ชาขาว
ชาขาว (White tea) คือ ชาที่ได้จากการเก็บใบชาเฉพาะส่วนของใบชาที่อยู่ยอดสุดเพียงใบเดียว ซึ่งเป็นยอดอ่อนสุดที่เพิ่งแทงยอดออกมาและยังมีอายุน้อย ๆ ลักษณะเด่นของชาขาวที่ไม่เหมือนชาชนิดอื่น ๆ นั่นก็คือ ชาขาวจะมีลักษณะค่อนข้างนิ่มเล็กและบอบบาง หรือที่เรียกว่า “ตูมชาขาว” (ยอดชาขาวที่ยังตูมอยู่ ไม่บานออกรับแสงแดด) ซึ่งจะมีเส้นขนอ่อน ๆ สีขาวประกายเงินปกคลุมอยู่ ยิ่งปกคลุมมากเท่าไหร่ก็ยิ่งหมายถึงคุณภาพของชาขาวที่ดีขึ้นมากเท่านั้น จึงเป็นที่มาของชื่อ “ชาขาว” ตลอดจนไปถึงความละเอียดอ่อนในขั้นตอนการผลิต และยังต้องใช้ชาในปริมาณที่มากกว่าชาประเภทอื่นต่อการชงเพื่อให้ได้น้ำชาเพียง 1 แก้ว จึงจะได้น้ำชาขาวสีเหลองทองอำพัน ซึ่งจะมีรสชาตินุ่มนวลกลมกล่อมและชุ่มคอแบบธรรมชาติ โดยไม่มีรสฝาดขมเหมือนชาเขียวหรือชาดำ ส่วนระยะเวลาในการชงชาขาวก็จะใช้เวลามากกว่าการชงชาทั่วไป เพราะต้องทิ้งไว้ประมาณ 5-7 นาที จึงสามารถนำมารินดื่มได้
ส่วนในเรื่องของขั้นตอนการผลิตชาขาว หลังจากเก็บตูมชาขาวมาแล้วก็ต้องนำยอดชาที่เก็บได้มาผ่านกระบวนการทำแห้ง ซึ่งนิยมใช้วิธีการตากแดดให้แห้งในทันทีด้วยวิธีธรรมชาติโดยอาศัย ลม แสงแดด หรือการอบด้วยเครื่องอบ และจะไม่ผ่านกรรมวิธีที่ไม่ผ่านกระบวนในการหมักบ่มเลย
ชาขาวจะมีกลิ่นอ่อนกว่าชาชนิดอื่นและมีปริมาณคาเฟอีนที่น้อยกว่า หรือมีประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อถ้วย ในขณะที่ชาเขียวและชาดำจะมีปริมาณของคาเฟอีนอยู่ประมาณ 20 และ 40 มิลลิกรัม หรือมากกว่า ตามลำดับ และชาที่ชงได้จากยอดชาขาวนี้ยังมีปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าชาที่ชนิดอื่น ๆ และสูงชาเขียวถึง 3 เท่า อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินซีและวิตามินอีอีกด้วย
ในด้านของประโยชน์ต่อสุขภาพ ชาขาวนั้นถือว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายมาก เพราะประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อัลคาลอยด์ กรดอะมิโน วิตามิน แร่ธาตุ น้ำมันหอมระเหย และน้ำ โดยสารต้านอนุมูลอิสระส่วนใหญ่จะเป็นสารโพลีฟีนอล (polyphenol) จำพวกสารคาเทชิน (catechin) ซึ่งพบได้มากถึง 70% ของปริมาณสารโพลีฟีนอลทั้งหมด และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระจากการดื่มชาขาวหนึ่งแก้ว จะพบว่าการดื่มชาขาวจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าการบริโภคผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงในสัดส่วนที่เท่ากัน ซึ่งจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยคิงสตัน (Kingston University) ประเทศอังกฤษ ที่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและสารอาหารจากพืชผักชนิดต่าง ๆ มากกว่า 21 ชนิด รวมถึงสารสกัดจากสมุนไพรประเภทต่าง ๆ พบว่า สารอาหารที่มีประโยชน์ในชาขาวจะมีปริมาณมากกว่าพืชและสารสกัดจากสมุนไพรชนิดอื่น ๆ
ส่วนสารคาเทชินนั้นประกอบไปด้วย Catechin (C), Epicatechin (EC), Epicatechin-3-gallate (ECG), Epigallocatechin (EGC), Epigallocatechin-3-gallate (EGCG) และ Gallocatechin (GC) โดยสารโพลีฟีนอลเหล่านี้ สารที่พบได้มากที่สุดก็คือสาร EGCG ที่พบได้ประมาณ 50% ของปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ สาร EGCG เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าวิตามินเอและวิตามินซี เพราะทำปฏิกิริยาได้เร็วและแรงกว่า
ชาขาวกับชาเขียวแตกต่างกันอย่างไร? ชาขาว คือ ใบชาที่ได้มาจากการเก็บเฉพาะส่วนยอดอ่อนใบชาส่วนเดียวเท่านั้น ในขณะที่ชาเขียว คือ ใบชาที่ได้จากการเก็บยอดอ่อน ใบอ่อนใบแรกที่ติดกับยอด หรือใบอ่อนใบที่สองถัดลงมา และชาขาวจะไม่ผ่านกรรมวิธีการหมักเช่นเดียวกับชาเขียวหรือชาดำ จึงทำให้คุณค่าทางโภชนาการและศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับชาชนิดอื่น ๆ
ชาขาวเป็นหนึ่งในชาที่ดีที่สุด หาได้ยากและมีราคาแพง จึงถือเป็นชาชั้นสูง ซึ่งชาวจีนนิยมดื่มมานานกว่า 1,500 ปีแล้ว ชาขาวในแต่ละฤดูจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่หนึ่ง “ไป๋เฮา อิ๋นเจิน” ซึ่งเป็นชาขาวเกรดหนึ่งที่ดีที่สุด มีแค่ตุ่มตาอ่อนหุ้มด้วยขนสีขาวเท่านั้น เป็นที่นิยมสูงสุดสำหรับนักดื่มชา เพราะมีกลิ่นหอมหวานคล้ายดอกไม้ผสมกับกลิ่นหญ้าที่ตัดใหม่ ๆ
- กลุ่มที่สอง “ไป๋ หมูตัน” คือใบชาที่ประกอบด้วยตุ่มตาหุ้มด้วยขนอ่อนและใบอ่อนเล็ก ๆ อีก 1 ใบ ให้รสชาติและสีชาเพิ่มขึ้นจากกลุ่มแรกเล็กน้อย และทั้งกลุ่มหนึ่งและกลุ่มสองจะมีปริมาณของคาเฟอีนต่ำเมื่อเทียบกับชาอื่น ๆ
- กลุ่มที่สาม “โฉวเหมย” เป็นชาขาวเกรดต่ำลงมา เก็บได้จากการเก็บยอดอ่อนไปแล้ว มีรสชาติเข้มขึ้น ฝาด และมีกลิ่นเหม็นเขียวเล็กน้อย (ในวงการธุรกิจชา จะใช้ชาขาวเกรดนี้นำไปขายเป็นชาเขียวเกรดดีเพื่อเพิ่มมูลค่า)
- กลุ่มที่สี่ “กงเหมย” ชากลุ่มนี้จะแตกต่างจากกลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง มีการขั้นตอนการเก็บรักษาที่ด้อยกว่า และนักดื่มชาจะไม่นิยมดื่มชากลุ่มสามและสี่ จึงมีผู้นำชากลุ่มนี้ไปขายเป็นชาอื่นแทน
สรรพคุณของชาขาว
- ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์
- ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไขข้ออักเสบ
ประโยชน์ของชาขาว
- ชาขาวเป็นชาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะมีสารที่มีสรรพคุณเป็นโภชนเภสัช ได้แก่ สารโพลีฟีนอล (polyphenol) โดยเฉพาะสารคาเทชิน (Catechin) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง เป็นตัวต้านการเกิดปฏิกิริยาของสารอื่น ๆ กับออกซิเจน เพื่อช่วยพัฒนากระบวนการล้างสารพิษและสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย ช่วยป้องกันเซลล์ของร่างกายจากการเสื่อมสภาพและการถูกทำลายก่อนวัยอันควร จึงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ การดื่มชาขาวมีผลดีต่อสุขภาพของเรามาก และยังช่วยชะลอความแก่ ลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าได้อีกด้วยการดื่มชาขาวจะช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย ลดอาการตึงเครียดจากการทำงานหนัก
- ชาขาวมีคุณสมบัติในการต้านสารก่อมะเร็ง จึงช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ เนื่องจากมีปริมาณของสารคาเทชินและสารโพลีฟีนอลอื่น ๆ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมาก ดร.เรียม เตชะโสภณมณี อดีตอาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้วิจัยชาขาวมานานกว่า 10 ปี ได้ให้ความรู้เรื่องชาว่า ชาขาวมีสารฟลาโวนอยด์ ที่ทำหน้าที่ต้านโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมลูกหมาก และหากอ้างอิงคุณสมบัติของชาเขียวที่ช่วยป้องกันมะเร็งได้หลายชนิด ชาขาวก็ย่อมมีประสิทธิภาพในการยับยั้งมะเร็งชนิดต่าง ๆ ได้ดีกว่าเช่นกัน ทั้งมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ และมะเร็งผิวหนัง เพราะชาขาวประกอบไปด้วยสาร EGCG ที่มากกว่าชาเขียวจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Oregon State University ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พบว่าชาขาวมีประโยชน์ในการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยงานวิจัยได้ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ชาขาวมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับการใช้ยาซูลินแดค (sulindac) ที่มีคุณสมบัติยับยั้งและป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ในสัตว์ทดลองที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็ง และสารในชาขาวยังช่วยทำให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้ทำงานได้ดีขึ้นด้วย และจากการทดลองของมหาวิทยาลัย University of Copenhagen ร่วมกับ Stephens & Associates Inc ก็ได้พบว่า สารสกัดจากชาขาวสามารถยับยั้งและป้องกันการถูกทำลายของสารพันธุกรรมในเซลล์หลังการสัมผัสแดด จึงถือมีส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้เช่นกัน
- ช่วยบำรุงหลอดเลือดและหัวใจ ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ จากการศึกษาของ Internal Medicine and Public Health ที่ประเทศอิตาลี พบว่า เมื่อสัตว์ทดลองได้รับสารฟลาโวนอยด์เป็นประจำจะช่วยชะลอการเกิดการสะสมไขมันในหลอดเลือดได้ ซึ่งสัมพันธ์กับข้อมูลการบริโภคชาเพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจ เพราะสารฟลาโวนอยด์ในชาขาวสามารถช่วยลดความเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาร EGCG ในชาขาวนั้นมีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ดี โดยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การเพิ่มของไนตริกออกไซด์ในปฏิกิริยา superoxide production และช่วยควบคุมความดันโลหิตสูง ด้วยการไปยับยั้ง angiotensis-I converting enzyme นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าสารโพลีฟีนอลสามารถช่วยลดการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันเลว (LDL) ช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง ทำให้ปริมาณของ very low-density lipoprotein (VLDL), LDL และไตรีกลีเซอไรด์ลดลง อีกทั้งยังชวยเพิ่มปริมาณของไขมันดี (HDL) ในกระแสเลือดได้ด้วย ซึ่งการมีระดับไขมันดีสูงและมีระดับไตรกลีเซอไรด์ต่ำนี้จะสะท้อนถึงสุขภาพของระบบหัวใจที่ดีด้วย
- ชาขาวอาจมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ เนื่องจากพบว่าผู้ที่ดื่มชาขาวเป็นประจำ จะมี Glucose tolerance ดีขึ้น หรือหมายถึงความทนต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลกลูโคสในเลือด ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ร่างกายจะสามารถปรับตัวให้มีการหลั่งอินซูลินออกมาควบคุมปริมาณของน้ำตาลกลูโคสในเลือดได้นั่นเอง และจากการศึกษาในหนูทดลองยังพบว่า สารโพลีฟีนอลในชาขาวสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวที่เป็นเบาหวาน โดยไปยับยั้งการทำงานของอะไมเลสซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล ทำให้การเพิ่มขึ้นของน้ำตาลในเลือดเป็นไปอย่างช้า ๆ ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการดูดซึมของกลูโคส มีผลทำให้การทำงานของ glucose transporter ในลำไส้และอัตราการดูดซึมของกลูโคสลดลง นอกจากนี้สารโพลีฟีนอล ประเภท EGCG ยังช่วยเพิ่มความต่อสิ่งกระตุ้นของอินซูลินและสารที่หน้าที่คล้ายอินซูลิน รวมทั้งเพิ่มการป้องกันการทำงานของตับและตับอ่อนซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเบาหวาน
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล กำจัดไขมันในเส้นเลือด และช่วยในการลดน้ำหนัก เนื่องจากสารคาเทชินและสารคาเฟอีนในชาขาว จะช่วยทำให้ระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายของเราทำงานได้ดีขึ้น ทำให้เผาผลาญพลังงานได้มาก ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลง โดยไม่มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าสารโพลีฟีนอลสามารถยับยั้ง catechol-O-methyl transferase จึงช่วยกระตุ้นการสร้างความร้อนของร่างกาย ช่วยในการเผาผลาญพลังงานและขจัดความอ้วน และจากการทดลองประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระในชาขาวและชาเขียวต่อการยับยั้งเอนไซม์ pancreatic lipase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการย่อยกรดไขมันให้มีขนาดเล็กจนสามารถดูดซึมเข้าสู่ลำไส้ได้ ซึ่งเป็นกลไกที่มีผลต่อโรคอ้วน โดยพบว่าชามีประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าวได้ดีกว่าชาเขียว นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระยังมีการเหนี่ยวนำการเกิดกระบวนการลำลายเซลล์ (apoptosis) การลดลงของกระบวนการสะสมไขมัน และกระตุ้นกระบวนการทำลายไขมันในเซลล์ของสัตว์ทดลอง และยังมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าชาขาวมีประสิทธิภาพในการลดปริมาณการสร้างเซลล์ไขมัน และช่วยทำลายไขมันในเซลล์ไขมันได้ ซึ่งทำให้มีผลต่อจำนวนเซลล์ไขมันที่มีความสามารถในการเจริญเติบโตได้ และในขณะเดี่ยวก็จะช่วยกระตุ้นการสลายไขมันที่เก็บสะสมไว้ในเซลล์ โดยการเพิ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงไตรกลีเซอไรด์ไปเป็นกรดไขมันและกลีเซอรอล การดื่มชาขาวเพื่อลดน้ำหนักควรดื่มประมาณ 2-4 ถ้วยต่อวัน เพื่อให้ได้ปริมาณของสารออกฤทธิ์ โดยผู้ที่บริโภคชาขาวเป็นประจำ (แบบชงร้อนดื่มเอง) จะสามารถลดน้ำหนักได้ประมาณ 2-3 กิโลกรัม ภายในหนึ่งเดือน โดยมีคำแนะนำให้ว่าให้ใช้วิธีดื่มน้ำเปล่าสลับกับชาขาวควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จึงจะได้ผลดีที่สุด
- จากการทดลองของมหาวิทยาลัย University of Copenhagen ที่ประเทศเดนมาร์ก ร่วมกับ Stephens & Associates Inc ของสหรัฐอเมริกา ได้พบว่า สารสกัดจากชาขาวสามารถช่วยยับยั้งและป้องกันการถูกทำลายของสารพันธุกรรม (DNA) ในเซลล์หลังการสัมผัสแสงแดดได้ โดยสารต้านอนุมูลอิสระจะช่วยปกป้องผิวจากภายในและปกป้องเซลล์ผิว จึงช่วยปกป้องผิวจากมลภาวะต่าง ๆ รวมทั้งแสงแดดซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดริ้วรอยและจุดด่างดำได้ นอกจากจะช่วยป้องกันผิวแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผิว จึงช่วยในการยับยั้งอนุมูลอิสระที่มีสาเหตุมาจากรังสียูวี ช่วยทำให้ต่อมน้ำเหลืองขจัดสารพิษออกจากผิว เสริมสร้างความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวไม่แห้งกร้าน ช่วยทำให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งจากงานศึกษาวิจัยของ Kingston University ที่ประเทศอังกฤษ ที่พบว่าสารสกัดจากชาขาวสามารถช่วยปกป้องการทำงานของเอนไซม์ที่ทำลายอีลาสตินและคอลลาเจนได้
- จากการที่ชาเขียวมีคุณสมบัติในการปกป้องผิว ฟื้นฟูสภาพผิว และช่วยบำรุงผิวพรรณที่ถูกทำลายร้ายจากมลพิษ จึงมีการนำมาสกัดใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผมประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นครีมกันแดด ครีมอาบน้ำ ครีมล้างหน้า ยาสระผม เป็นต้น และชายังถูกนำไปใช้ในสปาอีกด้วย เพราะกลิ่นหอมอ่อนละมุนละไมของชาขาว จะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายไปด้วยพร้อม ๆ กัน
- เนื่องจากชาขาวมีผลดีต่อโครงสร้างของผิวหนัง ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของเซลล์ผิวหนัง ช่วยในด้านความยืดหยุ่นของผิวหนัง จึงส่งผลทำให้การทำงานองปอด เส้นเลือด และเส้นเอ็นต่าง ๆ ทำงานได้อย่างดีเยี่ยมมากไปกว่านั้นชาขาวยังช่วยต่อต้านการทำงานของเอนไซม์บางชนิดที่เข้าไปทำงานการทำงานของข้อต่อกระดูก ทำให้ไขข้ออักเสบ หรือโรครูมาตอยด์
- จากวารสารวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์และโรคภูมิแพ้ ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2546 ได้ระบุว่าสารคาเทชินในชาขาว โดยเฉพาะ EGCG มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจากผลการทดลองได้แสดงให้เห็นว่า ชาขาวเข้มข้นมีคุณสมบัติช่วยป้องกันไม่ให้เชือ้ไวรัสเอชไอวีจับตัวกับเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่มีความสำคัญต่อภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า T Cells ซึ่งเป็นด่านแรกที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้
- สารโพลีฟนอลมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรีย โดยเชื่อว่าสารดังกล่าวสามารถทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรียได้ และจากการศึกษาของ Dyson College of Arts and Sciences มหาวิทยาลัยเพซ (Pace University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พบว่า ชาขาวมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีกว่าชาเขียว โดยสารสกัดจากชาขาว (White tea extract) อาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ นอกจากนี้ยังช่วยหยุดการทำงานของเชื้อราและไวรัส ซึ่งจากผลการทดลองที่พบทำให้คาดว่าชาขาวสกัดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อราประเภท Penicillium chrysogenum และ Saccharomyces cerevisiae และช่วยต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ ซึ่งในปัจจุบันชาขาวสกัดยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในยาสีฟันหลายยี่ห้อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อรา
- สารโพลีฟีนอลในชาขาวมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้หลายชนิด จึงสามารถลดอาการอักเสบและการติดเชื้อในช่องปากได้ ซึ่งมีทั้งแบคทีเรีย Porphyromonas gingivilis ที่ก่อโรคในช่องปาก และแบคทีเรีย Streptococcus mutans ที่ทำให้ฟันผุ นอกจากนี้สารโพลีฟีนอลยังสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อะไมเลสในน้ำลาย จึงช่วยทำให้การผลิตกลูโคสและมอลโทสน้อยลง และลดปริมาณอาหารของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุ
เอกสารอ้างอิง
- ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาธิการ. “ชา 6 ชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ”. เข้าถึงได้จาก: www.moe.go.th. [10 ส.ค. 2014].
- นิตยสาร Lisa vol.6 no.10 วันที่ 10 มีนาคม 2005
- กระปุกดอทคอม. “ชาขาว กับคุณค่าสูงสุดแห่งการบำรุงผิวพรรณ”. เข้าถึงได้จาก: women.kapook.com. [10 ส.ค. 2014].
- ข่าวสด. “ชวนดื่มชาขาวแหล่งต้านอนุมูลอิสระ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.khaosod.co.th. [10 ส.ค. 2014].
- CRC Press. (Chi-Tang Ho, Jen-Kun Lin, Fereidoon Shahidi). “Tea and Tea Products: Chemistry and Health-Promoting Properties.”
- BMC Complementary and Alternative Medicine. (Tamsyn SA Thring, Pauline Hili, Declan P Naughton). “Anti-collagenase, anti-elastase and anti-oxidant activities of extracts from 21 plants.”
- American Society For Microbiology. “White Tea Beats Green Tea In Fighting Germs.”
- Nutr Cancer. (Carter O, Dashwood RH, Wang R, Dashwood WM, Orner GA, Fischer KA, Löhr CV, Pereira CB, Bailey GS, Williams DE.). “Comparison of white tea, green tea, epigallocatechin-3-gallate, and caffeine as inhibitors of PhIP-induced colonic aberrant crypts.”
- Kingston University. “White Tea Could Keep You Healthy And Looking Young.”
- J Nutr. (Grassi D, Aggio A, Onori L, Croce G, Tiberti S, Ferri C, Ferri L, Desideri G.). “Tea, flavonoids, and nitric oxide-mediated vascular reactivity.”
- Mol Nutr Food Res. (Kao YH, Chang HH, Lee MJ, Chen CL.). “Tea, obesity, and diabetes.”
- Food Research International. (Anais Gondoin, Dominic Grussu, Derek Stewart, Gordon J. McDougall). “White and green tea polyphenols inhibit pancreatic lipase in vitro”
- Nutrition & Metabolism. (Jörn Söhle, Anja Knott, Ursula Holtzmann, Ralf Siegner, Elke Grönniger, Andreas Schepky, Stefan Gallinat, Horst Wenck, Franz Stäb, Marc Winnefeld). “White Tea extract induces lipolytic activity and inhibits adipogenesis in human subcutaneous (pre)-adipocytes.”
- American Academy Of Allergy, Asthma & Immunology. “Elements Of Green Tea Prevent HIV From Binding To Human T Cells.”
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Gina, Bridgehead Coffeehouses)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)