ดองดึง
ดองดึง ชื่อสามัญ Climbing lily, Turk’s cap, Superb lily, Flame lily, Gloriosa lily
ดองดึง ชื่อวิทยาศาสตร์ Gloriosa superba L. จัดอยู่ในวงศ์ดองดึง (COLCHICACEAE)
สมุนไพรดองดึง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เช่น ก้ามปู (ชัยนาท), หมอยหีย่า (อุดรธานี), พันมหา (นครราชสีมา), คมขวาน หัวขวาน บ้องขวาน (ชลบุรี), ดาวดึงส์ ว่านก้ามปู (ภาคกลาง), มะขาโก้ง (ภาคเหนือ), ดาวดึง หัวขวาน หัวฟาน พันมหา (ภาคอีสาน) เป็นต้น โดยมีการสันนิษฐานว่าชื่อของดองดึงมาจากภาษาเขมร ซึ่งชาวเขมรจะเรียกว่าต้น “ฎงฎึง” และเราก็ได้เรียกตามกันมานั่นเอง
ดองดึงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาเขตร้อน และมีอยู่ทั่วไปในแถบเอเชียเขตร้อน รวมไปถึงบ้านเราด้วย ซึ่งพืชชนิดนี้จะขึ้นตามที่โล่ง ชายป่า และดินปนทราย หรือดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยปกติแล้วจะนิยมปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ประดับ แต่ก็มีการนำมาทำเป็นยาสมุนไพรเช่นกัน โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรก็ได้แก่ ส่วนหัว แป้งที่ได้จากหัว เมล็ด และราก
ลักษณะของต้นดองดึง จัดเป็นไม้เถาล้มลุกมีความยาวได้ถึง 5 เมตร มีอายุหลายปี มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดินเป็นทรงกระบอกโค้ง มีใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับหรือเรียงเป็นวงรอบข้อ 1-3 ใบ ใบคล้ายรูปหอกยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลมงอเป็นมือเกาะไม่มีก้าน ส่วนลักษณะของผลดองดึงจะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แตกตามรอยประสาน มีเมล็ดกลม ๆ สีแดงส้มจำนวนมาก
สรรพคุณของดองดึง
- ดองดึงเป็นสมุนไพรที่สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้
- ช่วยลดเสมหะ แก้เสมหะ (ราก, หัว)
- ใช้รับประทานแก้ลมพรรดึก (ราก, หัว)
- ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ด้วยการใช้หัวดองดึงนำมาต้มแล้วรับประทานแก้อาหาร (ราก, หัว)
- ช่วยขับลมในกระเพาะ ด้วยการใช้หัวแห้งนำมาปรุงเป็นยารับประทาน (ราก, หัวแห้ง)
- ช่วยรักษากามโรค ด้วยการใช้หัวแห้งนำมาปรุงเป็นยารับประทาน (หัวแห้ง)
- ช่วยแก้โรคหนองใน (แป้งที่ได้จากหัวหรือราก)
- ช่วยรักษาบาดแผล (ราก, หัว)
- ใช้ทาแก้โรคผิวหนัง (ราก, หัว)
- ช่วยรักษาโรคเรื้อนด้วยการใช้หัวแห้งนำมาปรุงเป็นยารับประทาน (ราก, หัวแห้ง)
- ช่วยรักษาโรคคุดทะราดหรือโรคติดต่อเรื้อรังที่เป็นแผลตามผิวหนัง (ราก,หัว)
- หัวและรากนำมาฝนใช้ทาแก้พิษงู พิษแมงป่อง ตะขาบกัด (ราก,หัว)
- หัวดองดึงเมื่อนำมาตำแล้วใช้ทาจะมีสรรพคุณแก้อาการปวดข้อ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้อีกด้วย (หัว)
- ช่วยแก้อาการหัวเข่าปวดบวมได้เป็นอย่างดี (ราก, หัว)
- ช่วยรักษาโรคลมจับโปงหรือโรคปวดเข่า (ราก, หัว)
- ช่วยรักษาโรคลมเข้าข้อหรือรูมาติสซั่ม (ราก, หัว)
- ช่วยขับพยาธิสำหรับสัตว์พาหนะ (ราก, หัว)
- มีการใช้เหง้าหรือหัวดองดึงมาสกัดสารและทำเป็นยาเม็ดไว้สำหรับรักษาโรคเกาต์ (Gout) หรืออาการปวดข้อ
- สารสกัดจากหัวและรากใช้สำหรับการเปลี่ยนแปลงพันธุ์พืชเพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ (ราก, หัว)
คำแนะนำ : ไม่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปนำมาใช้เองและต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ โดยการใช้หัวดองดึงมาปรุงเป็นยานั้นจะต้องใช้ในปริมาณน้อย ๆ และเจือจางก่อนการนำมาใช้ หากใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้
โทษของดองดึง แม้สารโคลชิซีน (Colchicine) จะมีประโยชน์ แต่ก็ยังมีผลเสียต่อการแบ่งตัวของเซลล์ และยังเป็นพิษต่อทางเดินอาหาร เมื่อได้รับสารชนิดนี้เข้าไปในร่างกายในปริมาณมาก หรือประมาณ 3 มิลลิกรัม อาการเป็นพิษก็จะแสดงออกมาหลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง โดยจะมีอาการแสบร้อนในปากและลำคอ ทำให้คอแห้ง กระหายน้ำ รู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก มีอาการเจ็บปวดตามตัว ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ คลื่นหัวใจผิดปกติจนวัดไม่ได้ อาจจะมีอาการไตวายเฉียบพลัน ปากและผิวหนังชา กลืนไม่ลง มีอาการชัก อุจจาระร่วงอย่างแรง อุจจาระมีเลือดปน ปวดท้องปวดเบ่ง ถ่ายจนไม่มีอุจจาระ มีอาการคลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้องและอาเจียนอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายเสียน้ำมาก และอาจส่งผลทำให้หมดสติได้ในที่สุด
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน อาจเสียชีวิตได้ภายใน 3-20 ชั่วโมง โดยอุณหภูมิของร่างกายก็จะต่ำลงและเสียชีวิตในที่สุด ฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ของสารโคลชิซีน หลังจากได้รับพิษเข้าไปประมาณ 10 ชั่วโมงจะเป็นช่วงที่มีอาการหนักสุด การขับถ่ายสารพิษออกจากร่างกายก็จะเป็นไปอย่างช้า ๆ พิษของสารชนิดนี้เกิดจากการรับประทานเข้าไปแต่ละครั้งก็จะถูกสะสมไว้ในร่างกาย และปะปนออกมากับน้ำนมของสัตว์ที่ได้สารนี้เข้าไปด้วย ซึ่งจะเป็นพิษต่อคนที่กินนมเข้าไปด้วย และนอกจากนี้สารโคลชิซีนก็ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นอหิวาตกโรค (Cholera), โรคไบรต์ดีซีส (Bright’s disease), โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ (Typhus), อาการระคายเคืองผิวหนัง (Skin complaints), อาการปวดท้องอย่างรุนแรง (Colic) เป็นต้น
เคสตัวอย่างที่รับประทานหัวดองดึง
- มีผู้เสียชีวิต 3 รายจากการรับประทานหัวดองดึงซึ่งเข้าใจผิดว่าเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการท้องอืด แก้ปวดเมื่อย โดยนำไปต้มแล้วนำมารับประทานคนละ 1 แก้ว หลังจากนั้นก็มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงและเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น
- มีผู้เสียชีวิตหลังจากรับประทานหัวดองดึงเป็นอาหารเพราะคิดว่าเป็นหัวกลอย โดยหลังจากรับประทานไปได้ 2 ชั่วโมงก็เริ่มมีอาการท้องเสีย อาเจียน และได้เข้าโรงพยาบาลในวันถัดมา โดยมีอาการขาดน้ำ มีความดันเลือดต่ำวัดค่าไม่ได้ อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว จนมาถึงวันที่ 4 ก็เสียชีวิตลงเพราะหัวใจล้มเหลว หายใจไม่ได้
- มีผู้เสียชีวิตจากการได้รับสารโคลชิซีนจากหัวดองดึง โดยมีอาการไตวายเฉียบพลัน ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ ลำไส้อักเสบ คลื่นหัวใจผิดปกติจนไม่สามารถวัดได้
- มีผู้ป่วยที่รับประทานหัวดองดึงต้ม หลังจากรับประทาน 2 ชั่วโมงก็เริ่มมีอาการอาเจียน อีก 8 ชั่วโมงต่อมาก็มีอาการถ่ายท้องเป็นน้ำอย่างรุนแรงและท้องเสียตลอดทั้งคืน มีอาการหมดสติ หัวใจเต้นเร็ว ขาดน้ำ แพทย์รักษาด้วยการให้น้ำเกลือและยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยจึงมีอาการดีขึ้น
การแก้พิษเบื้องต้น : ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อล้างท้องให้เร็วที่สุด และรักษาปริมาณอิเล็กโทรไลต์ให้สมดุลเพื่อป้องกันการช็อก และอาจจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดอย่าง meperidine (50-100 mg.) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือจะใช้ meperidine ร่วมกับ atropine เพื่อช่วยลดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และควรจะมีเครื่องช่วยหายใจในกรณีที่กล้ามเนื้อเกิดอัมพาต หรือมีภาวะการหายใจล้มเหลวหรืออาการช็อก
แหล่งอ้างอิง : สุดยอดสมุนไพรธรรมชาติที่ควรรู้. ศักดิ์ บวร. ปีที่พิมพ์ ม.ค.2543. สำนักพิมพ์สมิต, www.rspg.or.th, ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, สำนักงานข้อมูลสมุนไพรมหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบ : Sudarat Homhual เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)