ชิงชี่
ชิงชี่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Capparis micracantha DC. จัดอยู่ในวงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)[1],[3],[4]
สมุนไพรชิงชี่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนวดแมวแดง (เชียงใหม่), แส้ม้าทลาย (เชียงราย), ซิซอ (ปราจีนบุรี), คายซู (อุบลราชธานี), น้ำนอง (สุโขทัย), ชายชู้ หมากหมก (ชัยภูมิ), พุงแก (ชัยนาท), ค้อนกลอง (เพชรบูรณ์), ค้อนฆ้อง (สระบุรี), กระดาดป่า[1] กระดาษป่า[2] (ชลบุรี), ราม (สงขลา), พวงมาระดอ เม็งซอ (ปัตตานี), กระดาดขาว กระดาษขาว กระโรกใหญ่ จิงโจ้ พญาจอมปลวก แสมซอ (ภาคกลาง), กิรขี้[2] กินขี้[3] ชิงชี ชิงวี่ ชินซี่ ซาสู่ต้น แซ่สู่ต้น แซ่ม้าลาย แส้ม้าทะลาย น้ำนองหวะ ปู่เจ้าสมิงกุย เป็นต้น[1],[2],[3]
ลักษณะของชิงชี่
- ต้นชิงชี่ จัดเป็นไม้พุ่มหรือกึ่งเลื้อย หรือเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-6 เมตร กิ่งก้านอ่อนเป็นสีเขียว กิ่งคดไปมา ผิวเรียบเกลี้ยง มีหนามยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ลักษณะตรงหรือโค้งเล็กน้อย ส่วนลำต้นเป็นสีเทา ผิวเปลือกต้นเป็นกระสีขาว ๆ แตกระแหง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ตามสภาพดินแห้ง เขาหินปูนที่แห้งแล้ง ภูเขา หินปูนใกล้กับทะเล ทุ่งหญ้า ป่าละเมาะ ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าโปร่งทั่วไป พบได้ทุกภาคในประเทศไทย ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำกว่า 500 เมตร ในต่างประเทศพบได้ที่พม่า อินโดจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย จีน อันดามัน และไฮหนาน[1],[3],[4],[7]
- ใบชิงชี่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปรี ปลายใบมนหรือแหลม หรือเว้าเล็กน้อยและเป็นติ่ง ส่วนขอบใบมนหรือค่อนข้างเว้า ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9.5-24 เซนติเมตร แผ่นใบค่อนข้างหนา มัน และเกลี้ยง หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร[4]
- ดอกชิงชี่ ออกดอกเดี่ยว ออกเรียงเป็นแถว 1-7 ดอก โดยจะออกตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ออกเรียงอยู่เหนือง่ามใบ กลีบดอกเป็นสีขาวหลุดร่วงได้ง่าย มี 2 กลีบ ด้านนอกสีขาวแต้มเหลืองและจะเปลี่ยนเป็นแต้มสีม่วงปนสีน้ำตาล ลักษณะเป็นรูปขอบขนานหรือรูปหอก มีขนาดกว้างประมาณ 3-7 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 10-25 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำหวานที่โคนก้านดอก ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กฝอย ๆ สีขาวคล้ายหนวดแมวยื่นยาวออกมา มีประมาณ 20-35 อัน ก้านยาว มีรังไข่เป็นรูปไข่ เกลี้ยง ส่วนกลีบรองกลีบดอกมีลักษณะเว้าเป็นรูปเรือแกมรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5.5-13 มิลลิเมตร ขอบมักมีขน ก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[4]
- ผลชิงชี่ ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลค่อนข้างกลมหรือรี ผิวผลเรียบแข็งเป็นมัน มี 4 ร่องตามยาวของผล ผลมีขนาดกว้างประมาณ 3-6.5 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือแดง หรือดำ ภายในผลมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไต สีแดงหรือดำเป็นมันอัดแก่นอยู่เป็นจำนวนมาก[1],[4]
สรรพคุณของชิงชี่
- ทั้งต้นมีรสขื่นปร่า ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ทั้งต้น)[4],[7]
- ใบนำมาต้มดื่มเป็นยาแก้ไข้สันนิบาต (คือไข้ที่มีอาการวิงเวียน ตาลาย เลือดกำเดาไหล แน่นหน้าอก เกิดขึ้นร่วมกัน) ไข้พิษฝีกาฬ (ฝีกาฬคือฝีที่เกิดบริเวณนิ้วมือ สีดำ ทำให้มีอาการปวดศีรษะและแสบร้อนมาก อาจทำให้แน่นิ่งไปได้) (ใบ)[1],[2],[3],[4],[5],[7]
- รากและใบช่วยกระทุ้งพิษไข้หัว (อาการไข้ร่วมกับผื่นหรือตุ่ม เช่น เหือด หัด อีสุกอีใส (ราก, รากและใบ)[1],[4],[5]
- ช่วยรักษาไข้เพื่อดีและเลือด มักจะใช้ได้ดีในตอนต้นไข้ (ราก)[3]
- ใบใช้เข้ายาอาบ รักษาโรคประดง (อาการของโรคผิวหนังที่มีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด มีอาการคันมาก และมักมีไข้ร่วมด้วย) (ใบ[1],[4],[5],[7], ดอก[2])
- รากมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ร้อนภายในทุกชนิด แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต (ราก)[2],[3],[4],[6] รากและใบใช้เป็นยาระงับความร้อน (รากและใบ)[4]
- รากใช้เป็นยาหยอดตา แก้โรคและรักษาดวงตา (ราก)[3],[4]
- รากและใบใช้เป็นยาแก้หืด (ราก, รากและใบ)[1],[2],[4],[5]
- เนื้อไม้ใช้เป็นยารักษาโรคหลอดลมอักเสบและอาการอักเสบที่เยื่อจมูก (เนื้อไม้)[7]
- ผลใช้รักษาโรคที่เกิดในลำคอ แก้อาการเจ็บคอ คออักเสบ (ผล)[2],[3],[4],[7]
- เมล็ดนำมาคั่วเป็นยาแก้ไอ (เมล็ด)[7] ส่วนรากใช้เป็นยาแก้ไออันเนื่องมาจากหลอดลมอักเสบ (ราก)[4],[7]
- ช่วยแก้อาการเจ็บในทรวงอก (รากและใบ)[1],[4],[5]
- ใบนำมาเผาสูดเอาควันเป็นยาแก้หลอดลมอักเสบ (ใบ)[1],[4],[5],[7]
- รากมีรสขมขื่น ใช้เป็นยาขับลมภายในให้ซ่านออกมา (ราก)[1],[3],[4],[5],[7]
- รากใช้เป็นยารักษาโรคที่เกิดในท้อง (ราก)[2],[3],[4]
- ช่วยรักษาโรคกระเพาะ (ราก)[2],[4],[7]
- รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[7]
- ช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ (ราก)[4],[7]
- ยาชงของเนื้อไม้ใช้เป็นยากลางบ้าน ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดี อีกทั้งยังช่วยรักษาโรคกระเพาะและแก้อาการวิงเวียนศีรษะได้อีกด้วย (เนื้อไม้)[7]
- ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (ทั้งต้น)[4],[7]
- ใบใช้ต้มกับน้ำอาบหรือต้มน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคผิวหนังได้ดี (ใบ)[2],[3],[4]
- ใช้เป็นยารักษามะเร็ง (แผลเรื้อรัง เน่าลุกลาม และรักษายาก) (ราก, ดอก)[1],[2],[3],[4],[5],[7]
- ใช้ต้นหรือทั้งต้นนำมาตำพอกแก้อาการช้ำบวมฟกบวม หรือจะใช้รากและใบตำพอกแก้อาการฟกช้ำบวมก็ได้เช่นกัน (ต้น, ทั้งต้น, รากและใบ)[1],[2],[3],[4],[5],[7]
- ใบใช้เข้ายาอาบหรือต้มดื่มแก้ตะคริว (ใบ)[1],[2],[4],[5],[7]
- ช่วยรักษาอาการชาตามร่างกาย (ใบ)[7]
- รากชิงชี่จัดอยู่ในตำรับยา ‘พิกัดเบญจโลกวิเชียร” หรือตำรายาแก้วห้าดวงหรือยาห้าราก ซึ่งเป็นตำรับยาที่ได้จากรากของสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ รากชิงชี่ รากคนทา รากมะเดื่อชุมพร รากเท้ายายม่อม และรากย่านาง โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ต่าง ๆ ช่วยกระทุ้งพิษและถอนพิษต่าง ๆ (ราก)[4]
- รากใช้เป็นยาบำรุงหลังการคลอดบุตรของสตรี (ราก)[4],[7]
ประโยชน์ของชิงชี่
- ผลชิงชี่สุกมีรสหวานใช้รับประทานได้[4],[7]
- ต้นชิงชี่เป็นไม้เล็กใช้พื้นที่ปลูกแคบ ตัดแต่งได้ง่าย ออกดอกดก มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และดูแปลกตา มองดูเหมือนมีการเปลี่ยนสีจากกลีบสีเหลืองเป็นสีแดงเข้ม แต่แท้จริงแล้วเป็นแหล่งน้ำหวานที่เปลี่ยนสีได้ อีกทั้งก้านเกสรก็มีจำนวนมาก โค้งได้รูปดูแปลกตา จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้[7]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ชิงชี่ (Chingchi)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 107.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ชิงชี่”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 94.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ชิงชี่”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 270-271.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชิงชี่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [6 มี.ค. 2014].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ชิงชี่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [6 มี.ค. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย. “ชิงชี่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com. [6 มี.ค. 2014].
- บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “ชิงชี่”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [6 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, judymonkey17, Rex Yang, 阿橋花譜 KHQ Flowers), เว็บไซต์ phargarden.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)