คนทีเขมา
คนทีเขมา ชื่อสามัญ Five-leaved chaste tree, Chinese chaste, Indian privet, Negundo chest nut[2],[7]
คนทีเขมา ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex negundo L.[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
สมุนไพรคนทีเขมา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า คนทีสอดำ (ภาคเหนือ), คนทิ คนที (ภาคตะวันออก), โคนดินสอ คนดินสอดำ ดินสอดำ ผีเสื้อดำ (อื่น ๆ), กูนิง (มาเลเซีย-นราธิวาส), กุโนกามอ (มาเลเซีย-ปัตตานี), หวงจิง (จีนกลาง), อึ่งเกง (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น[2],[3],[6]
ลักษณะของคนทีเขมา
- ต้นคนทีเขมา จัดเป็นพรรณไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร ผิวลำต้นเป็นสีเทาปนน้ำตาล กิ่ง ก้าน และใบมีกลิ่นหอม กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยม มีสีเทาและมีขนอ่อนขึ้นปกคลุม รากเป็นสีเหลือง เนื้อในรากเป็นสีขาว พรรณไม้นี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ กิ่งตอน และเพาะเมล็ด มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกา และได้แพร่พันธุ์มายังเอเชียตอนใต้ ไปจนถึงญี่ปุ่นและต่อมายังเอเชีย ที่ระดับความสูงประมาณ 200-1,400 เมตร[2],[3],[6]
- ใบคนทีเขมา ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ ออกเรียงตรงข้าม มีใบย่อย 5 หรือ 3 ใบ โดย 3 ใบบนจะมีขนาดใหญ่กว่า 2 ใบล่าง ใบบนมีก้าน ส่วนใบล่างไม่มีก้าน ใบมีกลิ่น ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก ปลายใบยาวแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีขาว ปกคลุมไปด้วยขนอ่อน[2]
- ดอกคนทีเขมา ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็กและมีอยู่เป็นจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีขาวแกมม่วงอ่อน กลีบดอกแตกออกเป็น 5 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน มีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย เชื่อมติดกันที่โคน ปลายกลีบล่างแผ่โค้ง กลีบรองดอกเชื่อมกันเป็นถ้วย ปลายแยกเป็น 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน[2],[3]
- ผลคนทีเขมา ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปกลม แห้ง เปลือกแข็งเป็นสีน้ำตาล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ติดผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[2],[3]
ข้อควรรู้ : คนทีเขมาเป็นสมุนไพรเก่าแก่ชนิดหนึ่ง แม้จะไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในบ้านเรา แต่คงเข้ามาเป็นเวลานานแล้วพร้อม ๆ กับคนทีสอ ในภาษาพื้นบ้านจะเรียกสมุนไพรทั้งสองชนิดนี้เหมือนกัน เช่น ผีเสื้อบ้าง ดินสอบ้าง แต่จะแยกขาวกับดำ โดยผีเสื้อดำจะหมายถึงคนทีเขมา ส่วนผีเสื้อขาวจะหมายถึงคนทีสอ หมอยาบอกว่า สมุนไพรทั้งสองชนิดนี้สามารถนำมาใช้แทนกันได้ แต่หมอยาจะนิยมใช้คนทีสอมากกว่าเพราะกลิ่นดีกว่า[6] คนทีเขมานอกจากชนิดนี้แล้วยังมีคนทีเขมาอีก 2 ชนิดด้วยกัน ซึ่งมีลักษณะของต้นที่คล้ายกัน แต่เมล็ดจะมีสีดำมากกว่า โดยมีชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vitex neyundo L.var. heterophylla (Franch) Rehd และชนิด Vitex quinata A.N. Willd โดยทั้งสองชนิดนี้สามารถนำมาใช้แทนกันได้[3]
สรรพคุณของคนทีเขมา
- ใบใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (ใบ)[4]
- ใช้เป็นยาบำรุงเลือดลม ด้วยการใช้ผลอย่างเดียว หรือใช้กิ่ง ก้าน ใบ และผล นำมาตากแห้ง ดองกับเหล้ากิน (ผลควรทุบให้แตกก่อนนำมาดอง) ใช้กินครั้งละ 1 เป๊ก หรือประมาณ 30 ซีซี วันละ 1-2 ครั้ง หากกินเป็นประจำจะช่วยทำให้เลือดลมดี ไม่มีสิวมีฝ้า ลดอาการไม่สบายขณะมีประจำเดือนและคนวัยทองได้ (กิ่ง, ก้าน, ใบ, ผล)[6]
- ยางใช้เป็นยาบำรุงกำลัง (ยาง)[5]
- ใบใช้ผสมกับน้ำใช้ทาหน้าผากรักษาอาการปวดศีรษะ หรือนำใบสดมาขยี้ดม ขยี้ปิดที่หน้าผาก ขยี้กับน้ำแล้วเอาลูบหัว ลูบตามตัว ต้มอาบ เอาใบมาชงกิน หรือนำใบแห้งมาสูบก็ได้ (ใบ)[2],[5],[6]
- ใบมีสรรพคุณช่วยแก้อาการหูอื้อ (ใบ)[2]
- ใบมีรสหอมร้อน ใช้เป็นยาแก้เยื่อจมูกอักเสบ (ใบ)[5]
- ยางมีรสร้อนเมา ใช้ขับเลือดและลมให้กระจาย (ยาง)[5]
- ใช้เป็นยาแก้พิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยกระจายพิษไข้ในร่างกาย แก้ไอหวัดตัวร้อน (รากและก้าน)[3]
- ตำรายาไทยจะใช้รากและใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาลดไข้ แก้ไข้ (รากและใบ)[1],[4] ส่วนช่อดอกก็มีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ด้วยเช่นกัน (ช่อดอก)[2]
- ใช้เป็นยารักษาไข้หวัด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 30-40 ใบ หรือประมาณ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 3 เวลา หรือใช้ใบแห้งนำมาสูบแก้หวัดที่มีน้ำมูกไหล ส่วนอีกวิธีให้ใช้ใบสด 30-40 กรัม ผสมกับหอมใหญ่ 8 กรัม และขิงสดอีก 8 กรัม นำไปต้มกับน้ำกิน (ใบ)[2],[3],[4],[5],[6] ส่วนดอกและผลก็มีสรรพคุณรักษาไข้หวัด ไอหวัดด้วยเช่นกัน (ดอก, ผล)[2],[3],[5]
- ใช้รักษาโรคไข้มาลาเรียหรือไข้ป่า ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 180 กรัม ใส่น้ำให้ท่วมแล้วนำไปต้มโดยใช้ไฟอ่อน ๆ เคี่ยวให้ข้น จนเหลือราว ๆ ถ้วยครึ่ง แล้วแบ่งรับประทานครึ่งหนึ่งก่อนมีอาการ หลังจากกิน ไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ก็ให้กินส่วนที่เหลือ หรือจะใช้รากสดประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินก่อนมีอาการราว ๆ 3 ชั่วโมงก็ได้ (ราก, ใบ)[2],[5] ส่วนผลก็มีสรรพคุณรักษาไข้มาลาเรียด้วยเช่นกัน (ผล)[2],[5]
- ใช้รักษาโรคไข้รากสาดน้อยรวมถึงอาการไอ ให้ใช้ผลประมาณ 3-10 กรัม นำมาคั่วโดยอย่าให้ไหม้ เพราะจะทำให้ยาไม่มีฤทธิ์ จากนั้นให้นำมาต้มกิน (ผล)[2]
- ใช้เป็นยาแก้ไอ (ราก, ใบ, ผล)[2],[5]
- ช่วยรักษาอาการเจ็บคอ (ใบ)[2],[5]
- ใช้เป็นยาขับเสมหะ (ราก, ใบ, ผล)[2],[4],[5]
- ใช้รักษาหอบหืด ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 50 ลูก หรือใช้ประมาณ 6-15 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ใส่น้ำตาลทรายจำนวนพอควร แล้วนำมาชงกับน้ำกินวันละ 2 เวลา หรือจะใช้เมล็ดประมาณ 6-20 กรัม นำมาบดให้เป็นผง ใส่น้ำตาลเล็กน้อย ชงกับน้ำกินก็ได้ (ผล, เมล็ด)[2],[3],[5] ส่วนรากก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้หอบหืดด้วยเช่นกัน (ราก)[2]
- ใช้รักษาหลอดลมอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (รากและก้าน)[2],[3]
- รากมีรสร้อนเมา ใช้เป็นยาขับเหงื่อ แก้ลม (ราก)[5]
- เปลือกต้นมีรสหอมร้อน ใช้เป็นยาแก้ลมเสียดแทง (เปลือกต้น)[5]
- ช่อดอกมีสรรพคุณเป็นยารักษาอาการท้องเสีย (ช่อดอก)[2],[5]
- รากและใบใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง (รากและใบ, รากและก้าน)[1],[3] หรือจะใช้เปลือกต้นเป็นยาต้มกินบรรเทาอาการปวดท้องก็ได้ (เปลือกต้น)[2],[5]
- รากใช้เป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร (ราก)[2] แก้อาการปวดกระเพาะ (รากและก้าน, เมล็ด)[3] หรือใช้ผลรักษาอาการปวดท้องโรคกระเพาะ ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 3-10 กรัม นำมาบดให้เป็นผง แล้วปั้นเป็นเม็ดกิน (ผล)[2]
- ใช้รักษากระเพาะอาหารเป็นแผล กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง ปวดกระเพาะ ด้วยการใช้ผลแห้งหรือเมล็ดประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือบดเป็นผงกิน หรือจะใช้รากสดประมาณ 30 กรัม ใส่น้ำตาลแดงพอสมควร ต้มกับน้ำกินก็ได้ (ราก, ผล, เมล็ด)[2],[3],[5]
- ช่วยแก้อาหารไม่ย่อย (เมล็ด)[3]
- ใบ ดอก และผลใช้เป็นยาแก้บิด แก้ลำไส้อักเสบ (ใบ, ดอก, ผล)[3] ใช้รักษาโรคบิดไม่มีตัวลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 30-40 ใบ หรือประมาณ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 3 เวลา (ใบ)[2] ใช้รักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือใช้ชงดื่มแทนชาเพื่อป้องกันลำไส้อักเสบ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[2]
- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด) ด้วยการใช้รากสดประมาณ 30 กรัม นำมาหั่นให้เป็นชิ้นบาง ๆ แล้วนำมาคั่วกับเหล้าให้หวานจนเป็นสีเหลือง ใส่น้ำประมาณ 2 ถ้วย แล้วต้มให้เหลือเพียง 1 ถ้วย นำมาใช้กินก่อนอาหารค่ำ (ราก, รากและก้าน)[2],[3] นอกจากนี้เปลือกต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้พยาธิด้วยเช่นกัน (เปลือกต้น)[5]
- รากมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)[2]
- ใช้เป็นยาแก้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (ใบ, ดอก, ผล)[3]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร (เปลือกต้น)[5]
- รากใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงแห้ง (ราก)[5]
- คนทีเขมา สมุนไพรเฝ้าเลือดลมผู้หญิง นิยมใช้เข้ายาอาบ ยาอบ และยาประคบสำหรับผู้หญิง โดยทำเป็นยาต้มกินจะทำให้เลือดลมดี ผู้หญิงที่เลือดแห้ง ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีอาการผิดเลือดผิดลม หากใช้สมุนไพรชนิดนี้ต้มกินต้มอาบเป็นประจำจะช่วยลดอาการไม่สบายก่อนมีประจำเดือนได้ เช่น อาการหงุดหงิดฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวนง่าย ร้องไห้ง่าย นอนไม่หลับ ขี้ลืม พูดจาเพ้อเจ้อ สับสน ปวดศีรษะ วิงเวียน ท้องอืด บวม ปวดเมื่อยตามตัว และเจ็บตึงเต้านม นอกจากนี้ยังช่วยรักษาอาการเลือดจะไปลมจะมา หรือที่เรียกว่า วัยหมดประจำเดือน และยังเหมาะกับผู้หญิงหลังคลอด เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้จะช่วยปรับระบบการทำงานของเลือด อารมณ์ผิดปกติหลังคลอด เช่น อารมณ์แปรปรวน หดหู่ ซึมเศร้า จนบางคนมีอาการหมดอารมณ์ทางเพศไปเลย หรือที่เรียกว่า “โรคเบื่อผัว” นอกจากนี้ยังช่วยขับน้ำนม ขับเหงื่อได้อีกด้วย โดยใช้เปลือกต้น ผล และใบ นำมาต้มกินหรือนำผลไปดองกิน (เปลือกต้น, ใบ, ผล)[6]
- ยาดองคนทีเขมาแก้โรคสตรีเบื่อผัว ทำให้ไข่ตกเป็นปกติ ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ บำรุงสตรีให้อ่อนเยาว์ขึ้น จะใช้เมล็ดคนทีเขมา 50 กรัม นำมาตำให้พอแหลก ดองกับเหล้าท่วมตัวยา 4 เท่า ทิ้งไว้นาน 7 วัน ใช้กินครั้งละ 1 ถ้วยตะไล เช้าและเย็น (เมล็ด)[6]
- ใช้รักษาอาการลมผิดเดือนหลังคลอด เช่น อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า เบื่อผัว ให้ใช้เมล็ดตากแห้ง นำมาตำแล้วดองกับเหล้ากินวันละ ½ -1 ถ้วยตะไล เช้าและเย็น (เมล็ด)[6]
- ยาแก้ปวดท้องขณะมีประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีอารมณ์หงุดหงิดช่วงมีประจำเดือน จะใช้เมล็ดนำมาบดให้เป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนกินครั้งละ 2 เม็ด เช้าและเย็น (เมล็ด)[6]
- ตำรับยาขับเลือดร้ายขณะอยู่ไฟ อันเนื่องมาจากปวดท้อง ซึ่งกำลังอยู่ไฟ เนื่องจากเลือดคลั่งและทำให้เลือดดี จะใช้ใบคนทีเขมา 1 บาท, ใบหนาด 1 บาท, ใบผักเสี้ยนผี 1 บาท, กะทือ 1 บาท, กระเทียม 1 บาท, ขิง 1 บาท, ดีปลี 1 บาท, พริก 1 บาท, หัวข่า 1 บาท, หัวไพล 1 บาท, หัวหอม 1 บาท, สารส้ม 1 บาท และผิวมะกรูดอีก 22 บาท นำมารวมเข้าด้วยกัน ตำเป็นผงละลายน้ำร้อนหรือน้ำสุรา ใช้กินครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (ใบ)[6]
- ตำรับยาแก้เลือดแห้ง จะใช้รากคนทีเขมา รากมะตูม รากมะอึก เปลือกไม้แดง เปลือกเพกา ไผ่สีสุก และฝาง นำมาต้มกิน (ราก)[6]
- รากใช้เป็นยารักษาโรคตับ (ราก)[4] ใช้เป็นยาแก้ตับอักเสบ (รากและก้าน, ใบ, ดอก, ผล)[3]
- ใบใช้เป็นยาแก้ดีซ่าน (ใบ)[5]
- ช่อดอกใช้เป็นยาฝาดสมาน (ช่อดอก)[2]
- ใช้รักษาบาดแผลจากของมีคม บาดแผลจากสุนัขและตะขาบกัด ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[2]
- ใช้รักษาแผลพุพองจากไฟไหม้ ด้วยการใช้กิ่งแห้ง นำมาคั่วโดยอย่าให้ไหม้ แล้วนำมาบดให้เป็นผงผสมกับน้ำมัน ใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล (กิ่งแห้ง)[2]
- ใช้รักษาฝีคัณฑสูตร ด้วยการใช้ผลแห้งประมาณ 15 กรัม นำมาคั่วแล้วบดให้เป็นผง หรืออาจจะผสมเหล้าเล็กน้อยก็ได้ แล้วใช้กินตอนท้องว่าง (ผล)[2]
- ใบใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน ฝี เชื้อราที่เท้า ถอนพิษสาหร่ายทะเล ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกบริเวณที่เป็น (ใบ)[2],[4],[5]
- ใบ ดอก และผล ใช้ภายนอกเป็นยาแก้ผดผื่นคัน น้ำกัดเท้า แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ทั้งตะขาบกัด แมงมุมกัด โดยใช้ใบสดมาตำพอกแผล (ใบ, ดอก, ผล)[3],[6]
- ยางใช้เป็นยาแก้คุดทะราด ฆ่าพยาธิผิวหนัง (หนัง)[5]
- ใบใช้เป็นยาแก้อาการบวมฟกช้ำดำเขียว ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำกิน ส่วนกากที่เหลือใช้พอกบริเวณที่ฟกช้ำ (ใบ)[2],[3] นอกจากนี้ เปลือกต้นก็มีสรรพคุณแก้ฟกบวมด้วยเช่นกัน (เปลือกต้น)[5]
- ผลใช้เป็นยารักษาอาการเหน็บชา (ผล)[2]
- ใช้รักษาโรคปวดตามข้อ ด้วยการใช้กิ่งสดประมาณ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใช้แบ่งกิน 2 เวลา เช้าและเย็น (กิ่งสด)[2]
- ใบมีสรรพคุณรักษาโรคปวดตามข้อด้วยเช่นกัน (ใบ)[2]
- ใบใช้เป็นยาแก้ปวดตามข้อตามกล้ามเนื้อ ด้วยการนำใบมาอังไฟให้ร้อน ใช้นวดประคบ หรือใช้ทำเป็นน้ำมันนวด โดยใช้ใบสด 4 กิโลกรัม และน้ำมันงาหีบเย็น 1 ลิตร นำใบมาล้างให้สะอาดเด็ดเอาก้านทิ้ง แล้วนำไปตำให้แหลกคั้นเอาแต่น้ำ มาเคี่ยวรวมกับน้ำมันงาโดยใช้ไฟปานกลาง โดยเคี่ยวจนน้ำระเหยหมดเหลือแต่น้ำมัน โดยมีตะกอนสีเขียวเล็กน้อย จากนั้นกรองเอาแต่น้ำมันมาเก็บไว้ใช้นวด ส่วนรากและใบก็ใช้ทำเป็นลูกประคบแก้อาการปวดตามกล้ามเนื้อได้ หรือจะใช้ก้านเป็นยาขับลมชื้นแก้อาการปวดเมื่อย ปวดบวม โดยนำก้านมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใช้ดองกับเหล้ากิน (ราก, ก้าน, ใบ)[3],[5],[6] ตามตำรายาโบราณจะมีคนทีเขมาอยู่ในยาประคบ ยาย่าง รวมทั้งนำไปเคี่ยวน้ำมันทำเป็นยาพอก ใช้เป็นยากินเพื่อแก้อาการปวดเมื่อยตึงตามข้อ เส้นขัด เอ็นขัด เหน็บชา ลมในเอ็น เถาดาน อัมพฤกษ์ อัมพาต ตกต้นไม้ ควายชน[6]
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [3] กิ่งแห้งให้ใช้ 15-35 กรัม ใบแห้งให้ใช้ 10-35 กรัม ส่วนเมล็ดให้ใช้ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของคนทีเขมา
- ใบ ผล และเมล็ดพบน้ำมันระเหย เช่น L-Sabine, Camphene, และยังพบสารจำพวก Alkaloid, Flavonoid glycoside, Nishindine, Cineole ใบพบ Casticin, Luteolin-7-glucoside, Pinene และยังมีวิตามินซีด้วย[3]
- คนทีเขมามีฤทธิ์ทำให้หลอดลมของหนูขาวขยายตัว นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ขับเสมหะ รักษาอาการไอและหอบ รักษาหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียได้ด้วย เมื่อฉีดน้ำต้มเมล็ดและรากเข้าไปในปอดของหนูขาว[2],[6]
- เมื่อนำสารสกัดที่ได้จากเมล็ดหรือสารสกัดที่ได้จากรากมาฉีดเข้าปอดที่อยู่นอกร่างของหนูขาวทดลอง จะพบว่าหลอดลมของปอดหนูจะขยายตัวขึ้น[3]
- สารละลายที่ได้จากการต้มรากจะมีฤทธิ์ระงับอาการไอในหนูถีบจักร[2] สารที่สกัดได้จากรากสามารถยับยั้งอาการและขับเสมหะของหนูขาวทดลองได้[3]
- สารที่สกัดได้จากใบสามารถบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบของหนูขาวทดลองที่เป็นโรคไขข้ออักเสบได้[3]
- ส่วนที่สกัดได้จากใบมีฤทธิ์ต้านเซลล์ในเนื้องอกชนิดเออร์ลิช แอสไซติส (Ehrlich ascites tumour cells)[2]
- เมื่อนำสารที่สกัดได้จากเมล็ด หรือราก หรือต้นสดที่นำมาต้มเป็นน้ำยา มาทดสอบกับเชื้อ Staphylo coccus ในหลอดแก้ว พบว่ามีการยับยั้งหรือฆ่าเชื้อชนิดนี้ได้ โดยสารที่สกัดจากเมล็ด จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าสารที่สกัดได้จากราก[3]
ประโยชน์ของคนทีเขมา
- ใบใช้ผสมในน้ำอาบเพื่อให้มีกลิ่นหอม[2],[5]
- สมุนไพรชนิดนี้ถ้านำมาต้มกินต้มอาบเป็นประจำ จะช่วยทำให้ผิวพรรณผุดผ่องเป็นยองใย จึงเหมาะที่จะนำมาใช้ในสปาหรือทำครีมบำรุงผิว[6]
- ใช้ไล่ไรไก่ เห็บ หมัด ลิ้น ไร ยุง โดยนำกิ่งไปไว้ในเล้าไก่ ขยี้ใบทาตัวไล่แมลง หรือนำกิ่งใบมาเผาไล่ยุง รวมทั้งต้มกิ่งก้านใบกับน้ำใช้ฉีดไล่ยุง (ยาไล่ยุง ให้ใช้กิ่งก้านใบ 1 ส่วน และน้ำ 2 ส่วน นำมาต้มให้เดือดนาน 15 นาที ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วกรองเอาแต่น้ำไปใช้ฉีดพ่นไล่ยุง)[6]
- ใบแห้งนำมาปูรองเมล็ดพืชจะช่วยป้องกันแมลงและมอดมารบกวนได้[2],[6]
- ในปัจจุบันได้มีผลิตภัณฑ์จากคนทีเขมาออกมาจำหน่ายในรูปแบบของยาเม็ด ยาแคปซูล และน้ำมันนวด สำหรับใช้รักษาอาการปวดเมื่อย ตึง ข้ออักเสบ เกาต์ ปวดฟัน เป็นต้น[6]
- ในด้านความเชื่อ มีความเชื่อที่ว่าหากนำต้นคนทีเขมามาปลูกไว้ริมน้ำ จะช่วยป้องกันไม่ให้ตลิ่งพังได้ รวมทั้งหากนำมาปลูกไว้ในบ้านก็จะช่วยแก้สิ่งที่ไม่เป็นมงคล ที่ชาวบ้านเรียกว่า แก้เข็ดแก้ขวง กันผีร้ายที่จะมาทำให้เจ็บป่วย คนสมัยก่อนเวลาจะลงเรือลงน้ำจะพกใบผีเสื้อติดกระเป๋าไปด้วยเพื่อป้องกันผีน้ำ วัฒนธรรมการพกใบคนทีเขมานี้ไม่ได้มีแต่บ้านเราเท่านั้น ในยุโรปสมัยก่อนก็เชื่อด้วยว่าหากพกใบคนทีเขมาติดตัวไว้จะช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้[6]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง ดอกมีกลิ่นหอม ให้สรรพคุณทางยามาก[7]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “คนทีเขมา”. หน้า 207.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “คนทีเขมา”. หน้า 202-203.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “คนทีเขมา”. หน้า 148.
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “คนทีเขมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/. [24 ม.ค. 2015].
- ไทยโพสต์. “คนที ดูแลสุขภาพผิวรับหน้าร้อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaipost.net. [24 ม.ค. 2015].
- อภัยภูเบศร. “คนทีเขมา ผีเสื้อที่ดูแลผู้หญิง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.abhaiherb.com. [24 ม.ค. 2015].
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “คนทีเขมา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [24 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Foggy Forest, Karl Gercens, Ely Trinidad, sustratos sa, Shubhada Nikharge, Dinesh Valke, Kar Wah Tam)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)