การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม (Breast Cancer Screening) ทั้ง 4 วิธี !

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม หรือการตรวจมะเร็งเต้านม (Breast cancer screening) คือ การตรวจหามะเร็งเต้านมตั้งแต่ในเวลาที่ยังมีสุขภาพปกติ โดยมิได้มีร่องรอยของสัญญาณความผิดปกติใด ๆ ที่เต้านม หรือยังมิได้มีอาการเจ็บปวด อึดอัดเต้านม หรือขัดเคืองใด ๆ จากเต้านม โดยวิธีหลัก ๆ ของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมนั้น ได้แก่ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง การตรวจเต้านมโดยแพทย์ การตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ และการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (เอกซเรย์เต้านม) ซึ่งจะขออธิบายรายละเอียดดังนี้

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (Breast self exam) เป็นการตรวจดูรูปร่างและขนาดของเต้านมด้วยตนเองจากการดูอยู่ทุกวันว่าเต้านมได้เปลี่ยนแปลงไปในทางผิดปกติอย่างใดบ้าง โดยอาศัยหลักการที่ว่า “ใครจะมาเห็นรูปร่างของเราได้อย่างละเอียดลออได้มากครั้ง บ่อยครั้ง และละเอียดถี่ถ้วนเท่ากับสายตาของตัวเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเองมีคำแนะนำว่าสตรีที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยที่สุดเดือนละ 1 ครั้งเพื่อค้นหาก้อนและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใหม่ (ถ้าสามารถจะตรวจให้ถี่มากขึ้นกว่านั้นก็เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากมิได้สิ้นเปลืองอะไร นอกจากเสียเวลาไปบ้าง) โดยแนะนำให้ตรวจหลังจากที่เริ่มมีประจำเดือนวันแรกประมาณ 7-10 วัน (เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีอาการคัดเต้านมค่อนข้างน้อย จึงไม่เจ็บและตรวจพบก้อนได้ง่าย) และควรตรวจเต้านมในช่วงเวลาใกล้กันของแต่ละรอบเดือนด้วย

อย่างไรก็ตาม การตรวจเต้านมด้วยตนเองก็ยังมีข้อจำกัดและไม่สามารถใช้ทดแทนการตรวจเต้านมโดยแพทย์หรือการตรวจแมมโมแกรมได้ นั่นหมายความว่า คุณยังจำเป็นต้องไปตรวจที่สถานพยาบาลตามที่แพทย์นัดอยู่เสมอ

การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
IMAGE SOURCE : tenplay.com.au

วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจด้วยมือตนเองต้องกระทำด้วยเจตนาจะคลำให้พบเนื้อเยื่อที่แน่นผิดปกติ (Dense breast tissue) ก้อนเนื้อแข็ง (Benign lump) ถุงน้ำหรือไขมัน (Cyst) ที่งอกแข็งเป็นเม็ด หรือเป็นก้อนผิดปกติ โดยการตรวจจะมีอยู่ 2 ขั้นตอน คือ

  1. การดูเต้าดู เป็นการตรวจดูโดยการนั่งหรือยืนหันหน้าเขากระจก แล้วปล่อยแขนแนบลำตัวทั้ง 2 ข้าง หรือยกมือท้าวสะเอว หรือยกมือประสานนิ้วไว้ที่ต้นคอ หรือยกมือชูขึ้นเหนือศีรษะพร้อมกัน แล้วสังเกตดูสิ่งต่อไป
    • หัวนม รูปร่างและสีผิวของหัวนมควรเหมือนกัน ตำแหน่งของหัวนมควรอยู่ในระดับเดียวกันและชี้ออกไปทางด้านข้างเล็กน้อยเท่ากัน หัวนมไม่ควรถูกดึงรั้งเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ควรมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลออกจากหัวนม และไม่ควรแผลถลอกหรือแผลเกิดจากก้อนนูนแตกออกมาที่ผิว
    • ฐานหัวนม ควรมีผิวเนียนและสีเสมอกัน ไม่ควรมีรอยนูนจากก้อนมะเร็งดันผิวขึ้นมา หรือมีรอยบุ๋มจากก้อนมะเร็งดึงรั้งลงไป และไม่ควรแผลถลอกหรือแผลเกิดจากก้อนนูนแตกออกมาที่ผิว
    • ผิวเต้านม ผิวควรเนียน สีผิวต้องเสมอกัน ไม่ควรมีลักษณะบวมหนา รูขุมขนใหญ่ มองเห็นชัด เป็นลักษณะคล้ายผิวส้ม ไม่ควรมีรอยตะปุ่มตะป่ำผิดปกติจากก้อนมะเร็งดึงรั้ง ไม่ควรมีสีแดงคล้ำ ผิวตึงบางจากก้อนมะเร็งรุกรานไปใต้ผิว และไม่ควรมีรอยแผลแตกทะลุผิวหนังพร้อมกับมีเลือดและน้ำเหลืองไหล
    • ระดับและขนาดเต้านม เต้านมทั้ง 2 ข้างควรอยู่ในระดับเดียวกัน ควรมีขนาดและรูปร่างใกล้เคียงกัน และไม่ควรถูกก้อนมะเร็งดึงรั้งเต้านมขึ้นหรือถูกก้อนมะเร็งถ่วงให้ห้อยลงผิดปกติ
  2. การคลำเต้านม เป็นการตรวจด้วยวิธีการในห้องมิดชิด (มีกระจกหรือไม่ก็ได้) หลังจากดูลักษณะของเต้านม 2 ข้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการตรวจคลำทั้งในท่านั่งและท่านอนคลำ (ท่านอนให้ใช้หมอนหรือผ้าห่มหนุนตรงสะบักหลัง เพื่อให้หน้าอกด้านหน้าแอ่นขึ้น และยกแขนหนุนศีรษะ) ส่วนวิธีการคลำให้ใช้ปลายนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางด้านตรงข้ามกดคลำเต้านมด้านตรงข้าม (ไม่ใช่บีบ) โดยให้กดลงไปเบา ๆ ถึงแรงปานกลาง และหมุนเป็นวงเล็ก ๆ เคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ จนทั่วบริเวณของเต้านมข้างนั้น จากนั้นก็ให้บีบหัวนมดูว่ามีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมาจากหัวนมหรือไม่ และเมื่อคลำเต้านมเสร็จแล้วก็ให้คลำบริเวณรักแร้และเหนือไหปลาร้าทั้ง 2 ข้างด้วยว่ามีก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองโตหรือไม่
    • โดยปกติแล้วเต้านมของคนเราจะมีลักษณะเหมือนส้มผ่าซีก ประกอบไปด้วยต่อมน้ำนมจำนวนมากรวมกันเป็นกลีบ (มีประมาณ 16-20 กลีบ) และมีท่อน้ำนมของแต่ละกลีบไปเปิดที่หัวนม และมีไขมัน หลอดเลือด หลอดน้ำเหลือง แทรกอยู่ระหว่างกลีบของเต้านม เมื่อคลำดูจะมีความรู้สึกนุ่ม หยุ่น ๆ เมื่อบีบก็จะรู้สึกว่าก้อนเนื้อนมมีความนุ่ม แต่หากคลำได้ก้อนเป็นไตแข็งผิดปกติ (อาจจะกลิ้งได้ หรือยึดติดกับเนื้อเยื่อส่วนล่าง หรือยึดดึงรั้งผิวหนัง หรือแตกทะลุผิวเป็นแผลมีเลือดหรือมีน้ำเหลืองไหล) บีบหัวนมแล้วมีน้ำเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนม หรือคลำได้ก้อนที่รักแร้หรือเหนือไหปลาร้า ควรรีบมาพบแพทย์

การตรวจเต้านมโดยแพทย์

การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือการตรวจเต้านมโดยผู้เชี่ยวชาญของสถานพยาบาล (Clinical breast exam – CBE) แม้จะยังมิได้ใช้อุปกรณ์ใด ๆ แต่ด้วยความชำนาญ ผู้ตรวจก็ย่อมจะพบความผิดปกติได้อย่างแม่นยำและมากยิ่งกว่าการตรวจด้วยตนเอง โดยแนะนำให้สตรีที่มีอายุตั้งแต่อายุ 25 ปีตรวจเป็นประจำทุกปี

ขั้นตอนการตรวจเต้านมโดยแพทย์

ขั้นตอนจะเริ่มจากแพทย์อธิบายให้ผู้เข้ารับการตรวจเข้าใจในแต่ละขั้นตอนของการตรวจ เมื่อผู้เข้ารับการตรวจถอดเสื้อและชุดในแล้ว ขั้นตอนการตรวจจะเริ่มจาก

  1. แพทย์ผู้ตรวจจะทำการสังเกตสีผิว ขนาด รูปร่าง ตำแหน่งของเต้านมและหัวนมในแต่ละท่า ได้แก่ ท่าวางแขนทั้งสองข้างไว้ข้างลำตัว, ท่ายกแขนทั้งสองข้างให้สูงเหนือสูงศีรษะ, ท่าวางมือทั้งสองข้างที่สะโพก และท่าเอนลำตัวส่วนบนไปข้างหน้า
  2. ต่อมาจะเป็นการตรวจต่อมน้ำเหลือง โดยแพทย์จะหันหน้าเข้าหาผู้เข้ารับการตรวจ แล้วจึงเริ่มคลำต่อมน้ำเหลืองเหนือและใต้ไหปลาร้า และตามด้วยการคลำต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ (ระหว่างที่ตรวจควรทำตัวตามสบายเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ส่วนต่อมน้ำเหลืองถ้าผิดปกติก็มักจะแข็งและมีขนาดโตมากกว่า 0.5 เซนติเมตร)
  3. ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการคลำเต้านม โดยจะเริ่มจากการให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนหงายและนอนหนุนหมอนใต้สะบักข้างที่ตรวจ และวางแขนข้างเดียวกับเต้านมข้างที่ตรวจไว้เหนือศีรษะ แล้วแพทย์จะใช้อุ้งนิ้วมือของนิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางทั้งสองข้างในการคลำ ซึ่งเทคนิคการคลำก็จะมีหลายแบบ แต่แบบที่นิยมปฏิบัติจะเริ่มต้นจากการคลำบริเวณหัวนมวนออกมาทั่วเต้านม และบีบหัวนมเบา ๆ เพื่อดูว่ามีของเหลวไหลออกมาจากหัวนมหรือไม่ (ปกติจะต้องไม่พบ)

การตรวจเต้านมโดยแพทย์
IMAGE SOURCE : komenkansascity.wordpress.com

การตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์

การตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ หรือการตรวจอัลตราซาวด์เต้านม (Breast ultrasound) คือ การตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจหาความผิดปกติในเต้านม คลื่นเสียงที่ถูกส่งเข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อกระทบกับเนื้อเยื่อต่าง ๆ จะสะท้อนกลับขึ้นมาที่เครื่องตรวจ ซึ่งจะช่วยตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ (คล้าย ๆ กับการตรวจด้วยเรดาร์) จึงทำให้แพทย์สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้ และยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ในกรณีที่เป็นน้ำก็ค่อนข้างจะสบายใจเพราะไม่เหมือนมะเร็ง แต่ถ้าเป็นก้อนเนื้อ อัลตราซาวด์ก็จะช่วยบอกได้ว่าก้อนเนื้อนั้นมีขอบเขตที่ดูเรียบร้อยหรือค่อนไปทางเป็นเนื้อร้าย

การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ไม่ต้องใช้เครื่องมือกดเต้านมเหมือนแมมโมแกรม จึงไม่ทำให้เจ็บและผู้รับการตรวจไม่ได้รับรังสี โดยมีข้อบ่งชี้ในการตรวจดังนี้

  • ใช้ตรวจเริ่มต้นในสตรีที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีได้
  • ใช้อัลตราซาวด์เสริมกับการตรวจแมมโมแกรม (ไม่สามารถใช้ตรวจเพื่อทดแทนแมมโมแกรมได้ แต่ใช้ประกอบกันเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำยิ่งขึ้น) เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้นและช่วยให้วางแผนการรักษาเป็นไปได้ง่ายขึ้น

การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม
IMAGE SOURCE : www.koreatimesus.com

การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม

การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม, การตรวจเอกซเรย์เต้านม หรือเรียกสั้น ๆ ว่า การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) คือ การตรวจภาพเนื้อเยื่อภายในเต้านมด้วยรังสีเอกซ์ (เอกซเรย์) ซึ่งใช้หลักการเดียวกับการฉายเอกซเรย์ตรวจปอดหรือตรวจอวัยวะอื่น ๆ เพียงแต่ว่าจะเจาะจงเฉพาะเนื้อเยื่อของเต้านมแท้ ๆ ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป 30-60% และมีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามากในระดับที่สามารถเห็นเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ แม้จะเป็นก้อนหินปูนเล็ก ๆ หรือจะเป็นเพียงจุดขนาดเล็กก็ตาม

การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย (ค่าใช้จ่ายปานกลาง) ไม่เจ็บตัว และช่วยให้สามารถมองเห็นจุดผิดปกติขนาดเล็กที่สุดภายในเต้านมได้ โดยเครื่องตรวจแมมโมแกรมจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ Conventional mammography (แสดงภาพเนื้อเยื่อให้ปรากฏอยู่บนแผ่นฟิล์ม) และ Digital mammography (แสดงภาพแบบดิจิตอลที่ดูได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์) ซึ่งจะมีข้อดีกว่าตรงที่ง่ายต่อการตรวจ การเก็บผล การดึงภาพออกมาดูซ้ำอีกครั้ง และการได้ภาพที่ดีกว่า จึงง่ายต่อการสังเกตเปรียบเทียบเนื้อเยื่อที่ผิดปกติกับเนื้อเยื่อที่เป็นปกติ

สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในคนปกติ แพทย์มักแนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมเมื่ออายุ 40 ปี ต่อจากนั้นอาจตรวจทุก 1-2 ปีต่อเนื่องไปโดยไม่จำกัดอายุที่สิ้นสุดการตรวจ (ตราบเท่าที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง)

การตรวจภาพรังสีเต้านม
IMAGE SOURCE : www.johnmuirhealth.com

ข้อจำกัดของการตรวจแมมโมแกรม

  • การตรวจในสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี การแปลผลจะทำได้ยากและอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้สูง เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในเต้านมของสตรีอายุน้อยมักจะมีความหนาแน่นมากกว่าสตรีที่มีอายุมาก จนทำให้เนื้อเยื่อเต้านมอาจบดบังก้อนเนื้อมะเร็งหรือมองเห็นผิดพลาดจากเนื้อดีกลายเป็นมะเร็งได้ ในสตรีกลุ่มนี้แพทย์จึงมักแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์หรือคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) ทดแทนหรือตรวจควบคู่ไปด้วยเพื่อความแม่นยำมากขึ้น
  • การตรวจแมมโมแกรมไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนที่ตรวจพบนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ซึ่งจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอัลตราซาวด์ต่อไป

การเตรียมตัวก่อนตรวจแมมโมแกรม

  1. ในวันพบแพทย์เพื่อรับการตรวจทั่วไปและรับฟังคำชี้แจงก่อนวันตรวจแมมโมแกรม สิ่งที่ควรทำคือ การซักถามเรื่องสงสัยเพื่อจะได้ช่วยลดความกังวลใจ รวมถึงบอกเล่าประวัติส่วนตัว (เช่น การเสริมต้านม, การเคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน, เคยใช้ฮอร์โมนเพื่อการรักษาใด ๆ, มีประวัติคนในครอบครัวที่เคยเกิดโรคร้ายแรงนี้มาก่อน ) แจ้งอาการผิดปกติของเต้านมต่าง ๆ (ถ้ามี) และหากสงสัยว่าตนเองอาจจะเริ่มมีการตั้งครรภ์ ก็จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน (เพราะรังสีเอกซ์จากการตรวจอาจกระทบต่อทารกในครรภ์ ก่อให้เกิดความพิการ หรือเป็นเหตุทำให้ทารกเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 3 เดือน ดังนั้นจึงเป็นข้อห้ามไม่ให้ตรวจในสตรีตั้งครรภ์)
  2. ในวันตรวจแมมโมแกรม ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
    • ไม่ควรตรวจแมมโมแกรมในช่วงสัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน และ/หรือในช่วงให้นมบุตร เพราะในช่วงนี้เต้านมมักจะเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นและเจ็บ และอาจส่งผลให้การตรวจผิดพลาดได้จากการบวมหรือจากการไม่สามารถบีบเต้านมได้จากการเก็บเต้านม
    • หากเคยตรวจแมมโมแกรมมาก่อนและเลือกเข้ารับการตรวจในสถานพยาบาลแห่งใหม่ ก็ควรนำผลตรวจแมมโมแกรมเดิมมาด้วยเพื่อเปรียบเทียบดูความเปลี่ยนแปลง
    • ควรแต่งกายด้วยชุดสบาย ๆ ที่สะดวกต่อการถอดและสวมใส่ได้ง่าย ปราศจากเครื่องประดับ เช่น ต่างหู สายสร้อย เครื่องเพชร หรือโลหะอื่นใดในร่างกาย เพราะก่อนตรวจจะต้องมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าและอาจต้องถอดรองเท้าในห้องตรวจ
    • งดการทาแป้ง ผงลดการชับเหงื่อ ยาระงับกลิ่นตัว รวมถึงน้ำหอมหรือโลชั่นใด ๆ (เนื่องจากการตรวจจะรวมการตรวจภาพต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ด้วยเสมอ) เพราะสารเคมีเพียงเล็กน้อยจากเครื่องมือสำอางเหล่านี้อาจไปปรากฎในภาพและทำให้แพทย์เข้าใจผิดว่าเป็นจุดแคลเซียมในเต้านมได้
    • ในกรณีที่เคยมีปัญหาหรืออาการผิดปกติใด ๆ และได้เคยตรวจพบด้วยตนเอง ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย เช่น เคยพบว่ามีต่อมอยู่ภายในเต้านมข้างขวา เพื่อที่แพทย์ก็จะได้เน้นตรวจที่เต้านมข้างขวามากขึ้น

ขั้นตอนการตรวจแมมโมแกรม

เฉพาะการตรวจแมมโมแกรมนั้นไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำดื่มแต่อย่างใด ในขณะที่ตรวจก็สามารถหายใจได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องยืนอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับ เพราะภาพการตรวจจะไหวและส่งผลให้แปลผลผิดพลาดได้ โดยในการตรวจจะมีขั้นตอนดังนี้

  • การตรวจจะเริ่มจากผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นของโรงพยาบาลและถอดเครื่องประดับโลหะต่าง ๆ ออกหมด (ถ้านำมาด้วย) เนื่องจากจะส่งผลให้การแปลผลผิดพลาดได้
  • จากนั้นให้ผู้เข้ารับการตรวจยืนหรือนั่งหันหน้าเข้าหาเครื่องเอกซเรย์ (ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่อง) ซึ่งเจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่าทางลำตัว ศีรษะ หรือแขน เพื่อไม่ให้บดบังบริเวณเต้านมที่ต้องการเอกซเรย์ และปรับระดับความสูงของเครื่องให้เหมาะกับเต้านมของผู้เข้ารับการตรวจเมื่อวางเต้านมลงบนเครื่อง (ตรวจเต้านมทีละข้าง)
  • เครื่องจะค่อย ๆ กดบีบเต้านมจากด้านบนและด้านข้าง โดยในแต่ละครั้งของการกดบีบเต้านมลงบนเครื่องจะใช้เวลาไม่นาน และจำเป็นต้องมีการบีบให้เต้านมแนบกับเครื่องมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อช่วยให้รังสีจากเครื่องสามารถผ่านเนื้อเยื่อของเต้านมได้อย่างทั่วถึง (เพราะเนื้อเยื่อยิ่งบางก็จะมีโอกาสตรวจพบสิ่งผิดปกติมากขึ้น) โดยเต้านมแต่ละข้างจะได้รับการตรวจใน 2 ท่า คือ จากบน-ล่าง และจากด้านข้างซ้าย-ขวา (รวมเป็น 4 รูป)
  • การตรวจแมมโมแกรมจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30 นาที หลังจากตรวจเสร็จก็สามารถกลับบ้านหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติ ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล ไม่ต้องมีการดูแลตนเองใด ๆ เป็นพิเศษ แต่แพทย์อาจให้คำแนะนำเพิ่มเติมในบางราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะของบุคคลนั้น ๆ

อนึ่ง เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการแปลผลตรวจ แพทย์อาจพิจารณาตรวจอัลตราซาวด์เต้านมร่วมด้วย โดยเฉพาะในสตรีที่มีอายุน้อย

ผลการตรวจแมมโมแกรม

การแปลผลตรวจแมมโมแกรมสามารถทำได้โดยรังสีแพทย์หรือแพทย์ผู้สั่งตรวจ หรือเป็นการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย หลังการตรวจรังสีแพทย์อาจแจ้งผลเบื้องต้นให้ทราบเลย หรือให้รอนัดฟังผลในอีก 2-7 วัน หรือให้แพทย์ผู้สั่งตรวจเป็นผู้แจ้งผล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบของแต่ละโรงพยาบาล ส่วนผลการตรวจแมมโมแกรมนั้นสามารถอธิบายได้ดังนี้

  • ผลลบ (Negative) หมายถึง ผลการตรวจจากภาพภายในเนื้อเยื่อของเต้านมไม่พบร่องรอยของความผิดปกติใด ๆ แปลว่า สบายใจได้ค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่เต็ม 100% เนื่องจากพบว่าประมาณ 20% ของจำนวนสตรีที่รับการตรวจด้วยแมมโมแกรมและได้ผลลบ แต่เมื่อได้ตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ กลับพบว่า กำลังเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ (แปลว่าการตรวจแมมโมแกรมสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้เพียง 80%)
  • ผลบวก (Positive) หมายถึง การตรวจวิเคราะห์จากภาพที่ได้มาโดยวิธีแมมโมแกรม ได้เห็นความผิดปกติภายในเต้านม โดยสังเกตุเห็นภาพ “จุดขาว” (Spot) ซึ่งอาจเป็นถุงน้ำ ถุงไขมัน ถุงอากาศ ฯลฯ (Cyst), เป็นเม็ดแคลเซียมหรือก้อนหินปูน (Calcification), เป็นก้อนเนื้อแข็งที่มิใช่มะเร็ง (Benign lump) หรือเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง (Tumor) ซึ่งในกรณีอย่างนี้จะต้องมีการตรวจวินิจฉัยต่อไปด้วยวิธีอัลตราซาวด์หรือคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) และการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านม (Breast biopsy) ตามลำดับต่อไป เพื่อจะได้ฟันธงได้ว่าผลบวกจากการตรวจแมมโมแกรมนั้นเป็นมะเร็งเต้านมจริงหรือไม่

การรายงานผลตรวจแมมโมแกรมจะรายงานเป็นค่าไบแรดส์ (BI-RADS : Breast Imaging Reporting and Database System) ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานสากล โดยค่าที่ได้จะออกมาเป็นตัวเลขแสดงถึงความรุนแรงตามการตรวจพบพร้อมกับคำแนะนำว่าควรปฏิบัติอย่างไรต่อไป โดยแบ่งเป็น 7 ขั้น ดังนี้

ค่าไบแรดส์|สภาวะเต้านมซึ่งวิเคราะห์ได้จากภาพ|การปฏิบัติในขั้นตอนต่อไป
BI-RADS Category 0|ไม่เคยตรวจแมมโมแกรม หรือตรวจแล้วแต่ไม่สามารถแปลผลได้|ต้องมีการตรวจแมมโมแกรมซ้ำให้เห็นภาพ เพื่อจะได้จัดขั้นการปฏิบัติต่อไปได้
BI-RADS Category 1 (Negative)|เคยตรวจแมมโมแกรมมาแล้วและไม่พบสิ่งผิดปกติ|สตรีที่มีอายุเกิน 40 ปี ควรมีการตรวจซ้ำต่อไปเป็นประจำทุกปี
BI-RADS Category 2|ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่มิใช่มะเร็ง|ต้องตรวจแมมโมแกรมต่อไปทุก 1 ปี โดยเฉพาะสตรีที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
BI-RADS Category 3|ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่อาจจะไม่ใช่มะเร็ง|ให้ตรวจแมมโมแกรมทุก 6 เดือน เพื่อติดตามผล
BI-RADS Category 4|ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่น่าจะเป็นมะเร็ง|อาจมีการสั่งตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่างว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
BI-RADS Category 5|ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่น่าจะเป็นมะเร็งได้สูง|แพทย์จะสั่งตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่างทันทีเพื่อยืนยันว่าก้อนที่พบในเต้านมเป็นมะเร็ง
BI-RADS Category 6|ผลการตรวจชิ้นเนื้อได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นมะเร็ง|ให้ทำการตรวจชิ้นเนื้อซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันว่ามะเร็งยังคงมีอยู่ ก่อนที่จะเริ่มขึ้นตอนการรักษาต่อไป

การตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ จากการตรวจแมมโมแกรมก็อย่าได้วางใจ 100% ว่าจะปลอดภัยจากมะเร็งเต้านม และการตรวจพบความผิดปกติใด ๆ จากการตรวจนี้ ก็ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องเป็นมะเร็ง ฉะนั้น การตรวจต่อไปด้วยอัลตราซาวด์และการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเต้านมจึงไม่ควรถูกปฏิเสธหรือถูและเลย

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือฉลาดตรวจสุขภาพ ฉบับรู้ทันโรคถอย เล่ม 2. “การตรวจมะเร็งเต้านม (Mammogram)”. (พอ.ประสาร เปรมะสกุล). หน้า 143-168.
  2. หาหมอดอทคอม.  “การตรวจภาพรังสีเต้านม แมมโมแกรม (Mammogram)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [10 มิ.ย. 2018].
  3. ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “การตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ กับแมมโมแกรมต่างกันอย่างไร”.  (รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [28 มิ.ย. 2018].
  4. พบแพทย์ดอทคอม.  “ตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com.  [29 มิ.ย. 2018].
  5. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์.  “แมมโมแกรม (Mammogram) ตรวจเร็ว แม่นยำ ปลอดภัย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siphhospital.com.  [29 มิ.ย. 2018].
  6. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.  “การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง”.  (สถานมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราช).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [03 ก.ค. 2018].
  7. หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  “การตรวจเต้านมโดยแพทย์ (clinical breast examination)”.  (นพ.จตุรงค์ ตันติมงคลสุข). [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : cai.md.chula.ac.th/lesson/cancer/.  [05 ก.ค. 2018].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด