10 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคํามอกหลวง !

10 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคํามอกหลวง !

คำมอกหลวง

คำมอกหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Gardenia sootepensis Hutch. จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1],[2]

คำมอกหลวง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แสลงหอมไก๋ หอมไก๋ (ลำปาง), ไข่เน่า (นครพนม), ผ่าด้าม ยางมอกใหญ่ (นครราชสีมา), คำมอกช้าง (ภาคเหนือ), ไม้มะไขมอก (คนเมือง), ซือเก่าพรึ (ม้ง), เบล่เด่อปุดย (ปะหล่อง) เป็นต้น[1],[2],[7]

ลักษณะของคำมอกหลวง

  • ต้นคำมอกหลวง หรือ ต้นคำมองช้าง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยที่ดอยสุเทพ[5] สามารถพบได้ตั้งแต่พม่า ไทย และลาว ในประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[6] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบในช่วงสั้น ๆ ก่อนออกดอก ลำต้นมีความสูงของต้นประมาณ 7-15 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มกลมและโปร่ง เรือนยอดโปร่ง ลำต้นมักคดงอ แตกกิ่งน้อย (บ้างว่าแตกกิ่งก้านแผ่กว้าง) กิ่งอ่อนมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมและมีขน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีครีมอ่อนหรือสีเทาถึงสีเทาเข้ม แตกเป็นสะเก็ด หลุดออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ และมียางเหนียวสีเหลืองข้นเป็นก้อนที่ปลายยอด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดแบบเต็มวัน สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าผสมผลัดใบ และป่าเต็งรัง ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200-400 เมตร[1],[2],[3],[4],[5],[6],[9]

ต้นคำมอกหลวงคํามอกหลวง
  • ใบคำมอกหลวง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก โดยออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปขอบขนานแกมไข่กลับ หรือเป็นรูปไข่กลีบ ปลายใบแหลมหรือมนมีหางสั้น ๆ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-15 เซนติเมตรและยาวประมาณ 9-28 เซนติเมตร โดยใบอ่อนจะเป็นสีชมพูอ่อนถึงสีแดง มีขนสีเงิน ส่วนใบแก่หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบมีขนละเอียด แผ่นใบหนาแข็งและกรอบ มีเส้นใบข้างประมาณ 16-20 คู่ มีลักษณะตรงและขนานกันและโค้งมาจรดกันที่ขอบใบ มองเห็นเส้นแขนงใบได้ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีหูใบเป็นปลอกรอบกิ่ง โดยหูใบจะอยู่ระหว่างก้านใบ หลุดร่วงได้ง่าย และจะทิ้งรอยแผลกลมเป็นตุ่มตารูปกรวยกว้างไว้ และที่ยอดอ่อนจะมีน้ำยางคล้ายขี้ผึ้งสีเหลืองหุ้มไว้อยู่ สามารถมองเห็นได้ชัดเจน[1],[2],[3]

ใบคำมอกหลวง

  • ดอกคำมอกหลวง ออกดอกเดี่ยว โดยจะออกดอกที่ปลายยอดหรือตามซอกใบ ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองเข้ม มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด หลอดกลีบดอกมีความยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแคบ ปลายแยกเป็น 5 พูและแผ่ออก ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร บิดเป็นเกลียว ในดอกตูมก้านดอกจะมีความยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร กลีบดอกจะเป็นสีขาวนวลเมื่อแรกบาน แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสดภายหลัง ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ไม่มีก้านชู เรียงสลับกับกลีบดอกบนปากหลอด และโผล่พ้นปากหลอดกลีบดอกออกมาเพียงเล็กน้อย ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 ก้าน ที่ปลายของเกสรจะมีลักษณะคล้ายกระบอง ก้านเกสรเพศเมียจะยาวโผล่พ้นปากหลอดของกลีบดอก ส่วนอับเรณูมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน รังไข่จะอยู่ใต้วงกลีบมี 1 ช่อง และมีออวุลจำนวนมาก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันเป็นหลอดขนาดยาวประมาณ 1.2-2 เซนติเมตรและปลายแยกเป็น 2 แฉก ปลายเป็นพูเล็ก ๆ ด้านหนึ่งแยกลึก ส่วนด้านนอกมีขนละเอียดเหนียว ๆ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[3]

ดอกคํามอกหลวง

คำมอกหลวง

  • ผลคำมอกหลวง ผลเป็นผลสดมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรี รูปไข่ รูปกระสวยแกมรูปไข่กลับ หรือเป็นรูปขอบขนาน ผลมีติ่งที่ปลายและสันตื้น ๆ ประมาณ 5-6 สัน ผลเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ ที่ผิวมีปุ่มหูดกับช่องอากาศ ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.8-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.2-4 เซนติเมตร ภายในผลมีเนื้อและเมล็ดจำนวนมาก โดยจะออกผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3]

ผลคำมอกหลวง

สรรพคุณของคำมอกหลวง

  • แก่นนำไปใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (แก่น)[8]
  • เนื้อไม้ใช้เข้ายากับโมกเตี้ยและสามพันเตี้ย ใช้ต้มกับน้ำเป็นยาดื่มแก้บิดและถ่ายเป็นมูกเลือด (เนื้อไม้)[3]
  • แก่นคำมอกหลวงใช้ผสมกับแก่นมะพอก นำมาต้มรวมกันให้หญิงอยู่ไฟใช้อาบและสระผม (แก่น)[3]
  • เมล็ดคำมอกหลวงนำมาต้มเคี่ยวกับน้ำใช้ผสมเป็นยาฆ่าเหา (เมล็ด)[1],[2],[3],[4]

ประโยชน์ของคำมอกหลวง

  1. ต้นคำมอกหลวงเป็นไม้ทนแล้ง เหมาะที่จะปลูกเพื่อให้ร่มเงาได้ อีกทั้งยังใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี เพราะดอกมีสีสันสวยงามและมีกลิ่นหอมมาก โดยจะออกดอกพร้อมกันทั้งต้น และดอกจะบานประมาณ 2-3 วัน ดอกสามารถส่งกลิ่นหอมได้ยาวนาน แม้ดอกร่วงแล้วแต่ก็ยังส่งกลิ่นหอม[4],[5],[6]
  2. ดอกใช้สำหรับถวายพระ (คนเมือง)[7]
  3. สมัยก่อนจะนิยมใช้ผลนำไปสระผม[8]
  4. เนื้อในเมล็ดแก่ใช้รับประทานได้ (ชาวม้ง)[7]
  5. ยางเหนียวจากยอดสามารถนำมาขยี้จนเป็นก้อน ๆ แล้วนำไปใส่ในร่องระหว่างโคนมีดกับด้าม จะช่วยทำให้มีดแน่นติดกับด้ามมีดมากขึ้น[7]
  6. เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างและงานแกะสลักได้[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “คำมอกหลวง (Khammok Luang)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 80.
  2. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.  “คํามอกหลวง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ).  หน้า 101.
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “คำมอกหลวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [18 ก.พ. 2014].
  4. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “คํามอกหลวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [18 ก.พ. 2014].
  5. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “คำมอกหลวง”.  (นพพล เกตุประสาท).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th.  [18 ก.พ. 2014].
  6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “คํามอกหลวง”.  อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้ภูสวนทราย หน้า 101, หนังสือไม้ต้นในสวน Tree in the Garden.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [18 ก.พ. 2014].
  7. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “คำมอกหลวง”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [18 ก.พ. 2014].
  8. ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในโรงเรียน, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “คํามอกหลวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: copper.msu.ac.th/plant/.  [25 ม.ค. 2014].
  9. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร.  “คำมอกหลวง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: minpininteraction.com.  [18 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kukiat Tanteeratarm), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.the-than.com

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด