คางทูม อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคคางทูม 13 วิธี !!

โรคคางทูม

คางทูม (Mumps, Epidemic parotitis) เป็นโรคติดต่อเฉียบพลันทางระบบทางเดินหายใจซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Paramyxovirus และก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลาย

โดยมากมักจะเป็นที่ต่อมน้ำลายข้างหูที่เรียกว่า “ต่อมพาโรติด” (Parotid glands) ซึ่งเป็นต่อมคู่ มีทั้งข้างซ้ายและข้างขวา โดยโรคอาจเกิดขึ้นกับต่อมน้ำลายเพียงข้างใดข้างหนึ่งหรือเกิดทั้งสองข้างก็ได้ นอกจากนั้นยังอาจเกิดขึ้นกับต่อมน้ำลายอื่นได้ เช่น ต่อมน้ำลายใต้คาง (Submandibular glands) และต่อมน้ำลายใต้ลิ้น (Sublingual glands) แต่ก็พบได้น้อยกว่าต่อมน้ำลายข้างหูมาก และเมื่อเกิดขึ้นกับต่อมน้ำลายอื่น ๆ แล้วก็มักจะต้องเกิดร่วมกับการอักเสบของต่อมน้ำลายข้างหูด้วย

คางทูมเป็นโรคที่พบได้มากในเด็กอายุ 6-10 ปี พบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายใกล้เคียงกัน มักไม่ค่อยพบในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี โรคนี้มีอุบัติการณ์การเกิดสูงในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน และในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน และอาจพบการระบาดได้เป็นครั้งคราว ในสมัยก่อนจัดว่าเป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้กันมากขึ้น

อาการคางทูม

สาเหตุของคางทูม

  • สาเหตุการเกิดโรค :คางทูมเกิดจาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสคางทูม (Mumps Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่ม Paramyxovirus (พารามิกโซไวรัส) เช่นเดียวกับไวรัสหัด โดยเชื้อจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย เชื้อจะเข้าสู่ทางร่างกายทางจมูกและปาก แล้วแบ่งตัวในเซลล์เยื่อบุของทางเดินหายใจส่วนต้น หลังจากนั้นเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ต่อมน้ำลายข้างหู
  • การติดต่อ : สามารถติดต่อได้จากการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด การสัมผัสน้ำลายของผู้ป่วย หรือโดยการสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม เป็นต้น รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อแบบเดียวกับไข้หวัด
  • ระยะแพร่เชื้อที่ติดต่อได้ง่าย : ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อติดต่อให้ผู้อื่น คือ ในช่วงตั้งแต่ 4 วันก่อนมีอาการจนกระทั่ง 9 วันหลังมีอาการคางทูม (อาการบวมของต่อมน้ำลาย)
  • ระยะฟักตัวของโรค : นับตั้งแต่ติดเชื้อจนมีอาการแสดงออกมา คือ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ (โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 14-18 วัน แต่อาจเร็วสุด 7 วัน หรือนานได้ถึง 25 วัน)
  • การแสดงอาการของโรค : ประมาณ 30% ของผู้ที่ติดเชื้อคางทูมจะไม่แสดงอาการของโรคคางทูม แต่ยังสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้อยู่
  • การดำเนินโรค : ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนและสามารถหายได้เองตามธรรมชาติ อาการปวดและบวมส่วนใหญ่จะหายไปได้เองภายใน 4-8 วัน แต่บางรายอาจนานถึง 10 วัน ส่วนอาการไข้ส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน แต่บางรายอาจเป็นอยู่ประมาณ 1-6 วัน และอาการโดยรวมจะหายสนิทภายใน 2 สัปดาห์

อาการของคางทูม

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการขากรรไกรบวม 1-2 ข้าง โดยแรกเริ่มผู้ป่วยจะมีอาการนำไม่จำเพาะ เช่น มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ในบางรายอาจมีอาการเจ็บคอด้วยภายใน 24 ชั่วโมง (บางรายอาจหลายวัน) จากนั้นภายใน 24 ชั่วโมงต่อมาจะเกิดการอักเสบของต่อมน้ำลาย (ที่พบได้บ่อยที่สุดคือต่อมน้ำลายข้างหู) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดที่ข้างแก้มใกล้ใบหูหรือปวดหู และจะปวดมากขึ้นในเวลาพูด เคี้ยว หรือกลืน หรือรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว ต่อมาจะเกิดอาการบวมที่ขากรรไกรบริเวณใต้หูและข้างหูทั้งด้านหน้าและหลังหู ทำให้ใบหูถูกดันขึ้นข้างบน ผู้ป่วยจึงรู้สึกปวดมากขึ้น จนบางครั้งพูด เคี้ยว หรือกลืนลำบาก (ผิวหนังเหนือต่อมน้ำลายจะบวม แดง และร้อน เมื่อกดดูจะมีลักษณะเหมือนเยลลี่ ส่วนอาการบวมจะเริ่มจากหน้าใบหูมายังหลังใบหู และลงมาคลุมถึงขากรรไกร ในบางรายอาจบวมมากจนบวมมาถึงส่วนหน้าอก) โดยอาการปวดและบวมจะเป็นมากที่สุดในช่วง 1-3 วันแรก แล้วจะค่อย ๆ ลดลง และส่วนใหญ่จะหายไปได้เองภายใน 4-8 วัน ส่วนอาการไข้ส่วนใหญ่จะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน และอาการโดยรวมจะหายสนิทภายใน 2 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีขากรรไกรบวมข้างเดียวก่อน แล้วต่อมาอีก 1-2 วัน บางรายอาจเป็น 4-5 วัน จึงมีอาการบวมอีกข้าง (ผู้ป่วยคางทูมส่วนน้อยประมาณ 25% จะมีอาการบวมเพียงต่อมน้ำลายข้างหูเพียงข้างเดียว)
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีขากรรไกรบวมโดยที่ไม่มีอาการอื่น ๆ นำมาก่อน หรืออาจมีเพียงอาการไข้โดยที่ขากรรไกรไม่บวมเลยก็ได้
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีการอักเสบของต่อมน้ำลายใต้คาง (Submandibular glands) และใต้ลิ้น (Sublingual glands) ร่วมด้วย จึงทำให้มีอาการบวมที่ใต้คาง
  • โรคนี้เมื่อเป็นแล้วมักจะไม่เป็นซ้ำอีก เพราะเมื่อเป็นคางทูมแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานโรคนี้ได้ตลอดชีวิต ไม่กลับมาติดเชื้อได้อีก แต่ในบางรายซึ่งเป็นส่วนน้อยอาจติดเชื้อเป็นซ้ำได้อีก แต่อาการมักไม่รุนแรงและไม่ค่อยเกิดภาวะแทรกซ้อน

โรคคางทูมในเด็ก

วิธีรักษาโรคคางทูม

ภาวะแทรกซ้อนของโรคคางทูม

โรคนี้เมื่อเป็นแล้วส่วนใหญ่จะหายได้เองโดยไม่มีอาการข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการแสดงของการติดเชื้อคางทูมของเนื้อเยื่อส่วนอื่น โดยอาจจะแสดงอาการก่อน ขณะ หรือหลังขากรรไกรบวม หรืออาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีอาการขากรรไกรบวมก็ได้ (ภาวะแทรกซ้อนจากโรคคางทูมจะพบได้สูงขึ้นเมื่อเกิดโรคนี้ในเด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ) ซึ่งผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • อัณฑะอักเสบ (Orchitis) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยประมาณ 20-30% ของผู้ชายวัยเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่พบในช่วงอายุ 30-40 ปี ส่วนในเด็กอาจพบได้บ้าง แต่จะพบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก ส่วนใหญ่การอักเสบมักเกิดกับอัณฑะเพียงข้างเดียว มีเพียงส่วนน้อยประมาณ 1 ใน 6 ของผู้ป่วยที่พบอัณฑะอักเสบทั้งสองข้าง (อัณฑะข้างซ้ายหรือขวามีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน ) ประมาณ 75% ของผู้ป่วยมักพบหลังเป็นคางทูม 7-10 วัน แต่อาจพบก่อนหรือพร้อม ๆ กับคางทูมก็ได้ อาการจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น อาเจียน อัณฑะปวดและบวม (จะปวดมากในช่วง 1-2 วันแรก) ขนาดของอัณฑะจะใหญ่ขึ้นประมาณ 3-4 เท่า อาการต่าง ๆ จะเป็นอยู่ประมาณ 3-4 วัน หรืออาจเป็นอยู่นาน 2-3 สัปดาห์ ส่วนโอกาสที่จะทำให้เป็นหมันจากโรคคางทูมไม่ว่าจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างต่างก็พบได้น้อยมาก[1],[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า หลังจากเกิดอัณฑะอักเสบประมาณ 13% ของผู้ที่มีอัณฑะอักเสบข้างเดียว และ 30-87% ของผู้ที่มีอัณฑะอักเสบทั้ง 2 ข้างจะมีบุตรยาก และบางคนอาจเป็นหมันได้ ทั้งนี้สาเหตุมีบุตรยากเกิดจากการฝ่อลีบของลูกอัณฑะข้างที่อักเสบ จึงส่งผลให้การสร้างจำนวนอสุจิลดลง และ/หรือการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิผิดปกติ[2]
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ประมาณ 1-10% ของผู้ป่วยโรคคางทูมที่มีต่อมน้ำลายข้างหูอักเสบจะพบเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ภาวะแทรกซ้อนนี้จะพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 3 เท่า โดยอาจเกิดขึ้นในช่วงใด ๆ ของต่อมน้ำลายข้างหูอักเสบหรือไม่มีต่อมน้ำลายข้างหูอักเสบร่วมด้วยก็ได้ ผู้ป่วยจะเริ่มเกิดอาการโดยเฉลี่ยคือ 4 วันหลังจากมีต่อมน้ำลายอักเสบ แต่อาจเกิดเร็วสุด 1 สัปดาห์ก่อนหรือช้าสุด 2 สัปดาห์หลังจากต่อมน้ำลายข้างหูอักเสบ ส่วนอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสคางทูมที่พบ คือ ปวดศีรษะ อาเจียน ไข้ คอแข็ง ซึ่งอาการไข้จะอยู่ได้นาน 3-10 วันหลังเริ่มมีอาการ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อไวรัสคางทูมนั้นไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการเพียงเล็กน้อย และหายได้เองโดยไม่พบความผิดปกติหลงเหลืออยู่[4]
  • โรคสมองอักเสบ เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก (1 ต่อ 6,000 ถึง 1 ต่อ 400 ของผู้ป่วยที่้เป็นโรคคางทูม และพบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิง) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม่รุนแรง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองหรือร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต (อัตราการเสียชีวิต 1.4%)[2],[4]
  • อาการทางระบบประสาทอื่น ๆ ที่อาจพบร่วมกับโรคคางทูม ได้แก่ Transient high-frequency-range deafness (พบได้ประมาณ 4.4% ของผู้ป่วยโรคคางทูมในหมู่ทหาร), สูญเสียการได้ยินของหูข้างเดียว (พบได้ 1 ใน 20,000 ของผู้ป่วย), Ascending polyradiculitis, Cerebellar ataxia, Facial palsy, Poliomyelitis-like syndrome และ Transverse myelitis[4]
  • รังไข่อักเสบ (Oophoritis) พบได้ประมาณ 5% ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้ อาเจียน และปวดท้องน้อย ซึ่งบางครั้งก็อาจทำให้เป็นหมันได้ แต่โอกาสที่จะเป็นหมันก็พบได้น้อยมาก[4]
  • ตับอ่อนอักเสบ เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 2-3% ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดท้องมากบริเวณเหนือสะดือ และอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
  • ข้ออักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ใหญ่ ส่วนในเด็กพบได้น้อยมาก โดยจะพบทั้งข้อใหญ่และเล็ก อาการจะเริ่มตั้งแต่ 10-14 วัน หลังจากมีอาการต่อมน้ำลายข้างหูอักเสบ เป็นอยู่ได้นานถึง 5 สัปดาห์ แต่สามารถหายได้เอง โดยไม่พบความผิดปกติหลงเหลืออยู่
  • แท้งบุตร ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อคางทูมในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แต่ก็พบได้น้อย
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด ถ้าการติดเชื้อคางทูมเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์จะมีผลทำให้เด็กทารกคลอดก่อนกำหนดในช่วงที่มีการติดเชื้อนั้น[3]
  • นอกจากนี้ยังอาจพบอาการที่อวัยวะอื่น ๆ เช่น หูหนวกจากประสาทหูอักเสบ (ซึ่งอาจทำให้หูตึงหรือสูญเสียการได้ยินชั่วคราวหรือถาวรได้), กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, ตับอักเสบ, ไตอักเสบ, ต่อมไทรอยด์อักเสบ, เต้านมอักเสบ, ต่อมลูกหมากอักเสบ, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ แต่ก็ล้วนเป็นภาวะที่พบได้น้อยมากแทบทั้งสิ้น

การวินิจฉัยโรคคางทูม

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคคางทูมได้จากประวัติอาการและการตรวจร่างกายของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยมักมีไข้ประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส (บางรายอาจไม่มีอาการไข้ก็ได้) บริเวณขากรรไกรบวมข้างใดข้างหนึ่งหรือบวมทั้ง 2 ข้าง เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บ รูเปิดของท่อน้ำลายในกระพุ้งแก้มซึ่งอยู่ในบริเวณตรงกับฟันกรามบนซี่ที่ 2 อาจมีอาการบวมแดงเล็กน้อย และอาจพบอาการลิ้นบวมในรายที่มีต่อมน้ำลายใต้ลิ้นอักเสบ หรือหน้าอกตรงส่วนใต้คอบวมในรายที่มีต่อมน้ำลายใต้คางบวม

โรคคางทูมในผู้ใหญ่

ในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยโรคคางทูมให้แน่ชัด แพทย์อาจต้องทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อเชื้อคางทูม การตรวจหาเชื้อคางทูมจากน้ำลาย จากสารคัดหลั่งในช่องปาก จากน้ำปัสสาวะ หรือจากน้ำไขสันหลัง (การเจาะหลัง) เพราะอาการคางทูมอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การบาดเจ็บจากการถูกต่อย, ต่อมทอนซิลอักเสบ, เหงือกอักเสบหรือรากฟันอักเสบ, ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ, เนื้องอกต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลายอุดตัน, ต่อมน้ำลายอักเสบเป็นหนอง, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

วิธีรักษาโรคคางทูม

  • ยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะในโรคนี้ การรักษาจึงเป็นเพียงการประคับประคองไปตามอาการ ถ้าผู้ป่วยที่มีอาการขากรรไกรบวม มีประวัติ (เช่น การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นคางทูม) และมีอาการไข้ ปวดขากรรไกรมาก่อน โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย และแน่ใจว่าผู้ป่วยเป็นคางทูม แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการโดยไม่ให้ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะแบคทีเรีย แต่ฆ่าไวรัสไม่ได้ ที่สำคัญคือแพทย์จะให้คำแนะนำดังต่อไปนี้
    1. ถ้ามีอาการปวดหรือมีไข้สูงให้กินยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ในผู้ใหญ่ให้ใช้ในขนาด 1-2 เม็ด ส่วนในเด็กให้ใช้ในขนาด 1/2-1 เม็ด และให้กินซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง เฉพาะเวลามีไข้สูง ส่วนในรายที่ไข้ไม่สูงหรือไม่มีไข้ ก็ไม่ต้องกินยา (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งมีการอักเสบของสมองและตับอย่างรุนแรงและเป็นอันตรายได้)
    2. ให้ใช้น้ำอุ่นจัด ๆ หรือกระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่เป็นคางทูมวันละ 2 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการปวดมากให้ใช้ความเย็นประคบเพื่อบรรเทาอาการปวด (เช่น การใช้น้ำแข็งหรือกระเป๋าน้ำเย็น) และให้เช็ดตัวเมื่อมีไข้สูง
    3. ในช่วงที่ขากรรไกรบวมหรือมีอาการปวดมาก อ้าปากลำบาก ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ หรืออาหารที่เคี้ยวได้ง่าย เช่น ข้าวต้ม ซุป
    4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เพราะอาจทำให้มีอาการปวดมากขึ้น
    5. ดื่มน้ำให้มาก ๆ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือบ่อย ๆ
    6. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ตรากตรำทำงานหนัก
    7. ผู้ป่วยควรแยกตัวออกต่างหาก ควรหยุดโรงเรียนหรือหยุดงานและพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ไปคลุกคลีกับผู้อื่นจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อของโรค
    8. หากมีอาการคางบวม อาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ แพทย์จะซักถามอาการและตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจดูภายในช่องปากและลำคอ และถ้าให้การดูแลรักษาไปตามอาการเป็นเวลา 1 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ทุเลาลง แพทย์จะค้นหาสาเหตุอื่นต่อไป เช่น โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) โรคต่อมน้ำลายอักเสบ (Parotitis)
    9. ควรรีบไปพบแพทย์เมื่อดูแลตนเอง 7 วันแล้ว แต่อาการบวมยังไม่ยุบลง, มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไปและไข้ไม่ลดลงภายใน 2-3 วันหลังดูแลตนเองในเบื้องต้น (ถ้าเป็นคนมีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือในผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำและไข้ไม่ลดลงภายใน 1-2 วัน), มีอาการกำเริบซ้ำอีกหลังจากหายแล้ว, ปวดต่อมน้ำลายมากและอาการปวดไม่ดีขึ้นหลังกินยาแก้ปวด, ก้อนที่บวมมีลักษณะบวมแดงมากหรือปวดมาก, อ้าปากลำบากทำให้รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย, ปวดฟันหรือเหงือกบวม, เจ็บในคอมากหรือต่อมทอนซิลบวมแดง, หูตึงหรือได้ยินเสียงไม่ชัดเจน, อัณฑะบวม หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
    10. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก คอแข็ง ชัก หรือมีอาการซึมไม่ค่อยรู้สึกตัว ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมและให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ เพราะอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนดังที่กล่าวมาได้
  • หากตรวจพบว่ามีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ แพทย์จะให้การรักษาไปตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ถ้าเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคสมอง ตับอ่อนอักเสบ แพทย์ก็จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
  • ผู้ป่วยที่มีอัณฑะอักเสบ ให้ใช้วิธีประคบเย็นด้วยน้ำแข็งและรับประทานยาลดไข้แก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนในรายที่อักเสบรุนแรง หรือกินยาลดไข้แก้ปวดแล้วอาการยังไม่ทุเลา แพทย์อาจให้ยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone) โดยในผู้ใหญ่จะให้กินครั้งแรก 12 เม็ด ส่วนในเด็กแพทย์จะให้กินในขนาด 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน และต่อไปจะให้วันละ 1 ครั้ง แล้วค่อย ๆ ลดขนาดลงทีละน้อยจนเหลือวันละ 5-10 มิลลิกรัม ภายในเวลาประมาณ 5-7 วัน
  • สมุนไพรรักษาคางทูม (ตามองค์ความรู้เดิมที่ใช้กันมาในอดีต) มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น
    • ตะลิงปลิง (Averrhoa bilimbi L.) ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำเล็กน้อย ใช้พอกบริเวณที่บวม โดยให้พอกวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น และให้เปลี่ยนยาใหม่ทุกครั้ง
    • โทงเทง (Physalis angulata var. angulata) ใช้โทงเทงทั้งต้น และหูปลาช่อน อย่างละ 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน
    • ดาวเรือง (Tagetes erecta L.) ใช้ดอกประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
    • ถั่วเขียว ( Vigna radiata (L.) R.Wilczek) ใช้รักษาคางทูมที่เป็นใหม่ ๆ ด้วยการต้มถั่วเขียว 70 กรัมจนใกล้สุก แล้วใส่แกนกะหล่ำปลีลงไป / หัวต้มอีก 15 นาที กินเฉพาะน้ำวันละ 2 ครั้ง
    • ถั่วแปบ (Lablab purpureus (L.) Sweet) ใช้ใบตำพอกบริเวณที่เป็น
    • ผกากรอง (Lantana camara L.) ใช้รากผกากรองแห้ง หนัก 4 บาท นำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม
    • ผักหวานบ้าน (Sauropus androgynus (L.) Merr.) ใช้รากฝนทาบริเวณที่เป็น
    • บวบหอม (Luffa cylindrica (L.) M.Roem.) ใช้ผลนำไปเผาให้เป็นถ่านแล้วบดให้เป็นผง ใช้ผสมกับน้ำเป็นยาทา หรือจะใช้ใยผล (รังบวบ) ที่เผาเป็นถ่านแล้ว นำมาผสมกับน้ำใช้ทาบริเวณที่ปวดก็ได้
    • บวบเหลี่ยม (Luffa acutangula (L.) Roxb.) ให้ใช้ใยผล (รังบวบ) ที่เผาเป็นถ่านแล้ว ผสมกับน้ำใช้ทาบริเวณที่ปวด หรือจะใช้ผลนำไปเผาให้เป็นถ่าน แล้วบดให้เป็นผงผสมกับน้ำใช้ทาบริเวณที่ปวดก็ได้
    • ว่านหางช้าง (Iris domestica (L.) Goldblatt & Mabb.) ใช้เหง้าสดประมาณ 10-15 กรัม นำไปต้มน้ำกินหลังอาหารวันละ 2 เวลา
    • น้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil) ให้ใช้น้ำมันมะพร้าวทาบริเวณที่เป็นคางทูมบ่อย ๆ วันละ 3 ครั้ง ประมาณ 3 วันอาการจะดีขึ้น
    • มันฝรั่ง (Solanum tuberosum L.) ใช้มันฝรั่ง 1 ลูก นำมาฝนกับน้ำส้มสายชู แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น เมื่อแห้งแล้วให้ทาซ้ำจนหาย
    • พุดตาน (Hibiscus mutabilis L.) ใช้ใบแห้งประมาณ 10-15 ใบ นำมาบดให้ละเอียดแล้วเติมไข่ขาวลงไปผสมให้เข้ากัน เพื่อให้ยาจับกันเป็นแผ่น นำมาพอกปิดบริเวณที่บวม โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะหายบวม
    • สนหางสิงห์ (Platycladus orientalis (L.) Franco) ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับไข่ขาว แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น และให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง
    • เสลดพังพอนตัวเมีย (Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau) หรือ เสลดพังพอนตัวผู้ (Barleria lupulina Lindl.) ใช้ใบสดประมาณ 10-15 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรง คั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่บวม อาการบวมจะหายไป ส่วนอาการเจ็บปวดจะหายไปภายใน 30 นาที
    • สมุนไพรอื่น ๆ เช่น กระบือเจ็ดตัวทั้งต้น (Excoecaria cochinchinensis Lour.), ครอบฟันสีทั้งต้น (Abutilon indicum (L.) Sweet), เจียวกู่หลาน (Gynostemma pentaphyllum (Thunb.) Makino), โทงเทงฝรั่ง (Physalis angulata L.), สายน้ำผึ้ง (Lonicera japonica Thunb.), ใบโพธิ์ (Ficus religiosa L.), ใบและก้านสตรอเบอรี่ป่า (Duchesnea indica (Jacks.) Focke), หญ้าลิ้นงู (Oldenlandia corymbosa L.), หญ้าพันงูขาวทั้งต้น (Achyranthes aspera L.) ฯลฯ

วิธีป้องกันโรคคางทูม

  • วิธีป้องกันโรคคางทูมที่มีประสิทธิภาพ คือ การฉีดวัคซีนรวมเอ็มเอ็มอาร์ป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR ย่อมาจาก M = Measles (โรคหัด), M=Mumps (โรคคางทูม), R = Rubella (โรคหัดเยอรมัน)) โดยเด็กทุกรายควรได้รับการฉีดวัคซีนรวม โดยเข็มแรกให้ฉีดเข้ากล้ามเมื่ออายุ 9-12 เดือน และให้ฉีดเข็มที่ 2 ซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุได้ประมาณ 4-6 ปี และไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีก ซึ่งภูมิคุ้มกันต้านทานโรคคางทูมจะคงอยู่ไปได้ตลอดชีวิต
  • ในช่วงที่มีการระบาดของโรคหรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคคางทูม ควรปฏิบัติดังนี้
    1. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หรือชโลมมือด้วยแอลกอฮอล์เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมาจากการสัมผัส และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตาหรือแคะจมูก
    2. ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ โทรศัพท์ จานชาม ของเล่น ฯลฯ ร่วมกับผู้ป่วย และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกับผู้ป่วยที่เป็นโรคคางทูม
    3. ไม่เข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคคางทูม แต่ถ้าจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดก็ควรสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
    4. ควรแนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคคางทูมแยกตัวออกห่างจากผู้อื่นในระยะแพร่เชื้อ ไม่นอนปะปนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก และเวลาเข้าไปในที่ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัย

วัคซีนป้องกันโรคคางทูม

สรุป โรคนี้เกิดจากไวรัส ถือเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งมักจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่ต้องฉีดยาหรือให้ยาจำเพาะแต่อย่างใด แต่เมื่อเกิดขึ้นในวัยรุ่นหรือในผู้ใหญ่ ความรุนแรงของโรคอาจสูงกว่าในเด็กปฐมวัยมาก (จากการมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น) และการที่ชาวบ้านนิยมเขียน “เสือ” ที่ข้างแก้มทั้งสองข้างด้วยตัวหนังสือจีน หรือเสกปูนแดงป้ายหรือครามป้ายแล้วหายได้นั้นก็เป็นเพราะธรรมชาติของโรคนี้สามารถหายไปได้เองอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี บางครั้งโรคนี้ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ ผู้ป่วยจึงควรเรียนรู้วิธีการรักษาและป้องกันเผื่อไว้ด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “คางทูม (Mumps/Epidemic parotitis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 407-410.
  2. หาหมอดอทคอม.  “คางทูม (Mumps)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [01 พ.ค. 2016].
  3. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.  “โรคคางทูม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.dmsc.moph.go.th.  [02 พ.ค. 2016].
  4. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย.  “วัคซีนป้องกันโรคคางทูม”.  (พญ.ฐิติอร ฤาชาฤทธิ์, พ.อ.วีระชัย วัฒนวีรเดช).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : pidst.or.th.  [03 พ.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.cancer.gov, holyhormones.com, www.vaccineinformation.org, www.news.iastate.edu

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด