ดาวเรือง
ดาวเรือง ชื่อสามัญ African marigold, American marigold, Aztec marigold, Big marigold[1],[5]
ดาวเรือง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[5]
สมุรไพรดาวเรือง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดาวเรืองใหญ่ (ทั่วไป), คำปู้จู้หลวง (ภาคเหนือ), พอทู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), บ่วงซิ่วเก็ก (จีนแต้จิ๋ว), ว่านโซ่วจวี๋ (จีนกลาง), บ่วงลิ่วเก็ก เฉาหู่ย้ง, กิมเก็ก (จีน), ดาวเรืองอเมริกัน เป็นต้น[1],[4],[5],[11]
ลักษณะของดาวเรือง
- ต้นดาวเรือง เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก[3] โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้ราว 1 ปี ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมากที่โคนต้น ลำต้นเป็นสีเขียวและเป็นร่อง ทั้งต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงทำให้แมลงไม่ค่อยมารบกวน[1],[4],[8] โดยจัดเป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก (แต่อาจจะใช้การปักชำได้ แต่ต้นที่ได้จะมีขนาดเล็กกว่า) เจริญเติบโตได้เร็ว ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดแบบเต็มวัน[3],[5] โดยแหล่งเพาะปลูกดาวเรืองที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดลำปาง พะเยา ราชบุรี นนทบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร อุดรธานี และกรุงเทพฯ เป็นต้น[10] โดยดาวเรืองที่พบเห็นและปลูกกันมากในปัจจุบันจะมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ดาวเรืองอเมริกัน (Tagetes erecta), ดาวเรืองฝรั่งเศส (Tagetes patula), ดาวเรืองนักเก็ต (Triploid Marigold), ดาวเรืองซิกเน็ต (Tagetes tenuifolia หรือ Tagetes signata pumila) และดาวเรืองใบ (Tagetes filifolia)[8]
- ใบดาวเรือง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบคี่ ออกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 11-17 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร เนื้อใบนิ่ม[1],[4]
- ดอกดาวเรือง ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองสดหรือสีเหลืองปนส้ม กลีบดอกมีขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเป็นฟันเลื่อย มีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน[4] โดยดอกจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ดอกวงนอกมีลักษณะคล้ายลิ้นหรือเป็นรูปรางน้ำซ้อนกันแน่น บานแผ่ออกปลายม้วนลง มีจำนวนมาก เป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศ โคนกลีบดอกเป็นหลอดเล็ก ส่วนดอกวงในเป็นหลอดเล็กอยู่ตรงกลางช่อดอก มีจำนวนมากและเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวเชื่อมติดกันหุ้มโคนช่อดอก ก้านชูดอกยาว[1],[2],[5]
- ผลดาวเรือง ผลเป็นผลแห้งสีดำไม่แตก ดอกจะแห้งติดกับผล[1] โคนกว้างเรียวสอบไปยังปลายซึ่งปลายผลนั้นจะมน[3]
สรรพคุณของดาวเรือง
- ดอกและรากมีรสขมเผ็ดเล็กน้อย มีฤทธิ์เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ (ดอก, ราก)[4]
- ดอกใช้เป็นยาฟอกเลือด (ดอก)[1],[3]ในอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากช่อดอกเป็นยาฟอกเลือด (ดอก)[11]
- ใช้ใบแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เด็กเป็นตานขโมย (ใบ)[6]
- ช่วยแก้อาการเวียนศีรษะ ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[5],[6]
- ดอกช่วยบำรุงสายและถนอมสายตาได้ดี ในตำรายาจีนจะนำดอกมาปรุงกับตับไก่ใช้กินเป็นยาบำรุงสายตาได้ดี (ดอก)[3]
- ช่วยแก้ตาเจ็บ ตาบวม ตาแดง ปวดตา ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[1],[4],[5],[6],[11]
- ดอกใช้รักษาคางทูม ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[5],[6] ส่วนตำรายาจีนจะใช้ดอกแห้ง ดอกสายน้ำผึ้ง เต่งเล้า อย่างละเท่ากัน นำมาบดรวมกันเป็นผง ผสมกับน้ำส้มสายชูคนให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็น (ดอก)[4]
- ดอกใช้เป็นยาแก้ไข้สูงในเด็กที่มีอาการชัก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
- ช่วยแก้อาการร้อนใน (ดอก)[13]
- ช่วยแก้อาการไอหวัด ไอกรน ไอเรื้อรัง ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 10-15 ดอก นำมาต้มกับน้ำผสมกับน้ำตาลรับประทาน (ดอก)[1],[3],[4],[5],[6],[11]
- ช่วยขับและละลายเสมหะ ด้วยการใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[5]
- น้ำคั้นจากใบใช้แก้อาการหูเจ็บ ปวดหู (ใบ)[1],[3],[5]
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้ดอกแห้ง 15 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)[4],[6]
- ช่วยรักษาปากเปื่อย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
- ช่วยแก้คอและปากอักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[4]
- ดอกใช้เป็นยาแก้หลอดลมอักเสบหรือระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ โดยใช้ดอกสดประมาณ 10-15 ดอก นำมาต้มกับน้ำผสมกับน้ำตาลรับประทาน ส่วนอีกวิธีให้ใช้ดอกสด 30 ดอก ผสมกับจี๋อ้วง (Astertataricus L.F.) สด 7 กรัม, จุยเฉี่ยวเอื้อง (Inula Helianthus-aquatilis C.Y. Wuex Ling) สด 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[3],[4],[6],[11]
- ช่วยรักษาเต้านมอักเสบ เต้านมเป็นฝี โดยใช้ดอกแห้ง ดอกสายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb), เต่งเล้า (paris petiolata Bak. ex. Forb.) อย่างละเท่ากัน นำมาบดรวมกันเป็นผงผสมกับน้ำส้มสายชู คนให้เข้ากัน แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็น (ดอก)[1],[3],[4],[6],[11]
- ดอกและทั้งต้นเป็นยาขับลม ทำให้น้ำดีในลำไส้ทำงานได้ดี (ดอก, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4],[15] ส่วนตำรับยาเภสัชของเม็กซิโกจะใช้ช่อดอกและใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม (ดอก, ใบ)[11]
- ช่วยแก้อาการจุกเสียด (ต้น)[14]
- รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)[11]
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง (ทั้งต้น)[1],[2]
- ต้นนำมาใช้ทำเป็นยารักษาโรคไส้ตันอักเสบหรือมีอาการปวดท้องขนาดหนักคล้ายกับไส้ติ่ง (ต้น)[3]
- ใบและช่อดอกนำมาชงกับน้ำ ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ดอก, ใบ)[11]
- ตำรับยาเภสัชของเม็กซิโกเคยมีการใช้ดอกและใบดาวเรืองนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ดอก, ใบ)[11]
- ดอกเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ดอก)[1],[5] โดยในอินเดียจะใช้น้ำคั้นจากช่อดอกดาวเรืองเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (ดอก)[11]
- ดอกใช้เป็นยากล่อมตับ ดับพิษร้อนในตับ ด้วยการใช้ดอก 3-10 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)[1],[4],[6]
- รากใช้เป็นยาแก้พิษ แก้อาการบวมอักเสบ (ราก)[4]
- ดอกมีสรรพคุณเรียกเนื้อ ทำให้แผลหายเร็ว ด้วยการใช้ดอกนำมาต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นแผล (ดอก)[1]
- ใบมีรสชุ่มเย็นและมีกลิ่นฉุน น้ำคั้นจากใบสามารถนำมาใช้เป็นยาทารักษาแผลเน่าเปื่อย หรือนำมาตำใช้เป็นยาพอกก็ได้ (ใบ)[1],[3],[4],[5] บ้างก็ใช้น้ำคั้นจากใบนำมาผสมกับน้ำมันมะพร้าว เคี่ยวจนส่วนน้ำระเหยหมดใช้เป็นยาทารักษาแผลเน่าเปื่อยและฝีต่าง ๆ (ใบ)[11]
- น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาทาแก้ฝีต่าง ๆ ฝีฝักบัว ฝีพุพอง หรือนำใบมาตำพอก หรือต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น อีกทั้งยังช่วยรักษาแผลฝี ตุ่มมีหนอง อาการบวมอักเสบโดยไม่รู้สาเหตุได้อีกด้วย (ใบ)[1],[3],[5],[6]
- ต้นใช้เป็นยารักษาแก้ฝีลม (ต้น)[3]
- ในบราซิลจะใช้ช่อดอกนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดตามข้อ (ดอก)[11]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดาวเรือง
- ดอกหรือช่อดอกดาวเรืองมีสาร Flavonoid glycosides, Tagetiin 0.1% และมีสารเรืองแสง Terthienyl 15-21 มิลลิกรัมต่อ กิโลกรัม ของดอกสด Helenien 74%, B-Carotene Flavoxanthin โดยสาร Helenien มีผู้กล่าวว่าสามารถช่วยทำให้เนื้อเยื่อตาดีขึ้นได้[11]
- ทั้งต้นพบน้ำมันระเหย เช่น Carotent, d-limonene, Flavoxanthin, Helenienm Nonanal, Ocimene, Tagetiin, Tagetone d-Terehienyl เป็นต้น[4]
- พบว่าในดอกมีสารฆ่าแมลงที่ชื่อว่า Pyrethrin และน้ำมันหอมระเหย ซึ่งแสดงฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อในราในหลอดทดลองด้วย[2]
- รากของต้นดาวเรืองมีสารชนิดหนึ่งชื่อว่า แอลฟ่า เทอร์เธียนิล (α-terthienyl) ซึ่งเป็นสารที่สามารถควบคุมปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้เป็นอย่างดี[8]
- ในใบดาวเรืองมีสารคาเอมพ์เฟอริตริน (Kaempferitrin) ซึ่งมีฤทธิ์แก้อาการอักเสบ ให้หนูตะเภากินในขนาด 50 มิลลิกรัมต่อ กิโลกรัมของน้ำหนักตัว พบว่าจะทำให้หลอดเลือดฝอยตีบตัน ทำให้เลือดหยุด เนื้อหนังเจริญดีขึ้น และยังมีฤทธิ์ที่แรงกว่ารูติน (Rutin) อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีวิตามินพี (Vitamin P) ค่อนข้างสูง โดยสารนี้จะช่วยลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็กที่แยกจากตัวของกระต่ายได้ ทำให้จังหวะการบีบตัวลดลง[11]
- เคยมีการใช้ดอกเป็นยาฆ่าเชื้อโรคและยาสงบประสาท โดยมีผลเช่นเดียวกับต้น Tagetes minuta L. หรือ Tagetes glandif lora ที่มีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์ในการสงบประสาท ช่วยลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือดและหลอดลม และช่วยแก้อาการอักเสบ[11]
- ดาวเรืองมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย แผลเปื่อยเรื้อรังที่เป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อที่ผิวหนัง ซึ่งในผู้ป่วยเอดส์จะพบเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุและพบได้บ่อยคือ เชื้อ Staphylococcus aureus และได้มีการทดสอบสารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของต้นดาวเรือง เพื่อใช้ต้านแบคทีเรียชนิดนี้อยู่หลายการทดลอง เช่น มีการทดสอบสารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดิน ที่ความเข้มข้น 5 มก./มล. กับ Staphylococcus aureus ในจานเพาะเชื้อ พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว แต่เมื่อได้ทำการทดสอบสารสกัดเอทานอล (95%) จากดอก ใบ และลำต้นดาวเรือง พบว่าสารสกัดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว และได้ทดลองใช้สารสกัดดังกล่าวจากดอกแห้งดาวเรือง ความเข้มข้น 100 มก./แผ่น ก็ให้ผลการทดสอบเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีการทดสอบสารสกัดเอทานอลจากดอกดาวเรืองกับเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกอีกหลายชนิด พบว่า สารสกัดดังกล่าวไม่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus, จากการทดสอบน้ำมันหอมระเหย (ไม่เจือจางและไม่ระบุส่วนที่ใช้) ในจานเพาะเชื้อ ก็พบว่าน้ำมันหอมระเหยไม่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus และถ้าใช้น้ำมันหอมจากใบดาวเรือง (ไม่ทราบความเข้มข้น) ก็พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน, เมื่อทดสอบน้ำสกัดจากดอก ใบ และลำต้นของดาวเรืองกับเชื้อ Staphylococcus aureus ก็พบว่าไม่มีฤทธิ์ และยังทดสอบด้วยสารสกัดเมทานอลจากดอกแห้งที่ความเข้มข้น 20 มก./แผ่น หรือสารสกัดเมทานอลจากดอกสด ความเข้มข้น 1.5 มก./มล. หรือสารสกัดเมทานอลจากใบสดความเข้มข้น 15 มก./มล. ก็พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน แต่เมื่อใช้สารสกัดเมทานอลจากรากสดดาวเรือง ความเข้มข้น 0.8 มก./มล. กลับให้ผลการทดสอบที่ไม่แน่นอน นอกจากนี้ยังได้มีการทดสอบสารสกัดเมทานอลจากพืชอีก 24 ชนิดในการต้านเชื้อแบคทีเรีย และได้พบว่า สารสกัดจากดอกดาวเรืองมีฤทธิ์ต้าน Staphylococcus aureus จริง และจากการทดสอบน้ำสกัดและสารสกัดจากเอทานอล (95%) พบว่า น้ำสกัดจากใบและสารสกัดเอทานอล (95%) จากดอกดาวเรือง ความเข้มข้น 1:1 มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus แต่ผลการทดสอบสารสกัดทิงเจอร์จากดอกแห้งดาวเรือง ความเข้มข้น 30 มคก./แผ่น พบว่าไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus[12]
- จากการทดสอบความเป็นพิษของดาวเรือง เมื่อฉีดสารสกัดเมทานอลจากดอกหรือรากสดดาวเรือง เข้าทางช่องท้องหนูถีบจักร พบว่า LD50 มากกว่า 2 ก./กก. และเมื่อใช้สารสกัดเอทานอล (50%) จากทั้งต้นของดาวเรืองแทน พบว่า LD50 มากกว่า 1 ก./กก.[12]
- จากการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ของดาวเรือง ได้มีการทดลองใช้ผงจากใบและดอกดาวเรือง โดยใช้ภายนอกในการรักษาหูดที่ฝ่าเท้าของผู้ใหญ่จำนวน 31 ราย โดยทำการทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบกับยาหลอก จากผลการศึกษาพบว่าส่วนของพืชดังกล่าวมีพิษต่อเซลล์ และเมื่อได้ทำการทดสอบน้ำมันหอมระเหยจากใบสดดาวเรืองกับเอมบริโอของไก่ (ไม่ทราบปริมาณความเข้มข้น) พบว่ามีพิษต่อเซลล์ของสัตว์ทดลอง และจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น และไม่พบฤทธิ์ต้านการแพ้หรือลดการอักเสบ ทั้งนี้ก่อนมีการส่งเสริมให้ใช้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อที่จะได้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแผลได้[12]
ประโยชน์ของดาวเรือง
- ดอกสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารรับประทานได้ เช่น การนำดอกตูมมาลวกจิ้มกับน้ำพริก ใช้แกล้มกับลาบ หรือจะใช้ดอกบานนำไปปรุงแบบยำใส่เนื้อ ทำน้ำยำแบบรสหวานคล้ายกับน้ำจิ้มไก่หรือน้ำจิ้มทอดมัน เป็นต้น ส่วนทางภาคใต้นั้นจะนิยมนำมาใช้เป็นผักผสมในข้าวยำ[13],[15]
- ดอกดาวเรืองมีสารเบตาแคโรทีนจากธรรมชาติ ซึ่งคุณสมบัติของเบตาแคโรทีนนี้จะทำหน้าที่โปรวิตามินเอ เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ นอกจากนี้ยังเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในตับและปอดของร่างกายอีกด้วย[8]
- ใช้น้ำสกัดจากดอกดาวเรือง สามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันและกำจัดไส้เดือนฝอยในดินได้ โดยขนาดที่ใช้คือกลีบดอกสด 3 กรัมปั่นในน้ำ 1 ลิตร ใช้เป็นยาฉีดพ่น[2]
- ดอกสามารถนำมาใช้ในงานพิธีต่าง ๆ ใช้ร้อยเป็นพวงมาลัยเพื่อบูชาพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ หรือนำมาใช้เป็นดอกไม้ปักแจกันก็ได้เช่นกัน[7]
- ดอกใช้สกัดทำเป็นสีย้อมผ้า โดยจะให้สีเหลืองทอง ซึ่งดอกดาวเรืองแห้ง 1.2 กิโลกรัม สามารถนำมาย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยใช้วิธีการต้มเพื่อสกัดน้ำสีนาน 1 ชั่วโมง แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ ใช้ย้อมด้วยกรรมวิธีการย้อมร้อน แล้วนำเส้นไหมมาแช่ในสารละลาย 1% สารส้ม ก็จะได้เส้นไหมสีเหลืองทอง และดอกดาวเรืองที่ได้จากการนึ่งและอบจะให้น้ำสีที่เข้มข้นกว่าดอกสด 1 เท่า และมากกว่าดอกตากแห้ง 5 เท่า เมื่อใช้ในอัตราส่วนเท่ากัน[7]
- ต้นและรากของดาวเรืองมีสารที่ช่วยป้องกันและกำจัดไส้เดือนฝอยในดินได้ โดยใช้วิธีการไถกลบทั้งต้นและรากลงในแปลงปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่มีปัญหาไส้เดือนฝอยในดิน เช่น แปลงยาสูบ มะเขือเทศ เยอบีร่า และสตรอว์เบอร์รี เป็นต้น[8]
- ต้นดาวเรืองสามารถสะสมสารหนูได้มากถึง 42% จึงมีประโยชน์ในด้านการนำมาฟื้นฟูดินที่มีการปนเปื้อนสารหนูได้ดี[9]
- ปัจจุบันได้มีการปลูกดาวเรืองเพื่อนำมาผลิตเป็นดอกดาวเรืองแห้ง เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเสริมของไก่ไข่กันอย่างกว้างขวาง เพราะมีผลงานวิจัยที่ระบุว่าอาหารไก่ที่ผสมดอกดาวเรืองแห้งจะช่วยเพิ่มความเข้มสีของไข่แดงได้[8]
- เนื่องจากดอกดาวเรืองมีความสวยงาม จึงนิยมปลูกเพื่อประดับเป็นจุดเด่นตามสวนหรือใช้ปลูกเป็นกลุ่ม ๆ ตามริมถนนหรือทางเดิน[5]
- นอกจากจะใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นเกราะป้องกันแมลงศัตรูพืชให้แก่พืชอื่น ๆ ได้อีกด้วย เนื่องจากดาวเรืองมีสารที่มีกลิ่นเหม็นฉุนที่แมลงไม่ชอบ[10]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ดาวเรืองใหญ่ (Dao Rueang Yai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 113.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ดาวเรือง African marigold”. หน้า 197.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ดาวเรืองใหญ่”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 288-289.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ดาวเรือง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 222.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ดาวเรือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [10 มี.ค. 2014].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ดาวเรือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [10 มี.ค. 2014].
- พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ, กรมหม่อนไหม. “ดาวเรือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th/webtreecolor/. [10 มี.ค. 2014].
- เอกสารเผยแพร่ของ ศ.สมเพียร เกษมทรัพย์ ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, โดยศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. เรื่อง “ดาวเรือง”.
- Chintakovid, W., Visoottiviseth, P., Khokiattiwong, S., and Lauengsuchenkul, S. (2008). Potential of the hybrid marigolds for arsenic phytoremediation and income generation of remediators in Ron Phibon district, Thailand. Chemosphere, 70, 1522 – 1537.
- ห้องสมุดความรู้การเกษตร, กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. “”ดาวเรือง“”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th/library/. [10 มี.ค. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 13 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “ดาวเรืองและเทียน”. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [10 มี.ค. 2014].
- สมุนไพร, สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์. “ดาวเรือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: aidsstithai.org/herbs/. [10 มี.ค. 2014].
- เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช. “ดาวเรือง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tungsong.com. [10 มี.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “Tagetes erecta L.”. อ้างอิงใน: หนังสือสารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1 สวนสิรีรุกขชาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [10 มี.ค. 2014].
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). “สรรพคุณสมุนไพร (ไทย) สีสันบอกได้”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: thaihealth.or.th. [10 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by douneika, Photo Plus 1 (Kamran Ahmed), dreamysoul, Nina Pope, Mauricio Mercadante, KumaYami)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)