ในปัจจุบันหลายท่านคงจะได้รู้จักกับ “ชา” กันเป็นอย่างดี และเราคงจะเคยดื่มน้ำชากันมาบ้างแล้ว เพราะชาจะมีขายอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป มีอยู่ด้วยกันหลากหลายยี่ห้อ ใส่บรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป
ชาที่เราดื่มกันนั้นไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใดก็ตาม ก็จะมาจากพืชชนิดเดียวกันทั้งสิ้น นั้นก็คือ “ต้นชา” ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis แต่ชาที่ได้นั้นจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับระดับการหมักของกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันออกไป เช่น ชาเขียว ชาดำ ชาอู่หลง ชาฝรั่ง เป็นต้น
ชาอู่หลง
ชาอู่หลง (Oolong tea) คือ ชาชนิดที่ผ่านกระบวนการหมักยอดใบชาสดเพียงบางส่วนประมาณ 10-80% ในระหว่างการผลิต โดยการเพิ่มขั้นตอนการนำใบชามาผึ่งแดดไว้ประมาณ 20-40 นาที ทำให้อุณหภูมิของใบชานั้นสูงขึ้นจนเกิดกลิ่นหอมแล้วจึงนำไปผึ่งในที่ร่มอีกครั้ง พร้อมกระตุ้นให้ยอดชาตื่นตัว เร่งการหมัก แล้วจึงนำยอดชาที่หมักนั้นมาทำให้แห้ง
จากการที่กรรมวิธีการผลิตชาอู่หลงที่ผ่านกระบวนการกึ่งหมักนั้น จึงทำให้เกิดสารสำคัญที่เรียกว่า Oolong Tea polymerized-polyphenols หรือ OTPPs (พบได้มากในชาอู่หลง) นอกเหนือจากกาเฟอีน (Caffeine) และสารในกลุ่มคาเทชิน (Catechin) ที่พบได้เช่นกันในชาเขียวและชาดำ สำหรับ OTPPs นั้นเป็นกลุ่มของสารโพลีฟีนอลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสารกลุ่มคาเทชินอันเนื่องมาจากกระบวนการกึ่งหมักของใบชา โดยมีเอนไซม์โพลีฟีนอลออกซิเดสและความร้อนจากกระบวนการผลิตเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งสารในกลุ่มนี้จะมีผลต่อสี กลิ่น และรสชาติของชาอู่หลง โดยปริมาณของสารนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามระดับของการหมัก มักพบอยู่ในช่วงประมาณ 8-85% ตัวอย่างของสารในกลุ่มนี้ก็ได้แก่ ไดเมอร์ริกคาเทชิน เช่น Oolonghomobisflavan A และ Oolonghomobisflavan B สารกลุ่มทีเอฟลาวิน (Theaflavins) และทีอะรูบิจิน (Thearubigins)
โดยขั้นตอนการหมักนั้นจะช่วยทำให้สีของน้ำชาเข้มขึ้น ชาแบบนี้ที่รู้จักกันก็คือ “ชาอู่หลง” หรือ “ชาอูหลง” เป็นที่นิยมดื่มกันมากในแถบประเทศจีนตอนกลาง แถบมณฑลฝูเจี๋ยน กวางตุ้ง เป็นชาที่มีรสชาติเข้มข้นและมีกลิ่นหอม น้ำชาที่ได้จะมีสีแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต เช่น สีเหลืองอมเขียว สีน้ำตาลอมเขียว สีน้ำตาลอมเหลือง สีน้ำตาลอมส้ม เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยนั้นได้มีการผลิตชาอู่หลงในแถบยอดดอยแม่สลอง ดอยวาวี จังหวัดเชียงราย ซึ่งชาที่ได้จะมีคุณภาพที่ดี รสชุ่มคอ และมีกลิ่นหอม ซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมดื่มกันมากขึ้น
สรรพคุณของชาอู่หลง
- ชาอู่หลง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ หลายโรค และช่วยชะลอวัย
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
- ช่วยต้านอาการอักเสบและบวม
- ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ประโยชน์ของชาอู่หลง
- ชาอู่หลง เป็นชาที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมาเป็นระยะเวลานาน มีจุดเด่นตรงที่มีกลิ่นหอมละมุนชุ่มติดคอ ให้รสชาติที่เข้มกว่าชาเขียว แต่ฝาดน้อยกว่าชาดำ โดยจัดเป็นเครื่องดื่มที่รายงานการศึกษาถึงผลดีต่อร่างกายหลายด้าน
- จากการศึกษาวิจัยของชาวสหรัฐอเมริกา และได้มีการตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Nutrition ได้ระบุว่า ชาอู่หลงเป็นตัวช่วยในการล้างพิษ สามารถช่วยกำจัดอนุมูลอิสระที่ทำลาย DNA ในกระแสเลือดได้ดี
- ชาอู่หลงมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยต่อต้านริ้วรอยที่เกิดจากการเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเล็ต มลภาวะต่าง ๆ และความเครียด จึงช่วยชะลอความแก่ได้อีกด้วย
- รายงานของกองการป้องกันโรคและกองงานโภชนาการ ในกรมการแพทย์ของประเทศจีน ได้รายงานว่า ชาอู่หลงมีฤทธิ์ยับยั้งสาร DEAN ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด และสาร MNNG ที่เป็นสารก่อมะเร็งในกระเพาะอาหารและลำไส้
- ช่วยลดการสะสมและช่วยควบคุมปริมาณของไขมันในเลือด ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอ้วน (OTPPS เป็นสารในกลุ่มโพลีฟีนอล มีความสำคัญต่อการลดและควบคุมปริมาณของไขมันในร่างกาย โดยพบว่าสารในกลุ่มนี้สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลเปสซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการดูดซึมไขมันที่ลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นกลไกเดียวกันกับยาลดความอ้วนบางชนิดในปัจจุบัน และยังมีรายงานด้วยว่าการดื่มชาอู่หลงหลังการรับประทานอาหารจะช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้อย่างมีนัยสำคัญ ช่วยเพิ่มการขับไขมันออกทางอุจจาระ มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงาน โดยมีรายงานว่าชาอู่หลงสามารถเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่าชาเขียวถึง 2 เท่า) (บางข้อมูลระบุว่า ชาอู่หลงสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ถึง 4% และช่วยลดระดับไขมันเลว (LDL) ที่เป็นโทษต่อร่างกายลงได้ถึง 8%)
- การดื่มชาอู่หลง น่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันและบำบัดภาวะอ้วนลงพุง หรือ Metabolic syndrome ได้ โดยมีการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นผลของการดื่มชาอู่หลงต่อการลดความอ้วนในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ซึ่งเป็นการศึกษาของ Rong-rong H และคณะ ได้พบว่าการบริโภคชาเขียววันละ 8 กรัม ติดต่อกัน 6 สัปดาห์ จะทำให้น้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 1 กิโลกรัม ไขมันที่สะสมในร่างกายก็ลดลง 12% และมีความสัมพันธ์กับเส้นรอบวงเอวที่ลดลงด้วย ส่วนการศึกษาของ Junichi N และคณะ ได้พบว่าการดื่มชาอู่หลงติดต่อกันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ จะช่วยทำให้ไขมันในช่องท้องลดลง โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ เช่นเดียวกับการศึกษาของ Maekawa T และคณะ ทีได้พบว่า การดื่มชาอู่หลงสามารถทำให้น้ำหนักตัว ดัชนีมวลกาย มวลไขมันรวมในร่างกาย ไขมันในช่องท้อง เส้นรอบวงเอว เส้นรอบวงสะโพก และความหนาของชั้นไขมันใต้ผิวหนังลดลงอย่างปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Nakamura J และคณะ ที่พบว่าการดื่มชาอู่หลงสามารถช่วยลดไขมันสะสมในช่องท้องและขนาดรอบวงเอว ส่วนการศึกษาจากจีนซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็นคนอ้วนจำนวน 102 ราย พบว่า เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างดื่มชาอู่หลงทุกวัน ติดต่อกัน 6 สัปดาห์ พบว่าร้อยละ 22 ของกลุ่มตัวอย่างมีน้ำหนักตัวลดลงเกินกว่า 3 กิโลกรัม โดยส่วนที่ลดจะเป็นไขมันบริเวณพุงมากกว่าส่วนอื่น ๆ
- ชาอู่หลงสามารถช่วยเพิ่มกระบวนเมทาบอลิซึม (Metabolism) หรือกระบวนการเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่าชาชนิดอื่น ๆ โดยมีรายงานว่าการดื่มชาอู่หลงจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญขณะพักในเวลา 120 นาที หลังการดื่มประมาณ 10% เมื่อเทียบกับชาเขียวซึ่งจะเพิ่มได้เพียง 4% ด้วยเหตุนี้เองชาอู่หลงจึงเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะสำหรับผู้ที่นิยมกินเนื้อสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ และผู้ที่ต้องการลดลดระดับคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือดสูง
หมายเหตุ : สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนด้วยการดื่มชาอู่หลงเพียงอย่างเดียวเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำให้ทำครับ หากคุณต้องการลดน้ำหนักคุณก็ต้องใช้วิธีการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การออกกำลังกายอย่างเสมอ ควบคุมอาหาร มีอารมณ์แจ่มใสเบิกบาน ไม่เครียด เป็นต้น สำหรับชาอู่หลงสำเร็จรูปที่วางขายตามท้องตลาดนั้น อันนี้ผมไม่ขอแนะนำครับ ซื้อแบบที่เป็น “ใบชาอู่หลง” มาชงดื่มเองจะได้ประโยชน์สูงสุดครับ เพราะชาอู่หลงแบบสำเร็จนั้น ถ้าหากลองสังเกตดูที่ฉลากโภชนาการข้างขวดแล้วคุณก็จะพบว่าบางยี่ห้อมีการเติมน้ำตาลลงไปมากถึง 28 กรัมต่อ 1 ขวด ซึ่งแน่นอนว่ากินให้ตายยังไงน้ำหนักก็ไม่ลดลงอย่างแน่นอน แต่ถ้าจะซื้อมาดื่มจริง ๆ ก็ควรจะเลือกเป็นแบบที่ไม่ใส่น้ำตาล
วิธีชงชาอู่หลง
การชงชาอู่หลง ให้มีรสชาติดีนั้นมีข้อสำคัญหลักอยู่ 4 ประการ ได้แก่
- ปริมาณของใบชา : การจะใช้ในปริมาณเท่าใดนั้นจะอยู่กับลักษณะของใบชา (เช่น กลมแน่น กลมหลวม หรือเป็นเส้น) ถ้าใบชาที่ใช้มีลักษณะกลมแน่น ให้ใช้ชาประมาณ 25% ของกาชา (เมื่อแช่อยู่ในน้ำร้อนจะคลายตัวจนเป็นใบชัดเจน ถ้าใส่มากเกินไปจะทำให้การคลายตัวไม่ดี รสชาติที่ได้จะไม่ได้มาตรฐาน) เมื่อคลายเต็มที่ควรจะมีปริมาณ 90% ของกาชา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของใบชา และขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนด้วยนะครับ ว่าต้องการให้มีรสชาติเข้มข้นมากน้อยเพียงใด
- อุณหภูมิของน้ำ : น้ำที่ใช้ชงไม่จำต้องใช้น้ำร้อนเกิน 100 องซาเซลเซียส แต่ให้ดูว่าจะชงชาประเภทใด เช่นอุณหภูมิต่ำกว่า 80 องศาเซลเซียส จะใช้ชงกับชาเขียวทั่วไป อุณหภูมิ 80-90 องศาเซลเซียส จะเหมาะกับชาที่เป็นรูปทรงบอบบางแตกหักง่ายหรือชาที่มีใบอ่อนมาก ส่วนอุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียสขึ้นไปนั้นจะเหมาะสำหรับชาที่รูปทรงแน่นกลมแข็ง
- เวลาในการชง : เวลาเป็นตัวบ่งบอกว่า น้ำชาที่ได้จะมีรสอ่อนหรือแก่ โดยปกติแล้วชาประเภททรงกลมแน่นจะใช้เวลาในการชงครั้งแรกประมาณ 45-60 วินาที แต่ถ้าชงครั้งต่อ ๆ ไป ก็ให้เพิ่มเป็น 10-15 วินาทีต่อครั้ง
- กาชาที่ใช้ชง : กาที่ใช้ควรทำมาจากดินเผา เพราะกาดินเผาจะเก็บความร้อนได้ดีกว่า และให้การตอบสนองที่ดีกว่ากาที่ทำมาจากวัสดุแบบอื่น
สำหรับวิธีการชงชาอู่หลงนั้น มีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้ครับ
- ใส่ใบชาลงไปในกาประมาณ 1/6-1/4 ของปริมาตรกา
- รินน้ำเดือดลงในกาครึ่งหนึ่ง แล้วเทน้ำทิ้งทันที (ไม่ควรเกิน 5 วินาที) เพื่อเป็นการล้างและอุ่นใบชาให้ตื่นตัว
- ขั้นตอนต่อมาให้รินน้ำเดือดลงในกาชาอีกครั้งจนเต็ม แล้วปิดฝากาทิ้งไว้ประมาณ 45-60 วินาที
- เมื่อเสร็จแล้วให้รินน้ำชาลงในแก้วดื่ม (ในการรินแต่ละครั้ง จะต้องรินน้ำออกให้หมดจากกา มิฉะนั้นจะทำให้น้ำชาที่เหลือคากามีรสขมและฝาดมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เสียรสชาติได้)
- ใบชาสามารถชงซ้ำได้ประมาณ 4-6 ครั้ง และในการชงแต่ละครั้งให้เพิ่มเวลาครั้งละประมาณ 10-15 วินาที เช่น ชงรอบแรกใช้เวลา 60 วินาที พอจะชงครั้งที่สองก็ให้เพิ่มเป็น 70-75 วินาที เป็นต้น
พูดถึงประโยชน์มาก็เยอะ ถ้าจะให้บอกว่าชาอู่หลงเป็นชาที่ไม่มีโทษหรือผลข้างเคียงเลยก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าชาแล้วก็ต้องมีข้อเสียและข้อควรระวังอยู่บ้าง เพราะชานั้นเป็นเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไทรอยด์ โรคกระเพาะอักเสบ โลหิตจาง ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ รวมถึงสตรีมีครรภ์ ซึ่งข้อเสียส่วนนี้ไว้ผมจะกล่าวถึงในบทความต่อไปครับ ในเรื่อง “ชา” ว่าจริง ๆ แล้วมันมีประโยชน์หรือโทษอย่างไร เพราะที่กล่าวมานั้นคือสรรพคุณของชาอู่หลงเท่านั้น
เอกสารอ้างอิง
- สาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ. “มารู้จัก ชา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : edtech.ipst.ac.th. [07 ส.ค. 2014].
- ผู้จัดการออนไลน์. (วีณา นุกูลการ, เพ็ญนภา เจริญกิจวิวัฒน์). “OTPPs คุณประโยชน์จากชาอู่หลง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [07 ส.ค. 2014].
- หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 16 ก.ย. 2556. (ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ประธานฝ่ายวิชาการ ชมรมโภชนวิทยามหิดล). “คุณค่าน่ารู้ของชาอู่หลง”.
- วารสารสุขสาระ ฉบับเดือนมีนาคม 2556
- Chin J Integr Med. (He RR, Chen L, Lin BH, Matsui Y, Yao XS, Kurihara H.). “Beneficial effects of oolong tea consumption on diet-induced overweight and obese subjects.”
- Jpn Pharmacol Ther. (Nakamura J, Abe K, Ohta H and Kiso Y.). “Lowering Effects of the OTPP (Oolong Tea Polymerized Polyphenols) Enriched Oolong Tea (FOSHU “KURO-Oolong Tea OTPP) on Visceral Fat in Over Weight Volunteers.”
- Jpn Pharmacol Ther. (Maekawa M, Teramoto T, Nakamura J, et al). “Effect of long-term Intake of “KURO-Oolong tea OTPP” on body fat mass and metabolic syndrome risk in over weight volunteers.”
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by anzyAprico, Stacey~, Guillermo Vera, DaseinDesign)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)