ตกขาว
ตกขาว ระดูขาว หรือ มุตกิด (Leukorrhea, Leucorrhea หรือ Vaginal discharge) คือ สิ่งคัดหลั่งจากอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรีไม่ว่าจะเป็นจากช่องคลอด ปากมดลูก หรือแม้กระทั่งจากตัวมดลูกเองก็ตาม โดยถือเป็นภาวะปกติของผู้หญิงทุกคน ซึ่งในช่วงเด็กอาจมีเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีประจำเดือน ตกขาวจะมีมากขึ้นและมีปริมาณที่พอเหมาะไปจนถึงวัยสูงอายุ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ตกขาวมีปริมาณลดลงจนแทบไม่มีอีกครั้ง
อาการตกขาวปกติ
ตกขาวปกติ หรือ ตกขาวธรรมดา (Physiologic vaginal discharge) จะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามรอบประจำเดือน โดยขึ้นอยู่กับปริมาณของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ถ้าเป็นในช่วงกึ่งกลางรอบเดือน ตกขาวจะมีลักษณะเป็นมูกเหลวใส ไม่มีสี แต่ถ้าเป็นในช่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือนตกขาวจะมีลักษณะข้นเป็นสีออกขาว (คล้ายแป้งเปียก) โดยตกขาวที่เป็นปกตินั้นจะมีลักษณะเป็นมูกเหลวใส ไม่มีสี หรือเป็นสีขาวข้นคล้ายแป้งเปียก มีปริมาณเล็กน้อยพอชุ่มชื้นในช่องคลอด อาจมีกลิ่นจำเพาะได้บ้างเล็กน้อยตามลักษณะของกลิ่นตัวเฉพาะบุคคล มีภาวะเป็นกรดอ่อน ๆ และจะไม่เหม็น ไม่คัน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย (เช่น ปวดท้อง มีไข้ ขัดเบา) ส่วนปริมาณของตกขาวนั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่โดยทั่วไปแล้วปริมาณของตกขาวจะมากขึ้นได้เป็นปกติในภาวะต่อไปนี้
- ในช่วงก่อนและหลังการมีประจำเดือน ตกขาวจะมีลักษณะข้นเป็นสีออกขาว (คล้ายแป้งเปียก) ส่วนในช่วงที่เป็นประจำเดือน ตกขาวจะมีลักษณะหนาและเหนียวข้น
- ในช่วงกึ่งกลางระหว่างรอบเดือน (ระยะตกไข่) ตกขาวจะมีปริมาณมากและมีลักษณะเหลวใส
- ในขณะตั้งครรภ์ ผู้หญิงจะมีตกขาวมากขึ้นจนบางครั้งอาจจะเหนียวหนืด (แต่หลังวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงจะมีตกขาวน้อยลง)
- ในขณะที่มีความวิตกกังวลมาก
- การใช้ยาคุมกำเนิด
- การกระตุ้นทางเพศสัมพันธ์ (ในขณะที่มีอารมณ์ทางเพศจะทำให้มีการหลั่งน้ำออกมาหล่อลื่นมากขึ้น) หลังจากมีเพศสัมพันธ์ก็จะมีตกขาวมากขึ้นได้เช่นกัน
การมีตกขาวในผู้หญิงทุกคนจึงเป็นภาวะปกติ ไม่ใช่อาการแสดงถึงการเกิดโรคแต่อย่างใด แต่ปัจจัยที่มีผลต่อการคัดหลั่งของตกขาวจะมากหรือน้อยนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกและภายในร่างกายของผู้หญิงแต่ละคน เช่น ความร้อน ความอับชื้น อารมณ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายในแต่ละช่วง เป็นต้น
อาการตกขาวผิดปกติ
ตกขาวผิดปกติ (Pathologic vaginal discharge) มีอาการได้หลายแบบโดยเฉพาะสีและกลิ่นที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นภายใน
- ตกขาวมีสีที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น จากใสไม่มีสีหรือสีขาวกลายเป็นสีเทา สีเขียว สีเหลือง สีชมพู สีน้ำตาล
- ตกขาวมีลักษณะข้นขึ้นหรือจับตัวเป็นก้อนหนา ปนหนอง เป็นมูกเลือดหรือมีเลือดปน หรือมีลักษณะเป็นฟองปนออกมา
- ตกขาวมีกลิ่นที่ผิดปกติหรือมีกลิ่นเหม็น (กลิ่นคล้ายเนื้อเน่า ปลาเน่า หรือมีกลิ่นคาวมาก)
- มีปริมาณตกขาวเพิ่มมากขึ้นจนผิดสังเกตหรือทำให้บางครั้งต้องใช้ผ้าอนามัย
- เป็นตกขาวติดต่อกันมานานเกิน 2 สัปดาห์
- มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คันในบริเวณปากช่องคลอด ปวดแสบปวดร้อนบริเวณปากช่องคลอด มีอาการถ่ายปัสสาวะแสบขัด มีอาการเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ มีรอยโรคหรือแผลบริเวณอวัยวะเพศ มีอาการปวดท้องน้อย มีไข้ ขัดเบา เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของตกขาว
ตกขาวที่ผิดปกติ อาจทำให้มีอาการอื่น ๆ ที่แสดงออกมาเนื่องจากการติดเชื้อและการเจ็บป่วยของโรคได้ เช่น
- อาการคัน เจ็บปวด บวม หรือมีแผลบริเวณช่องคลอดและปากช่องคลอด
- มีเลือดที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือนไหลปนออกมาจากช่องคลอด
- เจ็บปวดในขณะปัสสาวะ หรือขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดบริเวณท้องน้อย
- การติดเชื้ออาจทำให้เกิดการอักเสบ เรื้อรัง และส่งผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรงในระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูก รังไข่
- การติดเชื้ออาจแพร่จากแม่ไปสู่ลูกได้ในขณะคลอด
- การติดเชื้ออาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในระบบสืบพันธุ์ และส่งผลทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
- ตกขาวที่เกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในมดลูกหรือช่องคลอด อาจทำให้เกิดอาการช็อกเฉียบพลันจากการที่พิษเข้าสู่กระแสเลือด (Toxic Shock Syndrome) ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุของตกขาว
ตกขาวปกติ เป็นสิ่งคัดหลั่งที่สร้างมาจากอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรีไม่ว่าจะเป็นจากช่องคลอด ผนังช่องคลอด ปากมดลูก หรือแม้กระทั่งจากตัวมดลูกเองก็ตาม โดยตกขาวจากแหล่งต่าง ๆ นี้จะมารวมกันในช่องคลอดเพื่อทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ช่วยคงความอ่อนนุ่มชุ่มชื้นให้กับช่องคลอด ช่วยหล่อลื่นช่องคลอด ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดด่างในช่องคลอดให้สมดุล ช่วยขับสิ่งแปลกปลอม และฆ่าเชื้อโรคที่เข้าไปในช่องคลอด
ตกขาวผิดปกติ ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง (ทั้งการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และการติดเชื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์) และมีส่วนน้อยที่ตกขาวผิดปกติไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ดังนี้
- เกิดจากการติดเชื้อ ได้แก่
- เชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis หรือ ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย) เป็นการติดเชื้อที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ประมาณ 50% การติดเชื้อชนิดนี้มักพบในในสตรีที่ชอบสวนล้างช่องคลอด ผู้ที่คุมกำเนิดโดยการใส่ห่วงอนามัย ผู้ที่รับประทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรืออาจเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรืออาหารบางอย่าง (เช่น อาหารหมักดอง อาหารคาวจัด) ผู้หญิงบางคนที่ติดเชื้อชนิดนี้อาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาก็ได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้อาจทำให้เกิดอาการตกขาวผิดปกติ (ตกขาวมีปริมาณมากขึ้น อาจเหลวใสหรือเป็นสีขาวเนียนปนเทาอ่อน มีกลิ่นอับคล้ายกลิ่นคาวปลา ส่วนระดับความรุนแรงของกลิ่นแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนอาจไม่มีกลิ่น บางคนอาจมีกลิ่นแรงจนคนใกล้ตัวได้กลิ่น) และอาจมีอาการระคายเคืองหรือคันบริเวณช่องคลอด แสบร้อนเวลาปัสสาวะ ซึ่งอาการจะรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะหลังร่วมเพศ
- เชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis หรือ โรคพยาธิในช่องคลอด) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่มีชื่อว่า “ทริโคโมแนส วาจินาลิส” (Trichomonas vaginalis) เป็นการติดเชื้อที่พบได้ประมาณ 25% แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใด ๆ มีเพียง 30% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่จะแสดงอาการของโรค โดยจะทำให้มีตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว มีปริมาณมากขึ้น มีกลิ่นเหม็นออกเปรี้ยวเล็กน้อย ตกขาวมีลักษณะเป็นฟอง (ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการติดเชื้อชนิดนี้) มีอาการบวม แดง คัน หรือรู้สึกแสบบริเวณอวัยวะเพศ, ปวดปัสสาวะบ่อย, เจ็บปวดขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ อาจมีเลือดไหลออกจากช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอยหรือไหลออกมามาก
- เชื้อรา (Vaginal candidiasis หรือ โรคเชื้อราในช่องคลอด) เป็นการติดเชื้อที่พบได้ประมาณ 25% โดยเฉพาะจากเชื้อรา “แคนดิดา อัลบิแคนส์” (Candida albicans) ที่พบได้มากที่สุดซึ่งจะทำให้มีตกขาวที่ผิดปกติไปจากเดิม คือ ตกขาวเป็นสีขาวข้นคล้ายคราบนมหรือเป็นสีเหลืองขาว มีขนาดเล็กเป็นก้อนคล้ายนมบูด มีกลิ่นเหม็นอับ แต่ไม่มีกลิ่นคาว ร่วมกับมีอาการคันอย่างมากและระคายเคืองปากช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด, ปากช่องคลอดมีอาการบวมแดง, มีอาการแสบร้อนเมื่อปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์, อาจเกิดผื่นแดงทั้งภายในและภายนอกช่องคลอด โดยอาจกระจายไปทั่วบริเวณหัวหน่าว อวัยวะเพศหรือต้นขา การติดเชื้อชนิดนี้ส่วนใหญ่แล้วจะมีสาเหตุมาจากความอับชื้น, การใช้ยาปฏิชีวนะ, การใช้ยาสเตียรอยด์, การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด, ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ติดเชื้อเอดส์หรือโรคเชื้อราในช่องคลอด, หญิงตั้งครรภ์, ความเครียด เป็นต้น การสวมใส่เสื้อผ้าที่อบมากเกินไป การมีสภาพร่างกายที่อ้วนมาก รวมทั้งสภาพอากาศในบ้านเราที่ร้อนชื้นเป็นพิเศษ จะเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อราเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้หญิงไทยเรามีการติดเชื้อราในช่องคลอดได้ง่ายมาก บางทีอยู่เฉย ๆ ยังไม่ได้ทำอะไรก็ยังเป็นเชื้อราในช่องคลอดได้ ซึ่งผิดกับผู้หญิงในเมืองหนาวที่มีจะมีการติดเชื้อราน้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่จะเกิดเฉพาะในรายที่เป็นโรคเบาหวานหรือเป็นโรคต้องรับประทานยากดภูมิต้านทานบางอย่าง
- เชื้อไวรัส เกิดจากการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อ “เฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์” (Herpes simplex) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม ทำให้มีตุ่มใส ๆ ขนาดเล็ก ต่อมาจะแตกออกกลายเป็นแผลและแสบคัน มีตกขาวสีเหลือง มีกลิ่นผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งแรกที่ปรากฏอาการ
- เชื้อบัคเตรีชนิดอื่น ๆ เช่น เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus), สเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus) เป็นต้น ทั้งนี้อาจพบเชื้อต้นเหตุได้มากกว่า 1 ชนิดก็ได้
- เชื้อวัณโรค เชื้อชนิดนี้พบได้น้อยมาก
- เกิดจากเนื้องอกอวัยวะสืบพันธุ์หญิง เป็นสาเหตุที่พบได้รองลงมาจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเนื้องอกไม่ร้ายแรงหรือมะเร็งก็ตาม ก็อาจทำให้เกิดอาการตกขาวได้ โดยโรคมะเร็งที่มักก่ออาการตกขาวผิดปกติ คือ โรคมะเร็งช่องคลอด โรคมะเร็งปากมดลูก และโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- เกิดจากการมีวัตถุแปลกปลอมในช่องคลอด ทำให้ผนังช่องคลอดระคายเคือง มีตกขาวเพิ่มมากขึ้นและมักมีกลิ่นเหม็น ในเด็กอาจพบเป็นเมล็ดผลไม้ เศษกระดาษ เศษลูกโป่ง ส่วนในผู้ใหญ่อาจพบเป็นผ้าอนามัยชนิดสอด กระดาษชำระ สำลี เศษยาง ถุงยางอนามัย หรืออุปกรณ์ทางเพศ แต่เมื่อเอาวัตถุแปลกปลอมเหล่านี้ออกแล้วก็จะหายเป็นปกติ
ลักษณะของตกขาว
การสังเกตลักษณะตกขาวและอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับการมีตกขาวที่ผิดปกติ อาจช่วยให้เราทราบถึงสาเหตุของการป่วยในเบื้องต้นได้ ดังนี้
- ตกขาวเป็นน้ำ หรือ ตกขาวเป็นเมือกใส เป็นอาการที่ผู้หญิงทุกคนอาจเป็นกันได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีตกขาวมากกว่าปกติ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงกึ่งกลางระหว่างรอบเดือน (ระยะตกไข่) ตกขาวจะมีปริมาณมากและมีลักษณะเหลวใส ไม่มีสี ไม่คัน และไม่มีกลิ่น ซึ่งถือว่าเป็นอาการตกขาวที่ปกติและจะหายไปได้เอง แต่ทั้งนี้หากอาการตกขาวเป็นน้ำ ไหลออกมาเป็นฟอง และมีอาการคันร่วมด้วย อาจเกิดจากช่องคลอดอักเสบหรือติดเชื้อแบคทีเรียก็ได้
- ตกขาวสีเทา หรือ ตกขาวสีขาวขุ่น อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis) ทำให้ตกขาวมีปริมาณมากขึ้น สีขาวเนียนปนเทาอ่อน มีกลิ่นเหม็นอับคล้ายกลิ่นคาวปลาเค็ม กลิ่นมักจะรุนแรงหลังการร่วมเพศหรือหลังหมดประจำเดือนใหม่ ๆ มักไม่พบอาการเจ็บป่วยอื่นร่วมด้วย
- ตกขาวเป็นก้อนสีขาว อาจเกิดจากการติดเชื้อรา Candida albicans ทำให้ตกขาวมีลักษณะเป็นก้อนคล้ายนมบูด เป็นสีขาวข้นหรืออาจเป็นสีเหลืองขาว มีกลิ่นเหม็นอับ แต่ไม่มีกลิ่นคาว ทำให้มีอาการแสบคันในช่องคลอดหรือมีปัสสาวะแสบขัดเป็นบางครั้ง ส่วนใหญ่มักเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานหรือเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ
- ตกขาวสีเหลือง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย (แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วตกขาวที่เกิดจากเชื้อชนิดนี้จะมีสีขาวปนเทา แต่ก็มีในหลายกรณีที่ตกขาวอาจเป็นสีเหลืองขุ่นได้ ร่วมกับจุดเด่นของตกขาวชนิดนี้ คือ “กลิ่นคาวปลา” และอาจมีอาการคันร่วมด้วย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์), การติดเชื้อหนองใน ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “ไนซีเรีย โกโนเรียอี” (ทำให้ตกขาวมีปริมาณมากขึ้น เป็นหนองสีเหลืองหรือมีสีเขียวปน มีกลิ่นเหม็น ไม่คัน และจะมีอาการปวดแสบขณะปัสสาวะร่วมด้วย), การติดเชื้อรา (เช่นเดียวกับตกขาวที่เป็นก้อนสีขาว), การติดเชื้อไวรัส (เกิดจากการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม ทำให้มีตุ่มใส ๆ ขนาดเล็ก ต่อมาจะแตกออกกลายเป็นแผลและแสบคัน มีตกขาวสีเหลือง มีกลิ่นผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งแรกที่ปรากฏอาการ), การติดเชื้อทริโคโมแนสในช่องคลอด (ส่วนใหญ่ตกขาวที่เกิดจากเชื้อชนิดนี้จะเป็นสีเขียว แต่ก็มีบ้างในบางกรณีที่ตกขาวอาจเป็นสีเหลือง ดูเพิ่มเติมในตกขาวสีเขียว) นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มีอาการตกขาวสีเหลืองได้ด้วย เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia ปากมดลูกอักเสบ และช่องคลอดอักเสบ แต่ก็พบได้ไม่บ่อยเท่ากับสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น
- ตกขาวสีเขียว มักเกิดจากการติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomonas vaginalis) ทำให้มีอาการคัน แสบ แดง และเจ็บที่อวัยวะเพศ บางรายอาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว มีปริมาณมากขึ้น มีกลิ่นเหม็นออกเปรี้ยวเล็กน้อย ตกขาวมีลักษณะเป็นฟอง (ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการติดเชื้อชนิดนี้) เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด (ถ้าตกขาวเป็นสีเขียวแต่ไม่มีอาการคัน ไม่มีกลิ่น ให้ลองสังเกตตอนที่ออกมาใหม่ ๆ ถ้าเป็นสีขาว ไม่มีกลิ่น แต่พอออกมาถูกอากาศข้างนอกสักพักแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเขียว อาจจะเป็นตกขาวปกติที่ไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้)
- ตกขาวสีน้ำตาล หรือ ตกขาวปนเลือด อาจเกิดจากการมีเลือดออกผิดปกติแล้วปนออกมากับตกขาว เช่น
- เลือดออกจากประจำเดือนมาไม่ปกติ มาช้าหรือมาผิดปกติไม่ตรงรอบ
- เลือดออกจากการตกไข่ ซึ่งมักเป็นในช่วง 2 สัปดาห์หลังมีประจำเดือนวันแรก อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย ตกขาวในช่วงนี้มักเป็นมูกเหลวใส
- เลือดออกจากการฝังตัวของตัวอ่อนหรือที่เรียกว่าเลือดล้างหน้าเด็ก มักเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 หลังการมีประจำเดือนวันแรก มักเป็นเลือดสีชมพูจาง ๆ หรืออาจจะเป็นสีน้ำตาลก็ได้ในปริมาณไม่มาก และมักไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย
- เลือดออกจากฮอร์โมนผิดปกติหรือแปรปรวน
- เลือดออกจากภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูก โดยอาจทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอยร่วมกับมีอาการปวดท้องน้อยอย่างมาก
- เลือดออกผิดปกติจากมะเร็งเยื่อบุมดลูก หรือมะเร็งปากมดลูก
- อาจเกิดจากการติดเชื้อที่ปากมดลูกหรือช่องคลอด ทำให้มีตกขาวปริมาณมาก มีกลิ่นเหม็น อาจมีเลือดเก่าหรือสีน้ำตาลปน
- ตกขาวสีชมพู มักพบได้ในหญิงหลังคลอด เนื่องจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก หรืออาจเป็นสีของเลือดล้างหน้าเด็กซึ่งมักจะเป็นสีชมพูจาง ๆ (Lighter shade of pink)
- ตกขาวมีฟอง อาจเกิดจากการติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomonas vaginalis)
- ตกขาวร่วมกับตุ่มบวมแดงรอบอวัยวะเพศ อาจเกิดจากโรคเริมที่อวัยวะเพศ
การวินิจฉัยตกขาว
หากพบว่ามีตกขาวที่ผิดปกติ คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสาเหตุและรับการรักษา โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพ การเจ็บป่วยที่ผ่านมาหรือที่เป็นอยู่ การรักษา การใช้ยา ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ และอาการของตกขาวที่พบ เช่น สีและกลิ่นของตกขาว อาการที่เกิดขึ้นร่วมด้วย และช่วงเวลาที่เริ่มมีตกขาวที่ผิดปกติ (ไม่ควรไปตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน และผู้ป่วยห้ามทำความสะอาดหรือใช้สเปรย์พ่นช่องคลอดก่อนเข้ารับการตรวจ เพราะอาจไปดับกลิ่นที่ช่วยในการวินิจฉัยและอาจเกิดการระคายเคืองตามมาได้)
หากพบสัญญาณความผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อตรวจสอบอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานและหาสัญญาณของการติดเชื้อภายใน, ตรวจตกขาว โดยนำตัวอย่างของตกขาวที่เก็บได้ภายในช่องคลอดออกมาตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ และตรวจวัดค่า pH เพื่อตรวจสอบความเป็นกรดภายในช่องคลอด (ค่า pH 4.5 หรือมากกว่า) เป็นต้น
วิธีการรักษาตกขาว
สำหรับตกขาวปกติ (ตกขาวธรรมดา) ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาแต่อย่างใด เพียงแต่ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามสุขอนามัยก็เพียงพอแล้ว แต่หากเป็นตกขาวที่ผิดปกติ หรือตกขาวที่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือสงสัยว่าอาจมีสาเหตุที่ผิดปกติเกิดขึ้น ควรปรึกษาแพทย์หรือสูตินรีแพทย์เพื่อทำการตรวจภายในช่องคลอดและให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ
ซึ่งการรักษาตกขาวผิดปกตินั้นจะต้องรักษาที่สาเหตุและโรคที่ป่วยร่วมด้วย (ถ้ามี) ทั้งการรักษาด้วยยาเฉพาะทางหรือการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการป่วยและความรุนแรงของโรค แต่โดยทั่วไปตกขาวผิดปกติมักจะเกิดจากการติดเชื้อประเภทแบคทีเรียหรือเชื้อราในช่องคลอด ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการรับประทานยา ใช้ครีม/เจลทาในช่องคลอด หรือใช้ยาเหน็บช่องคลอด ดังนี้
- ตกขาวจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis) เป็นอาการที่สามารถหายไปได้เอง หากผู้ป่วยไม่มีอาการใด ๆ ที่เป็นปัญหาและไม่ได้ตั้งครรภ์ก็อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ส่วนในรายที่มีอาการ ส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ดังนี้
- รับประทานยาเมโทรนิดาโซลครั้งละ 2,000 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว (หรือ 400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5-7 วัน) ส่วนในรายที่แพ้ยาเมโทรนิดาโซลหรือดื้อยา อาจให้รับประทานยาคลินดามัยซิน (Clindamycin)
- ในบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการให้ใช้ยาทาเฉพาะที่แทนยารับประทาน เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) 500 มิลลิกรัม, เจลเมโทรนิดาโซล (Metronidazole gel) 0.75 %, ครีมคลินดามัยซิน (Clindamycin cream) 2 %
- ตกขาวจากเชื้อทริโคโมแนส (Trichomonas vaginalis) เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เช่นเดียวกับการรักษาอาการตกขาวจากเชื้อแบคทีเรีย ดังนี้
- รับประทานยาเมโทรนิดาโซลครั้งละ 2,000 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว (หรือ 500/400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5-7 วัน หรือ 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน)
- ในรายที่แพ้ยาเมโทรนิดาโซล อาจให้ใช้เป็นยาทาโคลไตรมาโซล (Topical clotrimazole) แทนโดยการสอดทางช่องคลอด นาน 6 วัน
- ตกขาวจากเชื้อรา (Candida albicans) การรักษาการติดเชื้อราในช่องคลอด โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะพิจารณาให้ใช้ยาเหน็บช่องคลอดโคลไตรมาโซล (Clotrimazole vaginal tablets) เพื่อยับยั้งทำลายเชื้อราและกระบวนการสร้างเซลล์ของเชื้อรา ซึ่งยานี้จะมีทั้งขนาด 100 และ 500 มิลลิกรัม (หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แต่หากใช้แล้วไม่หายหรืออาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา)
- สำหรับยาเหน็บโคลไตรมาโซลขนาด 100 มิลลิกรัม : ก่อนนอนให้สอดเม็ดยาครั้งละ 1 เม็ด เป็นเวลา 6 คืนติดต่อกัน (หรือสอดครั้งละ 2 เม็ด 3 คืนติดต่อกัน)
- สำหรับยาเหน็บโคลไตรมาโซลขนาด 500 มิลลิกรัม : ก่อนนอนให้สอดเม็ดยา 1 เม็ด เพียงครั้งเดียวก็เพียงพอต่อการรักษา (บางรายอาจต้องสอดยาซ้ำอีก 1 เม็ด หลังจากสอดเม็ดแรก 1 สัปดาห์)
- ในบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาชนิดครีมทาในช่องคลอดร่วมด้วย เช่น ครีมโคลไตรมาโซล (Clotrimazole cream) 1% หรือพิจารณาให้ใช้ยาแบบรับประทาน เช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
- ปัจจุบันมียาเหน็บช่องคลอดโคลไตรมาโซลที่เป็นสูตรผสมกรดแลคติกและน้ำตาลแลคโตสที่ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้กว้าง ทั้งเชื้อรา เชื้อทริโคโมแนส และเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด (กรดแลคติคจะช่วยคงค่าความเป็นกรดตามธรรมชาติของช่องคลอดซึ่งไม่เหมาะกับการเติบโตของเชื้อโรค ส่วนน้ำตาลแลคโตสจะช่วยในการเติบโตของแลคโตแบซิลลัสซึ่งเป็นเชื้อในธรรมชาติที่ปกคลุมช่องคลอดอยู่ จึงช่วยป้องกันการเกาะของเชื้อโรคอื่น ๆ ที่ผนังช่องคลอดได้)
คำเตือน : การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อทริโคโมแนสควรอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะเมื่อคุณกำลังตั้งครรภ์หรือใช้ต้องใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และขนาดยาที่แนะนำให้ใช้ตามวิธีการรักษาด้านบนเป็นเพียงขนาดยาที่ใช้โดยทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น*
การดูแลตนเองเมื่อเป็นตกขาวที่ผิดปกติ
- ใช้ยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องของความอับชื้น
- งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาหาย ถ้าจำเป็นควรให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะรับการรักษา เพราะอาจมีผลกับยาที่รักษาทำให้ไม่สบาย ปวดเมื่อยตัว หน้าแดง หรือใจสั่นได้
- ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง เพราะสาเหตุที่ทำให้ตกขาวผิดปกตินั้นมีได้หลากหลาย ซึ่งการซื้อยามารับประทานเองอาจทำให้ไม่หายเพราะใช้ยาไม่ตรงกับโรค อาจทำให้มีโรคอื่นแทรกซ้อนตามมา และอาจเป็นสาเหตุให้กลายเป็นการติดเชื้อเรื้อรังจากเชื้อดื้อยาได้ (การใช้ยาทุกชนิดควรอยู่ภายใต้คำแนะของแพทย์หรือเภสัชกร)
- อาการตกขาวผิดปกติมักเกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาทั้งผู้ป่วยและคู่นอนไปด้วยพร้อม ๆ กัน นอกจากนั้นอาการตกขาวผิดปกติยังอาจเกิดได้จากโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการไปพบแพทย์ตั้งแต่แรกจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และให้ผลในการรักษาที่ดีกว่าการพบโรคในระยะรุนแรงที่มีอาการมากแล้ว
- ตกขาวผิดปกติที่เกิดจากการติดเชื้อ ถึงแม้จะได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว แต่ถ้ากลับไปติดเชื้ออีกก็จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก ส่วนในรายที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น ผลการรักษามักจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง
- ในรายที่เป็นโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อก็ต้องรักษาหรือควบคุมโรคให้ดี เช่น โรคเบาหวาน
วิธีป้องกันตกขาว
เราสามารถป้องกันการเกิดตกขาวที่ผิดปกติได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงและลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ ดังนี้
- รักษาความสะอาดของช่องคลอดและอวัยวะเพศให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเลือกใช้สบู่อ่อนโยนต่อจุดซ่อนเซ้น
- ล้างช่องคลอดด้วยน้ำและสบู่อ่อน ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดการอักเสบหรือระคายเคือง (หลังจากล้างทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ในการทำความสะอาดอวัยวะเพศควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่เช็ดจากหลังมาหน้าเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากทวารหนักมาที่ช่องคลอด)
- เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคในห้องน้ำ ควรทำความสะอาดห้องน้ำอยู่เสมอ และทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ก่อนการใช้งานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ไม่ปล่อยให้บริเวณช่องคลอดอับชื้นหรือชื้นแฉะ เพราะสภาพเหล่านี้จะทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้น เมื่อรู้สึกร้อนหรือเหนอะหนะบริเวณปากช่องคลอด ควรทำความสะอาดแล้วเช็ดให้แห้ง
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด การใช้ยาดับกลิ่น หรือการใช้น้ำยาอนามัยล้างเฉพาะที่โดยไม่จำเป็น เพียงแต่ทำความสะอาดภายนอกด้วยน้ำสะอาดอย่างเดียวและซับให้แห้งก็เพียงพอแล้ว เพื่อช่วยรักษาความสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด
- สวมใส่กางเกงชั้นในที่สะอาด ทำจากผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่หนา คับ อึดอัด หรือทำให้อับชื้นได้ง่าย (ส่วนในเด็กผู้หญิงที่ใส่กางเกงชั้นในใยสังเคราะห์ บางครั้งอาจไม่รู้จักรักษาความสะอาดและปล่อยให้อบหรืออับชื้น ก็อาจทำให้มีน้ำเมือกจากช่องคลอดออกมาเปื้อนกางเกงในได้ ซึ่งจะไม่มีกลิ่นและไม่คัน ให้รักษาความสะอาดด้วยการใช้น้ำสะอาดชะล้างและเปลี่ยนมาใช้กางเกงในผ้าฝ้ายแทน)
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแผ่นบางติดต่อกันทุกวัน เพราะอาจจะทำให้เกิดความอับชื้นและเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน และเพื่อความปลอดภัยจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ควรให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง
- หากเคยมีอาการตกขาวผิดปกติจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ควรให้คู่นอนเข้ารับการรักษาการติดเชื้อดังกล่าวด้วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำภายหลังจากที่รักษาจนหายดีแล้ว
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยที่มีส่วนผสมของน้ำหอม เพื่อป้องกันอาการระคายเคือง
- ควบคุมและรักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน
- ในผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ควรหาทางลดความอ้วนหรือควบคุมน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสม
- ปฏิบัติตามสุขบัญญัติเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง เช่น รับประทานอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด, ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย, ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด, งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด, หลีกเลี่ยงการสำส่อนทางเพศ, ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ, ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- หากพบว่ามีตกขาวผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา รวมถึงรับคำแนะนำต่าง ๆ จากแพทย์และพยาบาล เพื่อสุขอนามัยที่ดี
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ตกขาวธรรมดา”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 879.
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “ตกขาวปกติ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [11 ก.ค. 2016].
- ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “เชื้อรา…ปัญหาของตกขาวคันในสตรี”. (รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [11 ก.ค. 2016].
- ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “ภาวะตกขาว (Vaginal Discharge)”. (นพ.ชัยเลิศ พงษ์นริศร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medicine.cmu.ac.th. [11 ก.ค. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ตกขาว (Leucorrhea)”. (นพ.ธีรยุทธ เต็มธนะกิจไพศาล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [11 ก.ค. 2016].
- Siamhealth. “ตกขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [11 ก.ค. 2016].
- สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. “การอักเสบและโรคติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : kanchanapisek.or.th/kp6/. [12 ก.ค. 2016].
- ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. “ตกขาวที่เกิดจากเชื้อรา”. (นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com. [12 ก.ค. 2016].
- พบแพทย์. “ตกขาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :pobpad.com. [14 ก.พ. 2021].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)