ชา สรรพคุณและประโยชน์ของชา ใบชา น้ำชา 36 ข้อ ! (Tea)

ชา

ชา ชื่อสามัญ Tea, Thea

ชา ชื่อวิทยาศาสตร์ Camellia sinensis (L.) Kuntze[3] จัดอยู่ในวงศ์ชา (THEACEAE)[3]

สมุนไพรชา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เมี่ยง เมี่ยงป่า (ภาคเหนือ), ชา (ภาคกลาง), ลาบ่อ (อาข่า), นอมื่อ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), แต๊ (จีนแต้จิ๋ว), ฉา (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[5]

ลักษณะของต้นชา

สมุนไพรชา เป็นไม้ยืนต้นที่เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เนื่องจากมีหลักฐานการค้นพบต้นชาสายพันธุ์ดั้งเดิมหลายสายพันธุ์ที่เป็นพืชพื้นเมืองประจำถิ่นของมณฑลยูนนาน และภายหลังได้แพร่กระจายไปปลูกตามประเทศทางเอเชียตะวันออกรวมถึงญี่ปุ่น ในการเพาะปลูกมักตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่มสูงประมาณ 0.6-1 เมตร ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการเก็บใบชา ส่วนการเก็บใบชามักจะเก็บแต่ใบอ่อน ๆ แรกผลิออกเป็น 3 ใบเท่านั้นชาเป็นพืชกึ่งร้อนที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตอบอุ่นและมีฝน ปลูกได้ดีที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 200-2,000 เมตร โดยชาที่ผลิตทางการค้าส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 สายพันธุ์[4] ได้แก่ กลุ่มชาพันธุ์จีน (Chinese Tea) และกลุ่มชาพันธุ์อัสสัม (Assam tea)

  • กลุ่มชาพันธุ์จีน (Chinese Tea) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var. sinensis เป็นสายพันธุ์นำเข้ามาจากประเทศไต้หวันและจีน นิยมปลูกกันมากเนื่องจากให้ผลผลิตสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด ในประเทศไทยปลูกกันมากทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งการปลูกจะปลูกเป็นแถวแบบขั้นบันได มีการจัดการแปลงปลูกอยากเป็นระบบและตัดแต่งกิ่งอย่างสม่ำเสมอ[4]
    • ต้นชา ชาสายพันธุ์จีนจัดเป็นพรรณไม้ขนาดย่อมจนถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ตามกิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้เป็นพันธุ์เดิมของประเทศจีน แต่ในบ้านเราก็มีปลูกมานานแล้ว เคยพบที่จังหวัดพะเยาแต่ไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็มีปลูกกันบ้างประปรายทางภาคเหนือ[1],[2] ต้นชา
    • ใบชา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักเล็ก ๆ หรือเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน แผ่นใบหนาและเหนียว เรียบเป็นมัน คล้ายใบข่อยแต่จะยาวและใหญ่กว่า เส้นใบเป็นตาข่าย ส่วนก้านใบสั้น[1],[2] ชา
    • ดอกชา ออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกส้มเขียวหวาน โดยดอกชาจะมีลักษณะใหญ่สีสวย ดอกเป็นสีขาวนวล และมีกลิ่นหอม ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 1-4 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่กลางดอกจำนวนมาก[1],[2] ดอกชา
    • ผลชา เป็นผลแบบแคปซูล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออก ในหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมแบน หรือค่อนข้างกลม ผิวเมล็ดเรียบ เป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำหรือสีน้ำตาลอมแดง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-14 มิลลิเมตร[1],[2],[4] ผลชา
  • กลุ่มชาพันธุ์อัสสัม (Assam tea) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var. assamica มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ชาอัสสัม ชาป่า ชาพื้นเมือง ชาเมี่ยง เป็นต้น ชาชนิดนี้จะเป็นพันธุ์ชาที่ใบใหญ่กว่าชาพันธุ์จีน เจริญเติบโตได้ดีในป่าเขตร้อนชื้นที่มีร่มไม้และแสงแดดพอประมาณ ในประเทศไทยพบได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ และน่าน[4]
    • ต้นชา จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผิวลำต้นเรียบ ตามกิ่งอ่อนปกคลุมไปด้วยขนอ่อน ๆ มีความสูงของต้นประมาณ 6-18 เมตร มีขนาดใหญ่กว่าชาจีนอย่างเด่นชัด กิ่งที่มีอายุมากจะเปลี่ยนเป็นสีเทา[4] ต้นชาอัสสัม
    • ใบชา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับและเวียน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเด่นชัด โดยมีหยักฟันเลื่อยประมาณ 9 หยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-16 เซนติเมตร หรืออาจพบใบมีที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม ก้านใบและท้องใบมีขนอ่อนปกคลุม[4] ใบชาอัสสัม
    • ดอกชา ดอกเจริญจากตาบริเวณง่ามใบบนกิ่ง ในแต่ละตาจะประกอบไปด้วยตาที่เจริญไปเป็นกิ่งอยู่ด้านบนของตา ส่วนใหญ่ดอกออกติดกันเป็นกลุ่ม ๆ ช่อละประมาณ 2-4 ดอกต่อตา ดอกมีกลีบเลี้ยงประมาณ 5-6 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ลักษณะเป็นรูปทรงโค้งมนยาว ก้านดอกยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมีประมาณ 5-6 กลีบ โคนกลีบติดกับฐานดอกแคบ ส่วนปลายกลีบบานออก วงเกสรเพศผู้ประกอบไปด้วยอับละอองเกสรสีเหลืองติดอยู่ ส่วนปลายของก้านชูอับละอองเกสรเป็นสีขาว ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมีลักษณะเป็นก้านกลม ภายในรังไข่แบ่งออกเป็นช่อง 1-3 ช่อง เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3.65 เซนติเมตร[4]
      ชาอัสสัมดอกชาอัสสัม
    • ผลชา ผลเป็นแบบแคปซูล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร เมื่อแก่เต็มที่เปลือกจะแตกออก ภายในมีเมล็ดลักษณะกลม ผิวเมล็ดเรียบแข็ง เป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง หรือสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 11-12 มิลลิเมตร[4]ผลชาอัสสัม

ในเรื่องของกระบวนการผลิตชาจะเริ่มจากการเก็บใบชาสด แล้วนำมาเข้ากระบวนการที่ทำให้เกิดการหมักในระดับที่แตกต่างกันไป ซึ่งเมื่อจัดแบ่งประเภทชาตามระดับของการหมักแล้วจะสามารถแบ่งชาหลัก ๆ ออกได้เป็น 3-4 ประเภท คือ ชาขาว (White tea), ชาเขียว (Green tea), ชาอู่หลง (Oolong tea) และชาดำ (Black tea) โดยชาขาวและชาเขียวนั้นเป็นชาที่ไม่ผ่านการหมักเลย ส่วนชาอู่หลงเป็นชาที่ผ่านการหมักบางส่วน และชาดำเป็นชาที่ผ่านการหมักอย่างสมบูรณ์[4]

ประเภทของชา

สรรพคุณของชา

  1. ใบนำมาต้มเคี่ยวเอาน้ำกิน ช่วยกระตุ้นทำให้กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน ทำให้ตาสว่าง กระตุ้นให้หายเหนื่อย (ใบ)[1],[2],[3]
  2. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ หน้ามืดตามัว (ใบ)[2]
  3. ใบชานำมานึ่งแล้วหมักกับเกลือ ทำเป็นคำ ๆ ใช้อม จะช่วยทำให้คอชุ่ม แก้อาการกระหายน้ำได้ดีมาก (ใบ)[1],[2]
  4. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ใบ)[1],[2],[3]
  5. ใบชามีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น (ใบ)[1],[3]
  1. รากชามีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น แก้โรคหัวใจบวมน้ำ (ราก)[2]
  2. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)[3]
  3. กิ่งและใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด (ใบ,กิ่ง)[3]
  4. ใบมีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมานใช้รักษาและลดอาการท้องร่วง (ใบ)[1],[3]
  5. ใบใช้เป็นยาแก้บิด (ใบ)[2]
  6. ใบแห้ง ใช้ชงใส่น้ำตาล กินเป็นยารักษาอาการปวดท้อง (ใบ)[5]
  7. รากใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก)[2]
  8. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ)[2]
  9. ช่วยขับปัสสาวะ (ราก,ใบ)[2]
  10. ช่วยแก้ตับอักเสบ (ราก)[2]
  11. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษ (ใบ)[2] กิ่งและใบ นำมาชงแก่ ๆ ใช้รักษาอาการเป็นพิษของยาอันตรายที่เป็นอัลคาลอยด์ต่าง ๆ (กิ่งและใบ)[1]
  12. รากมีสรรพคุณช่วยต้านเชื้อ แก้ปากเป็นแผล (ราก)[2]
  13. กิ่งมีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล (กิ่ง)[3]
  14. ใบใช้เป็นชะล้างแผล สมานแผล แก้บวม (ใบ)[3]
  15. ราก เมล็ดและน้ำมันใช้เป็นยาภายนอก แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้แผลเปื่อย (ราก,เมล็ดและน้ำมัน)[2] กากใบชาใช้เป็นยาพอกแผล สำหรับแผลที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก (กากใบชา)[1],[3] ส่วนกิ่งและใบใช้ทำเป็นน้ำยาสมานของกรดแทนนิน ใส่แผลไหม้พอง (กิ่งและใบ)[1]
  16. ราก เมล็ดและน้ำมัน ใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน (ราก,เมล็ดและน้ำมัน)[2] ส่วนใบก็มีสรรพคุณรักษากลากเกลื้อนได้เช่นกัน (ใบ)[3]
  17. ใบชามีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ดี (ใบ)[1],[3]

หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [2] ในส่วนของใบให้ใช้ใบแห้งประมาณ 3-10 กรัม หรือกะเอาตามสมควร นำมาชงกับน้ำรับประทาน ส่วนรากให้ใช้รากแห้งประมาณ 30-50 กรัม[2] ส่วนอีกวิธีระบุให้ใช้ใบแห้งประมาณ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน 1-2 แก้ว ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที นำมาจิบบ่อย ๆ ดื่มต่างน้ำ[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชา

  • สารที่พบได้แก่ Caffeine 1-4%, Barringtogenol, Gallotannic acid, Theophylline, Theobromine, Theasapogenol A, B, C, D, E, Theafolisaponin, Xanthine, Vitamin C และน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า สารสำคัญที่พบในชา ได้แก่ acetaldehyde, acetamide, acetone, acetophenone, afzelechin, amyrin, apigenin, aromadendrin, benzaldehyde, benzolthiazole, brassinolide, butyroin, caffeine, camellia galactoglucanm camelliaside A, B, C, carvacrol, fluoride, linalool-β-D-glucopyranoside[3]
  • ชามีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ลดไขมัน กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยแก้อาการซึมเศร้า ป้องกันฟันผุ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน[3]
  • สาร Caffeine และสาร Theophylline มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหัวใจแข็งตัว ทำให้หัวใจถูกกระตุ้นและมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นด้วย[2]
  • เมื่อนำสารที่สกัดได้จากใบชามาทดลองกับหัวใจที่อยู่นอกร่างของกบ พบว่า มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของหัวใจกบ และมีผลต่อการเต้นของหัวใจให้แรงขึ้น โดยเฉพาะในใบชาเขียว จะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน[2]
  • เนื่องจากใบชามีสาร Caffeine และสาร Theophylline รวมอยู่ด้วย โดยสารเหล่านี้มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของท่อดูดซึมน้ำในไต จึงมีประสิทธิภาพในการขับปัสสาวะได้มากขึ้น[2]
  • คาเฟอีนยังมีฤทธิ์กระตุ้นกระเพาะอาหาร ทำให้หลั่งสารน้ำย่อยของกระเพาะมากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นโคกระเพาะเป็นแผล จึงห้ามดื่มน้ำชา[2]
  • จากการศึกษาฤทธิ์ของสาร Catechins ในหนูขาวเพศผู้อายุ 7 สัปดาห์ โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมให้กินน้ำ และกลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม ที่ให้กินสารละลาย catechins เข้มข้น 0.1% และ 0.5% ผสมในน้ำตามลำดับ หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ พบว่าน้ำหนักตัวของหนูขาวในกลุ่มทดลองลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และยังพบว่ากลุ่มทดลองที่กินสารละลาย catechins เข้มข้น 0.5% สามารถลดระดับไขมัน ระดับคอเลสเตอรอล และระดับไตรีกลีเซอไรด์ในเยื่อยึดลำไส้และตับได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมในซีรัม และลดระดับกรดน้ำดีในซีรัมด้วย จากการศึกษาครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าสาร catechins ในชาไม่เพียงแต่จะช่วยเผาผลาญไขมันได้ในคนอ้วนเท่านั้น แต่ยังได้ผลดีกับคนที่ไม่อ้วนอีกด้วย[3]
    • เมื่อปี ค.ศ.2003 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองผลการลดไขมันในเลือดของชา โดยทำการทดลองกับผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีไขมันในเลือดสูง แบ่งเป็นชาย 7 คน และหญิง 3 คน ทำการทดลองให้ชาผู้ป่วยดื่ม ในกลุ่มควบคุมให้ชาที่ free caffeine พบว่าหลังจาก 3 เดือนผ่านไป ผู้ป่วยที่ได้รับชา จะมีค่าคอเลสเตอรอลลดลง 6.5%, LDL-c 0.1%, lipoprotein 16.4% จึงสรุปได้ว่า ชาสามารถลดระดับไขมันในเลือดได้[3]
    • เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศบราซิล ได้ทำการศึกษาทดลองในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูงจำนวน 100 คน แบ่งกลุ่มการทดลองเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งให้ซุป (kinako) 50 กรัมต่อวัน กลุ่มที่สองให้ชาเขียว 3 กรัมต่อวัน กลุ่มที่สามให้ซุป (kinako) และน้ำชา ขนาด 50 กรัม และ 3 กรัมต่อวัน ส่วนกลุ่มที่สี่เป็นกลุ่มควบคุม โดยใช้เวลาทำการทดลอง 45 วัน และ 90 วัน ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่สองและสามที่ให้น้ำชา มีระดับคอเลสเตอรอลลดลง[3]
    • เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองในคนที่มีไขมันในเลือดสูง จำนวน 47 คน โดยให้สารสกัดใบชาในรูปของยาเม็ด ขนาด 333 มิลลิกรัม ส่วนกลุ่มควบคุมให้ placebo ให้กิน 3 เวลาต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน ผลการทดลองพบว่าอาสาสมัครมีระดับคอเลสเตอรอลลดลง 4.32-0.14 mol/L P<0.01 ค่า LDL-c ลดลง 3.81-0.13 mol/L ค่าไตรกลีเซอไรด์ลดลง P<0.01 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[3]
    • เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองผลการลดไขมันในเลือดของ bleak tea ชาจีน ซึ่งสามารถลดระดับไขมันในเลือด หลังการให้สารละลายในหนูที่ให้ไขมันคอเลสเตอรอล 130 mg./kg. และให้ชาจีนขนาด 0.3 g./kg. หลังจากให้ชาแล้วพบว่า ค่า postprandial ของน้ำตาลในเลือดลดลง ระดับไขมันในเลือดลดลง แต่สำหรับชาเขียวที่ไม่ได้ผ่านการหมักบ่ม ไม่ได้ให้ผลดังกล่าว โดยใช้เวลาในการทดลอง 3 สัปดาห์ และพบว่าระดับไขมันในเลือดลดลง 1.36 mol/L P<0.05 และพบไขมันในไตลดลง 0.3% P<0.05 พบค่า LDL-c ลดลง 0.51 m mol/L , 0.1% P<0.05 ซึ่งค่าทางคลินิกดงกล่าวจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงต่อไป[3]
    • เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศเกาหลี ได้ทำการศึกษาผลการลดไขมันในเลือดของใบชา ซึ่งมี GCG-Rich Tea Catechins เป็นสารสำคัญในใบชา โดยทำการทดลองกับหนูทดลองที่ให้อาหารและกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง ผลการทดลองพบว่า หลังจากให้สารสกัดจากใบชาในหนูทดลองดังกล่าว ระดับไขมันในเลือดของหนูจะลดลง[3]
    • เมื่อปี ค.ศ.2009 ที่ประเทศจีน ได้ทำการศึกษาทดลองผลในการลดระดับไขมันในเลือดของ Kombucha tea ในหนูทดลอง โดยพบว่าใบชาดังกล่าวจะกระตุ้นการผลิต D-saceharic acid-1, 4-lactone และเพิ่ม antioxidant enzyme ทำให้สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูได้ภายหลังการทดลอง[3]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดจากชาด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 ในขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้ทางปาก มีสารสกัด Sapponin เป็นสารพิษ เกิดความเป็นพิษผสม tannic acid จากชาปริมาณ 0.25-15.25% ในอาหาร ให้หนูขาวกินเป็นเวลา 80 สัปดาห์ จะทำลายลำไส้ ตับและไต ถ้าให้หนูขาว หนูตะเภากินสารสกัดจากชา ขนาดต่ำกว่า 5 กรัมต่อกิโลกรัม ครั้งเดียว หนูจะตายภายใน 14 วัน[3]

ประโยชน์ของชา

  1. ในช่วงที่อากาศร้อน ๆ การดื่มชาจะช่วยทำให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้นได้ เนื่องจากในใบชามีสารโพลีฟีนอล กรดอะมิโน และคาร์โบไฮเดรต เมื่อสารเหล่านี้เกิดปฏิกิริยากับน้ำลายจะช่วยกระจายความร้อนส่วนเกินในร่างกายได้[7]
  2. ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีธาตุอาหารอยู่หลายชนิดที่ช่วยบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดี ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะใบชามีสารคาเฟอีนที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาท ช่วยหมุนเวียนโลหิต มีอิทธิพลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของเซลล์ภายในร่างกาย และยังมีการใช้ชาผสมกับยาแก้ปวด รักษาโรคไมเกรน เพื่อช่วยเพิ่มฤทธิ์ในการรักษาและทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานยิ่งขึ้น[7]
  3. การดื่มชาเป็นประจำจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงสดชื่น ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความชราและมีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณ[7]
  4. การดื่มชามีผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ และช่วยสลายไขมัน ลดระดับคอเลสเตอรอล โดยไปเพิ่มการขับคอเลสเตอรอลในร่างกายผ่านทางน้ำดีในอุจจาระ[7]
  1. ในประเทศจีนรู้กันมานานแล้วว่า ชาจีนสามารถควบคุมการเกิดโรคอ้วนได้ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ต้านจุลชีพ ลดการอักเสบ สมานแผล ช่วยขับและล้างสารพิษในร่างกาย เนื่องจากใบชามีสารโฟลีฟีนอลที่สามารถช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้ ส่วนฤทธิ์ต้านการอักเสบเชื่อว่าชาสามารถช่วยป้องกันโรคที่ก่อการอักเสบเรื้อรังได้ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์[7]
  2. คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการดื่มชาสามารถช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร เพราะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเสริมสุขภาพ[7]
  3. ชามีประโยชน์ต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิต ช่วยขยายหลอดเลือด ป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และการดื่มชายังช่วยรักษาอาการเจ็บหน้าอก และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้อีกด้วย[7]
  4. การดื่มชาแก่ ๆ สักถ้วย จะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และช่วยในการย่อยอาหารจำพวกวิตามินกลุ่มต่าง ๆ[7]
  5. ชายังมีสารไอโอดีน และฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นสารที่ช่วยป้องกันภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ฟลูออไรด์ในจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายจะช่วยป้องกันฟันผุและเสริมมวลกระดูกได้[7]
  6. ใบอ่อนมีรสฝาด หอม หวาน ใช้ยำกินได้อร่อยมาก[1]
  7. ใบอ่อนนำมาปรุงแต่งและอบกลิ่นเป็นใบชา ส่งไปขายเป็นสินค้าตามต่างประเทศ ในบ้านเราเรียกว่าต้นเมี่ยง ส่วนมากทางภาคเหนือรู้จักกันมานาน[1]
  8. กากเมล็ดมีสารซาโปนิน (Saponin) ที่มีคุณสมบัติช่วยล้างสิ่งต่าง ๆ ได้สะอาดดีมาก และยังใช้สระผมเพื่อล้างสิ่งสกปรกออกจากผล นอกจากนี้น้ำมันที่ติดกากเมล็ดยังช่วยทำให้เส้นผมชุ่มชื้นเป็นมันอีกด้วย[1]
  9. กากชามีประโยชน์ช่วยในการดูดกลิ่น ส่วนใบชายังใช้ใส่ลงในโลงศพ เพื่อดูดกลิ่นเหม็นจากศพได้ด้วย[1]
  10. ส่วนคนเมืองจะใช้ใบอ่อนหมักเป็นเมี่ยงขาย ส่วนยอดอ่อนเก็บเป็นผลผลิตไว้ขาย[5]

ไร่ชา

ข้อควรระวังในการดื่มชา

  • สำหรับบางคน การดื่มชาอาจจะไม่เหมาะสมและอาจทำให้เกิดโทษได้ ได้แก่ ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ กระเพาะเป็นแผล สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้ที่มีไข้สูง ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ รวมไปถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบก็ไม่ควรดื่มชา[2],[7]
    • ผู้ที่มีปัญหานอนไม่ค่อยหลับ นอนหลับยาก หรือเป็นโรคนอนไม่หลับ ไม่ควรดื่มชาก่อนเข้านอน เพราะคาเฟอีนที่มีอยู่ในชาจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ไม่ง่วงนอน และลดความสามารถและระยะเวลาในการนอนหลับ[7],[9]
    • ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ไม่ควรดื่มชา เพราะคาเฟอีนจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจได้ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น[9]
    • คาเฟอีนยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้อีกด้วย ดังนั้นชาจึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน[9]
    • ส่วนผู้ที่มีไข้สูง สาเหตุที่ไม่ควรดื่มชาก็เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ยิ่งทำให้ตัวร้อนมากขึ้น และแทนนินยังทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาน้อยกว่าปกติ[9]
    • คาเฟอีนมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้จึงไม่ควรดื่ม เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัด อาเจียนออกมาเป็นน้ำใส ๆ และไม่ควรดื่มชาเวลาท้องว่างในตอนเช้า เพราะจะทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ แต่ถ้าอยากดื่มชาในตอนเช้า ก็ควรหาอะไรกินรองท้องก่อน[9]
    • ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ก็ไม่ควรดื่มชามากจนเกินไป เพราะร่างกายจะไม่สามารถขับน้ำออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ และทำให้ไตทำงานหนักขึ้น[9]
    • ผู้ป่วยไทรอยด์ไม่ควรดื่มชา เพราะอาการกระสับกระส่ายจะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกเพราะฤทธิ์ของคาเฟอีน[9]
    • สำหรับสตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดไม่ควรดื่มชา โดยเฉพาะก่อนและหลังกินยาคุม 4 ชั่วโมง เพราะสารแทนนินจะทำให้สารต่าง ๆ ในยาคุมกำเนิดละลายตัวยากและดูดซึมได้น้อยลง[9]
    • สตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ควรดื่มชา สาเหตุก็เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้[9]
    • แม่ลูกอ่อนที่ให้นมลูก ก็ไม่ควรดื่มชา เพราะจะทำให้สารต่าง ๆ ในน้ำชาจะผ่านไปทางนมแม่ ทำให้ทารกขาดแร่ธาตุสำคัญ และยังทำให้ความสามารถในการขับน้ำนมของแม่ลดลงด้วย[9]
    • เด็กเล็กก็ไม่ควรดื่มชา เพราะจะทำให้ร่างกายย่อยและดูดซึมอาหารได้ไม่เต็มที่ เป็นอุปสรรพคุณต่อการเจริญเติบโต[9]
  • สารคาเฟอีนในชา มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและมีผลเสพติดอ่อน ๆ ถ้าไม่ได้ดื่มแล้วอาจจะรู้สึกหงุดหงิดได้ และร่างกายไม่ควรได้รับคาเฟอีนเกินวันละ 200 มิลลิกรัม (ประมาณ 4-5 ถ้วย) ผลของคาเฟอีนจะอยู่ได้ประมาณ 8-14 ชั่วโมง และร่างกายจะต้องใช้เวลามากกว่า 48 ชั่วโมงในการสลายคาเฟอีน ถ้าหากร่างกายได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูงหรือประมาณ 3,000-10,000 มิลลิกรัม จะทำให้ตายได้ในเวลาอันสั้น[9]
  • ใบชาที่มีคุณภาพต่ำจะมีกรดแทนนินอยู่มาก มีผลต่อกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ส่งผลให้ดูดซึมอาหารได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยอาการขาดธาตุเหล็กในเลือด และเมื่อแทนนินรวมกับโปรตีนจะทำให้ย่อยโปรตีนยากขึ้นด้วย[7]
  • การดื่มชาที่เข้มข้นมาก ๆ จะมีผลทำให้กระเพาะอาหารดูดซับอาหารได้น้อยลง ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ท้องผูกได้ ยิ่งถ้าดื่มตอนท้องว่างติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารได้ แต่ทางที่ดีควรจะดื่มชาหลังรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 2-3 ชั่วโมง[7]
  • ใบชามีสารออกซาเลต (Oxalate) แม้จะมีอยู่น้อย แต่ถ้าดื่มมาก ๆ และดื่มเป็นประจำ สารนี้ก็อาจสะสมในร่างกายและเป็นอันตรายต่อไตได้[8]
  • ใบชายังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีโทษต่อร่างกาย แต่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึง นั่นก็คือฟลูออไรด์ที่มีในปริมาณสูง อาจทำให้เกิดการสะสมและมีผลทำให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคข้อ โรคกระดูกพรุน และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกระดูกได้ แต่ถ้าดื่มไม่มากก็ไม่ต้องเป็นกังวล[8]
  • ไม่ควรดื่มชาขณะกินยา ไม่ว่าจะยาแผนโบราณหรือยาแผนปัจจุบัน เพราะสารต่าง ๆ ในน้ำชาอาจไปทำปฏิกิริยากับยาที่กินเข้าไป เช่น ทำให้คุณสมบัติของยาลดลง หรืออาจกลายเป็นพิษได้ แต่หากต้องดื่มชาในยามป่วยก็ควรต้องดื่มก่อนหรือหลังกินยาประมาณ 2 ชั่วโมง และให้ชงอ่อน ๆ เข้าไว้[7],[9]
  • ผู้ที่รับประทานวิตามินหรืออาหารเสริม เช่น เกลือแร่ ธาตุเหล็ก หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชาร่วมด้วย เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ ทำให้ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย[8]
  • ในระหว่างที่กินยาบำรุงโลหิตก็ไม่ควรดื่มชา เพราะแทนนินจะไปทำปฏิกิริยากับธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารสำคัญในการช่วยบำรุงโลหิต ทำให้ดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อย รวมไปถึงผู้ที่กินยาบำรุงต่าง ๆ เช่น โสม เขากวาง ก็ไม่ควรดื่มชาเช่นกัน เพราะมันจะไปหักฤทธิ์กัน[9]
  • การดื่มชาไม่ควรดื่มชาในขณะที่ยังร้อนจัด เพราะความร้อนจะไปทำลายเนื้อเยื่อในช่องปากจนทำให้เกิดอันตรายในช่องปาก ลำคอ รวมถึงลำไส้ได้[7]
  • ไม่ควรดื่มชาที่ชงค้างไว้นานหลายชั่วโมง เพราะจะมีกรดแทนนินสูง และสารต่าง ๆ ในน้ำชาอาจทำปฏิกิริยาจนกลายเป็นสารพิษได้[7]

น้ำชา

เคล็ดลับการชงชา

  • อุ่นกาใส่ชาให้ร้อนก่อนเสมอ : ขั้นตอนแรกของการที่จะทำให้สามารถดึงรสชาติของชาได้มากที่สุดก็คือ การใส่น้ำร้อนลงไป แล้ววนรอบในกา แล้วเททิ้ง เพื่อเป็นการวอร์มทำให้การ้อนก่อน สาเหตุก็เพราะใบชาต้องการความร้อน[6]
  • ปริมาณต้องพอเหมาะ อุณหภูมิน้ำเดือดต้องพอดี : เมื่อพูดถึงวิธีการชงชาว่า นักชงชามักแนะนำว่าให้ใช้ชา 1 ช้อนสำหรับคนหนึ่งคน แล้วบวกเข้าไปอีก 1 เสมอ เมื่อชงแล้วหากว่ามีรสเข้มเกินไป คราวต่อไปก็ให้ลดจำนวนชาลง ทั้งนี้ความเข้มของชาจะขึ้นอยู่กับจำนวนชาและจำนวนน้ำเป็นหลัก สำหรับชาดำนั้นควรใช้อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นั่นก็คือ อุณหภูมิน้ำเดือด เมื่อน้ำเดือดแล้วก็ให้ใส่น้ำร้อนเข้าไปในชาได้เลย และไม่ควรทิ้งน้ำให้เดือดนาน ๆ เพราะออกซิเจนในน้ำจะหายไป ทำให้รสชาติน้ำเปลี่ยน แต่ถ้าเป็นชาขาว ชาเขียว และชาอู่หลง ให้ใช้อุณหภูมิต่ำกว่าเล็กน้อย เมื่อน้ำเดือดแล้ว เราอาจจะต้องปิดไฟแล้วรอสัก 2-3 นาที เพื่อให้อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย เพราะชากลุ่มนี้เป็นชาที่ละเอียดอ่อนกว่า ถ้าใช้อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสจะทำให้ชากลุ่มนี้ขมเกินไป[6]
  • ชาแบบซองไม่ต้องแกว่ง แต่ให้ใช้เวลา : หลายคนนิยมนำชาที่เป็นซองมาชงดื่ม สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ หลายคนไม่ทราบว่าต้องทิ้งระยะไว้นานเท่าไหร่ หลาย ๆ คนคิดว่าเมื่อเทน้ำร้อนลงไป หลังจากผ่านไป 30 วินาที แล้วก็กระตุกถุงชา จะทำให้น้ำเริ่มเปลี่ยนสี แต่ความจริงแล้วมันเป็นวิธีที่ผิด สิ่งที่คุณเห็นในแก้วชา มันก็เป็นแค่น้ำที่มีสีเหมือนชาเท่านั้น แต่รสชาติยังไม่ใช่ชา เพราะแท้จริงแล้วการชงชาจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 นาที ถึงจะดึงรสชาติและคุณภาพจริง ๆ ออกมาได้ ข้อสำคัญอีกอย่างก็คือ ไม่ควรกระตุกซองชา แต่ควรปล่อยไว้นิ่ง ๆ อย่างนั้นแล้วรอจนกว่าจะครบ 3 นาที แล้วจึงค่อยนำถุงชาออกมา[6]
  • คุณภาพของชา : เพื่อรักษาคุณภาพของชา ควรเก็บใบชาไว้ในภาชนะที่มีผาปิดสนิท และไม่วางรวมกับของที่มีกลิ่นแรง เพราะชามีสรรพคุณในการดูดซับกลิ่น[6]
  • น้ำที่ใช้ชงชา : ไม่ใช้น้ำที่ผ่านการต้มมาแล้วหลายครั้งมาใช้ชงชา เพราะน้ำที่ต้มจะมีปริมาณออกซิเจนน้อย ทำให้น้ำมีรสชาติชืด นำมาชงชาไม่อร่อย[6]
  • กาที่ใช้ชงชา : ควรล้างให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะหากกาชามีคราบฝังอยู่เนื่องจากล้างกาไม่สะอาด จะทำให้น้ำชาที่ได้มีรสชาติขมเกินไป ส่วนวิธีการล้างกาชงชาให้สะอาดก็ทำได้ไม่ยาก นั่นก็คือ ให้ใช้เบคกิ้งโซดา 2 ช้อนชา เทลงไปในกาที่มีน้ำเดือดอยู่ จากนั้นแช่ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วล้างออกเบา ๆ อีกครั้ง จะทำให้คราบหลุดออกมาอย่างง่ายดาย[6]
  • การเสิร์ฟชา : ก่อนเสิร์ฟชา ควรหมุนวนกาน้ำชาสักสามรอบก่อนนำมาเสิร์ฟ ที่สำคัญหลังชงชาเสร็จควรเสิร์ฟในทันที เพราะถ้าหากปล่อยไว้นานเกิน 10 นาที จะทำให้รสชาติของชาเปลี่ยนไป[6]
  • การดื่มชา : การดื่มชาเข้มข้นก่อนอาหารหรือหลังอาหารทันที จะทำให้กระเพาะลำไส้ดูดซึมอาหารได้น้อยลง ซึ่งเวลาที่เหมาะสมสำหรับการดื่มชาก็คือหลังอาหารประมาณ 2-3 ชั่วโมง และไม่ควรดื่มชาที่ชงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง เพราะน้ำชาอาจบูด และทำให้สารต่าง ๆ ทำปฏิกิริยากัน ทำให้ชาเสื่อมคุณภาพ[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ชา”.  หน้า 262-264.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ชา”.  หน้า 200.
  3. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  “ชา”  หน้า 81-82.
  4. Mae Fah Luang University.  “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับชา ตอนที่ 1: สายพันธุ์ชา”.  เข้าถึงได้จาก: www.mfu.ac.th.  [11 ส.ค. 2014].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “Tea plant”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [11 ส.ค. 2014].
  6. ผู้จัดการออนไลน์.  “รู้ลึกรู้จริงเรื่องชา กูรูระดับโลกบินมาแนะวิธีชงดื่มสไตล์อังกฤษแท้ ๆ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [11 ส.ค. 2014].
  7. ศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข.  “เคล็ด(ไม่)ลับ เลือกดื่มชาเพื่อสุขภาพ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: elib.fda.moph.go.th.  [11 ส.ค. 2014].
  8. ข่าวสด คอมลัมน์ : เก็บเรื่องมาเล่า.  (ชนา ชลาสัย).
  9. ผู้จัดการออนไลน์.  (เอมอร คชเสนี).  “ดื่มชาทั้งที ต้องให้มีประโยชน์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [12 ส.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 潘立傑 LiChieh Pan, Ahmad Fuad Morad, francis renaud, Yuri Hayashi, Kals Pics, Ola Waagen, Tan Yilmaz), www.qsbg.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด