จมูกปลาหลด
จมูกปลาหลด ชื่อสามัญ Rosy Milkweed[5]
จมูกปลาหลด ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarcostemma secamone (L.) Bennett[2],[5],[6] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Periploca secamone L.) ส่วนอีกข้อมูลจะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oxystelma esculentum (L. f.) Sm.[5] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Oxystelma esculentum (L. f.) R. Br. ex Schult.[1], Periploca esculenta L. f.[5], Sarcostemma esculentum (L. f.) R.W. Holm) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1]
สมุนไพรจมูกปลาหลด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักไหม (เชียงใหม่), เครือไส้ปลาไหล (มหาสารคาม), จมูกปลาไหลดง (เพชรบูรณ์), ตะมูกปลาไหล (นครราชสีมา), ผักจมูกปลาหลด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), สอึก สะอึก (ภาคกลาง), กระพังโหม (ราชบัณฑิต) เป็นต้น[1],[2],[4]
ลักษณะของจมูกปลาหลด
- ต้นจมูกปลาหลด จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น สามารถเลื้อยไปได้ไกลเกินกว่า 5 เมตร เถามีขนาดเล็กกลมเป็นสีเขียวและมียางสีขาวอยู่ในเถา ยอดอ่อนมีขนเล็กน้อยและจะค่อนข้างเกลี้ยงเมื่อแก่ลำต้นและใบเมื่อนำมาขยี้ดมดูจะมีกลิ่นเหม็น พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและวิธีการปักชำ ชอบอยู่ในร่มรำไร ชอบความชื้น มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยพบอยู่ทั่วไปทางภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย โดยมักขึ้นบริเวณน้ำตื้นริมบึงทั่วไป[1],[2],[3],[4]
- ใบจมูกปลาหลด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวแคบหรือเป็นรูปดาบเรียวแคบ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เนื้อใบบางเรียบ แผ่นใบเป็นสีเขียว เส้นใบโค้งจรดกันใกล้ ๆ ขอบใบ ก้านใบสั้นและเล็ก ยาวได้ประมาณ 0.5-1.3 เซนติเมตร[1],[2],[3],[4]
- ดอกจมูกปลาหลด ออกดอกเดี่ยวหรือบางทีออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก บางครั้งช่อใหญ่อาจมีดอกถึง 6-9 ดอก ดอกหนึ่งมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ปลายกลีบแหลม ส่วนกลีบดอกโคนติดกัน ปลายแยกเป็น 5 กลีบ ดูคล้ายรูปดาว กลีบดอกมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ริมขอบกลีบดอกมีขน ด้านนอกเป็นสีขาวหรือสีขาวอมชมพู ส่วนด้านในเป็นสีชมพูมีลายเส้นสีม่วงเข้มและจุดประสีน้ำตาลอยู่ตอนโคนกลีบที่ติดกัน ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้มีอับเรณูติดกันเป็นคู่จำนวน 5 คู่ ฝังอยู่ ปลายเส้าเกสรเป็นรูปห้าเหลี่ยมหุ้มเกสรเพศเมีย รังไข่มี 2 ส่วน ปลายติดกัน เมื่อดอกบานจะมีลักษณะคล้ายรูปจานและมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1-2 เซนติเมตร เวลาดอกดกและดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามมาก[1],[2],[3],[4]
- ผลจมูกปลาหลด ผลมีลักษณะเป็นฝัก ปลายฝักแหลมโค้งเรียว โคนฝักกว้าง เปลือกนิ่ม ภายในพองลม ผลโตมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7.5 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตกออกด้านเดียวและจะเห็นเมล็ดติดอยู่กับไส้กลางผลเป็นจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไข่สีน้ำตาล ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ที่ปลายของเมล็ดมีขนสีขาวติดอยู่เป็นกระจุก กระจุกขนยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ช่วยทำให้สามารถลอยไปตามลมเพื่อกระจายพันธุ์ไปได้ไกล ๆ[1],[2],[4],[5]
สรรพคุณของจมูกปลาหลด
- ทุกส่วนของต้นจมูกปลาหลดเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง (ทั้งต้น)[5]
- ทั้งเถามีรสขมเย็น เด็ดเอามาต้มกับน้ำ ใช้กลั้วคอแก้คอเจ็บ (เถา)[1],[2]
- ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาอาการอักเสบบริเวณปากและคอ (ทั้งต้น)[3],[6]
- รากมีรสขมเย็น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง (ราก)[1],[2],[3]
- ใบและเถามีรสขม กลิ่นเหม็นเขียว ใช้คั้นเอาน้ำดื่มช่วยลดความร้อนในร่างกาย เป็นยาแก้ไข้ (ใบและเถา)[3],[6]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้รากสาด (ทั้งต้น)[3]
- ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ ในเด็ก (ใบและเถา)[3],[6]
- ใช้เป็นยาแก้บิด (ทั้งต้น)[3],[6]
- ใช้แก้ประจำเดือนผิดปกติ (ทั้งต้น)[5]
- ใช้เป็นยารักษาบาดแผล รักษาแผลสด (ใบและเถา, ทั้งต้น)[3],[5]
- น้ำยางจากต้นเป็นยางที่มีสารบางอย่าง มีรสขมเย็น สามารถนำมาใช้ชำระล้างแผลที่เป็นหนองได้ (น้ำยางจากต้น)[1],[2]
- ทั้งต้นใช้ปรุงเป็นยาขับน้ำนม (ทั้งต้น)[3],[6]
- ต้นใช้ปรุงเข้ายาเขียวน้ำมูตร ยาเขียวมหาคงคา ยามหากะเพราและยาขนานต่าง ๆ อีกมาก (ต้น)[4]
ประโยชน์ของจมูกปลาหลด
- ยอดอ่อน ใบอ่อน และดอก ใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกชนิดต่าง ๆ หรือลาบ ก้อน น้ำตก ชาวอีสานจะใช้รับประทานร่วมกับลาบ ส่วนชาวใต้จะใช้ใบนำมาหั่นผสมกับข้าวยำ[3],[4],[6] ส่วนผลก็ใช้รับประทานได้เช่นกัน[5]
- น้ำคั้นจากเถาและใบใช้ผสมในขนมขี้หนู ทำให้ขนมขี้หนูมีสีเขียว[6]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป โดยนำมาปลูกลงในกระถางที่มีโครงเลื้อยพันได้ ดอกและใบมีเสน่ห์สวยงาม จึงช่วยเพิ่มสีสันให้กับอาคารบ้านเรือนและห้องรับแขกได้ อีกทั้งยังปลูกง่าย โตเร็ว และทนทานอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “จมูกปลาหลด”. หน้า 218-219.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “จมูกปลาหลด”. หน้า 107.
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “จมูกปลาหลด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [10 ม.ค. 2015].
- ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จมูกปลาหลด”. อ้างอิงใน : หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. (ราชบัณฑิตยสถาน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/. [10 ม.ค. 2015].
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “จมูกปลาหลด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [10 ม.ค. 2015].
- จุลสารสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ปีที่ 8 ฉบับที่ 3, พันธุ์ไม้ที่ใช้เป็นสมุนไพรและอาหาร. (ศ.ดร.พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ). “จมูกปลาหลด”. หน้า 6.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by SierraSunrise, Soundarapandian S.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)