คงคาเดือด
คงคาเดือด ชื่อวิทยาศาสตร์ Arfeuillea arborescens Pierre ex Radlk. จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)[1]
สมุนไพรคงคาเดือด มีชื่อท้องถิ่น ๆ อื่นว่า ช้างเผือก (ลำปาง), สมุยกุย (นครราชสีมา), ตะไล (ราชบุรี), ตะไลคงคา (ชัยนาท), คงคาเลือด หมากเล็กหมากน้อย (ภาคกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของคงคาเดือด
- ต้นคงคาเดือด จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงได้ประมาณ 8-20 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลม ลำต้นมีขนาดเท่าต้นมะพร้าวหรือใหญ่กว่า เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือเป็นสีหม่น ๆ และมีด่างเป็นดวงขาว ๆ ทั่วไปตามลำต้น ส่วนกิ่งนั้นเป็นสีเขียว มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะในภูมิภาคอินโดจีน อาจพบในพม่าด้วย ส่วนในไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ โดยพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และขึ้นประปรายตามป่าราบ ชอบเขาหินปูน ระดับความสูงจนถึง 600 เมตร[1],[2],[3]
- ใบคงคาเดือด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อย 5-9 ใบ ก้านใบประกอบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร แกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบแหลมยาวหรือเว้าตื้น โคนใบมนเบี้ยวไม่เท่ากันหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบหรือบางใบมีรอยหยักห่าง ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-7 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบเรียบ แผ่นใบมีขนยาวใกล้เส้นกลางใบทั้งสองด้าน ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร[1],[3]
- ดอกคงคาเดือด ดอกเป็นแบบแยกเพศร่วมต้น ออกดอกเป็นช่อกระจุกแยกแขนง ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร โดยจะออกที่ปลายยอด ช่อกระจุกเรียวยาว ม้วนขดเล็กน้อย ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ในช่อเดียวกัน กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปรี รูปขอบขนาน หรือแกมรูปไข่ ยาวประมาณ 5-5.9 มิลลิเมตร สีแดงอมเขียว กลีบดอกมี 2-4 กลีบ เป็นสีขาว มีขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยง ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร จานฐานดอกเป็นรูปคล้ายปาก ดอกมีเกสรเพศผู้ 6-9 อัน เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 5-9 มิลลิเมตร ในดอกเพศเมียจะสั้นกว่าในดอกเพศผู้ อับเรณูยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร รังไข่มี 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 2 เม็ด มีขนและไร้ก้าน ในดอกเพศผู้ฝ่อ ในดอกเพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย[1],[3]
- ผลคงคาเดือด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรี เป็นผลแบบแคปซูล บาง เกลี้ยง ปลายผลและขั้วผลแหลม มีปีก 3 ปีก ยาวประมาณ 3.2-5.5 เซนติเมตร ส่วนปีกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ผลสดเป็นสีเขียว พอแห้งจะเป็นสีน้ำตาลและแตกได้ ภายในมีเมล็ดสีดำ ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่กลับมีขนขึ้นสีน้ำตาลปกคลุม ยาวประมาณ 5-5.5 มิลลิเมตร ขั้วเมล็ดมีขนาดเล็ก ไม่มีเยื่อหุ้ม[1],[3]
สรรพคุณของคงคาเดือด
- เปลือกต้นและเนื้อไม้มีสรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[1],[2]
- เปลือกต้นใช้กินเป็นยาดับพิษไข้ แก้พิษร้อนในกระหายน้ำ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[1],[2]
- เปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำอาบเป็นยาแก้ซางตัวร้อน (โรคของเด็กเล็ก มีอาการสำคัญคือ ซึม เบื่ออาหาร มีเม็ดขึ้นในปากและคอ ลิ้นเป็นฝ้า) (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[1],[2]
- เปลือกต้นมีรสเย็นออกขมฝาด ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ แก้ไอ (เปลือกต้น)[1]
- เนื้อไม้มีรสเย็นขมฝาด ใช้ฝนกินเป็นยาฆ่าพยาธิ (เนื้อไม้)[1],[2]
- เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำอาบรักษาอาการคัน ช่วยแก้อาการคันแสบร้อนตามผิวหนัง (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “คงคาเดือด (Khong Kha Dueat)”. หน้า 71.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “คงคาเดือด”. หน้า 154-155.
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “คงคาเดือด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [24 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Siyang Teo, Tony Rodd), ww.pharmacy.mahidol.ac.th
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)