จอตาลอก อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคจอประสาทตาลอก 5 วิธี !!

จอตาลอก อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคจอประสาทตาลอก 5 วิธี !!

จอประสาทตาลอก

จอประสาทตาลอกจอตาลอก หรือ จอตาหลุดลอก (Retinal detachment) คือ ภาวะที่เกิดการแยกหรือลอกตัวของจอประสาทตาออกจากตำแหน่งเดิม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป และมีอาการมองเห็นจุดดำหรือเส้นสีดำ ๆ คล้ายเงาหยากไย่ลอยไปลอยมา ร่วมกับมีอาการตามัว โรคนี้สามารถพบเกิดได้ในทุกช่วงอายุ แต่ด้วยสาเหตุของโรคนี้ที่มักเกิดจากความเสื่อมตามอายุ จึงทำให้พบได้บ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี

สาเหตุของจอประสาทตาลอก

จอประสาทตาลอกอาจเกิดจาก

  1. จอประสาทตาลอกที่เกิดจากรูหรือรอยฉีกขาดที่จอประสาทตา (Rhegmatogenous retinal detachment – RRD) เป็นสาเหตุของจอประสาทตาลอกที่พบได้บ่อยที่สุด ทำให้มีของเหลวของน้ำวุ้นลูกตาแทรกซึมเข้าไปเซาะให้จอตาลอก ส่วนใหญ่มักเกิดจากการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่ตา จอประสาทตาเสื่อมในผู้ป่วยที่มีสายตาสั้น หรือเกิดรูขาดขึ้นเองไม่ทราบสาเหตุ
  2. จอประสาทตาลอกที่เกิดจากการดึงรั้ง (Tractional retinal detachment – TRD) เกิดจากจอประสาทตาส่วนที่ยึดติดแน่นกับส่วนผิวของน้ำวุ้นลูกตาถูกแรงดึงรั้งจากน้ำวุ้นลูกตา ทำให้จอประสาทตาหลุดลอกจากผนังลูกตา เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย มักพบในผู้ป่วยเบาหวานขึ้นจอรับภาพระยะท้ายที่มีเส้นเลือดงอกผิดปกติที่จอรับภาพและมีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของน้ำวุ้นลูกตาหรือจอประสาทตาอย่างรุนแรงจนเกิดชั้นพังผืด หรือในผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางตาที่ทำให้ลูกตาแตกหรือทะลุมาก่อน
  3. จอประสาทตาลอกที่ไม่มีรูขาดที่จอประสาทตา (Exudative retinal detachment – ERD) เป็นกรณีที่เกิดจากการอักเสบหรืออุบัติเหตุ ทำให้มีน้ำรั่วซึม/สิ่งซึมเยิ้มขังหรือสะสมอยู่ใต้ชั้นจอประสาทตา มักพบได้ในผู้ป่วยที่มีโรคคอรอยด์อักเสบ เนื้องอกที่จอประสาทตา หรือในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมาก ๆ ภาวะไตวาย เป็นต้น

โรคจอประสาทตาลอก
IMAGE SOURCE : www.mayoclinic.org, webeye.ophth.uiowa.edu

ส่วนลักษณะของจอประสาทตาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคจอประสาทตาลอก ได้แก่ การที่แพทย์ตรวจพบสิ่งผิดปกติดังต่อไปนี้

  • มีจอประสาทตาฉีกขาด (Retinal tear) เป็นรอยขาดของชั้นรับรู้การเห็นภาพ (Sensory retina) การฉีกขาดอาจเกิดขึ้นเองหรือจากการได้รับอุบัติเหตุบริเวณลูกตาก็ได้ โดยทั่วไปหากพบรอยฉีกขาดควรรักษาด้วยแสงเลเซอร์ทันทีเพื่อปิดขอบที่ฉีกขาดให้ติดแน่นไว้ป้องกันไม่ให้น้ำวุ้นลูกตาเข้าไปเซาะให้จอประสาทตาหลุดลอก
  • มีภาวะน้ำวุ้นลูกตาด้านหลังลอก (Posterior vitreous detachment – PVD) ในภาวะปกติตัวน้ำวุ้นลูกตา (Vitreous) จะมีลักษณะเป็นเจลนาบอยู่กับผิวจอประสาทตาอย่างหลวม ๆ แต่บริเวณรอบ ๆ จานประสาทตา (Optic disc) และบริเวณขอบ ๆ ของจอประสาทตาจะมีการยึดแน่นกว่าจอประสาทตาบริเวณอื่น เมื่อคนเราอายุมากขึ้น หรือในคนที่น้ำวุ้นลูกตาผิดปกติ มีความเสื่อมสลายตัวกลายเป็นน้ำบางส่วน ตามด้วยการหดตัวของน้ำวุ้นลูกตา จะทำให้น้ำวุ้นลูกตาที่อยู่ส่วนหลังหลุดออกมาจากจอประสาทตา เกิดการดึงรั้งจอประสาทในบางบริเวณ ทำให้จอประสาทตาฉีกขาด น้ำวุ้นลูกตาส่วนอื่นจึงอาจเข้ามาแทรกตามรอยฉีกขาดและดันให้จอประสาทตาหลุดลอกได้ในที่สุด
  • มี Lattice degeneration เป็นรอยแหว่งของจอประสาทตาชั้น Internal limiting membrane ซึ่งเป็นชั้นในสุด ร่วมกับน้ำวุ้นลูกตาที่เสื่อมเป็นน้ำในบริเวณนั้น ตามด้วยชั้นต่าง ๆ จอประสาทตาบางลง หากตรวจพบต้องรับการรักษาด้วยเลเซอร์เช่นเดียวกัน
  • เคยมีประวัติจอประสาทตาลอกมาแล้วข้างหนึ่ง มีโอกาสที่จอประสาทตาอีกข้างจะลอกได้สูงมาก (พบได้ถึง 10% ในตาทั่วไป และประมาณ 20-30% ในผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดต้อกระจกมาแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับคนทั่วไปจะมีอุบัติการณ์ของจอประสาทตาลอกเพียง 0.07% เท่านั้น) ดังนั้น ผู้ที่มีจอประสาทตาลอกมาแล้วข้างหนึ่ง จึงต้องระมัดระวังในตาอีกด้วยการหมั่นสังเกตอาการและไปพบจักษุแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และรีบไปพบก่อนนัดเมื่อการเห็นภาพเลวลง หรือมีอาการตาที่ผิดปกติไปจากเดิม

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดจอประสาทตาลอก

  • มีอายุมาก สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้จอประสาทตาลอกมักเกิดจากน้ำวุ้นลูกตาด้านหลังที่เสื่อมตามอายุมีการหดตัวและลอกออกจากจอตา (Posterior vitreous detachment – PVD) ทำให้เกิดแรงดึงรั้งต่อจอประสาทตา ซึ่งมักพบได้บ่อยในคนที่มีอายุมากกว่า 70 ปี พบได้น้อยในคนที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี
  • มีสายตาสั้นมาก เพราะมีการเสื่อมของน้ำวุ้นลูกตาในอายุที่น้อยกว่าปกติ อีกทั้งยังมีจอประสาทตายืดออกไปจนบางกว่าของคนปกติ จึงมีการฉีกขาดได้ง่ายกว่า
  • มีประวัติจอประสาทตาลอกมาแล้วข้างหนึ่ง
  • มีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะจอประสาทตาลอก
  • มีการติดเชื้อหรือการอักเสบภายในลูกตา
  • มีเนื้องอกหรือมะเร็งที่เกิดขึ้นภายในลูกตาหรือแพร่กระจายมาจากส่วนอื่น
  • เป็นเบาหวานที่มีโรคของจอประสาทตาแทรกซ้อน
  • การได้รับบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุที่ลูกตาอย่างรุนแรง
  • เคยได้รับการผ่าตัดภายในลูกตามาแล้ว เช่น การผ่าตัดต้อกระจก
  • เป็นโรคตา เช่น Retinoschisis (โรคจอประสาทตาหลุดลอกชนิดหนึ่ง), โรคยูเวียอักเสบ (Uveitis), Lattice degeneration

อาการของจอประสาทตาลอก

  • ผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นผิดปกติ โดยไม่มีอาการปวดตา เจ็บตา ตาแดง หรือตาแฉะแต่อย่างใด
  • ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป (Flashing) ในตาข้างหนึ่งหรือสองข้างในขณะที่หลับตาหรืออยู่ในที่มืด ซึ่งมักจะเกิดจากจอประสาทตาถูกกระตุ้นจากแรงดึงรั้งของน้ำวุ้นลูกตาที่เข้าไปในจอประสาทตาจากรูที่ฉีกขาด
  • มีอาการมองเห็นจุดดำหรือเส้นสีดำ ๆ คล้ายเงาหยากไย่ ยุง หรือแมลงวันลอยไปลอยมาอยู่ในลูกตา (Eye floaters) ซึ่งจะมองเห็นได้ชัดในที่สว่าง โดยเฉพาะเวลาแหงนมองท้องฟ้าใส หรือมองไปที่ผนังสีขาว หรือก้มลง เช่น ในขณะที่ดื่มน้ำ ทำให้ผู้ป่วยนึกว่ามีหยากไย่อยู่ที่ข้างนอกลูกตา และพยายามขยี้ตาแต่เงาก็ไม่หายไป จึงสร้างความรำคาญให้กับผู้ป่วย แต่พอนาน ๆ เข้าก็รู้สึกเคยชิน
  • มีอาการตามัวร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้การมองเห็นคล้ายมีหมอกบัง หรือเห็นเงาคล้ายม่าน หรือเห็นภาพเป็นคลื่น ๆ หรือคดงอ
  • หากไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้เป็นอยู่นาน ๆ ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกว่ามองเห็นเงาอยู่ที่ขอบของลานสายตา ซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นจนเต็มลานสายตาภายในไม่กี่วัน

อาการจอประสาทตาลอก
IMAGE SOURCE : medeyeassociates.com, www.rpbusa.org

จอประสาทตาลอกอาการ
IMAGE SOURCE : wwww.laservue.com, thinkaboutyoureyes.com, southerneye.co.nz

ภาวะแทรกซ้อนของจอประสาทตาลอก

หากปล่อยไว้ไม่รักษา มักจะทำให้ตาเสื่อมลงหรือตาบอดอย่างถาวรได้ ถ้าการหลุดลอกลามมาถึงบริเวณจอประสาทตาส่วนที่เรียกว่า “จุดภาพชัด” (Macula)

การวินิจฉัยจอประสาทตาลอก

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้โดยการตรวจวัดสายตา ตรวจลานสายตา ตรวจวัดความดันลูกตา ใช้เครื่องมือส่องตรวจจอประสาทตา (Ophthalmoscope) ซึ่งมีแสงสว่างและกำลังขยายสูง ทำให้สามารถตรวจหาตำแหน่งของจอประสาทตาที่ฉีกขาดหรือที่บางผิดปกติได้ และบางครั้งอาจต้องทำการตรวจจอประสาทตาด้วยอัลตราซาวนด์ (Ultrasound)

วิธีรักษาจอประสาทตาลอก

  1. หากพบว่ามีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป ควรรีบไปพบจักษุแพทย์โดยเร็วเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็ว
  2. ในรายที่เป็นเพียงจอประสาทตาฉีกขาดหรือเป็นรู แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ (Laser photocoagulation) โดยการยิงแสงเลเซอร์ล้อมรอบรูฉีกขาดเพื่อปิดรูที่ฉีกขาด เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านรูฉีกขาดจนเกิดเป็นจอประสาทตาลอก หรือใช้วิธีจี้ด้วยความเย็น (Cryotherapy) บริเวณรอบ ๆ รูหรือรอยฉีกขาดของจอประสาทตา เพื่อช่วยยึดให้จอประสาทตากลับเข้าที่
    • ในกรณีที่จอประสาทตาลอกเป็นวงแคบ ๆ อาจใช้เลเซอร์ยิงไปที่จอประสาทเพื่อป้องกันไม่ให้จอประสาทตาที่ลอกขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นได้

      วิธีรักษาจอประสาทตาลอก
      IMAGE SOURCE : www.drugs.com

  3. ในรายที่จอประสาทตาลอก จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข เพื่อที่จะปิดรูฉีกขาดของจอประสาทตา และทำให้จอประสาทตากลับไปแนบติดอยู่กับผนังลูกตา สำหรับวิธีการผ่าตัดนั้นจะมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี (ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย) ได้แก่
    • การฉีดก๊าซเข้าไปในตา (Pneumatic retinopexy) เป็นวิธีการฉีดก๊าซเข้าไปในช่องน้ำวุ้นลูกตาเพื่อดันให้จอประสาทตาที่หลุดลอกกลับเข้าไปติดที่เดิม

      การรักษาจอประสาทตาลอก
      IMAGE SOURCE : stormanesthesia.com

    • การผ่าตัดหนุนจอประสาทตา (Scleral buckling) เป็นการใช้วัสดุหรือยางเพื่อหนุนตาขาวให้เข้าไปติดจอประสาทตาที่หลุดลอก

      การผ่าตัดจอประสาทต
      IMAGE SOURCE : stormanesthesia.com

    • การผ่าตัดน้ำวุ้นลูกตา (Pars plana vitrectomy) เป็นการตัดน้ำวุ้นลูกตาที่ดึงรั้งจอประสาทตาให้ฉีกขาดออก

      ผ่าตัดจอประสาทตาลอก
      IMAGE SOURCE : rgw.com

    • ทั้งนี้ ทุกวิธีการผ่าตัดข้างต้นจะต้องทำร่วมกับการอุดรอยฉีกขาดที่จอประสาทด้วยแสงเลเซอร์ความเย็น (Cryotherapy) หรือจี้ด้วยความร้อน (Diathermy) เพื่อปิดรอยฉีกขาดนั้นด้วย
    • ภายหลังการผ่าตัดแพทย์มักฉีดก๊าซเพื่อดันจอประสาทตาให้ติดกลับเข้าที่เดิม ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องคว่ำหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ และก๊าซจะถูกดูดซึมจนหมดจากตาไปเอง ส่วนในรายที่ไม่สามารถคว่ำหน้าได้แพทย์จะใช้สารซิลิโคนเหลว (Liquid silicone) แทนการใช้ก๊าซ แต่จำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพื่อนำเอาสารซิลิโคนออกในภายหลังเมื่อจอประสาทตาติดดีแล้ว ส่วนการมองเห็นภายหลังการผ่าตัดจะดีขึ้นเพียงใดนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จอประสาทตาลอก หากจอประสาทตาลอกมานานถึงแม้การผ่าตัดจะสามารถทำให้จอประสาทตาราบลงได้ แต่ระดับสายตาอาจไม่ดีขึ้นนัก ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจตาโดยเร็ว
  1. คำแนะนำหลังการผ่าตัดจอประสาทตา
    • ควรใส่ที่ครอบตาไว้เป็นเวลา 1 เดือน หรือตามที่แพทย์สั่ง ในเวลากลางวันอาจใช้แว่นกันแดดได้
    • ตาข้างที่ผ่าตัดอาจมีอาการเคืองตาได้ ห้ามใช้มือหรือวัสดุแปลกปลอมสอดเข้าไปแยงตา หรือขยี้ตา เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
    • ยาหยอดตา ยาป้าย ควรใช้ตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น
    • หลังการผ่าตัด 2-3 วันแรก อาจมีการอักเสบของเยื่อบุตาขาว เปลือกตาบวมแดงได้ สามารถใช้น้ำอุ่นประคบและนอนยกศีรษะสูงเพื่อบรรเทาอาการบวมได้
    • การอาบน้ำ ให้ตักน้ำราดตั้งแต่ไหล่ลงมา ห้ามไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าตาข้างที่ผ่าตัด ถ้าใช้ฝักบัวให้ใช้ฝักบัวชนิดจับมือเท่านั้น ไม่ควรใช้ชนิดติดข้างฝาเพราะจะมีโอกาสที่น้ำจะพุ่งกระจายเข้าตาได้
    • การสระผม ให้สระเมื่อจำเป็น ถ้าต้องสระผมให้นอนหงาย หลับตา แล้วให้ผู้อื่นสระให้เพื่อไม่ให้น้ำเข้าตาจนกว่าจะพ้นระยะเวลา 1 เดือน หรือจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
    • การทำความสะอาดใบหน้า ควรทำความสะอาดใบหน้าโดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำบิดหมาด ๆ เช็ดหน้าเบา ๆ เฉพาะข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด ส่วนตาข้างที่ทำการผ่าตัดให้เช็ดวันละครั้งหลังตื่นนอน (ก่อนเช็ดควรล้างมือให้สะอาดและระวังอย่าให้น้ำหรือฝุ่นละอองเข้าตา)
    • การแปรงฟัน ให้แปรงฟันเบา ๆ ไม่ส่ายศีรษะไปมา
    • หลีกเลี่ยงการก้มหน้าต่ำกว่าระดับเอว ถ้าจำเป็นต้องก้มเก็บของให้ใช้วิธีนั่งลงเก็บ
    • หลีกเลี่ยงการไอหรือจามแรง ๆ ถ้าจำเป็นให้พยายามไม่ไอหรือจามเต็มที่
    • ควรระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การหกล้ม การอุ้มเด็ก เพราะเด็กอาจเอามือฟาดมาโดนตาได้
    • สามารถใช้สายตาได้ตามปกติ เช่น อ่านหนังสือ ดูทีวี แต่ถ้ารู้สึกเพลียสายตาก็ให้หยุดพัก
    • สามารถรับประทานอาหารได้ทุกอย่างยกเว้นผู้ป่วยที่เป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ที่ควรรับประทานอาหารหรือจำกัดอาหารบางอย่าง
    • ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ถ้ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ปวดตามาก ตาแดง มีขี้ตามาก ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนวันนัด และในวันที่มาตรวจให้นำน้ำยาหยอดตาและยาป้ายตา (ถ้ามี) มาด้วยทุกครั้ง
    • หลังการผ่าตัด 2 เดือนแรก ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหม เช่น การกระโดด และไม่ควรยกของหนักหรือทำงานหนักที่อาจกระทบกระเทือนถึงตาได้ เช่น ขุดดิน ซักผ้า ตำน้ำพริก เป็นต้น
  2. การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะจอประสาทตาลอก ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์
    • ปรึกษาพูดคุยกับจักษุแพทย์ให้เข้าใจในโรคและในผลของการรักษา เพื่อการยอมรับและปรับตัว
    • ถ้าสายตาเสียไปบ้างแล้ว ผู้ป่วยควรปรับสถานที่พักอาศัยให้เข้ากับสายตา เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเพิ่มแสงสว่างภายในบ้านและทางเดิน การจัดวางสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เข้าที่เป็นระเบียบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเดินชน รวมถึงการจัดหาผู้ช่วยเหลือในเรื่องจำเป็นต่าง ๆ เช่น การพาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เป็นต้น
    • ไปพบจักษุแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบไปพบจักษุแพทย์ก่อนนัดเมื่อการเห็นภาพเลวลง หรือเมื่อมีอาการทางสายตาที่ผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่

สำหรับผลการรักษา ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่มีเพียงภาวะจอประสาทตาฉีกขาดหรือเป็นรู หรือจอประสาทตาลอกในระยะแรกเริ่ม การรักษามักจะช่วยให้สายตาฟื้นตัวได้ดี แต่ถ้ารักษาในระยะที่จอประสาทตาลอกมากแล้วหรือมีเลือดออกหรือเป็นแผลเป็นแล้ว ก็ไม่ช่วยให้สายตาดีขึ้นได้

วิธีป้องกันจอประสาทตาลอก

  • ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา ควรเข้ารับการตรวจจอประสาทตาเป็นระยะ ๆ กับจักษุแพทย์ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจะได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • หากมีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูปในขณะหลับตาหรืออยู่ในที่มืด (ไม่ว่าจะมีอาการมองเห็นจุดดำหรือเส้นสีดำ ๆ คล้ายเงาหยากไย่ ยุง หรือแมลงวันลอยไปลอยมาอยู่ในลูกตาร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม) อาจเป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะเกิดภาวะจอประสาทตาลอก ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจจอประสาทตาทันที เพราะการได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้สายตาพิการได้ โดยหากพบว่าจอประสาทตาฉีกขาดหรือเป็นรูจะได้รับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่งเป็นวิธีการรักษาง่าย ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด ไม่มีการเสียเลือด และผู้ป่วยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้จอประสาทตาลอก เพราะถ้าจอประสาทตาลอกไปแล้วจะทำให้การรักษาเป็นไปอย่างยุ่งยากมากกว่า และผลการผ่าตัดหรือผลรักษานั้นก็ไม่ค่อยแน่นอนนัก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “จอตาลอก (Retina detachment)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 956-958.
  2. Siamhealth.  “จอประสาทตาลอก Retina detachment”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [19 ธ.ค. 2016].
  3. หาหมอดอทคอม.  “โรคจอตาหลุดลอกอาร์อาร์ดี (Rhegmatogenous retinal detachment หรือ RRD)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [19 ธ.ค. 2016].
  4. ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “รูฉีกขาดที่จอตาและจอตาลอก ? (Retinal Tear and Detachment)”.  (อ.พญ.โสมนัส ถุงสุวรรณ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [20 ธ.ค. 2016].
  5. โรงพยาบาลลำปาง.  “จอประสาทตาลอก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.lph.go.th.  [20 ธ.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด