5 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นค้อนหมาขาว ! (พร้าวพันลำ)

ค้อนหมาขาว

ค้อนหมาขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Dracaena angustifolia Roxb. จัดอยู่ในวงศ์หน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย NOLINOIDEAE[1],[3]

สมุนไพรค้อนหมาขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า พร้าวพันลำ (เชียงใหม่), หมากพู่ป่า (แพร่), ผักก้อนหมา (ลำปาง), ผักหวานดง คอนแคน (นครราชสีมา), ว่านสากเหล็ก (สุรินทร์), อีกริมป่า (ชลบุรี), ดอกแก รางดอย (ลั้วะ) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ลักษณะของค้อนหมาขาว

  • ต้นค้อนหมาขาว จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม มีความสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงเป็นต้นเดียวหรือแตกเป็นกอเล็กน้อย ลำต้นหนา เป็นรูปทรงกระบอก ต้นอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนสีเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ ขึ้นได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม พบได้ทุกภาคของประเทศไทย โดยมักขึ้นตามป่าดิบแล้งทั่วไป[1],[2],[4]

ต้นค้อนหมาขาว

  • ใบค้อนหมาขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปดาบ มีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ผิวใบเรียบ ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบเป็นเส้นใย[1],[2]

ใบค้อนหมาขาว

  • ดอกค้อนหมาขาว ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ลักษณะห้อยลง ก้านช่อดอกยาว กลีบดอกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]

ดอกค้อนหมาขาว

  • ผลค้อนหมาขาว ผลเป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปเกือบทรงกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม ออกผลในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[1],[2]

ผลค้อนหมาขาว

สมุนไพรค้อนหมาขาว

สรรพคุณของค้อนหมาขาว

  • ตำรายาพื้นบ้านจะใช้ค้อนหมาขาวทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้เบาหวาน (ทั้งต้น)[1]
  • ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ค้อนหมาขาวทั้งต้นนำมาผสมกับใบพิมเสนต้น และใบบัวบก แล้วบดให้ละเอียดทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนกิน หรือใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้รากสาด ไข้กาฬ (ทั้งต้น)[1]
  • ชาวเขาเผ่าเย้าจะใช้รากค้อนหมาขาวนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก)[1]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของค้อนหมาขาว

  • สารสกัดจากทั้งต้นที่อยู่เหนือดินด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งการเกร็งตัวของลำไส้สัตว์ทดลอง[1]

ประโยชน์ของค้อนหมาขาว

  • ยอดอ่อนหรือดอกอ่อนมีรสหวาน ใช้ลวก ต้ม รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงแค แกงผักรวมใส่ปลาย่าง หรือผัด[2],[3],[4]
  • มีบ้างที่นำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ค้อนหมาขาว”.  หน้า 94.
  2. พืชกินได้ในป่าสะแกราช, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “ค้อนหมาขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.tistr.or.th.  [21 ม.ค. 2015].
  3. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ค้อนหมาขาว, พร้าวพันลำ”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [21 ม.ค. 2015].
  4. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ค้อนหมาขาว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [21 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 翁明毅, 潘立傑 LiChieh Pan)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด