ดีคอลเจน (Decolgen) & ทิฟฟี่ (TIFFY) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ดีคอลเจน (Decolgen) & ทิฟฟี่ (TIFFY) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

ดีคอลเจน/ทิฟฟี่

ดีคอลเจน (Decolgen) และทิฟฟี่ (TIFFY) เป็นยาที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการไข้หวัด ไซนัสอักเสบ ไข้ละอองฟาง ช่วยลดอาการคัดจมูกเนื่องจากมีน้ำมูกมาก

ดีคอลเจน (Decolgen) เป็นชื่อทางการค้าของบริษัทหนึ่ง ส่วนทิฟฟี่ (TIFFY) ก็เป็นชื่อทางการค้าของอีกบริษัทหนึ่ง

แต่ยาทั้ง 2 ยี่ห้อนี้มีส่วนประกอบและปริมาณยาเหมือนกันทุกอย่างและสามารถใช้แทนกันได้ โดยจะมีอยู่ด้วยกัน 3 สูตรตำรับ ดังนี้

  1. ดีคอลเจน (Decolgen) / ทิฟฟี่ (TIFFY)* ในยา 1 เม็ดจะประกอบไปด้วยตัวยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) 500 มิลลิกรัม + ยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (Chlorpheniramine maleate) 2 มิลลิกรัม ไม่ถือว่าเป็นยาอันตราย บริษัทยาจึงสามารถโฆษณาได้และมีขายตามร้านขายยาแผนปัจจุบันทั่วไป แต่ไม่สามารถขายในร้านชำหรือร้านสะดวกซื้อได้ เนื่องจากไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านที่ผู้ซื้อสามารถตัดสินใจซื้อด้วยตัวเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วย

    ดีคอลเจน (Decolgen)
    IMAGE SOURCE : t2alex.blogspot.com

    ทิฟฟี่ (TIFFY)
    IMAGE SOURCE : Medthai.com

  2. ดีคอลเจน พริน (Decolgen prin) / ทิฟฟี่ เดย์ (TIFFY DEY)* ในยา 1 เม็ดจะประกอบไปด้วยตัวยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) 500 มิลลิกรัม + ยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (Chlorpheniramine maleate) 2 มิลลิกรัม + ยาลดน้ำมูกฟีนิลเอฟรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Phenylephrine HCl) 10 มิลลิกรัม (ส่วนยาน้ำเชื่อมทิฟฟี่ ไซรัป (TIFFY SYRUP) ใน 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) จะประกอบไปด้วยตัวยาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม + คลอร์เฟนิรามีน 1 มิลลิกรัม + ฟีนิลเอฟรีน 5 มิลลิกรัม) ถือเป็นยาอันตรายและไม่สามารถโฆษณาโดยตรงต่อประชาชนได้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาแผนปัจจุบันเท่านั้น

    ดีคอลเจน พริน (Decolgen prin)
    IMAGE SOURCE : halboor.com, twitter.com (@Pingz_TRnews) ยาดีคอลเจนพริน 1 แผง (4 เม็ด) ราคาประมาณ 6-7 บาท

    ทิฟฟี่ เดย์ (TIFFY DEY)
    IMAGE SOURCE : ggfukuda9.seesaa.net ยาทิฟฟี่ เดย์ 1 แผง (4 เม็ด) ราคาประมาณ 6-7 บาท

    ทิฟฟี่ ไซรัป (TIFFY SYRUP)
    IMAGE SOURCE : tacdungcuathuoc.com

  3. ดีคอลเจน พลัส (Decolgen plus) / ทิฟฟี่ ฟู (TIFFY FU) ในยา 1 เม็ดจะประกอบไปด้วยตัวยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) 500 มิลลิกรัม + ยาแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (Chlorpheniramine maleate) 2 มิลลิกรัม + ยาลดน้ำมูกซูโดอีเฟดรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Pseudoephedrine HCl) 30 มิลลิกรัม ถือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งจะมีใช้ได้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น จึงไม่สามารถหาซื้อยาสูตรตำรับนี้ได้ตามร้านขายยาแผนปัจจุบัน

    ทิฟฟี่ ฟู (TIFFY FU)
    IMAGE SOURCE : nhathuoconline.vn, pantip.com (by พุงป่อง-ท้องหกเดือน )

หมายเหตุ : ยาดีคอลเจน (Decolgen) หรือยาทิฟฟี่ (TIFFY) ที่คนส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคยกันดีจะเป็นสูตรตำรับที่ 2 คือ ดีคอลเจน พริน (Decolgen prin) หรือทิฟฟี่ เดย์ (TIFFY DEY) ที่จะมีส่วนประกอบของยาลดไข้ (พาราเซตามอล) + ยาแก้แพ้ (คลอร์เฟนิรามีน) + ยาลดน้ำมูก (ฟีนิลเอฟรีน)

ตัวอย่างยาและรูปแบบยา

  1. ยาสูตรผสมระหว่างพาราเซตามอล (Paracetamol) + คลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (Chlorpheniramine maleate)
    • ยาเม็ด มีชื่อทางการค้า เช่น แอคคอล (Accol), อะเซตาคอล (Acetacol), ซีโคลด์ (Cecold), เซนโคลด์ (Cencold), โคโลเจน (Cologen), ดีคอลเจน (Decolgen), ดีคอลแท็บ (Decoltab), ดีไพกอน (Depygon), ฟอเรน (Forain), เอ็ม.พี. แท็บเล็ต (M.P. tablets), มัยคอล (Mycol), เม็กซี่-เอ็น (Mexy-n), นูโคลด์ แท็บเล็ต (Noocold tablet), นอสแท็บ (Nostab), นีโอเซป (Neozep), นิวทาเจน (Newtagen), พานามิน (Panamin), แพนโทเจน (Pantogen), ทิฟฟี่ (Tiffy) ฯลฯ
    • ยาแคปซูล มีชื่อทางการค้า เช่น โคฮิสต้า (Cohista), คอลโดแคป แคปซูล (Coldocap capsules), โคเนด แคปซูล (Conaid capsules), โคริ-ซี-แคป (Cori-c-cap), แพนโทเจน (Pantogen), เวสโคแคป (Vescocap) ฯลฯ
    • ยาน้ำเชื่อม มีชื่อทางการค้า เช่น อะเซตาไพริน ซี ไซรัป (Acetapyrin c syrup), คอลโดเซียน ไซรัป (Coldosian syrup), โคเนด ไซรัป (Conaid syrup), ดีคอลเจน ชนิดน้ำ (Decolgen liquid), มัยคอล ไซรัป (Mycol syrup), พานาจิน-เอ ไซรัป (Panagin-a syrup), พาราโคลด์ (Paracold), พาร์โค-ดี ไซรัป (Parco-d syrup), โคลดี้ (Coldy) ฯลฯ
  2. ยาสูตรผสมระหว่างพาราเซตามอล (Paracetamol) + คลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (Chlorpheniramine maleate) + ฟีนิลเอฟรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Phenylephrine HCl)
    • ยาเม็ด มีชื่อทางการค้า เช่น ดีคอลเจน พริน (Decolgen prin), เฟคอล (Fecol), ฮัดดี้ (Huddy), เม็กซี่ (Mexy), โนฟี่ (Nofy), โพพี่ เดย์ (Popy dey), พาโคเจน (Pacogen), ทิฟฟี่ เดย์ (Tiffy dey), ทิฟฟี่ เดย์ไทม์ (Tiffy deytime), วี-โคลด์แท็ค (V-coldtac), เพนนอล แท็บเล็ต (Painol tablets) ฯลฯ
    • ยาแคปซูล มีชื่อทางการค้า เช่น เฟคอล (Fecol), โนราโคลด์ แคปซูล (Noracold capsules) ฯลฯ
    • ยาน้ำเชื่อม มีชื่อทางการค้า เช่น ซี-มอล ไซรัป (C-mol syrup), ซีมอล โคลด์ (Cemol cold), เฟทานิล ไซรัป (Fefanyl syrup), เมดดี้ ไซรัป (Meddy syrup), ไพราฮิสต์ ไซรัป (Pyrahist syrup), ทิฟฟี่ ไซรัป (Tiffy syrup) ฯลฯ
  3. ยาสูตรผสมระหว่างพาราเซตามอล (Paracetamol) + คลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (Chlorpheniramine maleate) + ซูโดอีเฟดรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Pseudoephedrine HCl)
    • ยาเม็ด มีชื่อทางการค้า เช่น เอ-มอล พลัส (A-mol plus), ดีคอลเจน พลัส ชนิดเม็ด (Decolgen plus tablet), ดีคอลเจน-เอสดี ชนิดเม็ด (Decolgen-sd tablet), โนราโคลด์ ชนิดเม็ด (Noracold tablets), นาซิแท็บ (Nasictab), นูทาโคลด์ (Nutacold), โพเร็กซ์ ชนิดเม็ด (Porex tablet), ทิฟฟี่ ฟู (Tiffy fu), วีราโคลด์ (Veracold) ฯลฯ
    • ยาแคปซูล มีชื่อทางการค้า เช่น คูลนอกซ์ (Koolnox), โนราโคลด์ แคปซูล (Noracold capsules), โนราโคลด์-เอส แคปซูล (Noracold-s capsules) ฯลฯ
    • ยาน้ำเชื่อม มีชื่อทางการค้า เช่น ดีคอลเจน ดีอี ชนิดน้ำ (Decolgen de liquid), โนราโคลด์ ไซรัป (Noracold syrup), ทิฟฟี่ คิดดี้ (Tiffy kiddi) ฯลฯ

สรรพคุณของดีคอลเจน/ทิฟฟี่

  • ดีคอลเจน (Decolgen) / ทิฟฟี่ (TIFFY) มีสรรพคุณช่วยบรรเทาหวัดที่มีอาการน้ำมูกไหล น้ำตาไหล ปวดศีรษะ และเป็นไข้
  • ดีคอลเจน พริน (Decolgen prin) / ทิฟฟี่ เดย์ (TIFFY DEY) มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล คันคอ จาม ปวดศีรษะ และเป็นไข้ อันเนื่องมาจากโรคภูมิแพ้ โรคหวัด หรือไข้ละอองฟาง[1],[3]
  • ทิฟฟี่ ไซรัป (TIFFY SYRUP) ใช้สำหรับเด็กเพื่อบรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้หวัดที่มีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว บรรเทาอาการจาม คัดแน่นจมูก และบำบัดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้อากาศ[1]
  • ดีคอลเจน พลัส (Decolgen plus) / ทิฟฟี่ ฟู (TIFFY FU) มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล อาการปวดหรือมีไข้ เนื่องจากโรคหวัดหรือโรคภูมิแพ้ และรักษาอาการคัดจมูกเนื่องจากโรคไซนัสอักเสบ[4]

กลไกการออกฤทธิ์ของยาดีคอลเจน/ทิฟฟี่

  • ตัวยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เป็นยาแก้ปวดลดไข้ มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการไข้ (ยาลดไข้) และบรรเทาอาการปวด (ยาแก้ปวด)
  • ตัวยาคลอร์เฟนิรามีน มาลีเอต (Chlorpheniramine maleate) เป็นยาแก้แพ้ มีสรรพคุณช่วยลดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูกจากโรคหวัด
  • ตัวยาฟีนิลเอฟรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Phenylephrine HCl) เป็นยาลดน้ำมูก มีสรรพคุณช่วยลดปริมาณน้ำมูกที่เป็นเหตุทำให้คัดจมูกและหายใจไม่สะดวก
  • ตัวยาซูโดอีเฟดรีน ไฮโดรคลอไรด์ (Pseudoephedrine HCl) เป็นยาบรรเทาอาการคัดจมูกจากหวัด ไซนัสอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ไข้ละอองฟาง และโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจอื่น ๆ

ด้วยกลไกของยาดังกล่าวจึงทำให้ยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ เกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณที่กล่าวมา ซึ่งหลังจากรับประทานยาเข้าไปแล้วตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในเวลาประมาณ 15-30 นาที และจะใช้เวลาออกฤทธิ์ในร่างกายประมาณ 4-6 ชั่วโมง จึงหมดฤทธิ์ เพราะจะค่อย ๆ ถูกร่างกายกำจัดออกไปทางปัสสาวะ ทางเหงื่อ ทางอุจจาระ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อยาหมดฤทธิ์แล้วอาการของโรคอาจจะกลับมาเป็นอีก ก็ต้องรับประทานยาซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมง

ก่อนใช้ยาดีคอลเจน/ทิฟฟี่

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol), คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine), ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine), ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • การมีโรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่อาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่เดิมรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) ส่วนประกอบที่เป็นยาพาราเซตามอลของยาดีคอลเจนหรือทิฟฟี่อาจทำให้ฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพิ่มมากขึ้นจนเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกง่ายได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณี ๆ ไป
    • การใช้ยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ ร่วมกับยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) อาจทำให้เกิดฤทธิ์ของการกดประสาทส่วนกลางหรือสมองเพิ่มมากขึ้นจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอนมากกว่าเดิม หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
    • การใช้ยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ ร่วมกับยากลุ่ม Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) สามารถทำให้ยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ ออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้นและส่งผลต่อการรักษา รวมถึงเกิดผลข้างเคียงของยาได้มากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • มีหรือเคยมีโรคตับ โรคไต ภาวะติดเหล้า โรคต้อหิน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคถุงลมปอดอักเสบเรื้อรัง ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะต่อมลูกหมากโต มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์หรือกำลังอยู่ในภาวะให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาดีคอลเจน/ทิฟฟี่

  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่มีประวัติการแพ้ส่วนประกอบหรือตัวยาใดในยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่ม Monoamine oxidase inhibitors (MAOIs)
  • สำหรับยาดีคอลเจน พริน (Decolgen prin) / ทิฟฟี่ เดย์ (TIFFY DEY) ที่มีตัวยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) เป็นส่วนประกอบ ห้ามใช้กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคไต หรือโรคของต่อมไทรอยด์ นอกจากแพทย์สั่ง[1] (สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ยาฟีนิลเอฟรีนอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด)
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ผู้ที่กำลังมีอาการหอบหืด โรคต้อหิน (ยานี้อาจทำให้ความดันภายในตาเพิ่มขึ้น) ต่อมลูกหมากโตหรือปัสสาวะขัด นอกจากแพทย์สั่ง[1]
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว
  • ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 5 วัน หรือเกินกว่าขนาดที่กำหนด เพราะจะทำให้เป็นพิษต่อตับได้ (ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้)[1]
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น ยานอนหลับ ยาต้านอาการซึมเศร้าชนิดต่าง ๆ ยาที่มีฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก[1]
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคของต่อมไทรอยด์ ผู้ที่มีภาวะตับหรือไตทำงานผิดปกติ และผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้ โรคริดสีดวงจมูก หรือโรคถุงลมโป่งพอง[1]
  • ควรระมัดระวังการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก) และหญิงให้นมบุตร ซึ่งการใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยห้ามหาซื้อยามารับประทานด้วยตัวเอง[1]
  • ควรระมัดระวังการใช้ยานี้ในเด็กและผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี การใช้ยาจะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น (เด็กและผู้สูงอายุจะไวต่อยานี้มากขึ้น ทำให้ง่วงนอน วิงเวียน ประสาทหลอน ความดันโลหิตต่ำ นอนไม่หลับ ปากแห้ง ปัสสาวะคั่ง และบางรายอาจมีอาการชักได้)[1]
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน วิงเวียน สับสน ปากแห้ง ตาพร่า เสมหะเหนียวข้น ปัสสาวะขัด และเม็ดเลือดผิดปกติได้[1] หลังการรับประทานยาจึงควรหลีกเลี่ยงหรือเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง

วิธีใช้ยาดีคอลเจน/ทิฟฟี่

  1. ดีคอลเจน (Decolgen) / ทิฟฟี่ (TIFFY) เป็นยาที่เหมาะกับอาการของไข้หวัดที่มีอาการแพ้ เช่น ไอ จาม ร่วมด้วย
    • ผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง
    • เด็กอายุ 7-12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง
    • เด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี การใช้ยาในเด็กกลุ่มนี้จะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น เพราะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี
  1. ดีคอลเจน พริน (Decolgen prin) / ทิฟฟี่ เดย์ (TIFFY DEY) เป็นยาที่เหมาะกับอาการไข้หวัดที่มีอาการแพ้ เช่น ไอ จาม และมีน้ำมูกมาก
    • สำหรับยาเม็ด
      • ผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
      • เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง
    • สำหรับยาน้ำเชื่อมทิฟฟี่ ไซรัป (TIFFY SYRUP) ใน 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) จะประกอบไปด้วยตัวยาพาราเซตามอล 120 มิลลิกรัม + คลอร์เฟนิรามีน 1 มิลลิกรัม + ฟีนิลเอฟรีน 5 มิลลิกรัม
      • ผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 2 ช้อนชา ทุก 4-6 ชั่วโมง
      • เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1-2 ช้อนชา ทุก 4-6 ชั่วโมง
      • เด็กอายุ 3-6 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1 ช้อนชา ทุก 4-6 ชั่วโมง
      • เด็กอายุ 1-3 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ ½-1 ช้อนชา ทุก 4-6 ชั่วโมง
  2. ดีคอลเจน พลัส (Decolgen plus) / ทิฟฟี่ ฟู (TIFFY FU) ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ให้ใช้ยานี้ภายใต้การควบคุมของแพทย์

คำแนะนำในการใช้ยาดีคอลเจน/ทิฟฟี่

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้ แต่ถ้ามีอาการไม่สบายท้อง ให้รับประทานยาพร้อมอาหารหรือนม
  • สำหรับยาน้ำเชื่อม ควรใช้ช้อนสำหรับตวงยาโดยเฉพาะในการรับประทานยา ไม่ควรใช้ช้อนชงกาแฟหรือช้อนโต๊ะในครัวเรือนทั่วไป
  • ควรใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • หากกำลังเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำทันตกรรมใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบถ้าคุณกำลังใช้ยาดีคอลเจน พลัส (Decolgen plus) หรือทิฟฟี่ ฟู (TIFFY FU)

การเก็บรักษายาดีคอลเจน/ทิฟฟี่

  • ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
  • ควรเก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้อง โดยไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง หรือบริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น เช่น ในห้องน้ำ
  • สำหรับยาน้ำเชื่อม ควรปิดฝาขวดให้สนิท และเก็บยาภายใต้อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส
  • ให้ทิ้งยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว

เมื่อลืมรับประทานยาดีคอลเจน/ทิฟฟี่

หากลืมรับประทานยาดีคอลเจน / ทิฟฟี่ ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ

ผลข้างเคียงของยาดีคอลเจน/ทิฟฟี่

  1. ดีคอลเจน (Decolgen) / ทิฟฟี่ (TIFFY)
    • ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการใช้ยาสูตรตำรับนี้ (หากเป็นต่อเนื่องหรือรบกวนชีวิตประจำวัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชทราบ) คือ ตาแห้ง จมูกแห้ง ปากแห้ง เห็นภาพซ้อน ง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ หลงลืม มีเสียงดังในหู คลื่นไส้เล็กน้อย ท้องผูก ปวดท้อง ปัสสาวะลำบาก
    • ผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นและควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที คือ มีผื่น หายใจไม่สะดวก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอบวม ประสาทหลอน ความคิดสับสน ง่วงซึมมาก หรือรู้สึกตื่นเต้น กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระเป็นสีเทา ปัสสาวะมีสีเข้ม มีภาวะดีซ่าน ผิวหนังพุพอง มีเลือดออก มีไข้ หนาวสั่น อ่อนแรง
  2. ดีคอลเจน พริน (Decolgen prin) / ทิฟฟี่ เดย์ (TIFFY DEY)
    • ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการใช้ยาสูตรตำรับนี้ (หากเป็นต่อเนื่องหรือรบกวนชีวิตประจำวัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ) คือ ตาแห้ง จมูกแห้ง ปากแห้ง เห็นภาพซ้อน ง่วงซึม ปัสสาวะลำบาก กระวนกระวายผิดปกติในเด็ก
    • ผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นและควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที คือ หายใจไม่สะดวก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และคอบวม คลื่นไส้ ปวดท้องหรือไม่สบายท้อง ตัวเหลืองตาเหลือง อ่อนแรง หน้ามืดเป็นลม กระหายน้ำ เลือดออกหรือมีแผลพุพอง
  3. ดีคอลเจน พลัส (Decolgen plus) / ทิฟฟี่ ฟู (TIFFY FU)
    • ผลข้างเคียงทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการใช้ยาสูตรตำรับนี้ (หากเป็นต่อเนื่องหรือรบกวนชีวิตประจำวัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ) คือ ปากแห้ง เห็นภาพซ้อน ง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ หลงลืม มีเสียงดังในหู ตื่นเต้นหรือกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องผูก ปวดท้อง มีผื่นแดงคัน ผิวหนังร้อนแดง
    • ผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นและควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที คือ ประสาทหลอน ความคิดสับสน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะอย่างรุนแรง ตื่นเต้น กระวนกระวาย ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ชา เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ ปวดท้อง ปัสสาวะมีปริมาณน้อยลง ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีอ่อน ตาเหลืองตัวเหลือง ผิวหนังพุพองหรือมีเลือดออก มีไข้ หนาวสั่น อ่อนแรง ปวดเมื่อยตามร่างกาย

ดีคอลเจนกับทิฟฟี่ยี่ห้อไหนดีกว่ากัน ?

ถ้าพูดตามหลักการแล้วยาที่มีส่วนผสมเหมือนกันและมีขนาดยาในปริมาณเท่ากันจะให้ผลการรักษาพอ ๆ กัน แม้จะเป็นคนละยี่ห้อกันก็ตาม เพราะผลิตโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ก็มีบางครั้งที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์หรือเภสัชกรแล้วบอกว่า “เคยกินยาทั้งสองชนิดแต่รู้สึกว่ายานี้ง่วงนอนมากกว่า ยานี้แรงกว่า ฯลฯ” ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็อาจเป็นเพราะกระบวนการผลิตยาของแต่ละบริษัทที่อาจส่งผลต่อปริมาณของตัวยาได้ แต่ขออธิบายคร่าว ๆ คือ

โดยปกติแล้วเวลาผลิตยา เขาจะผสมตัวยาครั้งละหลาย ๆ กิโลกรัมรวมกัน แล้วมาตอกเป็นเม็ดยาได้ทีละพัน ๆ เม็ด จากนั้นจะมีการชั่งน้ำหนักเม็ดยาเพื่อหาค่าเฉลี่ยต่อเม็ดให้ได้น้ำหนักตามที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจทำให้ปริมาณยาเกิดการคลาดเคลื่อนได้ แต่มาตรฐานการผลิตยากำหนดไว้ว่า ความคลาดเคลื่อนจะต้องไม่เกินบวกลบ 10% จึงจะถือว่าได้มาตรฐานตามที่กำหนด

สมมติว่า บริษัทยา A มีความคลาดเคลื่อนของยา ปริมาณยาไม่เกิน 5% ยาคลอร์เฟนิรามีนจะมีปริมาณอยู่ที่เม็ดละ 1.9-2.1 มิลลิกรัม ส่วนบริษัทยา B มีความคลาดเคลื่อนของปริมาณยาไม่เกิน 10% ยาคลอร์เฟนิรามีนจะมีปริมาณอยู่ที่เม็ดละ 1.8-2.2 มิลลิกรัม ซึ่งเมื่อดูจากปริมาณยาแล้วจะแตกต่างกันเล็กน้อยเป็นจุดทศนิยมเท่านั้น จึงส่งผลให้ฤทธิ์การรักษาและผลข้างเคียงแตกต่างกันได้บ้างเล็กน้อย และโดยส่วนใหญ่โรงงานผลิตยาในประเทศไทยจะได้มาตรฐานการผลิต GMP ทุกโรงงานอยู่แล้ว ผู้บริโภคจึงสามารถเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ยาที่ผลิตในประเทศได้ว่ามีมาตรฐานแน่นอน

สรุป ยี่ห้อไหนก็เหมือนกันครับ ถ้าชอบตัวไหนก็เลือกตัวนั้นครับ

ดีคอลเจนกับทิฟฟี่
IMAGE SOURCE : twitter.com (@LeoAke)

เอกสารอ้างอิง
  1. เอกสารกำกับยาดีคอลเจน พริน ชนิดเม็ด (Decolgen prin Tablets), ทิฟฟี่ เดย์ ชนิดเม็ด (TIFFY DEY), ทิฟฟี่ ไซรัป (TIFFY SYRUP)
  2. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “ยาผสม CHLORPHENIRAMINE MALEATE, PARACETAMOL”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [17 พ.ย. 2016].
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “ยาผสม CHLORPHENIRAMINE MALEATE, PARACETAMOL, PHENYLEPHRINE HYDROCHLORIDE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [18 พ.ย. 2016].
  4. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “ยาผสม CHLORPHENIRAMINE MALEATE, PARACETAMOL, PSEUDOEPHEDRINE HYDROCHLORIDE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [18 พ.ย. 2016].
  5. หาหมอดอทคอม.  “ดีคอลเจน (Decolgen)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [19 พ.ย. 2016]

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด