จิกทะเล สรรพคุณและประโยชน์ของต้นจิกทะเล 6 ข้อ !

จิกทะเล

จิกทะเล ชื่อสามัญ Fish Poison Tree, Putat, Sea Poison Tree

จิกทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Barringtonia asiatica (L.) Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Agasta asiatica (L.) Miers, Agasta indica Miers, Barringtonia butonica J.R.Forst. & G.Forst., Barringtonia speciosa J.R.Forst. & G.Forst., Mammea asiatica L., Michelia asiatica (L.) Kuntze) จัดอยู่ในวงศ์จิก (LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)[2],[3]

สมุนไพรจิกทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จิกเล โดนเล (ภาคใต้), อามุง (มาเล-นราธิวาส) เป็นต้น[2]

ข้อควรรู้ ! : ต้นจิกทะเล เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม

ลักษณะของจิกทะเล

  • ต้นจิกทะเล จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ มีความสูงได้ประมาณ 7-20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาออกที่เรือนยอดของลำต้น เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบแตกกิ่งต่ำ ซึ่งเป็นกิ่งที่มีขนาดใหญ่จะมีรอยแผลอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นรอยแผลที่เกิดจากใบที่ร่วงหล่นไป เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลตาลหรือเทา แตกเป็นร่องตามแนวยาวและมีช่องระบายอากาศด้วย ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ๆ เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือแพร่พันธุ์โดยที่ผลลอยไปตามน้ำ มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลางถึงเร็ว ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่มาดากัสการ์ อินเดีย ศรีลังกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคมาเลเซียรวมถึงฟิลิปปินส์ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงทางภาคเหนือของออสเตรเลีย และในหมู่เกาะโพลีนีเซีย ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นมากตามป่าชายหาดของฝั่งทะเลและตามเกาะที่ยังไม่ถูกรบกวนทางภาคใต้[1],[2],[3]

ต้นจิกทะเล

  • ใบจิกทะเล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนเว้า โคนใบสอบเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-18 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-38 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบหนาเกลี้ยงเป็นมันวาวด้านบน เส้นแขนงใบมีข้างละ 12-14 เส้น นูนทั้งสองด้าน ก้านไม่มีหรือก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[2],[3]

ใบจิกทะเล

ใบจิกเล

  • ดอกจิกทะเล ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะตามส่วนยอดของลำต้น ตั้งตรง ช่อหนึ่งจะมีดอกอยู่ประมาณ 7-8 ดอก ช่อดอกยาวประมาณ 2-15 เซนติเมตร แกนช่อหนา ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม เกล็ดหุ้มยอดเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีใบประดับเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ใบประดับย่อยมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ฐานรองดอกเป็นรูปกรวยสั้น ๆ ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงติดกันตาดอก บานแยกออกเป็น 2 ส่วนไม่เท่ากัน ลักษณะเป็นรูปรี ติดทน ยาวได้ประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่ง ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาวอมชมพูมี 4 กลีบ ติดที่โคนหลอดเกสรเพศผู้ กลีบเป็นรูปรี ปลายกลีบมน ขอบมักม้วนเข้า ยาวประมาณ 4.5-6.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก สีแดง สีชมพู หรือสีม่วง เรียงเป็น 6 วง ยาวได้ประมาณ 9.5 เซนติเมตร วงในเป็นหมัน ยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร โคนก้านเกสรติดกันเป็นหลอด ยาวได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร จานฐานดอกเป็นวง ขอบหยักมน สูงได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี 4 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุลประมาณ 2-6 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียเป็นรูปแถบ ยาวได้ประมาณ 10-11 เซนติเมตร ยอดเกสรเป็นตุ่มมน ๆ ขนาดเล็ก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 10-12 เซนติเมตร ดอกจะบานในช่วงเวลากลางคืน และจะโรยในช่วงเวลากลางวัน โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[1],[2],[3]

จิกเล

ดอกจิกทะเล

รูปจิกทะเล

  • ผลจิกทะเล ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปพีระมิดสี่เหลี่ยม ตรงโคนผลจะเว้า ผลเป็นสีเขียวและเป็นมัน ผลเมื่อโตจะมีขนาดกว้างประมาณ 8.5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8.5-11 เซนติเมตร ผนังผลเป็นเส้นใยมีกากเหนียวหุ้มหนาคล้ายฟองน้ำ ทำให้ลอยน้ำได้คล้ายผลมะพร้าว ส่วนผนังผลด้านในแข็ง ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร (เมล็ดจิกทะเลมี fixed oil ได้แก่ olein, palmitin, glycoside barringtonin 3.27%, baringronin, hydrocyanic acid, saponin)[1],[2],[3]

ผลจิกทะเล

ผลจิกทะเล

ผลจิกเล

สรรพคุณของจิกทะเล

  • ใบ ผล และเปลือก ใช้เป็นยารักษาบรรเทาอาการปวดศีรษะ (ใบ, เปลือก, ผล)[1],[2]
  • เปลือกผลหรือเนื้อของผล เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งที่ช่วยให้คนที่นอนไม่หลับนอนหลับได้ ถ้ารับประทานเข้าไปมาก ๆ จะทำให้นอนหลับสบาย (เปลือกผล, เนื้อผล)[1],[2]
  • เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิออกจากร่างกาย (เมล็ด)[1],[2]

ประโยชน์ของจิกทะเล

  • ต้นจิกทะเลมีทรงพุ่มใบเป็นมันสวยงาม ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ปลูกเพื่อปรับภูมิทัศน์ ปลูกให้ร่มเงาได้ โดยนิยมนำมาปลูกในพื้นที่กว้าง เช่น สวนสาธารณะ ปลูกเป็นกลุ่ม ปลูกเป็นฉากหลัง ปลูกตามริมทะเล ทนน้ำท่วมได้ดี[2]
  • เปลือกผลหรือเนื้อของผลใช้เป็นยาเบื่อปลาได้[1]
  • บางท้องถิ่นจะนำผลแห้งของจิกทะเลมาจุดเป็นยาไล่ยุง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “จิกเล”.  หน้า 227-228.
  2. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “จิกทะเล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th.  [09 ม.ค. 2015].
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “จิกทะเล”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [09 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by VanLap Hoàng, Ben Caledonia, Ahmad Fuad Morad, Jellyfish57, Shipher (士緯) Wu (吳), Rick and Lea Miller, Heleen van Duin, Russell Cumming, mmadrigal2008)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด