ครามใหญ่
ครามใหญ่ ชื่อสามัญ Anil, Guatemalan indigo, Small-leaved indigo (Sierra Leone), West Indian indigo, Wild indigo
ครามใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Indigofera suffruticosa Mill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Indigofera anil L.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[2]
สมุนไพรครามใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ครามป่า ครามผี (เชียงใหม่), คราม (ไทย), ครามเถื่อน (เงี้ยว-เชียงใหม่) ส่วนที่อุบลราชธานีเรียกว่า “ครามใหญ่” เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของครามใหญ่
- ต้นครามใหญ่ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก มีอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 129.81-192.19 เซนติเมตร ลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมม่วง มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมบาง ๆ และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 18.02-26.04 เซนติเมตร มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางภาคเหนือ และพบว่ามีปลูกกันเอาไว้ทำครามสำหรับย้อมสีผ้า พบขึ้นทั่วไปในพื้นที่โล่ง ดินร่วนปนเหนียว พื้นที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 35 เมตร[1],[2]
- ใบครามใหญ่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ใบออกเรียงตรงข้ามกัน ก้านใบรวมยาวประมาณ 6.74-8.96 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบแหลมมีติ่ง โคนใบรีกลม ส่วนขอบใบหยักแบบขนครุยมีขนสีขาวสั้น ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.75-0.95 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.9-2.78 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบค่อนข้างนุ่ม หน้าใบมีขนสีขาวสั้น ๆ ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตรขึ้นปกคลุม กลางหลังใบมีขนสีขาวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตรขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น เส้นกลางใบด้านหน้าเป็นร่องจากโคนใบถึงปลายใบเห็นชัดเจน เส้นใบมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ก้านใบย่อยยาวประมาณ 0.67-0.83 เซนติเมตร[2]
- ดอกครามใหญ่ ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ออกที่ตาข้างจำนวนมาก ช่อดอกยาวประมาณ 3.75-10.49 เซนติเมตร เป็นดอกเดี่ยวรูปดอกถั่ว สีชมพู มีก้านดอกสั้นประมาณ 1 มิลลิเมตร ช่อหนึ่งมีดอกประมาณ 14-36 ดอก ออกดอกในช่วงประมาณพฤษภาคม[2]
- ผลครามใหญ่ ออกผลเป็นฝักรวมกันเป็นช่อ ฝักมีลักษณะเป็นรูปกลมโค้งงอคล้ายรูปเคียว มีรอยคอดระหว่างข้อตื้น ๆ ปลายยอดฝักชี้ลง ช่อหนึ่งมีประมาณ 12-34 ฝัก ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 0.19-0.29 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.18-1.52 เซนติเมตร เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 3-4 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปทรงกระบอกปลายตัด มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาล[2]
สรรพคุณของครามใหญ่
- ใบมีรสเย็นฝาดเบื่อ มีสรรพคุณเป็นยาดับพิษ แก้ไข้หวัดตัวร้อน[2] บ้างใช้ใบผสมกับยาอื่น ๆ เป็นยาดับพิษ รักษาไข้หวัดตัวร้อน และแก้อาการปวดศีรษะ (ใบ)[1]
- ใช้เป็นยาแก้โลหิต (เปลือกต้น)[2]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ (เปลือกต้น)[2]
- เปลือกต้นมีรสเย็นฝาดเบื่อ ใช้เป็นยาแก้พิษฝี แก้พิษงู (เปลือกต้น)[2]
- น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาทาแก้หิด (น้ำมันจากเมล็ด)[2]
ประโยชน์ของครามใหญ่
- ใช้เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติสำหรับสัตว์แทะเล็มอย่างโค กระบือ แพะ และสัตว์ป่า โดยคุณค่าทางอาหารเฉพาะส่วนของใบจะประกอบไปด้วย โปรตีน 25.69%, เยื่อใยส่วน ADF 27.73%, NDF 35.21%, แคลเซียม 2.26%, ฟอสฟอรัส 0.35%, โพแทสเซียม 2.25%, แทนนิน 0.38%[2]
- ใบครามใหญ่มี rutin และ rutinoid ประมาณ 0.65-0.80% และมีไนไตรเจนสูง เหมาะสำหรับใช้ทำปุ๋ยและทำยาฆ่าแมลง[2]
- เมื่อนำทั้งต้นครามใหญ่มามาก ๆ แล้วนำมาหมักแช่ในน้ำปูนขาวทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน จะเห็นครามตกนอนอยู่ก้นภาชนะที่ใส่ไว้ สามารถนำมากรองแล้วทำให้แห้ง เพื่อใช้ในการย้อมผ้าให้เป็นสีน้ำเงิน โดยสีที่ได้จะไม่ตก ซึ่งทางภาคเหนือของประเทศมักจะใช้ครามนี้มาย้อมผ้าให้เป็นสีกรมท่าหรือน้ำเงินแก่[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “คราม”. หน้า 167-168.
- สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์. “ครามใหญ่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.dld.go.th. [23 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Foggy Forest, 翁明毅, Russell Cumming, Forest and Kim Starr, Leslie Main Johnson)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)