ดีหมี
ดีหมี ชื่อวิทยาศาสตร์ Acalypha spiciflora Burm.f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cleidion spiciflorum (Burm.f.) Merr.)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าเป็นชนิด Cleidion javanicum Blume[4] โดยจัดอยู่ในวงศ์ยางพารา (EUPHORBIACEAE)[1]
สมุนไพรดีหมี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดินหมี (ลำปาง), คัดไล (ระนอง), กาดาวกระจาย (ประจวบคีรีขันธ์), กาไล กำไล (สุราษฎร์ธานี), มะดีหมี จ๊ามะไฟ (ภาคเหนือ), เซยกะชู้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮองสอน), โต๊ะกาไล เป็นต้น[1],[6],[7]
ลักษณะของต้นดีหมี
- ต้นดีหมี จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ ใบออกดกหนา มีความสูงของต้นประมาณ 10-20 เมตร เปลือกต้นเกลี้ยงและเป็นสีเทาดำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบอากาศค่อนข้างชื้นและมีแสงแดดส่องรำไร สามารถพบได้ในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดงดิบริมน้ำ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400-800 เมตร ในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้[1],[2],[3],[6]
- ใบดีหมี ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปวงรี รูปวงรีแกมใบหอก หรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเป็นหยักฟันเลื่อมแกมซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-22 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเรียบเป็นมันและเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเป็นสีอ่อน ที่ซอกของเส้นใบด้านท้องใบจะมีต่อมกระจัดกระจาย ก้านใบยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกดีหมี ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน โดยจะออกดอกตามซอกใบ ดอกเพศผู้ออกดอกเป็นช่อกระจะเชิงลด ช่อดอกยาวประมาณ 8-21 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนดอกเพศเมียออกดอกเป็นดอกเดี่ยว ๆ ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 2-3 แฉก[1],[6]
- ผลดีหมี ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ลักษณะของผลเป็นพู 2 พู ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด เมล็ดเป็นสีขาว มีลักษณะกลม ผลเมื่อแก่จะแห้งและแตกได้[1],[2],[3],[6]
สรรพคุณของดีหมี
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษามะเร็ง (เปลือกต้น)[2]
- ตำรายาไทยใช้แก่นต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ (แก่น)[1],[3] หรือจะใช้ทั้ง 5 ส่วน (ราก, ต้น, ใบ, ดอก, ผล) นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน ช่วยดับพิษไข้ก็ได้ (ทั้งต้น)[2] ส่วนชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงจะใช้ราก ต้น หรือใบ นำมาต้มกับน้ำดื่มและอาบเป็นยาแก้ไข้ รักษาไข้มาลาเรีย (ต้น, ราก, ใบ)[1]
- แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (แก่น)[3]
- แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยขับเหงื่อ (แก่น)[1],[3] หรือจะใช้ทั้งห้าส่วนนำมาต้มกับน้ำดื่มก็สามารถช่วยขับเหงื่อได้เช่นกัน (ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (แก่น)[1] หรือจะใช้ทั้งห้าส่วนนำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน (ทั้งต้น)[2]
- เปลือกต้นนำไปต้มกับน้ำเป็นยาแก้อาการปวดท้อง (เปลือกต้น)[7]
- เมล็ดใช้รับประทานเป็นยาระบาย (เมล็ด)[7]
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ตับพิการ (เปลือกต้น)[2] บ้างว่าใช้ส่วนของเปลือกต้น ลำต้น กิ่ง และใบ ใช้แก้ตับอักเสบ ตับพิการ ใบไม้ตับ (ต้น, เปลือกต้น, กิ่ง, ใบ)[8]
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เปลือกต้นต้มน้ำดื่ม)[2]
- ใบใช้ต้มกับน้ำอาบแก้ผื่นคัน (ใบ)[5]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มแก้ลมพิษในกระดูก (ราก)[2]
ประโยชน์ของดีหมี
- ใบสด ๆ นำไปลวกกินเป็นเมี่ยงได้[8]
ข้อควรระวัง ! : ใบดีหมีมีพิษ น้ำต้มจากใบอาจทำให้สตรีมีครรภ์แท้งบุตรได้[7]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ดีหมี”. หน้า 72.[1]
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “ดีหมี”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสรและคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [8 มี.ค. 2014].
- คมชัดลึกออนไลน์. “ดีหมี แก่น-ราก-ใบ เป็นยา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net. [8 มี.ค. 2014].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ดีหมี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [8 มี.ค. 2014].
- ศูนย์วิจัยสมุนไพรภาคเหนือ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “สมุนไพรที่ใช้แก้อาการแพ้และระคายเคือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.cmu.ac.th/web2553/index.php. [8 มี.ค. 2014].
- การสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อประเมินสถานภาพและศักยภาพ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). “”ดันหมี“”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: inven.dnp9.com/inven/. [8 มี.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ดีหมี : Cleidion speciflorum Merr.”. อ้างอิงใน: หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [8 มี.ค. 2014].
- งานการแพทย์แผนไทย จังหวัดอุดรธานี. “สมุนไพรนายูง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: sites.google.com/site/ttmudon/. [8 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Black Diamond Images), www.stuartxchange.com, www.biotik.org
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)