ช้างน้าว
ช้างน้าว ชื่อสามัญ Vietnamese mickey mouse plant[7]
ช้างน้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ Ochna integerrima (Lour.) Merr. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Elaeocarpus integerrimus Lour., Ochna harmandii Lecomte) จัดอยู่ในวงศ์ช้างน้าว (OCHNACEAE)[1],[2],[3]
สมุนไพรช้างน้าว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ช้างโน้ม (ตราด), ช้างโหม (ร้อยเอ็ด), ขมิ้นพระต้น (จันทบุรี), ช้างน้าว ตานนกกรด (นครราชสีมา), แง่ง (บุรีรัมย์), ฝิ่น (ราชบุรี), กระแจะ ช้างโน้ม ช้างโหม (ระยอง), ตาลเหลือง (ภาคเหนือ), กำลังช้างสาร (กลาง), ตาชีบ้าง (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), โว้โร้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ควุ (กะเหรี่ยง-นครสวรรค์), กระโดงแดง เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของช้างน้าว
- ต้นช้างน้าว มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ไทย ลาว พม่า มาเลเซีย เขมร) โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มขนาดเล็ก เป็นไม้ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 3-8 เมตรและอาจสูงได้ถึง 12 เมตร กิ่งก้านแผ่ขยายออก ลำต้นมักคดงอ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องลึก ตามปลายกิ่งมีกาบหุ้มตาลักษณะแข็งและแหลม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง เป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ช้า เติบโตได้ในสภาพดินทุกชนิดแม้พื้นที่แห้งแล้ง แต่ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำท่วมขัง ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ชอบแสงแดดจัด ทนแล้งและทนไฟป่าได้ดี ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าสน และป่าชายหาด ที่ระดับความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,200 เมตร[1],[3],[4],[5]
- ใบช้างน้าว ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ มักพบเรียงชิดกันเป็นกลุ่ม ๆ ที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม พบได้บ้างที่ปลายใบมน ส่วนโคนใบแหลมหรือมน ขอบใบเป็นจักแบบฟันเลื่อยถี่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-17 เซนติเมตร ผิวใบเรียบ มีเส้นใบข้างประมาณ 7-15 คู่ หักโค้งงอ และมีเส้นระหว่างกลางไม่จรดกัน ใบแก่จะเป็นสีเขียวหม่น ๆ และเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ส่วนก้านใบนั้นยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และมีหูใบขนาดเล็กหลุดร่วงได้ง่ายที่ทิ้งร่องรอยไว้บนกิ่งก้าน[3]
- ดอกช้างน้าว ออกดอกเป็นช่อแบบกระจุกแยกแขนง โดยจะออกตามซอกใบหรือบริเวณใกล้ปลายกิ่งที่ไม่มีใบ มักออกดอกพร้อมกับแตกใบใหม่ ในแต่ละช่อดอกจะมีดอกประมาณ 4-8 ดอก ช่อดอกยาวประมาณ 3.5-6 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ดอกมีจำนวนมากและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร มีก้านดอกยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ใกล้โคนก้านจะมีลักษณะเป็นข้อต่อ ส่วนใบประดับมีขนาดเล็ก ร่วงได้ง่าย ดอกมีกลีบเลี้ยงสีแดงลักษณะเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน 5 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร ผิวทั้งสองด้านเรียบ ส่วนกลีบดอกนั้นเป็นสีเหลืองสดมีประมาณ 5-8 กลีบ กลีบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ปลายกลีบมนหรือกลม โคนกลีบสอบเรียวคล้ายก้านกลีบ ส่วนขอบกลีบหยัก กลีบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร แผ่นกลีบบอบบาง หลุดร่วงได้ง่าย ฐานกลีบแคบ ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 32-50 ก้าน มีก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 0.5-1.2 เซนติเมตร มีขนาดไม่เท่ากัน โดยวงนอกจะยาวกว่าวงใน อับเรณู ยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร อับเรณูมีช่องเปิดอยู่ด้านปลาย ฐานรองดอกพองนูน ลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 มิลลิเมตร ขยายขนาดและมีสีแดงเมื่อเป็นผล ส่วนรังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ คาร์เพล 6-12 อัน แต่ละอันจะมี 1 ช่องและมีออวุล 1 เม็ด ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะมี 1 ก้าน ยาวประมาณ 1.2-2 เซนติเมตรติดกับฐานของรังไข่ ปลายแยกเป็นแฉก 6-10 แฉกสั้น ๆ ยอดเกสรเพศเมียจะมีจำนวนเท่ากับคาร์เพล โดยจะออกดอกในช่วงเดือมกราคมถึงเดือนมิถุนายน เมื่อดอกบานจะเป็นสีเหลืองเกือบทั้งต้น[3]
- ผลช้างนาว ผลเป็นผลสด แบบผลผนังชั้นในแข็ง ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 8-9 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนสีดำ ผิวผลมัน ผลมีก้านเกสรเพศเมียคงเหลืออยู่ และยังมีกลีบเลี้ยงสีแดงสดที่เจริญตามมารองรับ ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด บ้างว่ามีเมล็ด 1-3 เมล็ด ชั้นหุ้มเมล็ดแข็งและมีขนาดใหญ่ มีเนื้อบางหุ้มอยู่ โดยจะออกผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน[3],[4]
สรรพคุณของช้างน้าว
- ผลมีรสมันสุขุม เป็นยาบำรุงร่างกาย ส่วนตำรายาไทยใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม และตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล, ต้น, ลำต้น)[2],[3]
- ตำรายาไทยใช้ต้นช้างน้าวนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย หรือจะใช้ต้นช้างน้าวผสมกับต้นนมสาว เถาตาไก้ รากน้ำเต้าต้น รากลกครก อย่างละเท่ากัน มาต้มกินเป็นยาบำรุงกำลังก็ได้ ส่วนชาวเขาเผ่ามูเซอจะใช้ราก โดยนำมาตากแห้ง หรือดองกับเหล้า หรือต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ต้น, ราก)[3],[8]
- เปลือกต้นมีรสขม ช่วยบำรุงหัวใจ (เปลือกต้น)[2],[3]
- เนื้อไม้มีรสจืดเย็น ช่วยแก้กษัย ส่วนตำรายาไทยต้นก็มีสรรพคุณแก้กษัยเช่นกัน (ต้น, เนื้อไม้)[2],[3],[8]
- หมอยาไทยใหญ่จะใช้สมุนไพรช้างน้าวเพื่อรักษาเด็กที่เป็นซางจ่อยผอม หรือสภาวะที่ภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่ดี เป็นโรคเรื้อรัง มีการติดเชื้อบางชนิดที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดได้ (ราก)[8]
- ช่วยแก้ดีซ่าน (ราก)[5],[7]
- เปลือกต้นมีรสขม ใช้ปรุงเป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)[9]
- ช่วยแก้โลหิตพิการ (เนื้อไม้)[2],[3]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เบาหวาน (ราก)[3],[5],[7]
- ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย (เนื้อไม้)[2],[3]
- แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ประดง (แก่น)[3]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น)[2],[3] ส่วนในประเทศอินเดียจะใช้ใบและรากช้างน้าวเป็นยาลดไข้ (ใบ, ราก)[7]
- รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง (ราก)[3],[5],[7]
- ช่วยบำรุงระบบย่อยอาหาร (ราก)[7]
- ช่วยขับผายลม (เปลือกต้น)[2],[3]
- ในประเทศอินเดียจะใช้ส่วนของใบและรากเป็นยาแก้บิด (ใบ, ราก)[7]
- รากเป็นยาขับพยาธิ (ราก)[1],[3],[4],[6]
- รากช่วยฟอกน้ำเหลือง แก้โรคน้ำเหลืองเสีย หรือสภาวะที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี (ราก)[1],[3],[4],[6],[8]
- ลำต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดเอว ส่วนรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดหลัง (ต้น, ราก)[3],[7],[8]
- รากช้างน้าวช่วยรักษาโรคปวดขา (ราก)[6]
- ช่วยบำรุงน้ำนมของสตรี ด้วยการใช้ต้นช้างน้าวผสมกับต้นนมสาว รากน้ำเต้าแล้ง รากลกครก เถาตาไก้ อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกินเป็นยา (ต้น)[3],[7],[8]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของช้างน้าว
- จากการศึกษาพบว่าสารสกัดที่ได้จากเปลือกช้างน้าวมีฤทธิ์ต่อต้านมาลาเรียได้ดีมาก[7]
- พบว่าช้างน้าวมีสาร Bioflavonoid ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV ต้านเชื้อวัณโรค มีฤทธิ์ต้านอักเสบ แก้ไข้ และแก้ปวด[8]
ประโยชน์ของช้างน้าว
- เปลือกนอกของต้นช้างน้าวที่มีลักษณะนิ่ม ๆ คล้ายไม้คอร์ก นำมาบดให้เป็นผงซึ่งจะมีสีเหลืองเข้มสด นำมาใช้ทาแก้สิวฝ้า หรือใช้ทาแทนแป้งได้ (เปลือกนอก)[3],[7]
- ชาวบ้านจะนิยมตัดกิ่งช้างน้าวขนาดประมาณ 1 ฟุตครึ่ง เพื่อนำมาจำหน่าย (กิ่งละประมาณ 10 บาท) โดยจะเรียกกิ่งไม้ชนิดนี้ว่า “ดอกตรุษจีน” เนื่องจากจะออกดอกในช่วงตรุษจีนพอดี โดยกิ่งของช้างน้าวนั้นเมื่อนำมาแช่น้ำประมาณ 3-4 วัน ก็จะผลิดอกสวยงามจนเต็มกิ่งก้าน คนเวียดนามจึงนิยมปลูกและนำมาใช้ปักแจกัน เพราะมีความเชื่อว่าดอกไม้สีเหลืองเป็นดอกไม้ที่จะนำโชคและความอุดมสมบูรณ์มาสู่บ้านเรือน[7]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ดอกมีกลิ่นหอมตลอดทั้งวันและจะหอมมากในช่วงอากาศเย็น ต้นช้างน้าวยังเป็นพันธุ์พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดมุกดาหารอีกด้วย (ในช่วงฤดูกาลออกดอก ควรงดการให้น้ำเพื่อให้ใบร่วงพร้อมกันทั้งต้น จะทำให้ออกดอกพร้อมกันทั้งต้นดูสวยงามมาก)[4],[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ช้างน้าว”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 93.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “ตาลเหลือง”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 114.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ช้างน้าว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [5 มี.ค. 2014].
- พันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ช้างน้าว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [5 มี.ค. 2014].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ช้างน้าว”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [5 มี.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “ช้างน้าว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/. [5 มี.ค. 2014].
- มูลนิธิสุขภาพไทย. “ตูมตังและช้างน้าว ผิวงามรับลมหนาว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [5 มี.ค. 2014].
- กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “ช้างน้าว จ้าวยาของเด็กน้อย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com. [5 มี.ค. 2014].
- มติชนออนไลน์. “ช้างน้าวยิ่งเหลืองพรึ่บเท่าไหร่ ยิ่งรวย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.matichon.co.th. [5 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise, Hai Le, Deatheyes, doxuancam, Cerlin Ng, camhoa102)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)