จิกสวน สรรพคุณและประโยชน์ของต้นจิกสวน 30 ข้อ ! (จิกบ้าน)

จิกสวน

จิกสวน ชื่อสามัญ Powderpuff tree[4], Bottle brush oak[3]

จิกสวน ชื่อวิทยาศาสตร์ Barringtonia racemosa (L.) Spreng.[1] จัดอยู่ในวงศ์จิก (LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)[1]

สมุนไพรจิกสวน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จิกบ้าน (กรุงเทพฯ), ปูตะ (มลายู-นราธิวาส) เป็นต้น[1],[9]

ลักษณะของจิกสวน

  • ต้นจิกสวน หรือ ต้นจิกบ้าน มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเพื่อนบ้านใกล้เคียงตั้งแต่ประเทศอินเดียไปจนถึงเกาะชวาของอินโดนีเซีย และมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทางตอนใต้ของแอฟริกาถึงเคนยา อินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ไปจนถึงหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยจัดเป็นไม้พุ่มหรือยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขามากมายรอบ ๆ ต้น มีความสูงได้ประมาณ 2-20 เมตร เปลือกลำต้นมีลักษณะขรุขระเป็นสีน้ำตาลปนเทา ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีน้ำตาลเรื่อถึงสีชมพู มีเส้นใยเหนียว (เปลือกมีสาร Tannin อยู่ 18%[9]) ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดรำไรถึงแสงแดดจัด และชอบน้ำมาก มักพบขึ้นได้ตามขอบป่าพรุ หรือในที่ลุ่ม ที่ชื้นแฉะ หรือบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง เช่น ตามริมฝั่งแม่น้ำ คูคลอง ตามร่องส่วน เป็นต้น[1],[3],[5],[6],[9]

ต้นจิกสวน

  • ใบจิกสวน ออกใบดก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเรียงเวียนรอบกิ่ง เป็นกระจุกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลีบแกมรูปขอบขนาน หรือรูปหอก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบแคบ ส่วนขอบใบหยักตื้นมนและละเอียด หรือเป็นจักเล็กน้อยคล้ายกับฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-14 เซนติเมตรและยาวประมาณ 14-36 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ไม่นุ่ม มีก้านใบสั้นและเป็นครีบเล็กน้อย ก้านใบอวบสั้น ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2],[8],[9]

ใบจิกสวน

  • ดอกจิกสวน ออกดอกเป็นช่อห้อยลง โดยจะออกที่ปลายยอด ช่อดอกมีความยาวประมาณ 20-70 เซนติเมตร ก้านช่อดอกเป็นสีชมพูและเขียว ลักษณะของช่อดอกคล้ายกับแปรงล้างขวด ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 3-16 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีชมพู ในดอกตูม ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ ปลายกลีบมนและโค้ง กลีบเป็นสีชมพูมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีประมาณ 2-4 กลีบ ติดกันเป็นเนื้อเดียว มีขนาดเท่ากันหรือไม่เท่ากัน ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กสีชมพูเข้มและมีจำนวนมาก ส่วนโคนเชื่อมติดกัน ก้านเกสรยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร เป็นสีขาว โคนก้านเป็นสีชมพู เรียงเป็นชั้นประมาณ 5-6 ชั้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม (บ้างว่าออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม[8])[1],[2],[3]

ดอกจิกบ้านดอกจิกสวน

รูปดอกจิกบ้าน

จิกบ้าน

รูปดอกจิกสวน

  • ผลจิกสวน ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ปลายตัดตรง ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ โคนแคบเกือบเป็นรูปสามเหลี่ยม และผลมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่ ผิวเมล็ดเป็นร่อง (ในเมล็ดมีสาร Saponin[9]) โดยจะออกผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2],[5]

ผลจิกสวน

สรรพคุณของจิกสวน

  1. ช่วยแก้ตาเจ็บ เยื่อตาอักเสบ (เมล็ด)[1],[3],[9]
  2. เมล็ดใช้ผสมกับน้ำนม ช่วยแก้โรคดีซ่านและโรคเกี่ยวกับน้ำดี (เมล็ด)[1],[9]
  3. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ต้น)[3]
  4. แก้ชัก (ใบ)[3]
  5. รากมีฤทธิ์เป็นยาเย็น นำมาทำเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก)[1],[9]
  6. ใบใช้ตำพอก ช่วยแก้ไข้ทรพิษ หรือจะใช้ใบตำรวมกับรากและเปลือกก็มีสรรพคุณเช่นเดียวกัน (ใบ)[1],[2],[9]
  7. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (เมล็ด)[3]
  8. ผลนำมาตำเอาแต่น้ำใช้รับประทานช่วยแก้อาการไอ (ผล)[1],[2],[7],[9] ส่วนเมล็ดก็ช่วยแก้อาการไอเช่นกัน (เมล็ด)[3]
  9. ผลนำมาตำเอาแต่น้ำใช้รับประทานช่วยแก้หืด (ผล)[1],[2],[7],[9]
  10. ช่วยแก้เสมหะพิการ (ต้น)[3]
  1. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ โดยนำผลมาตำเอาแต่น้ำรับประทาน (ผล)[2]
  2. เมล็ดช่วยแก้อาเจียน (เมล็ด)[3]
  3. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ต้น)[3]
  4. ช่วยแก้อาการท้องเสีย โดยนำผลมาตำเอาแต่น้ำรับประทาน(ผล)[1],[7],[9]
  5. ช่วยแก้อาการจุกเสียด แน่น ปวดท้อง (เมล็ด)[1],[3],[7],[9]
  6. ช่วยแก้อุจจาระพิการ (ใบ)[3]
  7. ใบและผลใช้ต้มดื่ม ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ใบ, ผล)[3],[5]
  8. ช่วยแก้บิดมูกเลือด (ใบ)[3]
  9. รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)[3]
  10. เมล็ดหรือเปลือกใช้เป็นยาขับพยาธิ (เมล็ด, เปลือก)[1],[9]
  11. เนื้อไม้ช่วยขับระดูขาวของสตรี (เนื้อไม้)[3]
  12. ใบมีรสฝาดใช้เป็นยาสมานบาดแผล (ใบ)[3]
  13. ใบใช้ตำพอกแก้อาการคัน หรือจะใช้ใบตำรวมกับรากและเปลือกก็มีสรรพคุณเช่นเดียวกัน (ใบ, ราก, เปลือก)[1],[2],[7],[9]
  14. ผลใช้ตำพอกแก้ผิวหนังพุพองและใช้พอกแก้เจ็บคอ (ผล)[2],[9]
  15. เปลือกใช้เป็นยาแก้โรคปวดข้อ (เปลือก)[7]

ข้อควรระวัง ! : หากละอองเกสรของดอกจิกเข้าตา อาจทำให้ตาอักเสบและแดงได้[3]

ประโยชน์ของจิกสวน

  1. ใบอ่อนของต้นจิกสวนสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดได้ มีรสชาติดีเฉพาะตัว แต่ค่อนข้างฝาดเล็กน้อย นิยมรับประทานกันไม่เฉพาะในคนไทยเท่านั้น แต่คนชาติอื่น ๆ ก็นิยมรับประทานเช่นกัน[3],[7] บ้างว่านอกจากจะใช้ใบอ่อนหรือยอดอ่อนแล้ว ยังใช้ดอกรับประทานเป็นผักสดได้อีกด้วย โดยทั้งยอดอ่อนและดอกจะนิยมรับประทานเป็นผักสด หรือรับประทานเป็นผักจิ้มกับลาบ แจ่ว น้ำตก หรือขนมจีน เป็นต้น
  2. ดอกของต้นจิกมีความสวยงาม จึงเป็นที่นิยมในหลายท้องถิ่น ในการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ซึ่งในบ้านเราจะนิยมปลูกในวัดวาอาราม เพราะนอกจากจะมีดอกและทรงพุ่มที่สวยงามแล้ว ต้นจิกยังถือเป็นต้นไม้ในพระพุทธประวัติอีกด้วย เพราะในพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงย้ายไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิก 7 วัน และในระหว่างนั้นเองก็ได้มีฝนตกพรำและมีลมหนาวพัดตลอดเวลา ก็ได้มีพญานาคตนหนึ่งชื่อพระยามุจลินท์นาคราช ได้แผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้าจากฝนและลมหนาวตลอดทั้ง 7 วันใต้ต้นจิก นี่คือมูลเหตุของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และบางคำภีร์ก็ได้กล่าวไว้ว่า ในป่าหิมพานต์มีสระใหญ่แห่งหนึ่งที่ชื่อว่า “สระมุจลินท์” โดยสระนี้จะมีต้นจิกขึ้นอยู่รอบขอบสระเป็นจำนวนมาก หากถือตามความเชื่อนี้ ก็ถือว่าต้นจิกนี้มีถิ่นกำเนิดในป่าหิมพานต์นั่นเอง[3]
  3. เนื้อไม้จิกเป็นไม้เนื้ออ่อน มีสีขาวแกมสีแดง มีความเหนียว สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างในร่มได้ดี หรือนำมาใช้ในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ ครก สาก เครื่องเรือน หรือใช้ทำเรือ พาย ทำเกวียน เป็นต้น[3]
  4. เมล็ดหรือเปลือกใช้เป็นยาสำหรับเบื่อปลา (ไม่แน่ใจว่าคือเปลือกต้นหรือเปลือกดอก แต่มีข้อมูลระบุว่าเป็นเปลือกของดอก[3])[1],[9] บ้างว่าใช้เปลือกกับเมล็ดนำมาทุบให้แตก ใช้ตีกับน้ำเป็นยาเบื่อปลา[7]
  5. เมล็ดหรือเปลือกใช้เป็นยาฆ่าแมลง โดยน้ำที่สกัดได้จากเปลือกต้นมีความเข้มข้นประมาณ 2-2.5% สามารถใช้ฆ่าเพลี้ยต้นส้มได้[1],[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “จิกสวน (Chil Suan)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 95.
  2. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “จิกสวน จิกบ้าน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [1 มี.ค. 2014].
  3. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 188 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “จิก ผักพื้นบ้านดอกงามจากป่าหิมพานต์”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [1 มี.ค. 2014].
  4. PlantZAfrica.  “Barringtonia racemosa”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.plantzafrica.com.  [1 มี.ค. 2014].
  5. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ, สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “จิกสวน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: biodiversity.forest.go.th.  [03 ก.พ. 2014].
  6. หนังสือคู่มือคนรักต้นไม้ ไม้ดอกหอมสีชมพู.  (วชิรพงศ์ หวลบุตตา).
  7. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง.  “จิกสวน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/.  [1 มี.ค. 2014].
  8. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ.  “จิกสวน”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th.  [1 มี.ค. 2014].
  9. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “จิกสวน”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 228-230.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by palms r cool, plj.johnny/潘立傑, dani_photos2008, Trees of SEA, tamasudare3, Apurva Kumar, ichiroshouji, m.kaeru, HippoHo_tw)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด