งิ้วป่า
งิ้วป่า ชื่อสามัญ Bombax, Cotton tree, Ngiu
งิ้วป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Bombax anceps Pierre. (Bombax anceps Pierre var. anceps) จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย BOMBACOIDEAE
สมุนไพรงิ้วป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ไกร่ (เชียงใหม่), งิ้วป่า (ประจวบคีรีขันธ์, ภาคใต้), ง้าวป่า นุ่นป่า (ภาคกลาง), งิ้วป่าดอกขาว งิ้วดอกขาว งิ้วผา ไกร (ภาคเหนือ), งิ้วขาว, งิ้วผา เป็นต้น[1],[3],[4]
ลักษณะของงิ้วป่า
- ต้นงิ้วป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เมตร และสามารถสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นเปลาตรง และมักมีพูพอนต่ำ ๆ เมื่อต้นยังเล็กจะมีลักษณะเรือนยอดจะเป็นชั้น ๆ เมื่อต้นโตเต็มที่จะมีลักษณะเป็นทรงเรือนยอด ด้านบนจะแบน เปลือกต้นเป็นสีเทา มีหนามแข็งอยู่ทั่วลำต้น โดยเฉพาะต้นอ่อนและกิ่งก้าน และหนามจะลดลงเมื่อต้นโตขึ้น แต่กิ่งก้านยังคงมีหนามเช่นเดิม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ไม่อุ้มน้ำ ชอบแสงแดดจัด สามารถพบได้ทั่วไป แต่มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณที่มีหินปูน ป่าเบญจพรรณตามเชิงเขาและไหล่เขาตามภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 600-1,000 เมตร[1],[3],[4]
- ใบงิ้วป่า ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับเวียนเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง มีใบย่อยประมาณ 5-7 ใบ แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอกหรือรูปไข่ ใบมีความกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ ก้านใบย่อยมีความยาวประมาณ 0.5-1.8 เซนติเมตร ส่วนก้านใบรวมยาวประมาณ 10-17 เซนติเมตร ส่วนก้านใบรวมก็ยาวเท่า ๆ กับก้านใบย่อย[1]
- ดอกงิ้วป่า ดอกเป็นดอกเดี่ยว มีขนาดประมาณ 6.5-8 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวครีมแกมสีม่วง ออกดอกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 2-4 ดอก ออกดอกกระจายอยู่ทั่วเรือนยอดที่กำลังผลัดใบ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันมีลักษณะเป็นรูประฆัง มี 2-4 พู เป็นสีเขียวสด เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยบนฐานดอกที่แข็ง ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ดอกจะโค้งงอไปด้านหลังส่วนของกลีบเลี้ยง กลีบดอกเป็นสีขาว มีขนละเอียดด้านนอก ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ประมาณ 250-300 อัน มีสีขาวเชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม แยกเป็น 5 กลุ่ม และเชื่อมกันเป็นหลอด ส่วนด้านล่างจะห่อหุ้มไปด้วยก้านเกสรตัวเมีย โดยเกสรตัวเมียจะเป็นสีชมพูอมม่วงและมีก้านเดียว ปลายแยกเป็น 5 แฉกซึ่งจะอยู่ชิดติดกัน โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนมีนาคม (บ้างว่าเดือนมกราคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์) โดยก่อนออกดอกจะทิ้งใบหมด[1],[3]
- ผลงิ้วป่า ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกยาวหรือเป็นรูปทรงกระสวย มีความกว้างของผลประมาณ 5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร ขอบขนาน โค้งงอเล็กน้อยและมีสันตื้น ๆ 5 สัน เมื่อผลแห้งแล้วจะแตกตามรอยประสาน ภายในผลมีปุยสีขาวห่อหุ้มเมล็ดอยู่ โดยเมล็ดมีลักษณะกลมสีดำและมีขนาดเล็กคล้ายกับเมล็ดฝ้าย โดยจะออกผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1]
สรรพคุณของงิ้วป่า
- ยางใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ยาง[1],[2], ราก[5]) ส่วนรากใช้เป็นยากระตุ้นและยาบำรุงกำลัง (ราก)[1]
- ช่วยแก้พิษไข้ (ดอกแห้ง)[1]
- เปลือกใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการร้อนใน (เปลือก)[4]
- รากและเปลือกมีรสฝาดเย็น มีสรรพคุณทำให้อาเจียน (ราก, เปลือก)[1],[2]
- ใบมีรสเย็น ใช้บดผสมน้ำทาแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ (ใบ)[1]
- เปลือกต้นใช้ผสมกับเปลือกต้นนุ่น ใช้ต้มกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการเป็นพิษ (เปลือกต้น)[2]
- เปลือกต้นมีรสฝาดเย็น ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น)[1],[2],[5] หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มก็เป็นยาแก้ท้องเสียได้ด้วยเช่นกัน (ราก)[4]
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ยาง)[1],[2]
- ยางและเปลือกต้นช่วยแก้บิด (ยาง, เปลือกต้น)[1],[2],[5] หรือจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคบิดก็ได้เช่นกัน (ราก)[4] หรือจะใช้เปลือกต้นผสมกับเปลือกต้นนุ่น นำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้ (เปลือกต้น)[2]
- รากมีรสจืดเย็น ใช้ต้มดื่มช่วยขับปัสสาวะ (ราก)[1],[4]
- ช่วยแก้ระดูของสตรีมามากกว่าปกติ (ยาง)[1],[2]
- ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (ยาง)[1],[2]
- ช่วยแก้อาการคัน (ดอกแห้ง)[1]
- ดอกแห้งมีรสหวานเย็น ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ดอกแห้ง)[1] หรือจะใช้แก่นเป็นส่วนผสมเข้ายาเพื่อรักษาแผลน้ำร้อนลวกก็ได้ (แก่น)[2]
- ช่วยห้ามเลือดที่ตกภายใน (ยาง)[1],[2]
- ดอกและผลมีรสหวานและฝาดเย็น ช่วยแก้พิษงู (ดอก, ผล)[1]
- ช่วยรักษาแผลอักเสบ (เปลือก)[4]
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เมล็ด)[5]
- ช่วยแก้อาการปวด (ดอกแห้ง, แก่น)[1],[2]
- ใบใช้ตำพอกแก้อาการฟกช้ำ (ใบ)[1],[5]
- ยางมีรสเย็นเมา ช่วยกระตุ้นความต้องการทางเพศ (ยาง)[1],[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นงิ้วป่า
- สารสกัดจากลำต้นของงิ้วป่าดอกขาวด้วย 50% แอลกอฮอล์ พบว่ามีสารองค์ประกอบอยู่ในกลุ่มแทนนินส์ คาร์ดิแอกไกลโคไซด์ และสารอัลคาลอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (EC50 = 88.97 มก./มล.), มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสโรคเริม Herpes simplex virus type 1 (IC50 = 95.47 มก./มล.), มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus ที่ทำให้เกิดโรคแผลฝีหนอง (ที่ความเข้มข้น 12.5 มก./มล.), มีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งตับในระดับปานกลาง (IC50 = 212.74 ±27 มก./มล.) โดยพบว่าสามารถชักนำการตายของเซลล์มะเร็งตับแบบอะพอพโทซิสต่ำ เมื่อเซลล์ได้รับสารสกัดนาน 1 วัน, ไม่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยตรง แต่สามารถช่วยเสริมการกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดทีเซลล์ได้, ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ แต่มีฤทธิ์ช่วยต้านการกลายพันธุ์ในภาวะที่มีการทำงานของเอนไซม์ร่วมด้วย[6]
ประโยชน์ของต้นงิ้วป่า
- ดอกใช้ลวกรับประทานเป็นผัก[6]
- เกสรตัวผู้นำมาตากแห้งใช้สำหรับใส่แกงหรือน้ำเงี้ยว[5]
- ผลให้เส้นใยที่สามารถนำมาใช้ทำหมอนและที่นอนได้[1],[5]
- น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช้ปรุงอาหารและทำสบู่ได้[3]
- เส้นใยจากเปลือกต้นใช้ทำเชือกได้[3],[5]
- เนื้อไม้สีขาวของต้นงิ้วป่า ไม่มีแก่น ใช้ทำเรือขุด ทำหีบและลังสำหรับใส่ของ หรือใช้ทำไม้จิ้มฟัน ก้านและกลักไม้ขีด ทำเยื่อกระดาษ ฯลฯ[3]
เอกสารอ้างอิง
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “งิ้วป่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [7 ม.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “งิ้ว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [7 ม.ค. 2014]
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “งิ้วป่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [7 ม.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “Bombax, Ngiu, Cotton tree“. อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสรและคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [7 ม.ค. 2014].
- โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “งิ้วป่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [7 ม.ค. 2014].
- โครงการจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพรที่สำรวจและวิจัยภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น. “งิ้วป่า“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: orip.kku.ac.th/thaiherbs. [7 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Tony Rodd), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.vivatchaipicture.wordpress.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)