คำไทย
คำไทย ชื่อสามัญ Anatto tree[1],[2]
คําไทย ชื่อวิทยาศาสตร์ Bixa orellana L. จัดอยู่ในวงศ์คำแสด (BIXACEAE)[1],[2]
สมุนไพรคำไทย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คำเงาะ คำแงะ คำแฝด คําแสด (กรุงเทพฯ), ซิติหมัก (เลย), แสด มะกายหยุม (ภาคเหนือ), ชาตรี (ภาคอีสาน), ชาด ดอกชาติ (ภาคใต้), หมากมอง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), จำปู้ ส้มปู้ (เขมร-สุรินทร์), คำยง ชาตี ชาดี (เขมร) เป็นต้น[1],[2],[4]
หมายเหตุ : ต้นคำไทยในบทความนี้เป็นพันธุ์ไม้คนละชนิดกันกับต้นคําแสด ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mallotus philippensis Mull.arg. ที่จัดอยู่ในวงศ์ EUPHORBIACEAE เนื่องจากทั้งสองชนิดมีชื่อท้องถิ่นที่เหมือนกันว่า “คําแสด” จึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้ หากต้องการอ่านบทความดังกล่าว ท่านสามารถอ่านได้ที่ คำแสด
ลักษณะของคำไทย
- ต้นคำไทย หรือ ต้นคำแสด เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของอเมริกาตอนกลาง ต่อมาได้ขยายไปทางเหนือและใต้ เช่น เม็กซิโก บราซิล และกัวเตมาลา ก่อนจะถูกนำไปปลูกในประเทศที่มีอากาศร้อนทั่วโลก โดยต้นคําไทยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 3-8 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมหนาทึบ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลปนเทา ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และการตัดกิ่งเพื่อนำไปปักชำ สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณชื้นและตามป่าดิบแล้ง[1],[4],[5],[8]
- ใบคำไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 11-18 เซนติเมตร แผ่นใบมีลักษณะบางนุ่ม ใบเป็นสีเขียวเหลือบแดง ส่วนใบอ่อนเป็นสีแดง[1],[2]
- ดอกคำไทย ออกดอกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 5-10 ดอก ดอกย่อยเป็นสีขาวแกมชมพูหรือสีชมพูอ่อน ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ยาว และมีกลีบรองดอกขนาดเล็กสีเขียว ดอกอ่อนจะมีลักษณะกลม ผิวสีแดง ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมากและมีเกสรเพศเมียอีก 1 ก้าน ที่รังไข่มีขนรุงรัง ภายในมีช่อง 1 ช่อง และมีไข่อ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก[1],[2]
- ผลคำไทย ลักษณะของผลเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายผลแหลม มีขนสีแดงคล้ายผลเงาะ ผลเมื่อแก่จัดจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก[1],[2]
- เมล็ดคำไทย เมล็ดเป็นสีน้ำตาลแดง มีลักษณะกลม และมีเนื้อหุ้มเมล็ดเป็นสีแดงหรือสีแสด[1],[2]
สรรพคุณของคำไทย
- ดอกใช้ปรุงเป็นยาหรือใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงโลหิตให้สมบูรณ์ (ดอก[1],[2],[3],[4],[5], ราก[5], เปลือกต้น[5], เมล็ด[5]) และมีข้อมูลระบุว่ารากเป็นยาบำรุงเลือดลม (ราก)[9]
- ดอกใช้ต้มกินเป็นยารักษาโรคโลหิตจาง (ดอก)[1],[2],[3],[4],[5]
- หากความดันโลหิตสูง ให้ใช้เปลือกต้นประมาณ 1 ฝ่ามือต่อน้ำ 1 ลิตร นำมาต้มเป็นยาดื่มวันละ 3 เวลาจะช่วยลดความดันโลหิตได้ (เปลือกต้น)[9]
- รากคําไทยมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก)[9]
- ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)[5]
- ช่วยบำรุงประสาท บำรุงสมอง (ดอก)[5]
- ใบนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาแก้กษัย (ใบ)[9]
- หมอพื้นบ้านจะใช้เมล็ดทำเป็นยารักษาอาการไข้ แก้ไข้ (เมล็ด)[4],[5]
- ใบหรือเปลือกรากใช้เป็นยาลดไข้ (ใบ, เปลือกราก)[1],[2],[4],[5]
- เมล็ดช่วยรักษาไข้มาลาเรีย ส่วนเปลือกรากช่วยป้องกันไข้มาลาเรีย (เมล็ด, เปลือกราก)[1],[2],[4],[5]
- เปลือกต้นและเมล็ดช่วยแก้ไข้ทับระดู (เปลือกต้น, เมล็ด)[5]
- ช่วยระงับความร้อนภายในร่างกาย (ดอก)[5]
- ช่วยขับเสมหะ (เมล็ด)[5]
- ช่วยรักษาริดสีดวงที่จมูก ด้วยการใช้ใบนำมาซอยแล้วตากแดดให้แห้ง นำมามวนเป็นยาสูบจะช่วยแก้ริดสีดวงจมูกได้ (ใบ)[9]
- ใบช่วยรักษาอาการเจ็บคอ (ใบ)[1],[2],[4],[5]
- ใบคำไทยช่วยรักษาโรคดีซ่าน (ใบ)[1],[2],[4],[5]
- รากใช้เป็นยาบำรุงปอด (ราก)[9]
- เมล็ดมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (เมล็ด)[5]
- ดอกนำมาต้มกินจะช่วยรักษาโรคบิดได้ (ใบ, ดอก)[1],[2],[3],[4],[5] ส่วนเมล็ดมีสรรพคุณแก้บิดเช่นกัน (เมล็ด)[5]
- เนื้อหุ้มเมล็ดมีรสหวานร้อน เป็นยาระบายท้อง (เนื้อหุ้มเมล็ด)[1],[2],[4],[5]
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ต้นคําไทยทั้งห้านำมาต้มรับประทานเป็นยา โดยใช้ประมาณ 1 มือต่อน้ำ 1 ลิตร แบ่งกินหลังอาหารวันละ 3 เวลา (ทั้งต้น)[9]
- ใช้เป็นยาขับพยาธิ (เนื้อหุ้มเมล็ด[1],[2],[4],[5], ขนจากผล[5])
- ใบใช้เป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ใบคำไทยประมาณ 8-10 ใบ นำมาต้มกับน้ำ 1 ลิตร ใช้ดื่มวันละ 3 เวลา (ใบ[1],[2],[4],[5], เมล็ด[5]) ใบนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปัสสาวะขุ่นข้น (ใบ)[9]
- ช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ด้วยการใช้เปลือกต้นประมาณ 1 ฝ่ามือต่อน้ำ 1 ลิตร นำมาต้มเป็นยาดื่มวันละ 3 เวลา (เปลือกต้น)[9]
- ช่วยรักษาโรคหนองใน (เมล็ด, เปลือกราก)[1],[2],[4],[5]
- สำหรับผู้ที่ต่อมลูกหมากโต ให้ใช้เปลือกต้นประมาณ 1 ฝ่ามือต่อน้ำ 1 ลิตร นำมาต้มเป็นยาดื่มวันละ 3 เวลา (เปลือกต้น)[9]
- ดอกช่วยบำรุงโลหิตระดูและขับระดูของสตรี ส่วนเมล็ดก็เป็นยาขับระดูเช่นกัน (ดอก, เมล็ด)[5]
- เมล็ดใช้ตำพอกหัวหน่าวแก้อาการปวดมดลูกของสตรีหลังการคลอดบุตร (เมล็ด)[5]
- รากใช้ต้มเป็นยาให้หญิงอยู่ไฟกิน (ราก)[9]
- ช่วยรักษาไตพิการ (ดอก)[1],[2],[4],[5]
- ช่วยแก้ดีพิการ (ดอก)[5]
- ช่วยบำรุงน้ำเหลืองให้สมบูรณ์ (ดอก)[5]
- เมล็ดใช้เป็นยาหอมและเป็นยาฝาดสมาน สมานแผล ส่วนดอกและผลก็เป็นยาสมานแผลเช่นกัน (เมล็ด, ดอก, ผล)[1],[2],[4],[5]
- เนื้อหุ้มเมล็ดช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เนื้อหุ้มเมล็ด[1],[2],[4],[5], เมล็ด[5])
- ดอกช่วยรักษาอาการแสบร้อนและคันตามผิวหนัง (ดอก[1],[2],[4],[5], ราก[5])
- น้ำมันจากเมล็ดช่วยรักษาการติดเชื้อที่ผิวหนัง (น้ำมันจากเมล็ด)[7]
- ดอกช่วยแก้พิษ (ดอก)[5]
- เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคพิษจากสบู่แดงและมันสำปะหลัง (เมล็ด)[1],[2],[4],[5]
- นอกจากนี้ยังมีการใช้ใบเพื่อรักษาการถูกงูกัด (ใบ)[4],[5]
- เปลือกต้นนำมาใช้ฝนทาแก้พิษงู (เปลือกต้น)[9]
- เมล็ดนำมาตำใช้เป็นยาพอกหรือทาแก้อาการปวดบวม (เมล็ด)[5]
- เถาช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (เถา)[7]
- น้ำมันจากเมล็ดมีรสร้อน ใช้ทาแก้อัมพฤกษ์อัมพาต แก้อาการขัดตามข้อ (น้ำมันจากเมล็ด)[5]
- มีข้อมูลระบุว่า นำใบมาใช้ชงกับน้ำดื่มจะช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศได้ (ใบ)[9]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของคำไทย
- คำไทยมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ต้านปรสิต โปรโตซัว กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการหลั่งของกระเพาะอาหาร คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน (อังกฤษ: prostaglandin) ยับยั้งเอนไซม์ Aldolase ยับยั้งการเจริญของเซลล์ ทำให้แพ้ ไล่แมลง ฆ่าแมลง ดึงดูดแมลง และเร่งการงอกของพืช[6] บ้างว่ามีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ขับปัสสาวะ ต้านการอักเสบ ต้านอาการชัก ลดระดับคอเลสเตอรอล ลดการหลั่งของกรดในหนู ต้านพิษงู และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย[9]
- จากการทดสอบความเป็นพิษพบว่า สารสกัดส่วนเหนือดินของต้นคําไทยด้วยเอทานอล : น้ำ (1:1) มีขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่งเท่ากับ 0.375 ก./กก. หรือมากกว่า 1 ก./กก. เมื่อฉีดเข้าช่องท้อง และมีค่า 3.8 ก./กก. เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาดของสารสกัดรากด้วยน้ำที่ทำให้หนูถีบจักรตายครึ่งหนึ่งมีค่าเท่ากับ 700 มก./กก. ไม่พบความเป็นพิษ[6]
ประโยชน์ของคำไทย
- เนื้อหุ้มเมล็ดใช้ทำเป็นสีสำหรับแต่งอาหาร แต่งสีเนย สีไอศกรีม ฝอยทอง น้ำมัน หรือเพื่อเพิ่มความเข้มของไข่แดง เป็นต้น และยังใช้เป็นสีสำหรับย้อมไหมและฝ้าย ผ้าขนแกะ ฯลฯ นอกจากนี้ยังใช้ผสมในยาขัดรองเท้า ยาขัดหนัง ขัดพื้นเพื่อจะทำให้หนังมีสีแดงคล้ำ ฯลฯ โดยนำเมล็ดมาแช่ในน้ำร้อนและหมักทิ้งไว้หลาย ๆ วัน เพื่อทำให้ผงสีส้มที่มีชื่อว่า Bixin ตกตะกอน แล้วจึงแยกเอาเมล็ดออก แล้วนำน้ำสีที่ได้ไปเคี่ยวจนน้ำเกือบแห้ง และนำไปตากแดดจนแห้งเป็นผง เก็บไปใช้ในการย้อมสีต่อไป โดยสีที่ได้คือสีแสด หรือเรียกว่าสี Annatto, Arnotto, หรือ Orlean และเป็นสีที่ไม่มีพิษ[2],[3],[4],[5],[7],[8]
- ชาวท้องถิ่นดั้งเดิมในอะเมซอนจะใช้เนื้อหุ้มเมล็ดทาเพื่อแต่งลวดลายตามร่างกายและใบหน้า เพื่อแสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว[8]
- น้ำมันจากเมล็ดสามารถช่วยรักษาสภาพของน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์นมได้[7]
- เปลือกต้นของคำไทยหรือคําแสดสามารถนำมาใช้ทำเป็นเชือกได้ดี[8]
- นิยมใช้ปลูกกันเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม เพราะนอกจากดอกก็ยังมีผลที่ออกเป็นกลุ่ม ๆ ดูสวยงามกว่าดอกเสียอีก และยังมีความทนทานมากกว่าดอกหลายเท่าอีกด้วย โดยจะมีทั้งพันธุ์ผลสีแดงและผลสีเหลือง ในประเทศไทยเราส่วนมากแล้วจะปลูกแต่พันธุ์ผลสีแดง หากนำพันธุ์ผลสีเหลืองมาปลูกคู่กับพันธุ์ผลสีแดงก็จะทำให้เกิดความงดงามมากยิ่งขึ้น[4],[8]
- หมอยาอีสานจะนิยมปลูกต้นคำไทยไว้หน้าบ้าน เพื่อใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาผู้ที่ถูกมนต์ดำหรือผู้ที่โดนของ ทั้งจากการถูกคนทำใส่หรือจากภูตผีมาทำด้วย โดยหมอยาจะให้กินยาสมุนไพรชนิดนี้หรือชนิดอื่นต้มให้รับประทาน แต่จะต้องใช้ใบคำไทยลูบตามผิวกายเพื่อดึงเอาของไม่ดีออกจากร่างกายร่วมกับมนต์คาถา หรือจะใช้ใบคำไทยร่วมกับมนต์คาถาโดยไม่ต้องกินยาสมุนไพรก็ได้[9]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “คำไทย (Kham Thai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 79.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “คําไทย”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 86.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “คำไทย Annatto Tree”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 64.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “คําไทย”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 185-187.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “คำเงาะ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [18 ก.พ. 2014].
- สมุนไพรในร้านยาโบราณ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “คำไทย”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th. [18 ก.พ. 2014].
- ศูนย์ปฎิบัติการโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “คำแสด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [18 ก.พ. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 279 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “คำแสดสีสันบนใบหญ้าและผืนผ้า”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [18 ก.พ. 2014].
- กลุ่มรักษ์เขาใหญ่. “คําไทย หน้าตาสดใส เลือดลมดี”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com. [18 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vietnam Plants & The USA. plants, HBarrison, go green globe, Anestor, wagner campelo, scott.zona, Alessandro Macedo Aragão, kaiyanwong223, judymonkey17)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)