คัดเค้า
คัดเค้า ชื่อสามัญ Siamese randia[5],[6]
คัดเค้า ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyceros horridus Lour.[2] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Randia siamensis (Miq.) Craib)[1] จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1],[3]
สมุนไพรคัดเค้า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จีเก๊า[1] จีเค้า[2] โยทะกา หนามลิดเค้า (เชียงใหม่), จีเค๊า[3] พญาเท้าเอว (กาญจนบุรี), คัดเค้าหนาม (ชัยภูมิ), คัดเค้าเครือ (นครราชสีมา), เค็ดเค้า (ภาคเหนือ), คัดเค้า คันเค่า[5] (ภาคเหนือ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), คัดเค้า คัดค้าว (ภาคกลาง), เขี้ยวกระจับ (ภาคใต้, ภาคตะวันตกเฉียงใต้), จี้เค้า[5], หนามเล็บแมว เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5],[6]
ลักษณะของต้นคัดเค้า
- ต้นคัดเค้า เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[5] โดยจัดเป็นพรรณไม้เถาเนื้อเหนียวแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงประมาณ 3-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบและเป็นสีน้ำตาล ลักษณะของลำต้นคดและยาว มักขึ้นพาดพันเลื้อยไปตามต้นไม้และกิ่งไม้ หากไม่มีที่เลื้อยพันก็จะเป็นไม้กึ่งเลื้อยกึ่งยืนต้นคล้ายกับนมแมว ตามลำต้นมีข้อ ซึ่งจะมีใบงอกออกเป็นคู่ ๆ และจะมีหนามแหลมโค้งงองุ้มออกจากโคนใบมีลักษณะคล้ายกับเขาควายข้อละหนึ่งคู่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไม้ชนิดนี้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ปักชำ และการตอนกิ่ง แต่จะนิยมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เพราะงอกได้ง่าย และต้นกล้าที่ได้จากการการเพาะเมล็ดจะมีความแข็งแรงและเจริญเติบโตได้เร็ว ต้องการน้ำไม่มากนักในการเจริญเติบโต สามารถเจริญเติบโตได้ดีทั้งในที่มีแสงแดดจัดแบบเต็มวันและแสงแดดปานกลาง และมักขึ้นทั่วไปตามธรรมชาติในป่าเบญจพรรณตามภาคต่าง ๆ หรือตามสวน หรือตามที่รกร้างว่างเปล่า หรือมักปลูกกันไว้ตามบ้านหรือตามวัดเพื่อใช้ทำเป็นยาบ้างก็มี[1],[2],[5],[6],[8]
- ใบคัดเค้า ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี (ลักษณะเรียวยาวคล้ายกับใบมะม่วง) ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้มและเป็นมัน ท้องใบเรียบลื่นและมีสีอ่อนกว่า เนื้อใบเหนียวหนาแข็ง และมีหูใบขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ระหว่างก้านใบ[1],[2],[3],[8]
- ดอกคัดเค้า ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเป็นช่อใหญ่ แต่ละช่อดอกจะมีขนาดตั้งแต่ 4-10 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 10-25 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาวและมีกลิ่นหอม ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายดอกเข็ม มีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะบิด ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น แต่ละดอกจะมีเกสรเพศผู้ 5 ก้านยื่นยาวพ้นกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียเป็นรูปกระสวยสีขาวหรือเป็นรูปแถบเส้นอยู่ระหว่างกลีบดอก 6 แถบ กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีขาวอมสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ดอกจะบานพร้อมกันทั้งช่อ เมื่อดอกที่เริ่มบานจะเป็นสีขาวนวลแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวลในวันต่อมา ดอกจะส่งกลิ่นหอมแรงมากในช่วงเย็นถึงช่วงกลางคืน โดยจะออกดอกในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงช่วงฤดูหนาว และบางข้อมูลก็ระบุว่าจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว (เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม) บ้างก็ว่าจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน (เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม)[2],[4],[5],[6],[8]
- ผลคัดเค้า ออกผลเป็นพวงหรือออกเป็นกลุ่ม ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือกลมรี ผิวผลเรียบและเป็นมัน ผลมีขนาดเท่าเมล็ดพุทรากลม ๆ โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ปลายผลแหลม ผลเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กอัดแน่นกันเป็นจำนวนมาก เมล็ดขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ โดยจะติดผลในช่วงเดือนเมษายน[1],[2],[3],[6],[8]
สรรพคุณของคัดเค้า
- ผลมีรสเฝื่อนปร่า ช่วยบำรุงโลหิต (ผล[2],[3],[5],[6],[7],[8], รากและผล[8], ต้น[6],[7], เปลือกต้น[7], ทั้งต้น[8])
- ผลใช้ปรุงเป็นยาต้มกินเป็นยาฟอกโลหิต (ผล)[1],[3],[6],[8]
- ช่วยแก้โลหิต (เถา[6], ทั้งต้น[8])
- รากมีรสฝาดเย็น ใช้เป็นยาขับโลหิต (ราก)[1],[8]
- ใบมีรสเฝื่อนเมา ช่วยแก้โลหิตซ่าน (ใบ[1],[2],[6],[7],[8], เปลือกต้น[5],[6],[7],[8])
- ดอกคัดเค้าช่วยแก้โลหิตในกองกำเดา (ดอก)[1],[3],[5],[6],[7],[8]
- รากมีรสเย็นและฝาดเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยารักษาไข้เพื่อโลหิต (ราก)[1].[7]
- รากใช้เป็นยารักษาโรครัตตะปิดตะโรค (โรคเกี่ยวกับโลหิตชนิดหนึ่ง) (ราก)[1],[7]
- เปลือกต้นมีรสฝาด ช่วยปิดธาตุ (เปลือกต้น)[5]
- ช่วยแก้เลือดออกตามทวารทั้งเก้า (เปลือกต้น)[6],[7],[8]
- รากหรือแก่นใช้ฝนกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ หรือจะใช้ใบนำมาแช่กับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้ก็ได้เช่นกัน (ใบ, ราก, เถา, แก่น, ทั้งต้น)[2],[5],[6],[7],[8]
- ช่วยแก้พิษไข้กาฬ (หนาม)[6],[7],[8]
- หนามใช้เป็นยาลดไข้ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (หนาม)[6],[7],[8]
- ช่วยแก้อาการไอ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[9]
- รากนำมาต้มกินเป็นยารักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ราก[1],[5],[6],[7],[8],[11], ดอก[8])
- ทั้งต้นมีรสฝาดเฝื่อน ช่วยแก้เสมหะ (ราก, เปลือกต้น, เถา, ทั้งต้น)[2],[5],[6],[7],[8]
- รากช่วยขับลม (ราก)[1],[8]
- รากใช้ต้มกินเป็นยาแก้อาการท้องเสีย (ราก, ผล)[2],[5],[8],[11]
- ผลใช้เป็นยาขับระดู ขับโลหิตประจำเดือนเสียของสตรี โดยใช้ผลประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ส่วนรากก็มีสรรพคุณขับระดูเช่นกัน (ราก, ผล)[2],[3],[4],[5],[6],[8]
- ผลใช้ปรุงเป็นยาต้มกินเป็นยาขับฟอกโลหิตระดูที่เน่าร้ายของสตรี รักษาโลหิตอันเน่าให้ตกเสีย และรักษาโลหิตร้อนให้บริบูรณ์ (ผล)[1],[3],[6],[7],[8], รากและผล[8]) ส่วนต้นช่วยแก้โลหิตระดูร้อนให้บริบูรณ์ (ต้น)[7]
- ช่วยรีดมดลูก (เปลือกต้น)[7],[8]
- รากใช้ฝนกับน้ำซาวข้าวช่วยรักษาฝีและรักษาแผลทั่วไป โดยเฉพาะแผลสุนัขกัด หมอยาพื้นบ้านกล่าวว่า การใช้รากคัดเค้าฝนกับเขี้ยวเสือจะช่วยรักษาแผลที่ถูกสุนัขกัด ทำให้แผลหาย และยังมีความเชื่อด้วยว่าจะทำให้สุนัขตัวที่กัดถึงแก่ความตาย (เป็นความเชื่อส่วนบุคคล) (ราก)[11]
- ยอดคัดเค้านำมาขยี้หรือตำใช้พอกรักษาฝี จะทำให้ฝีหายเร็วขึ้น (ยอด)[11] และนอกจากจะใช้เป็นยาภายนอกแล้ว ยังมีการใช้คัดเค้าทั้งห้าส่วนนำมาต้มเป็นยารับประทานเพื่อใช้รักษาฝีทั้งภายนอกและภายในอีกด้วย (ทั้งต้น)[11]
- หนามช่วยแก้พิษฝีต่าง ๆ แก้ฝีประคำร้อย (มีข้อมูลระบุว่าใช้หนามนำมาฝนรักษาฝีเช่นเดียวกับการใช้ราก[11]) (หนาม)[6],[7],[8]
- ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ผ่องใส (ผล)[2],[5]
ประโยชน์ของคัดเค้า
- ยอดอ่อนสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทานได้ เช่น ยำใส่มะพร้าวคั่ว[10] หรือใช้รับประทานแกล้มกับลาบ[11]
- ผลอ่อนหรือผลแก่ใช้รับประทานเป็นผักเหนาะหรือผักสดร่วมกับน้ำพริกได้ ด้วยการนำมารับประทานสดหรือนำไปลวกให้สุกก่อนนำมารับประทาน[10]
- ต้นคัดเค้าเป็นพันธุ์ที่มีหนามแหลมคมมาก จึงนิยมใช้ปลูกเป็นแถว ๆ เป็นไม้เลื้อยตามซุ้มหรือตามรั้วเพื่อทำเป็นรั้วป้องกันคนหรือสัตว์ผ่านได้ดี[5]
- ต้นคัดเค้าสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เพราะเวลาออกดอกจะดูสวยงามมาก อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอมแรงและออกดอกพร้อมกันเกือบทั้งต้น แต่การปลูกต้นคัดเค้าให้สวยงามจะต้อยคอยตัดแต่งทรงพุ่มอยู่เสมอ เนื่องจากไม้ชนิดนี้จะแตกกิ่งก้านสาขามากและมีรูปทรงไม่แน่นอนนัก[5]
- ผลคัดเค้ามีสารจำพวกไตรเทอร์ปีนซาโปนินที่มีฤทธิ์เป็นยาเบื่อปลา[8]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “คัดเค้า”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 177.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “คัดเค้า (Khut Khao)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 77.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “”คัดเค้าเครือ“”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 99.
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “คัดเค้า (คัดเค้าเครือ)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [16 ก.พ. 2014].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “คัดเค้า”. (นพพล เกตุประสาท, ไพร มัทธวรัตน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [16 ก.พ. 2014].
- มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 319 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “คัดเค้า ความหอมอย่างไทย จากป่าไทย”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th. [16 ก.พ. 2014].
- สมุนไพรไทย, มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สมุนไพรไทยคัดเค้าเครือ”. (วชิราภรณ์ ทัพผา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/46313433/Thaiherb/. [16 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “คัดเค้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [16 ก.พ. 2014].
- ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “คัดเค้า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [16 ก.พ. 2014].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “คัดเค้าเครือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [16 ก.พ. 2014].
- OK Nation Blog. “คัดเค้า ไม้หอม ยาไทยใกล้ตัว”. (ชบาตานี). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.oknation.net. [16 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by sasithorn_s, Tony Rodd), เว็บไซต์ phargarden.com (by Sudarat Homhual), www.magnoliathailand.com (by HSH_Prince_Shine, Na-Mee), เว็บไซต์ treknature.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)