29 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นคว่ำตายหงายเป็น !

คว่ำตายหงายเป็น

คว่ำตายหงายเป็น ชื่อวิทยาศาสตร์ Bryophyllum pinnatum (Lam.) Oken (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Kalanchoe pinnata (Lam.) Pers.) จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบหิน (CRASSULACEAE)[1],[2],[3]

สมุนไพรคว่ำตายหงายเป็น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กาลำ (ตราด), แข็งโพะ แข็งเพาะ โพะเพะ โพ้ะเพะ (นครราชสีมา), ต้นตายปลายเป็น (จันทบุรี), ทองสามย่าน (กาญจนบุรี), เพรอะแพระ (ประจวบคีรีขันธ์), ส้มเช้า (ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, ตรัง), มะตบ ล็อบแล็บ ลบลับ ลุบลับ ลุมลัง (ภาคเหนือ), ยาเท้า ยาเถ้า มะตบ ล็อบแลบ ลุบลับ ฮ้อมแฮ้ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กระลำเพาะ ต้นตายใบเป็น นิรพัตร เบญจฉัตร (ภาคกลาง), กะเร คว่ำตายหงายเป็น (ชลบุรี, ภาคใต้), ปะเตียลเพลิง (เขมร-จันทบุรี), ตะละ ตาละ (มาเลย์-ยะลา), โกดเกาหลี (คนเมือง), สะแกหล่า (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), บล้งตัวเก่า (ม้ง), กะลำเพาะ เพลาะแพละ นิรพัตร ต้านตายใบเป็น ฆ้องสามย่านตัวเมีย (ไทย), ลั่วตี้เซิงเกิน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[6]

ลักษณะของคว่ำตายหงายเป็น

  • ต้นคว่ำตายหงายเป็น เป็นพืชดั้งเดิมของทวีปแอฟริกา จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นมีความแข็งแรงมากและมีลักษณะตั้งตรง มีความสูงประมาณ 0.4-1.5 เมตร ไม่แตกกิ่งก้านหรือแตกเพียงเล็กน้อย ลำต้นกลม มีเนื้อนิ่มอวบน้ำ ผิวเกลี้ยง ภายในลำต้นและกิ่งก้านกลวง โคนกิ่งเป็นสีเทา ยอดต้นเป็นสีม่วงแดง ส่วนที่ยังอ่อนอยู่ของลำต้นจะมีข้อโป่งพองเป็นสีเขียวและแถบหรือจุดสีม่วงเข้มแต้มอยู่ ส่วนที่แก่แล้วจะมีใบเฉพาะครึ่งบน หรือในช่วงที่ดอกบานนั้นใบเกือบจะไม่มีเลย ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและใบ ขึ้นได้ในดินที่เป็นหิน ในที่โล่งแจ้ง หรือในที่ค่อนข้างร่ม ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,000 เมตร เป็นพืชที่ทนทานและสามารถขึ้นได้แม้ในสภาพอากาศที่แห้งแล้ง โดยพบขึ้นกระจายทั่วไปในเขตร้อนของโลก ในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ต้นคว่ำตายหงายเป็น

  • ใบคว่ำตายหงายเป็น ใบเป็นใบเดี่ยวหรือเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ บางครั้งเป็นใบประกอบแบบขนนกจะมีใบย่อยได้ถึง 5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรีแกมขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ หรือรูปรีกว้าง ส่วนปลายและโคนใบจะมน ส่วนขอบใบหยักโค้งเป็นซี่มนตื้น ๆ หนา ฉ่ำน้ำ และเป็นสีม่วง แต่ละรอยจักจะมีตาที่สามารถงอกรากและลำต้นใหม่ได้ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร เส้นใบเห็นได้ไม่ชัดเจน ก้านใบยาวประมาณ 1.5-10 เซนติเมตร มีลักษณะค่อนข้างจะโอบลำต้น ก้านใบจะย่อยและสั้น[1],[2],[3]

ใบคว่ำตายหงายเป็น

  • ดอกคว่ำตายหงายเป็น ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกและห้อยลง มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกด้านล่างเป็นสีเขียว ส่วนด้านบนเป็นสีแดง ส่วนกลีบรองดอกจะเชื่อมติดกัน ที่ปลายจักเป็นแฉกเป็นรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ แบ่งออกเป็น 4 แฉก ตรงปลายแหลม เช่นเดียวกับกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ 8 อัน มีความยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร ส่วนท่อเกสรเพศเมียยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร รังไข่มีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีสีเขียว ผิวเกลี้ยง และมีความยาวได้ประมาณ 0.2-1 เซนติเมตร[1],[2]

ต้นตายใบเป็น

ดอกคว่ำตายหงายเป็น

  • ผลคว่ำตายหงายเป็น ผลจะออกเป็นพวงและมีอยู่ 4 หน่วย เป็นผลแห้ง แตกตะเข็บเดียว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกหุ้มอยู่ ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก มีลักษณะเป็นรูปกระสวยแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี[1],[2],[3]

สรรพคุณของคว่ำตายหงายเป็น

  1. ทั้งต้นและรากมีรสเปรี้ยวฝาดเล็กน้อย เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอดและไต ใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น เป็นยาฟอกเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนดี (ราก, ทั้งต้น)[3]
  2. คนเมืองจะใช้นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (ใบ)[6]
  3. ชาวเขาเผ่าแม้วจะใช้ใบคว่ำตายหงายเป็นนำมาผสมกับก้านและใบขี้เหล็กอเมริกา ใบสับปะรด และแก่นสนสามใบ ต้มอบไอน้ำ ช่วยบำรุงกำลังสำหรับคนติดฝิ่น (ใบ)[1]
  4. รากนำมาตากแห้งใช้เป็นยาลดไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ (ราก)[4]
  5. ใช้เป็นยาแก้ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด (ราก, ทั้งต้น)[3]
  6. ใบใช้วางบนหน้าอกเป็นยารักษาอาการไอและอาการเจ็บหน้าอก บ้างใช้นำมาวางไว้บนศีรษะเป็นยาแก้ปวดหัว (ใบ)[2]
  1. ใช้เป็นยาแก้คอบวม คอเจ็บ ด้วยการใช้ทั้งต้นนำมาตำคั้นเอาน้ำมาอมกลั้วคอ (ทั้งต้น)[3]
  2. ตำรายาไทยจะใช้ใบนำมาตำคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วง แก้ปวดท้อง แก้อหิวาตกโรค (ใบ)[1],[2],[4]
  3. ใช้เป็นยาแก้อาการปวดกระเพาะ กระเพาะแสบร้อน ด้วยการใช้รากและใบสด นำมาตำผสมกับเกลือเล็กน้อย ใช้รับประทาน (รากและใบ)[3]
  4. ใบนำมาตำคั้นเอาน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว (ใบ)[1],[2]
  5. ชาวเขาเผ่าอีก้อ แม้ว และเย้า จะใช้ใบหรือทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาช่วยให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น (ใบ, ทั้งต้น)[1]
  6. ใบนำมาต้มกับน้ำกินหลังคลอดเป็นยาแก้อาการผิดเดือน (บ้านม้งหนองหอย แม่แรม เชียงใหม่) (ใบ)[7]
  7. ใช้เป็นยาแก้อาการบวมน้ำ (ราก, ทั้งต้น)[3]
  8. ตำรายาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ใบหรือรากสดนำมาตำพอกเป็นยาห้ามเลือด รักษาแผลสด แผลโดนมีดบาด ช่วยสมานบาดแผล ทำให้แผลหายเร็ว (ราก, ใบ, ทั้งต้น)[1],[3],[4]
  9. ใบหรือทั้งต้นใช้ตำพอกรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ชนิดไม่เป็นมาก) และผิวหนังไหม้ที่เกิดจากการถูกแดดเผา หรือใช้เฉพาะใบเอามาเผาไฟเล็กน้อยนำมาตำพอกก็ได้ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4],[5]
  10. ใบใช้ตำพอกเป็นยาฆ่าเชื้อ รักษาโรคผิวหนัง รักษาตาปลา รักษาหูดที่เท้า (ใบ)[2],[4]
  11. ใช้เป็นยาแก้ฝีหนองทั้งภายในและภายนอก รักษาฝี แก้พิษฝีหนอง ฝีเต้านม ด้วยการใช้รากและใบสดรวมกัน 60 กรัม นำมาตำให้พอแหลก คั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้ง ใช้รับประทาน ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกบริเวณที่เป็นฝี (ราก, ใบ, ทั้งต้น)[3]
  12. น้ำคั้นจากใบใช้หยดลงบนผิวหนังเพื่อรักษาโรคหิดและขี้เรื้อน (ใบ)[2]
  13. รากนำมาตากแห้งใช้เป็นยาแก้หัดหรืออีสุกอีใสได้ (ราก)[4]
  14. ใบใช้เป็นยาแก้ลมพิษ โดยนำมาตำพอกบริเวณผื่น (ใบ)[5]
  15. ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวดอักเสบ ฟกช้ำบวม ขับพิษ ถอนพิษ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4]
  16. น้ำคั้นจากใบใช้ผสมกับการบูร นำมาทาถูนวดแก้อาการเคล็ดขัดยอก แพลง กล้ามเนื้ออักเสบ และช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดี หรือทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมาก ๆ หรือจะใช้รากหรือทั้งต้นสดนำมาตำพอกแก้อาการเคล็ดขัดยอกก็ได้ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4]
  17. น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาทารักษาโรคไขข้ออักเสบ (ใบ)[2]
  18. ชาวม้งจะใช้ใบนำมาหั่นให้เป็นฝอยแล้วตุ๋นกับไข่รับประทานเป็นยาแก้อาการปวดหลังปวดเอว (ใบ)[6]
  19. ใบหรือทั้งต้นใช้ตำพอกแก้อาการปวดกระดูก กระดูกหัก กระดูกร้าว ปวดตามข้อ (ราก, ใบ, ทั้งต้น)[1],[3]
  20. บางข้อมูลระบุว่าให้ใช้ใบนำมาคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำมันมะพร้าวใช้เป็นยาทาถูนวดระงับอาการโตของอวัยวะในโรคเท้าช้าง (ใบ) (ข้อมูลที่ได้มาไม่มีแหล่งอ้างอิง)

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [3] ใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม รากแห้งให้ใช้ครั้งละ 36 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานหรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา ส่วนการนำมาใช้ภายนอกให้ใช้ยาสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาตำพอกแผลบริเวณที่ต้องการ[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของคว่ำตายหงายเป็น

  • ในใบพบสารหลายชนิด เช่น n-alkanes, n-alkanols, n-alhanols, Amyrin, Quercetin-3-diarabinsoside, Kaempferol-3-glucoside และวิตามินซี เป็นต้น[3]
  • สารสกัดจากใบคว่ำตายหงายเป็นมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวบางชนิดของหนูที่ทดลอง[1],[3]
  • น้ำต้มจากใบและรากเมื่อนำมาให้หนูทดลองกิน พบว่ามีฤทธิ์ไปกระตุ้นลำไส้ส่วนกลางของหนู ทำให้การบีบตัวของลำไส้แรงขึ้น[3]
  • ใบมีสาร Bryophyllin, Saponin และ Tannin ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย[4]
  • เมื่อนำทั้งต้นและรากมาสกัดด้วยตัวทำละลายแตกต่างกันจะพบว่าสมุนไพรชนิดนี้มีองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ สารกลุ่มอัลคาลอยด์ ไตรเทอร์พีนอยด์ ไกลโคไซด์ ฟวาโวนอยด์ สเตียรอยด์ บิวฟาไดอะดีโนไลด์ ไขมัน และกรดอินทรีย์ ซึ่งสารเหล่านี้เมื่อนำมาทำให้บริสุทธิ์พบว่ามีฤทธิ์ช่วยในด้านผลต่อภูมิต้านทาน ต้านการซึมเศร้า ลดไข้ แก้แพ้ แก้แพ้แบบเฉียบพลัน ป้องกันกระเพาะ ไต และตับ แก้ปวด ต้านการอักเสบ ต้านจุลินทรีย์ ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านฮิสตามีน ฆ่าแมลง ฆ่าพยาธิ ลิชมาเนีย กดภูมิต้านทาน คลายกล้ามเนื้อและคลายกังวล[4]
  • เมื่อไม่นานมานี้สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยและพบว่าสารสกัดจากต้นน่าจะมีแนวโน้มที่ดีในการรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินในสตรีวัยหลังหมดประจำเดือน[4]

ประโยชน์ของคว่ำตายหงายเป็น

  • ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนจะใช้ใบนำมารับประทานสดร่วมกับลาบ[6]
  • คว่ำตายหงายเป็น เป็นพืชสมุนไพรที่นิยมนำมาปลูกกันไว้ตามบ้าน เด็ก ๆ มักนำมาเล่นโดยเอาใบมาวางทับในหนังสือ เมื่อทิ้งไว้ไม่นานตรงขอบของใบก็จะมีรากงอกออกมาโดยไม่ต้องมีน้ำหล่อเลี้ยง สมุนไพรชนิดนี้มีอายุหลายปี สามารถนำมาขยายพันธุ์ได้ไม่จำกัด อีกทั้งยังมากด้วยสรรพคุณทางยา ตามพื้นบ้านจึงมักนำมาปลูกไว้ในกระถางหรือในชามกะละมังที่ไม่ใช้แล้ว หรือปลูกตามสวนในบ้าน[5]
  • เด็ก ๆ มักแข่งกันด้วยการเอามือบีบดอกตูมที่ห้อยระย้าเหมือนโคมไฟเพื่อให้แตกออกมามีเสียงดัง เนื่องจากดอกตูมจะมีลมอยู่ภายใน เป็นการเล่นที่ดูจะสนุก เพราะจะแข่งกันหาแต่ดอกตูมเท่านั้น[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “คว่ำตายหงายเป็น”.  หน้า 136.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “คว่ำตายหงายเป็น”.  หน้า 170-172.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “คว่ำตายหงายเป็น”.  หน้า 156.
  4. นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557 โดย มีคณา.
  5. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.  (รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด).  “คว่ำตายหงายเป็น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.cmu.ac.th.  [23 ม.ค. 2015].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “คว่ำตายหงายเป็น”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [23 ม.ค. 2015].
  7. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Kalanchoe pinnata (Lam.) Pers.”.  อ้างอิงใน : สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 2 หน้า 47.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org.  [23 ม.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Steven Severinghaus, Forest and Kim Starr, XJ, ashitaka, Ann Collier)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด