพทย์

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด