อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน* โดยปกติแล้วแพทย์จะอธิบายให้เข้าใจถึงธรรมชาติของโรค การใช้ยารักษา และปัจจัยที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ทราบถึงแนวทางการควบคุมโรคได้อย่างถูกต้อง มิเช่นนั้น ผู้ป่วยอาจละเลยการดูแลตัวเอง ดิ้นรนหาทางรักษาอื่น ๆ หันไปกินยาหม้อยาสมุนไพร หรือเปลี่ยนหมอไปเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายก็ไม่ดีขึ้นหรือซ้ำร้ายอาการก็แย่ลงกว่าเดิม
เบาหวานเป็นโรคที่มีส่วนมาจากพฤติกรรมการกิน ดังนั้น “การปรับพฤติกรรม” โดยเฉพาะ “การควบคุมอาหาร” จึงถือเป็นกุญแจดอกสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานอยู่ร่วมกับโรคได้อย่างมีความสุข เพราะถ้าหากควบคุมโรคได้ไม่ดีเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ เหนื่อยง่าย สายตามัวหรือเห็นภาพไม่ชัด คลื่นไส้ เป็นแผลเรื้อรัง ฯลฯ หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้หลายแบบ ตั้งแต่ภาวะหมดสติจากเบาหวาน จอประสาทตาเสื่อม ไตเสื่อม ไตวายเรื้อรัง เกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด เกิดการติดเชื้อได้ง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทที่ทำให้เกิดอาการชาปลายมือปลายเท้าแล้วลุกลามเมื่อเกิดแผล ทำให้แผลหายยากและรุนแรงถึงขั้นเนื้อเน่าตายจนต้องตัดอวัยวะทิ้ง เช่น นิ้วเท้าหรือข้อเท้า ทำให้เกิดความพิการ ร่างกายไม่แข็งแรง จนต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ เหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสร้างความทุกข์ทั้งต่อตัวเราและคนในครอบครัวแทบทั้งสิ้น
ดังนั้น สิ่งที่ต้องยอมรับเลยก็คือ เบาหวานต้องรักษาไปพร้อม ๆ กับการปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารที่ต้องเน้นควบคุมอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเป็นพิเศษ ซึ่งสำหรับหลาย ๆ คนอาจจะยากมากในช่วงเริ่มต้น ไม่ว่าจะจากความไม่ค่อยสะดวกในการจัดหาหรือเตรียมอาหารที่ดีทานเอง หรือจากการมีพฤติกรรมการกินจุบจิบที่รบกวนไม่หยุด แต่มันจะง่ายขึ้นถ้าเราอดทนทำอย่างต่อเนื่อง และเมื่อทำจนกลายเป็นนิสัยแล้ว มันก็จะส่งผลดีต่อร่างกายจนเราสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมายและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนเดิมอีกครั้ง
แต่ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้ในสมัยนี้จะไม่ได้ลำบากเท่าในสมัยก่อนแล้ว ที่เราต้องมาคอยจัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมทานเองในทุก ๆ มื้อ เพราะมีอาหารทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับโรคต่าง ๆ รวมทั้งโรคเบาหวาน ซึ่งสามารถนำมาใช้ร่วมกับวิธีการรักษาหลักอย่างได้ผล โดยอาหารที่ว่าก็คือ “อาหารทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน” ที่ใช้รับประทานแทนอาหารมื้อหลักในบางมื้อ ที่ให้โภชนาการได้ครบถ้วนและมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงไม่ขึ้นสูงตั้งแต่แรกหลังรับประทาน และมีผลช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
โรคเบาหวาน* คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ หรือเกิดจากอินซูลินไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มที่ มีความเกี่ยวข้องกับอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยเฉพาะอาหารในกลุ่มแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตที่สามารถเปลี่ยนถูกเป็นน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันที ดังนั้น การควบคุมคาร์โบไฮเดรตจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน
อาหารทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
อาหารทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือ อาหารทางการแพทย์** ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการอย่างครบถ้วนและมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตชนิดพิเศษที่ผู้ป่วยเบาหวานใช้รับประทานทดแทนอาหารปกติในแต่ละมื้อ ที่เมื่อทานแล้วจะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงตั้งแต่แรกหลังรับประทาน จึงมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ด้วยเพราะอาหารประเภทนี้จะมีส่วนประกอบหลักเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดพิเศษ เช่น ไฟเบอร์ซอล 2, ซูโครมอลต์, FOS ฯลฯ ที่ร่างกายจะใช้เวลาในการย่อยและดูดซึมนาน (Slow-release carbohydrates) คาร์โบไฮเดรตกลุ่มนี้จะค่อย ๆ ถูกย่อยและถูกดูดซึมอย่างช้า ๆ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสม อิ่มนานและไม่หิวบ่อย ซึ่งจะแตกต่างจากอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวทั่วไป (แป้งที่ผ่านการขัดสี) เช่น ข้าวขาว ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำตาลทราย ฯลฯ ที่มีเส้นใยน้อย ทานแล้วร่างกายจะย่อยและดูดซึมอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูงและหิวบ่อยขึ้นเพราะย่อยไว
ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เป็นอาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานใช้กินทดแทนอาหารมื้อหลักเป็นบางมื้อ เมื่อไม่สะดวกหรือตอนไม่ได้ทำอาหารกินเอง (ไม่ใช่กินแทนอาหารมื้อหลักทุกมื้อ) โดยจะคล้าย ๆ กับอาหารปั่นแต่ทำให้สะดวกขึ้น (แค่นำมาชง) ให้พลังงานในระดับที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป มีส่วนประกอบหลักเป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดพิเศษที่ดูดซึมได้อย่างช้า ๆ และนาน มีไขมัน MUFA, PUFA ที่ดีต่อหัวใจ โปรตีนสูง จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ไม่พุ่งสูงขึ้นทันทีหลังกินเหมือนกับอาหารคาร์โบไฮเดรตทั่ว ๆ ไป
อาหารทางการแพทย์** (Medical food) คือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยา แต่เป็นอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ เพื่อใช้เป็นโภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคที่ไม่สามารถรับประทานอาหารปกติได้อย่างเพียงพอ หรือร่างกายอยู่ในภาวะที่ต้องการสารอาหารบางอย่างมากหรือน้อยเป็นพิเศษโดยที่ไม่สามารถบริโภคได้จากอาหารทั่วไป
คาร์โบไฮเดรตชนิดพิเศษ
คาร์โบไฮเดรตชนิดพิเศษในอาหารทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มักมีส่วนประกอบหลักเป็นไฟเบอร์ซอล 2, ซูโครมอลต์ และ FOS ที่ทั้ง 3 ตัวนี้ต่างก็เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ซึ่งจะถูกย่อยและดูดซึมได้ช้า ทำให้การปลดปล่อยน้ำตาลเป็นไปอย่างช้า ๆ จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ระดับน้ำตาลในเลือดจึงไม่ขึ้นสูงตั้งแต่แรกหลังรับประทาน
- ไฟเบอร์ซอล 2 (Fibersol-2) เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดพิเศษผลิตจากแป้งข้าวโพดและจัดเป็นพรีไบโอติก ทนต่อการย่อย ร่างกายจึงย่อยและดูดซึมได้ทีละน้อย และยังมีคุณสมบัติละลายน้ำ จึงเป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำที่ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน โดยรวมแล้วจึงช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดและลดปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกายได้ในทางอ้อม และด้วยความเป็นพรีไบโอติก มันจึงช่วยส่งเสริมให้สุขภาพของระบบทางเดินอาหารโดยรวมดีขึ้น สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ เพิ่มมวลอุจจาระ ช่วยให้อุจจาระนิ่มง่ายต่อการขับถ่าย และมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของภูมิต้านทานในร่างกาย
- ซูโครมอลต์ (Sucromalt) เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดพิเศษที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ให้ความหวานแทนน้ำตาลปกติ เป็นตัวที่ช่วยให้อาหารมีรสชาติหวานโดยไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงเร็ว ร่างกายจะย่อยและดูดซึมอย่างช้า ๆ ผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่รู้สึกอ่อนเพลียหรือโหยหาพลังงานมากนัก
- ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ (FOS หรือ Fructo-oligosaccharides) เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่ง จัดเป็นพรีไบโอติก และเป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล (ให้ความหวานต่ำกว่าน้ำตาลทราย 30-50%) มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี นิยมใช้ในอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากส่วนประกอบนี้ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ (จึงไม่ถูกย่อยเป็นน้ำตาลและไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด) ต้องอาศัยจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ใหญ่มาช่วยในการย่อย และด้วยความที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ จึงถือเป็นใยอาหารชนิดละลายน้ำที่สามารถช่วยเพิ่มกากในทางเดินอาหาร จึงช่วยกระตุ้นการขับถ่าย และช่วยส่งเสริมให้สุขภาพของระบบทางเดินอาหารดีขึ้นได้
- มีผลการศึกษาที่พบด้วยว่า FOS สามารถช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้, การใช้ในผู้ป่วยเบาหวานจึงมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลหลังอาหาร, เพิ่มการดูดซึมธาตุแคลเซียมที่จำเป็นในลำไส้, รักษาสมดุลระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลในเลือด, ช่วยลดปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมีส่วนช่วยลดจุลินทรีย์ก่อโรคและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายจากความเป็นพรีไบโอติก[2] นอกจากนี้ การที่ไฟเบอร์ซอล 2, ซูโครมอลต์ และ FOS ถูกย่อยและถูกดูดซึมได้ช้า มันจึงสามารถเคลื่อนตัวไปยังลำไส้เล็กส่วนปลายแล้วไป ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน GLP-1 ให้เพิ่มขึ้นได้ด้วย ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้ก็ถือเป็นพระเอกอีกตัว เพราะมันมีคุณสมบัติกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน*** (ฮอร์โมนลดระดับน้ำตาลในเลือด), ยับยั้งกลูคากอน**** (ฮอร์โมนที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง), ช่วยลดความอยากอาหาร (ทำให้รู้สึกหิวช้าลง), ชะลอลำไส้บีบตัว (ทำให้อาหารอยู่ในท้องได้นาน)[3],[4] และมีส่วนช่วยลดน้ำหนักตัวได้ในระดับปานกลาง
อินซูลิน*** (Insulin) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากเบต้าเซลล์ของตับอ่อน มีหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ โดยจะหลั่งออกมามากหลังจากรับประทานอาหาร (เป็นช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นมาก) ซึ่งในคนปกติอินซูลินจะหลั่งออกมามากเพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำตาลกลับมาสู่ระดับปกติได้ แต่ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (เบาหวานชนิดที่ 2 ที่พบได้ประมาณ 90%) ก็จะมีผลทำให้อินซูลินทำงานได้ไม่ดี ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ
กลูคากอน**** (Glucagon) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตโดยแอลฟ่าเซลล์ของตับอ่อน มีหน้าที่กระตุ้นให้ตับสลายไกลโคเจนเป็นน้ำตาลกลูโคสและปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันร่างกายจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
GLP-1 ฮอร์โมนต้านเบาหวาน
GLP-1 (Glucagon-like peptide-1) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งในระบบทางเดินอาหารที่จะหลั่งออกมาเมื่อมีอาหารมากระตุ้น โดยจะออกฤทธิ์ในหลายตำแหน่งของร่างกายและมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างมาก ซึ่งอวัยวะสำคัญที่ GLP-1 ออกฤทธิ์ ได้แก่
- ออกฤทธิ์ที่สมองส่วนควบคุมความหิวและความอิ่ม ซึ่งพบว่าฮอร์โมน GLP-1 ช่วยลดความอยากอาหาร ช่วยยืดเวลาความอิ่มให้นานขึ้นหลังมื้ออาหาร ทำให้รู้สึกหิวช้าลง และมีผลช่วยลดน้ำหนักตัวได้ในระดับปานกลาง[4]
- ออกฤทธิ์ที่ตับอ่อน โดย GLP-1 จะออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเมื่อมีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น (เช่น หลังจากรับประทานอาหาร), ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) จากแอลฟ่าเซลล์ที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูง และเพิ่มความไวของเบต้าเซลล์ที่ผลิตอินซูลิน[3],[4]
- ออกฤทธิ์ที่กระเพาะอาหาร โดยจะช่วยชะลอลำไส้บีบตัว จึงช่วยลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและการหลั่งน้ำย่อย ทำให้อาหารอยู่ในท้องได้นานและรู้สึกอิ่มนานขึ้น[4]
กลไกการทำงานของอาหารทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
สรุปประโยชน์ของอาหารทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
- มีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างวันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารและหลังมื้ออาหารสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลให้ระดับของค่าน้ำตาลสะสมในเลือดลดลงได้[2]
- มีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนัก เพราะคาร์โบไฮเดรตชนิดพิเศษจะไปกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมน GLP-1 ในสำไส้เล็กที่มีบทบาทควบคุมความหิวความอิ่ม และลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและการหลั่งน้ำย่อยต่าง ๆ โดยรวมแล้วจึงช่วยยืดเวลาความอิ่ม อาหารอยู่ท้องนานขึ้น ทำให้รู้สึกอิ่มนานหลังมื้ออาหาร รู้สึกหิวช้าลง จึงมีผลช่วยยับยั้งพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้องอันจะนำไปสู่การมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น[4]
- มีส่วนช่วยเรื่องระบบขับถ่ายและสุขภาพของระบบทางเดินอาหาร เพราะไฟเบอร์ซอล 2 และ FOS จัดเป็นพรีไบโอติกที่สามารถช่วยเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่ได้ จึงช่วยส่งผลให้ระบบขับถ่ายและสุขภาพของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น[1],[2]
- มีส่วนช่วยให้ร่างกายมีพลังงาน ไม่รู้สึกอ่อนเพลียในตอนกลางวัน เพราะในสูตรอาหารทดแทนมักมีสารอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ และวิตามินแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกายรวมอยู่ด้วย[1]
- ในผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนผู้ป่วยเบาหวานที่มี FOS มีผลการศึกษาที่พบว่ามีส่วนช่วยควบคุมระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดได้ โดยอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการลดสร้างไขมันจากตับ (Lipogenesis)[2]
- FOS เป็นพรีไบโอติกที่เป็นอาหารของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้มนุษย์ จึงมีส่วนช่วยลดจุลินทรีย์ก่อโรคทางอ้อมและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะ FOS เป็นใยอาหารที่อุ้มน้ำได้ดี ช่วยเพิ่มปริมาณของกากอาหารในลำไส้ จึงช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้สะดวกขึ้น และในขณะเดียวกันกากใยเหล่านี้ก็เกิดการหมักจากแบคทีเรียที่ดี จึงทำให้เกิดการสร้างกรดบิวทิริก (Butyric acid) และกรดโพรพิโอนิก (Propionic acid) ซึ่งสามารถลดปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้[2]
“การควบคุมอาหารในระยะยาวไม่ใช่เรื่องง่าย การเลือก อาหารทดแทนสูตรครบถ้วนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน จึงเป็นหนึ่งในตัวช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง”
คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
- ด้วยอาหารทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเป็นอาหารทางการแพทย์ จึงต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานได้รับสารอาหารที่ถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะการเลือกยี่ห้ออาหารทดแทนที่มีสูตรที่เหมาะสมกับผู้ป่วย รวมถึงคำแนะนำในการรับประทานทานทดแทนอาหารมื้อหลักว่าควรรับประทานวันละกี่มื้อและนานเพียงใด
- นอกจากผู้ป่วยเบาหวานทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องฉีดอินซูลิน ผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากกว่าปกติ และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก อาจสามารถรับประทานอาหารทดแทนได้เช่นกันถ้าจำเป็น แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเช่นกัน
- ไม่แนะนำให้ทานอาหารทดแทนแทนอาหารมื้อหลักในทุก ๆ มื้อ กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยยังสามารถรับประทานอาหารปกติได้อยู่ก็แนะนำให้ทานต่อไป (อ่านคำแนะนำข้อล่าง) แต่ถ้ารู้สึกไม่สะดวกหรือไม่มีเวลาตระเตรียมอาหารที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะมื้อเช้าที่เป็นมื้อสำคัญและคนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีเวลา อาหารทดแทนก็นับเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและสะดวก โดยจะแนะนำให้ทานแทนอาหารมื้อหลักวันละ 1 มื้อ (หรืออย่างมากไม่เกินวันละ 2 มื้อเมื่อจำเป็น) ร่วมกับการทานอาหารปกติ 2 มื้อ เพราะยังไงอาหารที่ดีที่สุดก็คืออาหารปกติเตรียมเองที่มีพลังงานต่ำและให้คุณค่าทางโภชนาการได้ครบถ้วน
- อาหารทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวานเมื่อทานแล้วไม่ได้หมายความว่าน้ำตาลจะไม่ขึ้น (เพียงแต่จะค่อย ๆ ขึ้นหรือขึ้นช้ากว่าเมื่อเทียบกับอาหารปกติทั่วไป) หรือทานแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้ระดับน้ำตาลกลับมาสู่ระดับเป้าหมายได้ทันที เพราะการรักษายังจำเป็นต้องทำควบคู่กันไปกับการปรับพฤติกรรมชีวิตอื่น ๆ ร่วมด้วย
- สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนของผู้ป่วยเบาหวาน ควรเลือกยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับ มีกระบวนการผลิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและความปลอดภัย ได้รับรองการจดทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีงานวิจัยรับรอง ฉลากต้องระบุชื่อ ส่วนประกอบสำคัญ และส่วนผสมอื่น ๆ อย่างชัดเจนและมีปริมาณที่แน่นอน และที่สำคัญควรมีวันผลิตและวันหมดอายุแสดงอยู่ด้วย
- สำหรับการรับประทานอาหารมื้อปกติแนะนำว่า
- กลุ่มแป้ง ถ้าเลือกได้ให้เน้นทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ธัญพืชต่าง ๆ และต้องกำหนดสัดส่วนให้เหมาะสม (ไม่จำเป็นต้องงดเพราะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย)[1]
- กลุ่มผัก โดยเฉพาะผักใบเขียวยิ่งทานก็ยิ่งดีเพราะมีใยอาหารสูงและดูดซึมได้ช้า (ไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น) แต่ก็ควรจำกัดการทานผักประเภทหัวด้วยเพราะมีแป้งเยอะ
- กลุ่มผลไม้ ให้เน้นทานเป็นผลไม้สด แต่ก็ไม่ควรทานมากจนเกินไป และหลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด
- กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์จากนม ให้เลือกดื่มนมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย หลีกเลี่ยงนมหวาน นมเปรี้ยว เพราะมีน้ำตาลสูง
- กลุ่มเนื้อสัตว์ ควรเลือกทานเฉพาะเนื้อสัตว์ไม่ติดมันหรือติดหนัง และรับประทานปลาและเต้าหู้ให้บ่อยขึ้น
- กลุ่มไขมัน ต้องระวังไม่ให้รับมากเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารที่มีกะทิ อาหารที่มีไขมันทรานส์ และในการประกอบอาหารควรใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันมะกอก
- กลุ่มเกลือหรือโซเดียม ควรทานแต่น้อย เพราะสัมพันธ์โดยตรงกับการเป็นความดันโลหิตสูง
- แม้แป้งหรือคาร์โบไฮเดรตจะเป็นสารอาหารที่เราคุ้นเคย แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องควบคุมปริมาณการบริโภคแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตให้ได้ โดยเฉพาะจากอาหารปกติทั่วไปที่ต้องใส่ใจให้มากขึ้น โดยควรเลือกรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic Index หรือ GI : 0-55) ร่วมไปกับการนับปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ทานเข้าไปตลอดทั้งวัน
- นอกจากคาร์โบไฮเดรตที่ต้องเลือกทานให้ดีแล้ว โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุบางชนิดก็มีความสำคัญต่อผู้ป่วยเบาหวานไม่แพ้กัน โดยโปรตีนจะช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ (ควรเลือกโปรตีนคุณภาพและหลากหลายในปริมาณวันละ 140/200 กรัม เช่น อาหารทะเล เนื้อไก่ไม่ติดหนัง ไข่ไก่ ถั่วหรือเมล็ดพืชไม่เติมเกลือ), วิตามินบี 12 ที่ร่างกายมักจะขาดจากการทานยาเมตฟอร์มินในปริมาณสูง (หากขาดอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ปลายประสาทอักเสบ ภาวะถดถอยทางสมอง ฯลฯ), วิตามินดี มีส่วนช่วยให้ฮอร์โมนอินซูลินทำงานได้ดีขึ้น, สังกะสี สารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องฮอร์โมนอินซูลิน, โครเมียม แร่ธาตุที่มีส่วนช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ เป็นต้น
- ควรปรับพฤติกรรมโดยรวมให้ดีขึ้นเพื่อผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว ตั้งแต่การเลือกทานอาหารอย่างเหมาะสมดังที่กล่าวไป (ควบคุมน้ำตาล/คาร์โบไฮเดรต/ไขมัน/โปรตีน/โซเดียมให้สมดุล), หลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง (เช่น น้ำผลไม้ น้ำหวาน เนื้อติดมัน นมที่มีไขมัน อาหารที่มีไขมันทรานส์ ฯลฯ), วางแผนมื้ออาหารไว้ล่วงหน้า, ลดพฤติกรรมการกินจุบจิบ, พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้มากหรือออกกำลังกายที่ไม่หักโหมเกินไปอยู่เสมอ, ดูแลความสะอาดของเท้าทุกวัน, ตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ, กินยาหรือฉีดอินซูลินตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด, ไปพบแพทย์และตรวจร่างกายตามนัดเสมอ เป็นต้น
การที่ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้อย่างต่อเนื่องจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเนื่องจากเบาหวาน และทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตที่มีความสุขได้เหมือนเดิมอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในตัวช่วยเสริมในการควบคุมระดับน้ำตาลก็คือ อาหารทดแทนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะการควบคุมอาหารในระยะยาวไม่ใช่เรื่องง่ายและหลายคนไม่ค่อยสะดวกในการจัดหาอาหารที่เหมาะสมได้ครบทุกมื้อ
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับผลิตภัณฑ์ขนาดทดลองที่มีไฟเบอร์ซอล 2 และซูโครมอลต์ได้ที่ https://bit.ly/3NObxi9
**อาหารทางการแพทย์ ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
เอกสารอ้างอิง
1. Phyathai Hospital . “คาร์โบไฮเดรตที่ดี (คาร์บดี)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phyathai.com. [24 มี.ค. 2022].
2. นพ.สมบูรณ์ รุ่งพรชัย (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และเวชศาสตร์การกีฬา ร.พ.บำรุงราษฎร์). “ประโยชน์ของ Inulin และ Fructooligosaccharide (FOS)”.
3. หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล . “Glucagon-like peptide-1 (GLP-1)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : pharmacy.mahidol.ac.th/dic/. [26 มี.ค. 2022].
4. เพจหมอหล่อคอเล่า. “GLP-1 ฮอร์โมนต้านเบาหวานต้านโรคอ้วน!”. (นพ.เสฏฐวุฒิ งามเมธิชัยวงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.facebook.com/morlorkorlao. [27 มี.ค. 2022].
เขียนโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)