5 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นดาดตะกั่วเถา ! (คำแดง)

ดาดตะกั่วเถา

ดาดตะกั่วเถา ชื่อวิทยาศาสตร์ Cissus javana DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cissus discolor Blume) จัดอยู่ในวงศ์องุ่น (VITACEAE)[1]

สมุนไพรดาดตะกั่วเถา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เอ็นเขา (สุราษฎร์ธานี), คำแดง (ภาคเหนือ), หลังแดง (ภาคใต้), สะออบลาย สะมึกริ๊ด (ลั้วะ) เป็นต้น[1],[2]

ลักษณะของดาดตะกั่วเถา

  • ต้นดาดตะกั่วเถา จัดเป็นพรรณไม้พุ่มเลื้อยหรือไม้เถาเลื้อยพาดพัน มีความยาวประมาณ 2-10 เมตร ลำต้นและกิ่งมีลักษณะเป็นสันตามยาว 5-6 สัน เกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม มีมือเกาะเป็นสองง่าม บริเวณปลายกิ่งเป็นสีแดง[1],[3]

ต้นดาดตะกั่วเถา

  • ใบดาดตะกั่วเถา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบมน โคนใบตัด ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม มักมีแถบสีเขียวแกมเทาเป็นแถวคู่ตามยาว ส่วนด้านล่างท้องใบเป็นสีแดงเข้ม และมักมีขนสีขาวบริเวณเส้นใบ มีก้านใบเป็นสีแดง[1],[3]

ใบดาดตะกั่วเถา

  • ดอกดาดตะกั่วเถา ออกดอกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่ม โดยจะออกตรงซอกใบหรือปลายยอด ก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.6-4 เซนติเมตร มีขน ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเป็นพูตื้น ๆ กลีบดอกเป็นสีเขียว ปลายกลีบเป็นสีแดง รูปรี ยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้มีลักษณะรูปไข่แกมรูปขอบขนาน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ[1],[3]

ดอกดาดตะกั่วเถา

  • ผลดาดตะกั่วเถา ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อหนึ่งเมล็ด ขนาดประมาณ 5 มิลลิเมตร ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมสีแดงเข้ม[1],[3]

ผลดาดตะกั่วเถา

สรรพคุณของดาดตะกั่วเถา

  • ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบดาดตะกั่วเถาสด ๆ นำมาขยี้ทาแก้กลากเกลื้อน (ใบ)[1]
  • ใบนำไปอังกับไฟแล้วนำมาขยี้ทาผิวหนังรักษาแผลตุ่มคัน (ใบ)[2]
  • ทั้งต้นนำมาทุบแล้วใช้ประคบบริเวณที่ปวดกระดูกร่วมกับยากริ๊ด (ลั้วะ) (ทั้งต้น)[2]

ประโยชน์ของดาดตะกั่วเถา

  • ชาวลั้วะจะใช้เครือดาดตะกั่วเถา นำมามัดคล้องคอวัวควายที่ถูกตัวทักแถ้เข้าไปในจมูก เชื่อว่าจะทำให้ตัวทักแถ้หลุดออกมา โดยใช้คาถาร่วมด้วย[2]
  • ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ดาดตะกั่วเถา”.  หน้า 68.
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ดาดตะกั่วเถา, คำแดง”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [24 ธ.ค. 2014].
  3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ดาดตะกั่วเถา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [24 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Anne Elliott, Terrarium Bellus, Ahmad Fuad Morad, Plant.Hunter), biodiversity.forest.go.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด