คนทา
คนทา ชื่อวิทยาศาสตร์ Harrisonia perforata (Blanco) Merr.[2] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)
สมุนไพรคนทา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ตำตา (เชียงใหม่), หนามกะแท่ง (เลย), โกทา หนามโกทา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), จี้ จี้หนาม หนามจี้ สีเตาะ[1],[3] สีเดาะ[2] (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), คนทา (ภาคกลาง), กะลันทา สีฟัน สีฟันคนทา สีฟันคนตาย (ทั่วไป), มีซี[1],[3] มีชี[2] (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น[1],[2],[3],[11]
ลักษณะของคนทา
- ต้นคนทา จัดเป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถาหรือเป็นไม้พุ่มเลื้อยทอดเกาะเกี่ยวขึ้นไป มีความสูงได้ประมาณ 3-6 เมตร ลำต้นจะมีขนาดโตเท่ากับต้นหมาก เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล และมีหนามแหลมและสั้นตลอดทั้งลำต้นและตามกิ่งก้าน พรรณไม้ชนิดนี้มีเขตกระจายพันธุ์ตั้งแต่จีนตอนใต้ลงไปถึงมาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยมักพบขึ้นทั่วไปในป่าตามธรรมชาติ ทนความแห้งแล้งได้ดี พบมากในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทางภาคเหนือ โดยจะพบได้ตามที่โล่งในป่าผลัดใบ ป่าละเมาะ และป่าเขาหินปูน ที่ระดับความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง 900 เมตร และสามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการใช้เมล็ด[1],[2],[7],[10]
- ใบคนทา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 11-15 ใบ ใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายใบมนถึงแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเป็นหยักแบบห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีแดง ก้านใบร่วมเป็นปีกแผ่ขยายออกแคบ ๆ และใบมีรสขม[1],[2]
- ดอกคนทา ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ภายในมีแป้นดอก ดอกย่อยด้านนอกเป็นสีแดงแกมม่วง ส่วนด้านในเป็นสีนวล กลีบดอกและกลีบดอกมีกลีบอย่างละ 4-5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน[2],[3]
- ผลคนทา ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม เบี้ยว และฉ่ำน้ำ ผิวผลเรียบเนียนคล้ายแผ่นหนัง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อผลค่อนข้างแข็ง ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว เมล็ดแข็งเป็นสีน้ำตาล มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร[1],[2],[3]
สรรพคุณของคนทา
- ต้นเป็นยาฟอกโลหิต (ต้น)[5]
- ช่วยขับโลหิต (ราก)[5]
- เปลือกต้นหรือรากมีรสเฝื่อนขม ใช้ต้มกินเป็นยาแก้ไข้ รักษาอาการไข้เพื่อเส้น ไข้เหนือ ไข้จับสั่น ไข้ตักศิลา ไข้พิษ ไข้กาฬ ดับพิษหัวไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้ไข้ทุกชนิด (เปลือกต้น, ราก)[1],[2],[3],[4],[7],[8] ส่วนเปลือกรากมีสรรพคุณแก้ไข้ และต้นมีสรรพคุณแก้ไข้ได้ทุกชนิด (ต้น, เปลือกราก)[5]
- ช่วยป้องกันอหิวาตกโรค (เปลือกราก)[5]
- ทั้งต้นมีรสเฝื่อนขม ช่วยแก้กระหายน้ำ (ทั้งต้น)[2]
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ต้น, ราก)[5],[8]
- ใช้แก้ตาเจ็บ (ราก)[5]
- เปลือกต้นนำมาทุบแล้วอมจะช่วยลดอาการปวดฟันได้ (เปลือกต้น)[6]
- ช่วยขับลม (ราก)[5]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ทั้งต้น)[11]
- เปลือกต้นหรือรากใช้ต้มเป็นยากินรักษาอาการท้องร่วง (เปลือกต้น, ราก)[1],[2],[3],[5],[7] ส่วนต้นและเปลือกรากก็ช่วยแก้ท้องร่วงได้เช่นกัน (ต้น, เปลือกราก)[5]
- ช่วยแก้บิด (ต้น, เปลือกต้น, ราก, เปลือกราก)[5],[8]
- เปลือกต้นหรือรากต้มกินเป็นยาแก้โรคทางเดินลำไส้ (เปลือกต้น, ราก)[1],[2],[3],[5],[7] ส่วนเปลือกรากก็ช่วยรักษาลำไส้เช่นกัน (เปลือกราก)[5],[8]
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ราก)[5]
- ช่วยสมานบาดแผล (ราก)[5]
- ดอกใช้แก้พิษจากแมลงกัดต่อย แก้พิษจากการถูกแตนต่อย (ดอก)[5],[8]
- ช่วยแก้อาการบวม บวมพอง (ราก)[5]
- ใบช่วยแก้อาการปวด (ใบ[5],[8], ราก[8])
- รากช่วยแก้อาการปวดเมื่อย (ราก)[5]
- รากคนทาจัดอยู่ในตำรับ “ยาห้าราก” หรือตำรับยา “เบญจโลกวิเชียร” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ใช้รากไม้สมุนไพร 5 ชนิด เป็นสูตรผสมหลัก ได้แก่ รากคนทา รากย่านาง รากมะเดื่ออุทุมพร รากไม้เท้ายายม่อม และรากชิงชี่ โดยเป็นตำรับยาแผนโบราณในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่มีสรรพคุณลดไข้แก้อาการปวดได้เช่นเดียวกับยาพาราเซตามอล และเป็นตำรับยาที่ไม่มีอันตรายต่อตับหลังการใช้ในระยะยาว[9]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของคนทา
- สารสำคัญที่พบได้แก่ Heteropeucenin, 5 –methoxy: 7-methylether; Heteropeucenin-7-methyl ether; obacunone; perforatic acid; perforatin A; perforatin B; ?-sitosteral[5]
- มีการทดลองในสัตว์พบว่าสารสกัดจากรากและกิ่งของต้นคนทามีฤทธิ์ในการต้านฮิสตามีนซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้[4],[5]
- สารสกัดของใบและกิ่งคนทามีฤทธิ์ในการต้านเชื้อมาลาเรียในหลอดทดลอง[4],[5],[7]
- คนทามีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ reverse transriptase[5]
ประโยชน์ของคนทา
- กิ่งก้านมีรสเฝื่อนขม สามารถนำมาใช้แปรงฟัน หรือสีฟันเพื่อรักษาฟันได้ ด้วยการนำกิ่งขนาดนิ้วก้อยที่ยาวประมาณ 1 คืบ นำมาลอกเปลือกออกปลายด้านหนึ่งแล้วทุบให้เป็นเส้นฝอย ๆ และอาจช่วยทำให้เส้นดีขึ้นด้วยการใช้มีดผ่าออกเป็นแนวยาว ๆ แล้วนำปลายฝอยนี้ไปถูกับไม้ระแนงที่เตรียมไว้อีกทีหนึ่ง เพื่อทำให้ปลายฝอยฟูเป็นขนแปรงที่นุ่มขึ้น ส่วนปลายของอีกด้านหนึ่งก็เหลาให้แหลม ใช้ทำเป็นไม้จิ้มฟันหรือใช้เขี่ยเศษอาหารได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งตามประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานจะใช้หนามคนทาทำแปรงสีฟัน เพื่อไปถวายให้พระสงฆ์ในช่วงที่มีการถวายพุ่มเทียนพรรษา และพระสงฆ์สายธรรมยุตในวัดป่าของทางภาคอีสาน ยังนิยมใช้แปรงสีฟันจากกิ่งของต้นคนทากันอยู่ (กิ่งก้าน)[2],[11]
- เปลือกต้นใช้ยาแก้ตาเจ็บสำหรับสัตว์พาหนะ (เปลือกต้น)[5]
- ผลอ่อนนำไปหมดไฟหรือนำไปต้มแล้วทุบพอแตก นำมาใช้ทาเท้าก่อนทำนาจะช่วยป้องกันน้ำกัดเท้าในฤดูทำนาได้ (คนเมือง)[6]
- ผลคนทาสดยังสามารถนำมาสกัดน้ำสีที่ใช้สำหรับย้อมผ้า โดยผลคนทา 15 กิโลกรัมจะสามารถย้อมสีเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม โดยสีที่ให้คือสีเทาม่วง[10]
- เนื้อไม้มีความเหนียว ไม่หักง่าย และมีความยืดหยุ่น จึงนำไปใช้ทำเป็นคานหาบน้ำได้[6]
- เนื้อไม้ใช้สำหรับทำเป็นฟืนในพิธีกวนข้าวทิพย์ (คนเมือง)[6]
- นิยมปลูกต้นคนทาไว้ในสวนหรือตามวัดบางแห่ง เพื่อใช้ประโยชน์ในการทำยา[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “คนทา”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 158.
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “คนทา (Khontha)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 72.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “คนทา”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 83.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “คนทา”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 117.
- สมุนไพรในร้านยาโบราณ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. “คนทา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.msu.ac.th. [13 ก.พ. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “กะลันทา, สีฟัน, ไม้หนาม, คนทา, สีฟันคนทา”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 ก.พ. 2014].
- หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 3
- ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร, กรมวิชาการเกษตร. “คนทา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th/hrc/chumphon/. [13 ก.พ. 2014].
- GotoKnow. “ยาห้าราก ( แก้วห้าดวง เบญจโลกะวิเชียร ) ยาเย็น แก้ไข้ร้อน ในเด็ก ผู้ใหญ่”. (นพ.วีรพัฒน์ เงาธรรมทรรศน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.gotoknow.org. [13 ก.พ. 2014].
- พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ กรมหม่อนไหม. “คนทา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th. [13 ก.พ. 2014].
- มูลนิธิสุขภาพไทย. “หนามโกทา รักษาฟัน”., “Herbal tooth brush รักษาฟัน และฝึกสติ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [13 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by viengsamone, Hai Le), เว็บไซต์ pharmacy.mahidol.ac.th, เว็บไซต์ thaihof.org
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)