ชะพลูป่า
ชะพลูป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Piper wallichii (Miq.) Hand.-Mazz. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Piper aurantiacum Wall. ex C. DC.) จัดอยู่ในวงศ์พริกไทย (PIPERACEAE)[1]
สมุนไพรชะพลูป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พลูป่า (น่าน), ตะค้านหนู (สระบุรี), ชะพลูป่า (ชลบุรี), ผักแค,[1],[2] พลูแก, พลูตุ๊กแก, พลูกะตอย, สะค้านหนู เป็นต้น[3]
ลักษณะของชะพลูป่า
- ต้นชะพลูป่า จัดเป็นไม้ล้มลุกเลื้อยพันลำต้นตั้งตรงหรือรอเลื้อย ลำต้นมีข้อโป่งพอง[1],[2]
- ใบชะพลูป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ มีก้านใบ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน เนื้อใบบาง[1],[2]
- ดอกชะพลูป่า ออกดอกเป็นช่อเชิงลดตามซอกใบและที่ปลายยอด ดอกย่อยเรียงตัวอัดกันแน่นเป็นรูปทรงกระบอกแล้วห้อยลง ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลีบดอกและกลีบเลี้ยง[1],[2]
- ผลชะพลูป่า ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม เป็นผลรวมที่เกิดจากดอกเจริญมาเป็นผลและอัดกันแน่นอยู่บนก้านผลอันเดียว[1],[2]
สรรพคุณของชะพลูป่า
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ชะพลูป่าทั้งต้นนำมาตำพอกแก้อาการอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ทั้งต้น)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชะพลูป่า
- สารสกัดจากผลชะพลูป่าด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ยับยั้งการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจ และกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้และมดลูกในสัตว์ทดลอง[1]
ประโยชน์ของชะพลูป่า
- ใบใช้รับประทานสด ๆ เป็นผัก หรือใช้ห่อเมี่ยงต่าง ๆ แล้วยังนิยมนำมาทำแกงคั่วอีกด้วย[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชะพลูป่า”. หน้า 167.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ชะพลูป่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [07 ม.ค. 2015].
- ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. “List of Piper species in Thailand”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : home.kku.ac.th/raccha/. [08 ส.ค. 2015].
ภาพประกอบ : agri.wu.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)