จันผา
จันผา ชื่อวิทยาศาสตร์ Dracaena cochinchinensis (Lour.) S.C.Chen. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dracaena loureiroi Gagnep. มักเขียนผิดเป็น Dracaena loureiri Gagnep.) ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย NOLINOIDEAE
สมุนไพรจันผา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จันทน์ผา (ภาคเหนือ), จันทน์แดง (ภาคกลาง, สุราษฎร์ธานี), ลักกะจันทน์ ลักจั่น (ภาคกลาง), จันทร์ผา, ลักกะจั่น, จันทร์แดง เป็นต้น[1],[2],[3],[6],[7],[9]
ลักษณะของจันผา
- ต้นจันผา จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 1.5-4 เมตร (ต้นโตเต็มที่อาจมีความสูงถึง 17 เมตร) เรือนยอดเป็นรูปทรงไข่ มีเรือนยอดได้ถึง 100 ยอด เมื่อต้นโตขึ้นจะแผ่กว้าง ลำต้นตั้งตรง กลม มีแผลใบเป็นร่องขวางคล้ายข้อถี่ ๆ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมสีเทา แตกเป็นร่องตามยาว ไม่มีกิ่งก้าน ใบจะออกตามลำต้น ส่วนแก่นไม้ด้านในเป็นสีแดง ต้นเมื่อมีอายุมากขึ้นแก่นจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีแดง เราจะเรียกแก่นสีแดงว่า “จันทน์แดง” เมื่อแก่นเป็นสีแดงเต็มต้น ต้นก็จะค่อย ๆ โทรมและตายลง พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะกล้าจากเมล็ดหรือการแยกกอ ชอบดินปนทรายหรือหินที่มีการระบายน้ำดี ความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดเต็มวันและแสงรำไร มักพบขึ้นตามป่าภูเขาหินปูนสูง ๆ และมีแสงแดดจัด[1],[2],[3],[6],[7]
- ใบจันผา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันถี่ ๆ ที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรีขอบขนาน หรือเป็นรูปแถบยาวแคบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 45-80 เซนติเมตร เนื้อใบหนากรอบ โคนใบจะติดกับลำต้นหรือโอบคลุมลำต้น ไม่มีก้านใบ และมักจะทิ้งใบเหลือเพียงยอดเป็นพุ่ม[1],[7]
- ดอกจันผา ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด โค้งห้อยลง ออกดอกเป็นพวงใหญ่ตามซอกใบและปลายยอด แต่ละช่อจะมีความยาวประมาณ 45-100 เซนติเมตร มีดอกย่อยขนาดเล็กและมีจำนวนมากมายหลายพันดอก ดอกเป็นสีขาวนวล หรือขาวครีม หรือเขียวอมเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม ตรงกลางดอกมีจุดสีแดงสด กลีบดอกมี 6 กลีบ ดอกมีขนาดประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้จำนวน 6 ก้าน ก้านเกสรมีความกว้างเท่ากับอับเรณู ส่วนก้านเกสรตัวเมียปลายแยกเป็นพู 3 พู ชั้นกลีบเลี้ยงเป็นหลอด ที่ปลายกลีบแยกเป็นพูแคบ ๆ 6 พู ไม่ซ้อนกัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3],[7]
- ผลจันผา ออกผลเป็นช่อพวงโต ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดเล็กอยู่รวมกันเป็นพวง ผลมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมสีน้ำตาล ส่วนผลแก่เป็นสีแดงคล้ำ ภายในผลมีเมล็ดเดียว โดยผลจะแก่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน[1],[2],[3],[7]
สรรพคุณของจันผา
- แก่นมีรสขมเย็น ช่วยบำรุงหัวใจ (แก่น[1],[2],[7], ทั้งต้น[5])
- แก่นที่มีเชื้อราลงจนทำให้แก่นเป็นสีแดงและมีกลิ่นหอมมีสีแดง (เรียกว่า จันทน์แดง[4]) มีรสขมและฝาดเล็กน้อย ใช้สำหรับเป็นยาเย็นดับพิษไข้ แก้ไข้ได้ทุกชนิด และจากการทดลองในสัตว์พบว่าสารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ในการลดไข้ แต่ต้องใช้ในปริมาณมากกว่ายาแอสไพริน 10 เท่า และจะออกฤทธิ์ช้ากว่ายาแอสไพรินประมาณ 3 เท่า (แก่น, แก่นที่ราลง)[3],[4],[5],[7]
- ช่วยแก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดีพิการ (แก่น, เนื้อไม้)[1],[5],[7]
- ช่วยแก้ไอ แก้อาการไออันเกิดจากซางและดี (แก่น, เนื้อไม้)[1],[5],[7]
- เมล็ดใช้รักษาดีซ่าน (เมล็ด)[5]
- ช่วยแก้อาจมไม่ปกติ (เมล็ด)[5]
- ทั้งต้นช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ทั้งต้น)[5]
- ช่วยแก้ซาง (แก่น)[5]
- ช่วยแก้อาการเหงื่อตก อาการกระสับกระส่าย (แก่น)[1],[7]
- ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (แก่น[1],[2],[7], ทั้งต้น[5])
- ช่วยแก้ดีพิการ แก้น้ำดีพิการ (แก่น, เนื้อไม้)[5]
- ช่วยแก้บาดแผล รักษาบาดแผล (แก่น[1],[5],[7], ราก[5])
- แก่นใช้ฝนทาช่วยแก้อาการฟกบวม ฟกช้ำ ฝี บวม (แก่น)[4],[5],[7]
- ช่วยแก้พิษฝีที่มีอาการอักเสบและปวดบวม (แก่น[7], ทั้งต้น[5])
- จันผาจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเบญจโลธิกะ” ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณทำให้ชื่นใจ 5 อย่าง (แก่นจันผา, แก่นจันทน์ขาว, แก่นจันทน์ชะมด, ต้นเนระพูสี, ต้นมหาสะดำ) ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้เพื่อดี แก้ลมวิงเวียน กล่อมพิษทั้งปวง และช่วยแก้รัตตะปิตตะโรค (แก่น)[8]
- จันผาจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดจันทน์ทั้งห้า” (แก่นจันผา (แก่นจันทน์แดง), แก่นจันทน์ขาว, แก่นจันทนา, แก่นจันทน์เทศ, แก่นจันทน์ชะมด) ซึ่งเป็นตำรับที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้เพื่อโลหิตและดี ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยบำรุงตับปอดและหัวใจ และช่วยแก้พยาธิบาดแผล (แก่น)[8]
- จันผาปรากฏอยู่ในตำรับยา “มโหสถธิจันทน์” อันประกอบไปด้วยจันทน์ทั้งสอง ได้แก่ จันทน์แดง (จันผา) และจันทน์ขาว ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ อีก 13 ชนิด ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ทั้งปวงที่มีอาการตัวร้อนและมีอาการอาเจียนร่วมด้วยก็ได้ (แก่น)[8]
- จันผาปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” อันประกอบไปด้วยจันทน์แดง (จันผา) ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ ซึ่งเป็นตำรับที่ใช้บรรเทาอาการไข้ตัวร้อนและไข้เปลี่ยนฤดู (แก่น)[8]
- จันผาปรากฏอยู่ใน “ตำรับยาเขียวหอม” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษสุกใส แก้พิษหัด บรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส (แก่น)[8]
- นอกจากนี้จันผาหรือจันทน์แดงยังปรากฏอยู่ในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) อันได้แก่ ตำรับยา “ยาหอมนวโกฐ” และตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” โดยเป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบของจันผาร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ ซึ่งมีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น มีอาการคลื่นเหียนอาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง (แก่น)[8]
- จันผาจัดอยู่ในตำรับ “ยาประสะจันทน์แดง” (ประกอบไปด้วยจันทน์แดง (จันผา) จำนวน 32 ส่วน รากมะนาว รากมะปรางหวาน รากเหมือนคน โกฐหัวบัว จันทน์เทศ ฝางเสน เปราะหอม อย่างละ 4 ส่วน ดอกมะลิ ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง อย่างละ 1 ส่วน นำมาบดเป็นผงสำหรับใช้เป็นยา) ซึ่งตำรับยานี้มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ตัวร้อน และช่วยแก้กระหายน้ำ สำหรับวิธีใช้ให้นำผงยาที่ได้ (ผู้ใหญ่ให้ใช้รับประทานครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ ส่วนเด็กให้ใช้ครั้งละครึ่งช้อนกาแฟ) นำมาละลายในน้ำสุกหรือน้ำดอกมะลิ ใช้ดื่มทุก ๆ 3 ชั่วโมง (แก่น)[9]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของจันผา
- จันผามีฤทธิ์ต้านอาการปวด การอักเสบ และช่วยลดไข้ในสัตว์ทดลอง[8]
- มีฤทธิ์ต้านเชื้อ HIV ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ต้านมะเร็ง ต้านเชื้อแบคทีเรีย และมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด[8]
- จากการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเนื้อไม้จันผาด้วยเอทานอล 50% ด้วยการให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้โดยวิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูทดลองในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษแต่อย่างใด[8]
ประโยชน์ของจันผา
- ต้นจันผาเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประธานในสวนหิน ใช้ปลูกเป็นกลุ่ม หรือปลูกประดับในอาคาร ตามสนามหญ้า สวนหย่อม ตามสระว่ายน้ำ หรือจะปลูกตามริมทะเลก็ได้ เพราะเป็นไม้ทนลมแรง ทนเค็ม แต่ไม่ทนน้ำท่วมขัง[2],[3],[4]
- ส่วนของลำต้นที่เกิดบาดแผลนานเข้าจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงน้ำยาอุทัยได้[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติ ภาคกลาง. “จันทน์ผา”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.ริจศิริ เรืองรังสี, อาจารย์กัญจนา ดีวิเศษ). หน้าที่ 89.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “จันทร์ผา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [17 ม.ค. 2014].
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จันทน์ผา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [17 ม.ค. 2014].
- วิทยาลัยการอาชีพชุมแพ. “จันทร์ผา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.chumphae.ac.th. [17 ม.ค. 2014].
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สรรพคุณดอกพุดและจันทร์ผา”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3 และ 4. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [17 ม.ค. 2014].
- โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย. “ต้นจันทร์ผา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.suriyothai.ac.th. [17 ม.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “จันทน์แดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [17 ม.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “จันทน์แดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [17 ม.ค. 2014].
- บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “จันทร์แดง”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [17 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dhammavagga, xerantheum), www.qsbg.org, www.4toart.com (มัทนา จินวงษ์), เว็บไซต์ phargarden.com (by Sudarat Homhual), เว็บไซต์ thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)