จิงจ้อเหลืองอ่อน
จิงจ้อเหลืองอ่อน ชื่อวิทยาศาสตร์ Merremia bambusetorum Kerr จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)[1]
สมุนไพรจิงจ้อเหลืองอ่อน มีชื่อเรียกอื่น ๆ ว่า จิงจ้อเหลือง, จิงจ้อนวล เป็นต้น[1]
ลักษณะของจิงจ้อเหลืองอ่อน
- ต้นจิงจ้อเหลืองอ่อน จัดเป็นไม้เถาล้มลุกหรือทอดเลื้อย ลำต้นเกลี้ยง มีเขตการกระจายพันธุ์แคบ ๆ พบที่จีนตอนใต้และเวียดนาม ส่วนในประเทศไทยพบกระจายทั่วทุกภาค ทางภาคใต้จนถึงจังหวัดชุมพร โดยมักขึ้นตามข้างทางหรือตามชายป่า ใกล้แหล่งน้ำหรือลำธาร ที่ระดับความสูงประมาณ 100-800 เมตร[1]
- ใบจิงจ้อเหลืองอ่อน ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมยาว ปลายมีติ่ง โคนใบเป็นรูปหัวใจ พูกลม หรือเป็นเหลี่ยม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5.5-13 เซนติเมตร แผ่นใบด้านล่างมีขนตามเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบมีข้างละประมาณ 7-9 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร โคนใบมีหูใบเทียมขนาดเล็ก 2 อัน[1],[2]
- ดอกจิงจ้อเหลืองอ่อน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกย่อยมีประมาณ 1-4 ดอก ก้านช่อยาวประมาณ 3-4.5 เซนติเมตร ใบประดับมีขนาดเล็ก ก้านดอกยาวประมาณ 1-1.6 เซนติเมตร ปลายก้านหนา ส่วนกลีบดอกและกลีบเลี้ยงมีอย่างละ 5 กลีบ โดยกลีบดอกเป็นสีเหลืองครีม รูปแตร ยาวประมาณ 3-4.2 เซนติเมตร ปายกลีบเป็น 5 เหลี่ยมตื้น ๆ ด้านนอกมีขน กลีบเลี้ยงเป็นรูปรี โค้งเว้า ปลายกลมหรือตัด เส้นกลางกลีบสีเข้ม เป็นสัน ปลายเป็นติ่งแหลม ขยายในผล กลีบเลี้ยงมีขนาดเท่ากัน ยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ก้านเกสรเพศผู้จะอยู่ภายในหลอดกลีบ ก้านเกสรเป็นรูปเส้นด้าย มีขนที่จุดติด อับเรณูเรียบ บิดเวียน ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร จานรองฐานดอกเป็นรูปวงแหวน รังไข่เกลี้ยงเป็นรูปกรวย ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยงเป็นรูปเส้นด้าย ยาวประมาณ 1.6-1.8 เซนติเมตร ยอดเกสรเป็น 2 พู[1],[2]
- ผลจิงจ้อเหลืองอ่อน ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ลักษณะของผลเป็นรูปกรวยสีน้ำตาล ยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร มีช่อง 1-4 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดจิงจ้อนวลเป็นรูปสามเหลี่ยมกลม ๆ ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร มีขนสีเหลืองขึ้นหนาแน่น[1],[2]
สรรพคุณของจิงจ้อเหลืองอ่อน
- ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบจิงจ้อเหลืองอ่อนนำมาทุบผสมกับใบหมากผู้หมากเมีย แล้วคั้นเอามาใช้ทาแผล แก้หนองใน ซิฟิลิส (ใบ)[2]
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “จิงจ้อนวล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [09 ม.ค. 2015].
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “จิงจ้อเหลืองอ่อน”. หน้า 152.
ภาพประกอบ : convolvulaceae.myspecies.info
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)