จันทนา สรรพคุณและประโยชน์ของต้นจันทนา 22 ข้อ ! (จันทน์ขาว)

จันทนา

จันทนา ชื่อวิทยาศาสตร์ Tarenna hoaensis Pit. จัดอยู่ในจัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1]

สมุนไพรจันทนา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จันทน์ขาว, จันทน์ตะเบี้ย[3], จันทน์ตะเนี้ย (ภาคตะวันออก, เขมร)[6], จันทน์หอม (ระยอง), จันทนา จันทน์ใบเล็ก (ประจวบคีรีขันธ์), จันทน์ทนา เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของจันทนา

  • ต้นจันทนา จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นได้ถึง 2-5 เมตร (บ้างว่าสูงได้ประมาณ 5-10 เมตร[5]) กิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มแน่น ลำต้นเดี่ยวตั้งตรง เปลือกต้นบาง ผิวเรียบ เป็นสีน้ำตาลเข้ม ส่วนกิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมมีขนสั้น[1] เนื้อไม้และแก่นมีสีออกน้ำตาลอ่อน ๆ หรืออกขาวนวล มีรสขม หวาน หรือรสขมเย็นระคนกัน[3] โดยต้นจันทนามีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและพม่า มักขึ้นตามป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ ที่ระดับความสูงของจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-400 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง ชอบดินร่วนซุยและทนแล้งได้ดี[5]

แก่นจันทน์ขาว

  • ใบจันทนา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบมนมีหางแหลม โคนใบสอบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 24 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเป็นมัน หลังใบและท้องใบเกลี้ยง มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมฐานแคบปลายเรียวแหลม[1],[2]

ใบจันทนา

  • ดอกจันทนา ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ในหนึ่งช่อดอกจะมีดอกประมาณ 8-12 ดอก ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกเป็นสีขาว โคนดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายจะแยกเป็นกลีบดอก 5 กลีบ ส่วนปลายกลีบม้วนลง ดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลืองติดอยู่ข้างในผนังหลอด[1],[2]

ดอกจันทนา

  • ผลจันทนา ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี สีเขียวเข้มและฉ่ำน้ำ พอแก่จะเป็นสีแดง ภายในผลมีเมล็ดจำนวนประมาณ 1-2 เมล็ด[1]

ผลจันทนา

สรรพคุณของจันทนา

  1. แก่นช่วยรักษาโรคเลือดลม (แก่น)[1] หรือจะใช้แก่นจันทนาผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ซึ่งประกอบไปด้วย แก่นจันทนา แก่นจันทน์แดง กระดูกหมาดำ งาช้าง รากชะอม รากชุมเห็ดเทศ รากผักหวานบ้าน รากมะกอกเผือก รากมะกอกฟานซ้อม รากมะลืมดำ รากมะลืมแดง รากหญ้าขัด และหัวถั่วพู โดยนำมาฝนกับน้ำข้าวเจ้า ใช้รับประทานเป็นยารักษาโรคเลือดลม แต่ถ้าเป็นมากจนตัวแดงหรือแดงเป็นลูกตำลึงสุกก็ให้นำมาทาด้วย (แก่น)[2],[3]
  2. ช่วยบำรุงเลือดลม (แก่น)[3]
  3. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (แก่น)[3]
  4. แก่นหรือเนื้อไม้มีรสหวาน ช่วยบำรุงประสาท (แก่น)[1],[2],[3] ช่วยทำให้เกิดปัญญาและราศี (แก่น)[3]
  5. ช่วยบำรุงดวงจิตมิให้ขุ่นมัว (แก่น)[1],[2],[3]
  1. ช่วยบำรุงธาตุไฟในร่างกาย บำรุงธาตุไฟให้สมบูรณ์ (แก่น)[1],[2],[3]
  2. ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (แก่น)[3],[4],[6]
  3. ช่วยบำรุงตับและปอด (แก่น)[1],[2],[4]
  4. ช่วยแก้ปอด ตับ และดีพิการ (แก่น)[1],[2],[3]
  5. ช่วยแก้ลม (แก่น)[3]
  6. แก่นใช้เป็นยาแก้ไข้ (แก่น)[1],[2] แก้ไข้ร้อน แก้ไข้ที่เกิดจากตับและดี แก้ไข้กำเดา (แก่น)[3]
  7. ช่วยแก้อาการเหงื่อตกหนัก (แก่น)[1],[2],[3]
  8. ชวยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (แก่น)[1],[2],[3],[4]
  9. ช่วยขับพยาธิ (แก่น)[1],[2],[3],[3]
  10. ช่วยบำรุงผิวหนัง บำรุงเนื้อหนังให้สดชื่น (แก่น)[1],[2],[3]
  11. จันทนาจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเบญจโลธิกะ” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรที่มีสรรพคุณทำให้ชื่นใจ 5 อย่าง ได้แก่ แก่นจันทน์ขาว (เข้าใจว่าหมายถึงแก่นจันทนา), แก่นจันทน์แดง, แก่นจันทน์ชะมด, ต้นเนระพูสีไทย, และต้นมหาสะดำ โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้เพื่อดี แก้รัตตะปิตตะโรค แก้ลมวิงเวียน ช่วยกล่อมพิษทั้งปวง (แก่น)[3]
  12. จันทนาจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดจันทน์ทั้งห้า” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยแก่นไม้จันทน์ 5 อย่าง ได้แก่ แก่นจันทน์ทนา แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว แก่นจันทน์เทศ และแก่นจันทน์ชะมด โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้เพื่อโลหิตและดี แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยบำรุงปอดและหัวใจ และช่วยแก้พยาธิบาดแผล (แก่น)[3]
  13. จันทนาจัดอยู่ในรับยาพระโอสถนารายณ์ คือตำรับยา “มโหสถธิจันทน์” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรจันทน์ทั้งสอง ได้แก่ จันทน์แดงและจันทน์ขาว (เข้าใจว่าคือแก่นจันทนา) ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ อีก 13 ชนิด โดยเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ทั้งปวงที่มีอาการตัวร้อน หรือมีอาการอาเจียนร่วมด้วยก็ได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคือส่วนของแก่นหรือเนื้อไม้)[3]
  14. จันทนายังปรากฏอยู่ในตำรับยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) คือ ตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีส่วนผสมของจันทน์ขาว (เข้าใจว่าหมายถึงแก่นจันทนา) ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับยาอีก โดยตำรับยานี้มีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคือส่วนของแก่นหรือเนื้อไม้)[3]
  15. จันทนายังปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาจันทน์ลีลา” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ส่วนผสมของจันทน์ขาว (เข้าใจว่าหมายถึงแก่นจันทนา) ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับยา โดยเป็นตำรับยาที่ช่วยบรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคือส่วนของแก่น)[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของจันทนา

  • สารสกัดของแก่นจันทนาด้วยแอลกอฮอล์ไม่เป็นพิษต่อหนูในความเข้มข้น 10 กรัมต่อกิโลกรัมต่อน้ำหนักตัว[2]

ประโยชน์ของจันทนา

  • แก่นของจันทนาสามารถนำมาใช้ในการทำมาทำเป็นธูปหอมได้[5]
  • เนื้อไม้หรือแก่นใช้บดหรือฝนผสมกับน้ำ นำไปปรุงแต่งเป็นเครื่องหอมได้[6]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “จันทนา”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 88.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  “จันทนา”.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 208.
  3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “จันทน์ขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [28 ก.พ. 2014].
  4. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “จันทนา”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [28 ก.พ. 2014].
  5. คมชัดลึกออนไลน์.  “จันทนา แก่นใช้ทำธูป”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.komchadluek.net.  [28 ก.พ. 2014].
  6. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  “ไม้ดอกหอมของไทย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th/kp6/.  [28 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.spg.or.th, www.saiyathai.com, www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual), www.magnoliathailand.com (by กะได)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด