ชุมเห็ดเทศ
ชุมเห็ดเทศ ชื่อสามัญ Acapulo, Candelabra bush, Candle bush, Candlestick senna, Christmas candle, Empress candle plant, Impetigo bush, Ringworm bush, Ringworm senna, Ringworm shru, Seven golden candlestick[1],[2],[4],[6],[7],[8],[11]
ชุมเห็ดเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Senna alata (L.) Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia alata L., Cassia bracteata L.f., Herpetica alata (L.) Raf.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)[1],[2],[4],[6],[7],[8],[11]
สมุนไพรชุมเห็ดเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มเห็ด (เชียงราย), จุมเห็ด (มหาสารคาม), ขี้คาก ลับมืนหลวง[1] ลับหมื่นหลวง[3] ลับมืนหลาว[4] หญ้าเล็บมือหลวง หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ), ชุมเห็ด ชุมเห็ดใหญ่ ชุมเห็ดเทศ (ภาคกลาง), ตะสีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ตุ๊ยเฮียะเต่า ฮุยจิวบักทง (จีน), ตุ้ยเย่โต้ว (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[3],[4],[5],[9]
ลักษณะของชุมเห็ดเทศ
- ต้นชุมเห็ดเทศ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นแนวขนานกับพื้นดิน กิ่งจะแผ่ออกทางด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบขึ้นตามที่ชุ่มชื้น ไม่ชอบที่ร่ม สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด พรรณไม้ชนิดนี้ไม่ต้องการความเอาใจใส่ ปลูกแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้โตขึ้นเองได้ พบขึ้นได้ทั่วไปในประเทศไทย ทั้งบนที่ราบหรือบนภูเขาสูงจนถึง 1,500 เมตร[4],[5]
- ใบชุมเห็ดเทศ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 8-20 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายใบโค้งมนหรือหยัก โคนใบมนเว้าเข้าหากันเล็กน้อย โคนใบทั้งสองด้านไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเรียบเป็นสีแดง ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา หยาบและเหนียว แก่นกลางใบหนา ก้านใบรวมยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีหูใบลักษณะเป็นรูปติ่งหู สามเหลี่ยม ยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ติดทน[3],[5] เมื่อนำใบมาอบให้แห้งแล้วจะเป็นสีน้ำตาลอมเขียวถึงสีน้ำตาล ส่วนผงที่ได้เป็นสีน้ำตาลอมเขียว มีกลิ่นอ่อน ๆ รสเบื่อเอียนและขมเล็กน้อย[6]
- ดอกชุมเห็ดเทศ ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตั้ง โดยจะออกตามซอกใบและตามปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะแคบ ๆ ยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองทอง มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่เกือบกลมหรือเป็นรูปช้อน ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีก้านกลีบสั้น ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 9-10 ก้าน โดยมีเกสรอันยาว 2 ก้าน (ก้านเกสรหนา ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร) เกสรอันสั้น 4 ก้าน (ก้านเกสรจะยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร) และเกสรเพศผู้ที่ลดรูปอีก 4 ก้าน อับเรณูเปิดที่ปลาย รังไข่เกลี้ยง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรมีขนาดเล็ก มีใบประดับเป็นสีน้ำตาลแกมสีเหลืองหุ้มดอกที่ยังไม่บาน ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย ก้านดอกสั้น ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมในตาดอก ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน มีความยาวไม่เท่ากัน โดยจะยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร[4],[5]
- ผลชุมเห็ดเทศ ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปแถบ ยาว แบน และเกลี้ยงไม่มีขน ฝักมีขนาดยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีสันหรือปีกกว้าง 4 ปีก ปีกกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตรตามความยาวของฝัก ฝักมีผนังกั้น ฝักเมื่อแก่จะเป็นสีดำและแตกตามยาว ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 50-60 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดรูปสามเหลี่ยมสีดำ มีผิวขรุขระ เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร[4],[5]
สรรพคุณของชุมเห็ดเทศ
- รากชุมเห็ดเทศใช้ผสมยาบำรุงธาตุ (ราก)[4]
- ใช้ใบชาชุมเห็ดเทศนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ (ใบ)[12]
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)[4]
- หากดื่มยาชงจากชุมเห็ดเทศเป็นประจำจะช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[12]
- ชาชุมเห็ดเทศใช้ชงกับน้ำดื่ม สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[12]
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้ใบสดหรือแห้งประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนาน 30 นาที ใช้แบ่งน้ำมาดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น หรือจะใช้ชงเป็นชาดื่มต่างน้ำวันละ 3 เวลาก่อนอาหาร เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดเป็นปกติดีแล้วก็ให้ต้มใบยอดื่มอีก 3 สัปดาห์ ก็จะหายขาดจากโรคเบาหวาน (ใบ)[12],[13]
- ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ (เมล็ด)[1],[5]
- ช่วยแก้เส้นประสาทอักเสบ (ใบ)[4],[6]
- ช่วยทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ (ใบ, ราก, ต้น)[4],[6]
- เมล็ดช่วยแก้ตานซาง ถ่ายพิษตานซาง ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรับประทานตอนท้องว่าง (เมล็ด[1],[3],[5], ทั้งต้น[4])
- ช่วยรักษาโรคตาเหลือง (ราก)[4]
- ช่วยแก้ดีซ่าน (ทั้งต้น)[4]
- ช่วยแก้กษัยเส้น (ใบ, ราก, ต้น)[4],[6]
- ใบและดอกนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้หืด (ใบและดอก)[1],[5]
- รากและทั้งต้นเป็นยาถ่ายเสมหะ (ราก, ทั้งต้น)[4],[13]
- ใบมีกลิ่นฉุน นำมาต้มกับน้ำใช้เป็นยาอมบ้วนปาก (ใบ)[4],[6]
- ใบและดอกนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาขับเสมหะในรายที่หลอดลมอักเสบ (ใบและดอก)[1],[5]
- ช่วยแก้อาการท้องขึ้น (อาการท้องอืดท้องเฟ้อเพราะลมในกระเพาะอาหารเฟ้อขึ้น) (เมล็ด)[1],[5]
- เปลือกต้นเป็นยาสมานท้อง (เปลือกต้น)[13]
- ตำรายาไทยใช้ใบและดอกเป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก ช่วยกระตุ้นทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวได้ดีขึ้น (ใบอ่อนจะมีฤทธิ์มากกว่าใบแก่ และหากไม่นำใบมาคั่วเสียก่อนจะเกิดผลข้างเคียงได้ คืออาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่อคั่วจนร้อนแล้วจะทำให้สารที่มีฤทธิ์ทำให้มีอาการอาเจียนสลายไปได้) (ใบ, ดอก)[1],[2],[3],[4],[5],[6],[7],[11],[13]
- ใช้ใบสดหรือแห้งครั้งละ 12 ใบนำมาต้มกับน้ำพอสมควร ใช้ดื่มครั้งเดียวก่อนอาหารตอนเช้ามืดหรือช่วงก่อนนอน
- ใช้ใบนำมาชงกับน้ำเดือด 120 มิลลิลิตรเป็นเวลา 10 นาที แล้วดื่มก่อนเข้านอน
- ใช้ใบสด 12 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด นำมาหั่นตากแห้งหรือปิ้งกับไฟให้เหลือง ก่อนนำมาต้มหรือชงกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อยแล้วดื่มครั้งเดียวให้หมด
- ใช้ใบแห้งบดเป็นผง ปั้นทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยรับประทานครั้งละ 3 เม็ด ก่อนนอนหรือเมื่อมีอาการท้องผูก
- ใช้ดอกสด 1 ช่อ นำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ช่อดอกประมาณ 1-3 ช่อ (แล้วแต่ธาตุหนักธาตุเบาของแต่ละคน) นำมาต้มหรือลวกรับประทานเป็นผักจิ้ม
- ส่วนยาชงจากใบที่บรรจุในซองในขนาด 3 กรัมต่อซอง ให้ใช้ครั้งละ 1-2 ซอง นำมาชงกับน้ำเดือน 120 มิลลิลิตรต่อซอง นาน 10 นาที ใช้ดื่มวันละ 1 ครั้งก่อนนอน
- ใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เหลืองใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นชา มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ
- นอกจากนี้เปลือกต้น ราก และผลก็มีสรรพคุณเป็นยาระบายท้องเช่นกัน (เปลือกต้น, ราก, ผล)[1],[4],[5],[13] ส่วนต้น ราก ใบ ดอก และเมล็ดใช้เป็นยารักษาอาการท้องผูก (ต้น, ราก, ใบ, ดอก, เมล็ด)[4],[9],[13]
- ช่วยสมานธาตุ รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ใบ)[4],[6]
- เมล็ดมีกลิ่นเหม็นเบื่อ รสเอียนเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับพยาธิในลำไส้ ด้วยการใช้เมล็ดประมาณ 3-5 กรัมนำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรับประทานตอนท้องว่าง (เมล็ด[1],[3],[4],[5], ต้น[4], ทั้งต้น[4],[13]) ส่วนผลหรือฝักมีรสเอียนเบื่อ ใช้เป็นยาแก้พยาธิ ขับพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน (ผล)[1],[4],[5],[13] ส่วนใบสดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ (ประมาณ 20 กรัม) นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้น้ำคั้นจากใบผสมกับน้ำปูนใสก็เป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ใบ)[5],[6],[9] ใช้ทั้งต้นอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิไส้เดือน หรือจะใช้น้ำคั้นจากทั้งต้นผสมกับกรดมะนาว (Citric acid) ดื่มก็ได้ ส่วนดอกและต้นก็เป็นยาขับพยาธิไส้เดือนได้เช่นกัน (ทั้งต้นอ่อน, ต้น, ดอก)[9],[13]
- รากใช้เป็นยาเบื่อพยาธิ (ราก)[13]
- ต้น ราก ใบ หรือดอก ใช้ต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชาเป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น, ราก, ใบ, ดอก)[4],[6],[9],[13]
- ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเหลือง (ราก)[4]
- ใบใช้เป็นยาแก้สังคัง ด้วยการใช้ใบสด 4-5 ใบนำมาตำรวมกับกระเทียม 4-5 กลีบ เติมปูนแดงเล็กน้อยแล้วนำมาใช้ทา หรือจะใช้ใบชุมเห็ดเทศ 3 ใบ หัวกระเทียม 3 หัว และเกลือตัวผู้ 3 เม็ด นำมาตำให้ละเอียดแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น (ใบ)[12]
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร (ทั้งต้น)[4]
- รากใช้ต้มกินเป็นยารักษาตกมูกเลือด (ราก)[4]
- ยาต้มหรือยาชงจากใบชุมเห็ดเทศ ยาต้มเข้มข้นช่วยเร่งคลอดหรือทำให้แท้ง (ใบ)[9]
- ใช้รักษาโรคเริม (ใบ)[9]
- เปลือกและเนื้อไม้ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (เปลือกและเนื้อไม้)[9]
- ใบใช้ผสมกับน้ำปูนใส หรือน้ำมัน หรือเกลือ ใช้ตำพอกจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)[4],[6]
- เด็กชาวแอฟริกาที่ผิวหนังเป็นแผลจะใช้ใบนำมาตำผสมกับน้ำอาบและบางครั้งก็ใช้อาบเด็กแรกเกิด (ใบ)[9]
- ใบใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ รักษากลากเกลื้อน ผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน หรือมีอาการคันบริเวณหนังศีรษะ โดยมีวิธีใช้อยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น (ใบ)[1],[2],[3],[4],[5],[6],[7],[8],[11]
- ให้นำใบมาต้มกับน้ำ แล้วใช้น้ำที่ต้มได้มาล้างผิวหนังบริเวณที่เป็น
- ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดหรือขยี้ใช้ถูทาบริเวณที่เป็นนาน ๆ และบ่อย ๆ
- ใช้ใบประมาณ 3-4 ใบนำมาตำให้ละเอียด เติมน้ำมะนาวเล็กน้อย แล้วนำมาใช้ทาวันละ 2-3 ครั้ง
- ใช้ใบสดประมาณ 4-5 ใบนำมาตำรวมกับกระเทียม 4-5 กลีบ แล้วเติมปูนแดงเล็กน้อย ตำผสมกันแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นกลากหรือโรคผิวหนัง (ให้ขูดผิวบริเวณที่เป็นด้วยไม้ไผ่ที่ฆ่าเชื้อแล้วให้แดงก่อนทายา) โดยใช้ทาวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย และเมื่อหายแล้วก็ให้ทาต่อไปอีก 1 สัปดาห์
- ใช้ใบสดมาตำแช่กับเหล้า แล้วเอาส่วนของเหล้านำมาทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย พบว่าได้ผลดีนัก แต่จะใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อราที่ผมและเล็บ
- ใช้ใบผสมกับน้ำปูนใส หรือน้ำมัน หรือเกลือ ใช้ตำพอกรักษากลากหรือโรคผิวหนัง
- ส่วนอีกวิธีให้นำใบมาตำหรือคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำปูนใสทาหรือผสมกับวาสลิน ทำเป็นยาขี้ผึ้งทา
- หรือจะใช้ครีมสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศ 95% ด้วยเอทานอลความเข้มข้น 20% นำมาทาวันละ 2-3 ครั้ง หลังอาบน้ำเช้าและเย็น ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์
- นอกจากนี้ในส่วนของต้น เปลือกต้น ราก ผล เมล็ด และทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อนด้วยเช่นกัน (ต้น, เปลือกต้น, ราก, ผล, เมล็ด, ทั้งต้น)[4],[13]
- ต้นใช้เป็นยารักษาคุดทะราด (ต้น)[4]
- ใบและรากใช้เป็นยาฆ่าพยาธิตามผิวหนัง (ใบ, ราก)[4]
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ฝี (ทั้งต้น)[4]
- ใบชุมเห็ดเทศใช้ตำพอกเพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้นได้ (ใบ)[4],[6]
- ช่วยรักษาฝี แผลพุพอง ด้วยการใช้ใบรวมก้านสด 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำพอท่วมแล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 นำมาใช้ชะล้างฝีที่แตกแล้วหรือแผลพุพอง วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น แต่ถ้าบริเวณที่เป็นกว้างมากก็ให้ใช้ใบประมาณ 10-12 กำมือ นำมาต้มกับน้ำอาบเช้าเย็นจนกว่าจะหาย (ใบ)[6],[7]
- ใช้เป็นยารักษาหิดและสิว (ราก[4], ต้น[13], ดอก[13])
- ชาวศรีลังกาและอินเดีย ใช้เป็นยาแก้งูกัด (ทั้งต้นอ่อน)[9]
- ช่วยแก้อาการฟกบวม (ทั้งต้น)[4]
- ใช้ดอก 1 ช่อนำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยทำให้ผิวหนังดีมีสีมีใย (ดอก)[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชุมเห็ดเทศ
- สารที่พบในชุมเห็ดเทศ คือสารจำพวก Hydroxyanthracene derivatives เช่น aloe-emodin, chrysophanol, chrysophanic acid, emodin, flavonoids, glycoside, kaempferol, isochrysophanol, physcion glycoside, terpenoids, sennoside, sitosterols, lectin, rhein[3],[7] โดยสารในกลุ่มแทนนิน ฟลาโวนอยด์ อย่างเช่น kaemferol มีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน อีกทั้งยังมีสารแอนทราควิโนนที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย จึงมีฤทธิ์รวมเป็นยาระบายที่มีสรรพคุณสมานธาตุไปด้วยในตัว[6]
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการก่อยับยั้งเนื้องอก เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ลดการอักเสบ แก้ปวด ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านยีสต์[13]
- สารสกัดด้วยน้ำมีผลเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ของหนูถีบจักร และหากให้ในขนาดเทียบเท่าผงใบ 5-20 กรัมต่อกิโลกรัม มีผลทำให้หนูทุกตัวถ่ายเหลว[11]
- จากการทดลองให้หนูกินสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยสารสกัดน้ำร้อนขนาด 500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่ามีฤทธิ์เป็นยาระบาย และยังมีการทดลองด้วยการฉีดสารสกัดจากชุมเห็ดเทศด้วยน้ำร้อนในขนาด 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบว่าให้ผลเช่นเดียวกัน[8]
- ได้มีการทดลองเปรียบเทียบผลของใบชุมเห็ดเทศ โดยนำยาชงถุงละ 3-4 กรัมมาชงน้ำเดือด 120 ซี.ซี. ทิ้งไว้ 10 นาที โดยทำการเปรียบเทียบระหว่าง placebo จำนวน 23 ราย, Mist alba จำนวน 7 ราย และชุมเห็ดเทศอีก 12 ราย พบว่าใบชุมเห็ดเทศให้ผลดีกว่า placebo และให้ผลเท่ากับมิสท์ แอลบา (Mist alba) และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย แต่ผู้ป่วยพอใจผลของใบชุมเห็ดเทศมากกว่า Mist alba[8],[11]
- สารสกัดน้ำจากใบเมื่อนำมาทดสอบกับเชื้อ E. coli ที่เป็นสาเหตุให้ลูกหมูท้องเสียในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อดังกล่าวได้ที่ระดับความเข้มข้นมากกว่า 21.8 มก./มล.[8]
- ชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารเล็กน้อย มีฤทธิ์กดการทำงานของประสาทส่วนกลาง ไม่มีฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อลาย ช่วยกระตุ้นการหลั่งของปัสสาวะ[4],[6]
- สาร Glycoside ที่สกัดได้จากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ในการกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้การบีบตัวของหัวใจแรงขึ้น แต่ไม่เปลี่ยนอัตราการเต้นของหัวใจ แต่หากใช้สารนี้ฉีดเพิ่มขึ้นอีก พบว่าจะทำให้หัวใจเต้นช้ามาก ๆ และอาจเกิดอาการหัวใจหยุดเต้นในท่าบีบตัว (Systolic Arrest)[3],[4] และสาร Glycoside ยังมีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้อีกด้วย[8]
- สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ในการกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้ หลอดลม หลอดเลือด กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และมดลูก โดยมีผลทำให้มีการบีบตัวแรงขึ้น แต่ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจขยายตัว[4]
- ส่วนต่าง ๆ ของชุมเห็ดเทศ เช่น ฝัก ใบ และดอก มีสารในกลุ่มจำพวกแอนทราควิโนน เช่น aloe-emodin, emodin และ rhein มีฤทธิ์เป็นยาระบายและฆ่าเชื้อโรคได้ โดยไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ช่วยระบาย[2],[3],[4],[6]
- สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตขอเนื้องอก (Sarcoma) ในหนูเล็ก โดยการฉีดสารเข้าที่ขาก็จะมีอาการระคายเคืองบริเวณที่ฉีดเข้าไป[3],[4]
- สารสกัดจากแอลกอฮอล์และครีมที่มีความเข้มข้น 20% สามารถใช้รักษากลากเกลื้อนให้หายได้ 100% แต่ไม่สามารถใช้รักษาเชื้อราที่เล็บและที่บริเวณหนังศีรษะได้ นอกจากนี้ยังได้มีการศึกษาในผู้ที่เป็นโรคเกลื้อนชนิด (Pityraisis versicolor) ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Malassezia furfur จำนวน 200 คน ทั้งเพศชายและหญิง (อายุ 16-60 ปี) เมื่อใช้สารสกัดน้ำใบชุมเห็ดเทศ ความเข้มข้น 80% ทาบริเวณหน้า ความเข้มข้น 90% ทาบริเวณคอและมือ ความเข้มข้น 100% ทาบริเวณแขนและขา โดยให้ทาในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนเข้านอนวันละ 1 ครั้ง และล้างออกในตอนเช้าโดยไม่ต้องฟอกสบู่ พบว่าภายใน 2-3 สัปดาห์ บริเวณที่เป็นผื่นจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ยังมีรอยโรคปรากฏอยู่ และสีผิวจะปรับเข้าสู่สภาพปกติจะต้องใช้เวลาในการรักษาประมาณ 10-12 เดือน[8]
- สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศแก่สดที่ความเข้มข้นมากกว่า 70 % ให้ผลดีในการรักษาโรคเกลื้อน (Pityriasis versicolor) และยังช่วยป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ได้นานถึง 1 ปี ถ้าต้องการให้หายขาดจะต้องใช้ทุก 4 เดือน ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี หลังจากการรักษาครั้งแรกได้ผลดีและไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนัง[11]
- น้ำมันที่ได้จากใบหรือเมล็ดชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากเกลื้อนได้[3],[4],[6] โดยสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยแอลกอฮอล์ประมาณ 95% สามารถฆ่าเชื้อ Bacillus subtilis, Staphylococcus aureus, Serratia marcescens ได้ ส่วนสารสกัดจากน้ำของใบจะมีความเข้มข้นประมาณ 5% และสามารถฆ่าเชื้อ Trichophyton mentagrophytes ซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก[4]
- น้ำมันหอมระเหยจากใบและสารสกัดเปลือกต้นด้วยเมทานอล เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis ด้วยวิธี disc diffusion พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อดังกล่าวได้ในระดับปานกลาง[8]
- ชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่สามารถทำให้เกิดโรคในพืชคือ Agrobacterium tumefaciens[4]
- ในใบชุมเห็ดเทศมีสาร chrysophanol ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา โดยมีผู้ศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดชนิดต่าง ๆ ของใบชุมเห็ดเทศ ในการต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก คือ Trichophyton mentagrophytes โดยใช้สารสกัดด้วยน้ำของใบชุมเห็ดเทศ พบว่าสามารถช่วยต้านเชื้อราที่เป็นต้นเหตุของโรคผิวหนังได้ และสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% จากทุกส่วนของชุมเห็ดเทศ สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์, คลอโรฟอร์ม, อีเทอร์ และน้ำ ก็พบว่าสามารถต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากได้เช่นกัน[8]
- สารสกัดเอทานอล aloe-emodin, chrysophanol และ rhein จากใบชุมเห็ดเทศสามารถต้านเชื้อรา Epidermophyton floccosum, Microsporium gypseum, Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophytes และ M. canis ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคกลากเกลื้อนได้ และพบว่า rhein จะให้ผลในการยับยั้งเชื้อรา Epidermophyton floccosum, Trichophyton rubrum, Trichophyton mentagrophytes ได้ดีที่สุด[8]
- สารสกัดด้วยเอทานอลจากใบชุมเห็ดเทศมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา dermatophyte ที่ทำให้เกิดโรคกลากได้ดี[11]
- สารสกัดน้ำจากเปลือกต้น เมื่อนำมาทดสอบด้วยวิธี disc diffusion พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อยีสต์ Candida albicans ได้ โดยระดับความเข้มข้นของสารสกัดที่ 30 มคก./มคล. จะให้ผลดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐานอย่าง Ticonazole ที่ความเข้มข้น 30 มคก./มคล. เท่ากัน แต่สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศด้วยเอทานอลจะไม่มีฤทธิ์ยับยั้งยีสต์[8]
- สารสกัดด้วยเฮกเซนหรือด้วย 85% เอทานอล และสาร kaempferol 3-O-sophoroside แสดงฤทธิ์แก้อาการปวดในสัตว์ทดลอง[11]
- จากการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (โดยคิดเป็น 3,333 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดที่ใช้รักษาในคน) และให้โดยวิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูทดลองในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ไม่พบว่ามีอาการเป็นพิษแต่อย่างใด[6]
- Yagi และคณะได้ทำการศึกษาพิษของใบชุมเห็ดเทศ พบว่าเป็นพิษต่อหนูขาว โดยสารสกัดเอทานอลและสารที่แยกได้เป็นพิษต่อตับไตโดย anthraquinone ที่มีอยู่หลายชนิดที่เสริมฤทธิ์กัน[8]
- เมื่อให้หนูขาวกินสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำในขนาด 10, 50, 100, 150 มก./กก. เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ พบว่ามีผลลดปริมาณ Haemoglobin และเม็ดเลือดแดง เพิ่ม packed cell volume(PCV), mean corpuscular haemoglobin concentration (MCHC) และ mean corpuscular volume (MCV) แต่ mean corpuscular haemoglobin (MCH) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งอาจเนื่องมาจากซาโปนิน (Saponin)[8]
- สารสกัดใบด้วยเอทานอลมีผลก่อกลายพันธุ์ Salmonella typhimurium strain TA98 และพบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ Salmonella typhimurium strain TA98 และ TA100 ในแบบที่ต้องการเอนไซม์จากตับหนูกระตุ้นการออกฤทธิ์ สารสกัดที่ได้จากการต้มชุมเห็ดเทศไม่มีฤทธิ์ต้านสารก่อกลายพันธุ์ที่ทดสอบกับเชื้อ Salmonella typhimurium strain TA98 แต่ส่วนสกัดดอกที่ไม่ละลายในเมทานอล (ไม่ระบุขนาด) สารสกัดใบด้วยคลอโรฟอร์มหรือเอทานอล ขนาด 100 มก./กก. และสารสกัดด้วยเฮกเซน ขนาด 50 มก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักรพบว่ามีฤทธิ์ต้านสารก่อกลายพันธุ์[8]
- เมื่อปี ค.ศ.1982 / 1988 ที่ประเทศอินเดีย ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศในหนูทดลอง และพบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[13]
- เมื่อปี ค.ศ.2002 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ทำการทดลองใช้สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศในหนูถีบจักรที่เป็นเบาหวาน โดยทดลองใช้สารสกัดหลายตัวด้วยกัน ได้แก่ hexane, chloroform, ethyl acetate ในความเข้มข้น 5 mg/20 g. ของน้ำหนักตัวหนู ผลการทดลองพบว่าสารสกัดใน ethyl acetate สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ 58.3%[13]
- จากการศึกษาความเป็นพิษต่อเซลล์ Vero โดยใช้สารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำ พบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์ โดยมีค่า CD50 1,414 มคก./มล.[8]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ ไม่พบพิษของสารสกัดจากใบด้วย 85% แอลกอฮอล์ เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักรในขนาด 2 ก./กก. หรือสารสกัดใบด้วย 50% แอลกอฮอล์[13]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรชุมเห็ดเทศ
- ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานในขนาดสูง เพราะจะทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพแทสเซียม ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติของลำไส้ และทำให้ไตอักเสบหรือมีอาการใจสั่นได้[6],[11]
- ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นยาระบายในสตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร เนื่องจากมีรายงานว่าสาร Rhein สามารถหลั่งออกมาทางน้ำนมได้ จึงไม่ควรใช้ยานี้ในขณะให้นมบุตร[6],[11]
- การนำใบมาใช้เป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูก หากไม่นำใบมาคั่วเสียก่อนจะเกิดผลข้างเคียงได้ คือ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่อคั่วจนร้อนแล้วจะทำให้สารที่มีฤทธิ์ที่ทำให้มีอาการอาเจียนสลายไป[6]
- ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินอาหารหรือลำไส้อุดตัน หรือมีอาการอักเสบของลำไส้อย่างเฉียบพลัน[6],[11]
- ห้ามใช้ยาชงชุมเห็ดเทศกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี[6],[11]
- การรับประทานในขนาดสูงอาจทำให้ไตอักเสบได้[6]
- การใช้ชุมเห็ดเทศอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ มีอาการปวดมวนท้อง มดลูกเกิดการบีบตัว อาหารไม่ย่อย หรืออาจมีอาการท้องเสียได้ หากมีอาการดังกล่าวควรลดขนาดใช้[6],[11]
ประโยชน์ของชุมเห็ดเทศ
- ดอกสด ยอดอ่อน สามารถนำมาต้มหรือลวกรับประทานเป็นผักจิ้มได้ โดยยอดอ่อนจะมีรสชาติขม[2]
- การดื่มชาชงจากชุมเห็ดเทศเป็นประจำจะช่วยลดสิว ฝ้า กระ และทำให้ผิวพรรณผ่องใสได้[12]
- ชาวแอฟริกาจะปลูกต้นชุมเห็ดเทศไว้รอบ ๆ บ้าน เพื่อใช้ไล่มด[9]
- ในอินเดียและศรีลังกาจะใช้ทั้งต้นอ่อนเป็นยาเบื่อปลา[9]
- ต้นชุมเห็ดเทศมีดอกสวยและมีสีสัน ดูแลได้ง่าย สามารถนำมาใช้ปลูกเป็นฉากหลังทางเดินในสวน บริเวณศาลา หรือปลูกเป็นไม้ประดับสวนหรือตามริมน้ำได้[10]
- ในปัจจุบันได้มีผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพรชุมเห็ดเทศออกวางจำหน่ายในท้องตลาดหลากหลายรูปแบบ เช่น ชาชง ยาแคปซูล ยาระบายอัดเม็ด หรือในรูปแบบยาทาแก้กลากเกลื้อน
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ชุมเห็ดเทศ (Chumhet Tet)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 108.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชุมเห็ดเทศ Ringworm Bush”. หน้า 75.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ชุมเห็ดเทศ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 208.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ชุมเห็ดเทศ”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 271-274.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [13 มี.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [13 มี.ค. 2014].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [13 มี.ค. 2014].
- สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร ณ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [13 มี.ค. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 26 คอลัมน์: สมุนไพรน่ารู้. “ชุมเห็ดไทย/ชุมเห็ดเทศ”. (ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [13 มี.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [13 มี.ค. 2014].
- สถาบันการแพทย์แผนไทย. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ittm-old.dtam.moph.go.th. [13 มี.ค. 2014].
- พืชสมุนไพร, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “ชุมเห็ดเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/tewpharmacyherb/mean.htm. [13 มี.ค. 2014].
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. “ชุมเห็ดเทศ”. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). หน้า 74-75.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by CANTIQ UNIQUE, SierraSunrise, ecollc, pennyjr, Vietnam Plants & The USA. plants, Starr Environmental, Alex Popovkin, Bahia, Brazil), เว็บไซต์ thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)