งัวเลีย สรรพคุณและประโยชน์ของต้นงัวเลีย ! (กระจิก, ไก่ไห้)

งัวเลีย

งัวเลีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Capparis flavicans Kurz จัดอยู่ในวงศ์กุ่ม (CAPPARACEAE หรือ CAPPARIDACEAE)[1]

สมุนไพรงัวเลีย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า วัวเลีย (อุบลราชธานี), งวงช้าง (อุดรธานี), งัวเลีย (ขอนแก่น), หนามนมวัว โกโรโกโส หนามเกาะไก่ (นครราชสีมา), ทะลุ่มอิด ตะลุ่มอิฐ (นครสวรรค์), ก่อทิง ก่อทิ้ง (ชัยภูมิ), ไก่ให้ ไก่ไห้ (พิษณุโลก), กระโปรงแจง กะโปงแจง (สุโขทัย), กะอิด (ราชบุรี), ตะครอง (นครศรีธรรมราช), ค้อนก้อง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กระจิก (ภาคกลาง) เป็นต้น[1]

ลักษณะของงัวเลีย

  • ต้นงัวเลีย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 2-10 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ แผ่กว้างและแตกกิ่งต่ำ แตกกิ่งก้านสาขาเรียวเล็ก เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องลึกและบางตามยาวของลำต้น ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 1-3 มิลลิเมตร และมีขนรูปดาวสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นปกคลุมอยู่ เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบขึ้นอยู่ในดินทรายหรือดินหินในระดับต่ำ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในพม่าตอนกลางตลอดลงมาถึงตอนใต้ของภูมิภาคอินโดจีน ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายพันธุ์ในจังหวัดลำปาง ตาก นครสวรรค์ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ปราจีนบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และสระบุก โดยมักขึ้นตามป่าดงดิบ ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง และป่าผสมผลัดใบที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 40-350 เมตร[1],[2],[3]
  • ใบงัวเลีย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ รูปรี หรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบมนหรือบางครั้งเว้าบุ๋ม เป็นติ่งเล็กสั้นหรือเว้าตื้น โคนใบมน รูปลิ่ม หรือสอบแหลม ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนาและนุ่ม ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างมีนวลสีขาวปกคลุม เส้นแขนงใบมีข้างละ 3-5 เส้น คู่แรกมักออกใกล้โคนใบ ก้านใบยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร[1],[2],[3]
  • ดอกงัวเลีย ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบของกิ่งอ่อน ดอกเป็นสีเหลืองหรือเหลืองปนเขียว กลีบดอกมี 4 กลีบ เป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8-9 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกด้านนอกจะมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองขึ้นหนาแน่น กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 6-12 อัน เป็นสีค่อนข้างเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียว ก้านชูเกสรเพศเมียโค้ง ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร รังไข่เป็นรูปรีหรือรูปไข่ ทั้งก้านชูเกสรเพศเมียและรังไข่มีขนหนาแน่น ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร จะออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[3]
  • ผลงัวเลีย ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อหลายเมล็ด ลักษณะของผลเป็นรูปมน มนรีเล็กน้อย หรือรูปกลม เปลือกผลหนาและขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำ มีสันนูน 4 สัน ปลายผลเป็นติ่งแหลม มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วผล ผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสดหรือสีส้มแดง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดซึ่งมีเนื้อสีเหลืองหุ้มอยู่ เมล็ดเป็นสีน้ำตาลมีขนาดประมาณ 3-7 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร เป็นผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3]

ไก่ไห้

สรรพคุณของงัวเลีย

  • ใช้เนื้อไม้ โดยการแกะเอาเนื้อไม้ดิบหรือตากแห้งก็ได้ นำมาบดให้เป็นผงทำให้เป็นควันใช้สูดแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (เนื้อไม้)[1]
  • ใบใช้รับประทานเป็นยาขับน้ำนมของสตรี มีประโยชน์สำหรับหญิงที่คลอดบุตรแต่มีน้ำนมไม่มากหรือมีความต้องการที่จะขับน้ำนมออก (ใบ)[1]

ประโยชน์ของงัวเลีย

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “งัวเลีย”.  หน้า 213-214.
  2. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “กระจิก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [10 ม.ค. 2015].
  3. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ไก่ไห้”.  อ้างอิงใน : หนังสืออนุกรมวิธานพืช อักษร ก. (ราชบัณฑิตยสถาน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [10 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by batay-batay), www.htp.ac.th

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด