คำรอก
คำรอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Ellipanthus tomentosus Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ellipanthus cinereus Pierre, Ellipanthus subrufus Pierre) จัดอยู่ในวงศ์ถอบแถบ (CONNARACEAE)[1],[2]
สมุนไพรคำรอก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมาตายทากลาก หำฟาน (เชียงใหม่), อุ่นขี้ไก่ (ลำปาง), ตานนกกดน้อย ประดงเลือด (สุโขทัย), กะโรงแดง คำรอก ช้างน้าว จันนกกด จับนกกรด (นครราชสีมา), ตานนกกดน้อย (สุรินทร์), กะโรงแดง คำรอก จันนกกด ช้างน้าว (ราชบุรี), กะโรงแดง หมาตายทากลาก (ภาคตะวันออก), ตานนกกรดตัวเมีย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ตานกกด เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของคำรอก
- ต้นคำรอก จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 12-20 เมตร ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน เรือนยอดเป็นรูปพุ่มไข่หรือแผ่เป็นพุ่มแคบ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีเทา แตกเป็นร่องลึกตามความยาวของลำต้น และเป็นสะเก็ดหนา ตามกิ่งก้านอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบได้ในพม่า อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือ โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ชายป่าดิบ และป่าพรุ ที่ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 800 เมตร[1],[2],[3]
- ใบคำรอก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างยาวหรือรูปรีถึงรูปใบหอก ปลายใบมนถึงเรียวแหลม โคนใบสอบถึงกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-18 เซนติเมตร แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนมีขนขึ้นตามเส้นกลางใบ ส่วนผิวใบด้านล่างมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงสั้นหนานุ่มทั่วไป มีหนาแน่นตามเส้นใบ เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-10 เส้น ปลายจรดกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ปลายก้านใบมีข้อ ใบลักษณะลู่ลง[1],[2]
- ดอกคำรอก ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ก้านช่อดอกสั้น มีขนขึ้นหนาแน่น ดอกส่วนมากเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอ่อน ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ปลายทู่หรือแหลม แยกกัน กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนยาวห่าง ส่วนด้านในเกลี้ยง ส่วนกลีบดอกนั้นมี 5 กลีบ กลีบเป็นสีขาวหรือสีครีม แยกกัน ขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนยาวห่าง ส่วนด้านในมีขนสั้นหนานุ่ม ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน เป็นหมัน 5 อัน เกสรเพศเมีย มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่เบี้ยว มีขนขึ้นหนาแน่น ยอดเกสรเพศเมีย ปลายแยกเป็น 2 แฉก ส่วนใบประดับเป็นรูปสามเหลี่ยม ออกดอกในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1],[2]
- ผลคำรอก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม ปลายผลแหลม ผลมีขนาดยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวผลมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงขึ้นหนาแน่น มีก้านผลสั้น ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาล เปลือกผลบาง ไม่มีเนื้อผล พอแก่แล้วจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ติดผลในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2]
- เมล็ดคำรอก เมล็ดเป็นสีดำเป็นมัน ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ยาวได้ประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้มแดงคล้ายกับตาของนกกรด (ภาพแรกคือเมล็ดอ่อน ส่วนภาพสองคือเมล็ดแก่)[1],[2]
สรรพคุณของคำรอก
- รากคำรอกใช้ผสมกับรากตาไก้ และรากตากวง นำมาต้มกินเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต (ราก)[2]
- ตำรายาไทยจะใช้เนื้อไม้ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (เนื้อไม้)[2]
- กิ่งก้านและต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยเรียกน้ำย่อย ช่วยเจริญอาหาร (กิ่งก้านและลำต้น)[1],[2]
- เนื้อไม้มีรสฝาดขมมัน ใช้เป็นยาแก้กระษัย เป็นยาถ่ายพิษเสมหะและโลหิต (เนื้อไม้)[2]
- กิ่งก้านและต้นใช้ผสมกับต้นกำแพงเจ็ดชั้น ต้นพลองเหมือด ต้นสบู่ขาว แก่นพลับพลา และแก่นจำปา นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หอบหืด (กิ่งก้านและต้น)[2]
- กิ่งก้านและต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยป้องกันอาการท้องอืด (กิ่งก้านและลำต้น)[1],[2]
- เนื้อไม้ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง ช่วยคลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อท้อง (เนื้อไม้)[2]
- กิ่งก้านและต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดท้องเกร็ง หรือรักษาอาการบีบเกร็งของช่องท้อง (กิ่งก้านและลำต้น)[1],[2]
- ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้เนื้อไม้คำรอกเข้ายากับตาไก้และขันทองพยาบาท นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องผูก (เนื้อไม้)[2]
- เปลือกต้นและแก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคทางเดินปัสสาวะ (เปลือกต้นและแก่น)[1],[2]
- เนื้อไม้ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ รักษาอาการไตพิการ (เนื้อไม้)[2]
- เปลือกต้นและแก่นใช้ต้มสกัดเป็นยารักษาการทำงานที่ผิดปกติของไต ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น เหลืองหรือแดง และมักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้) (เปลือกต้นและแก่น)[1],[2]
- เนื้อไม้ใช้เป็นยาถ่ายพิษตับ แก้ตับทรุด (เนื้อไม้)[2]
- รากใช้ผสมกับนมวัวทั้งห้า แก่นจวง อ้อยดำ ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยารักษาประดงที่มีอาการปวดวิ่งตามตัว (ราก)[2]
- ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้เนื้อไม้นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (เนื้อไม้)[2]
- รากใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงหลังคลอดบุตรของสตรี (ราก)[2]
- กิ่งก้านและต้นใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาประดงกินกระดูก (กิ่งก้านและต้น)[4]
ประโยชน์ของคำรอก
- เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องจักสาน เครื่องมือการเกษตร เครื่องมือใช้สอยต่าง ๆ และใช้ทำเชื้อเพลิงได้ดี[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “คำรอก (Kham Rok)”. หน้า 81.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ตานกกด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [20 ม.ค. 2015].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “คำรอก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [20 ม.ค. 2015].
- หนังสือพรรณไม้พื้นบ้านอีสาน เล่ม 1. “คำรอก”. (สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม). หน้า 97.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Yeoh Yi Shuen), ww.phargarden.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)