ซ้องแมว
ซ้องแมว ชื่อสามัญ Parrot’s beak, Hedgelhog, Wild sedge, Ching-chai[2]
ซ้องแมว ชื่อวิทยาศาสตร์ Gmelina philippensis Cham. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gmelina hystrix Schult. ex Kurz )[1],[2] จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[2]
สมุนไพรซ้องแมว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข้าวจี่ (ทั่วไป), ซ้อแมว (ลำปาง), เล็บแมว (สระบุรี), ส้มแมว (ราชบุรี), ยวงขนุน (สุราษฎร์ธานี), จิ้งจ๊อ (ปัตตานี), คางแมว หางกระรอกแดง (ภาคกลาง), คางแมว จิงจาย (ภาคใต้), ปะงางอ (มลายู-ปัตตานี) เป็นต้น[1]
ลักษณะของซ้องแมว
- ต้นซ้องแมว มีถิ่นกำเนิดในประเทศฟิลิปปินส์ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงได้ประมาณ 2-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อน ตามลำต้นมีหนามยาวใหญ่ มีช่องอากาศ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนหรือการปักชำ ชอบดินร่วน ต้องการน้ำปานกลาง ควรปลูกในที่ที่มีแสงแดดทั้งวัน ในประเทศไทยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]
- ใบซ้องแมว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือจักคล้ายรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบแหลมมน โคนใบมนหรือเรียวสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดยาวประมาณ 1.5-7.5 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยง หลังใบและท้องใบเรียบ ด้านล่างมีนวล มีต่อมประปราย กระจายทั่วไป เส้นแขนงใบมีข้างละ 3-4 เส้น เรียงจรดกัน ก้านใบยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกซ้องแมว ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุก โดยจะออกตามปลายยอด ดอกออกเป็นคู่เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ช่อดอกยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร มีใบประดับขนาดใหญ่รองรับ ใบประดับลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง สีเขียวอ่อนหรือมีสีน้ำตาลแดงแซม ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ติดทน ใบประดับที่ปลายช่อจะมีขนาดเล็กตามลำดับ ก้านดอกสั้น หนา ดอกเป็นสีเหลือง กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วย ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร เกือบเรียบหรือจักตื้น ๆ 5 จัก ไม่ขยายในผล ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปลำโพง ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร หลอดกลีบเรียวแคบ ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ปลายกลีบบานออก แยกออกเป็น 2 ปาก มี 4 แฉก ปลายแฉกกลมมน พับงอ 3 แฉกบนเป็นแฉกตื้น ส่วนแฉกล่างยื่นยาวกว่า มีขนละเอียดสั้น ๆ ด้านนอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ติดเป็น 2 คู่ ประมาณเหนือคอหลอดกลีบดอก แบ่งเป็นอันยาว 2 อัน ที่ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร และอันสั้น 2 อัน ที่ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร อับเรณูมี 2 พู กางออกเล็กน้อย ยาวได้ประมาณ 2 มิลลิเมตร รังไข่เป็นรูปทรงกลม เกลี้ยง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร มี 4 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร ยอดเกสรแยกออกเป็น 2 แฉก ขนาดเล็ก[2]
- ผลซ้องแมว ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปไข่กลับ ยาวได้ประมาณ 1.2 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด[1],[2]
สรรพคุณของซ้องแมว
- รากมีรสขมเย็น ใช้เป็นยาแก้กระษัย (ราก)[1]
- รากใช้เป็นยาแก้ตานขโมย (ราก)[1]
- รากหรือผลใช้เป็นยาแก้วัณโรค (ราก, ผล)[1]
- ใบมีรสขม นำมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกสุมลงบนศีรษะ ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1]
- ใบสดใช้ตำพอกศีรษะแก้ผมร่วง (ใบ)[1]
- ใบและผลสดมีรสเปรี้ยวขม ใช้คั้นเอาน้ำมาหยอดหู แก้ปวดหู (ใบและผล)[1]
- ใบนำมาต้มเอาน้ำอมหรือใช้บ้วนปาก เป็นยาแก้เหงือกบวมอักเสบ แก้อาการปวดฟัน (ใบ)[1]
- ผลมีรสขมเย็น มีสรรพคุณเป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ (ผล)[1]
- ผลมีรสเปรี้ยวอมร้อน ใช้เป็นยาแก้ไอ (ผล)[1]
- ใบหรือผลใช้เป็นยาขับพยาธิ (ใบ, ผล)[1]
- ใช้เป็นยาแก้โรคท้องมาน (ผล)[1]
- รากใช้เป็นยาแก้พิษฝีภายใน (ราก)[1]
- ผลใช้เป็นยาทาแผลน้ำกัดเท้า (ผล)[1]
- ใบใช้เป็นยาทาแก้บวม (ใบ)[1]
- ผลใช้เป็นยาแก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ (ผล)[1]
ประโยชน์ของซ้องแมว
- นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[2]
- ใบสดนำมาขยำกับน้ำซางข้าวครั้งแรก แล้วนำมาใช้หมักผม จะช่วยทำให้ผมเป็นประกายเงางาม[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ซ้องแมว (Song Maeo)”. หน้า 110.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ซ้องแมว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [25 ธ.ค. 2014].
- ภาควิชาเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร. “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pg.pharm.su.ac.th. [25 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Annette Bax, SierraSunrise, beranekp, Dinesh Valke, Vijayasankar Raman)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)